Life

เมนูมหัศจรรย์ BIG MAC กับประวัติศาสตร์ และเรื่องราวชวนอึ้งยาวนานกว่า 50 ปี

By: Thada August 1, 2018

หากพูดถึงเมนูไฮไลท์ทุกครั้งเมื่อเดินเข้าไปยังร้านฟาสต์ฟู้ดยอดฮิตที่มีแฟรนไชส์อยู่ทั่วทุกมุมโลกอย่าง McDonald’s แน่นอนว่า Big Mac จะต้องเป็นเมนูแรกที่หนุ่ม ๆ อย่างพวกเรา มักจะเลือกรับประทานเสมอ ด้วยขนาดที่ใหญ่โตอยู่ท้อง และรสชาติที่ถูกปาก ยิ่งถ้าบวกเข้ากับเฟรนช์ฟรายด์กับโค้กแล้วเรียกได้ว่าเป็นเซ็ตคอมโบระดับตำนาน ซึ่งเมื่อเราพูดถึงเจ้าเมนูยอดนิยมนี้ ถือว่ามีความเป็นมาแสนยาวนานพอ ๆ กับเฟรนไชส์ McDonald’s เลยก็ว่าได้ และเนื่องในปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของเมนู Big Mac ดังนั้นเราจึงได้เห็นว่ามีแคมเปญต่าง ๆ ออกมามากมายทั้งคอลเลคชั่นเสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งสกุลเงิน MacCoin เพื่อเฉลิมฉลองให้กับความโด่งดังของเมนูเบอร์เกอร์นี้

Big Mac ถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อปี 1967 โดยนาย Jim Delligatti ที่ได้ซื้อแฟรนไชส์ McDonald’s จาก Ray Kroc เพื่อไปเปิดสาขาของตัวเองใน Pittsburgh ซึ่งเขาได้คิดค้นเมนูเบอร์เกอร์ที่ประกอบไปด้วยเนื้อสองชั้นอัดแน่นจุใจ และกว่าจะมาเป็นชื่อ Big Mac ก็ไม่ใช่อย่างง่ายที่คิด เพราะแต่เดิมมันถูกเรียกว่า Aristcrat ทว่าลูกค้าสามารถออกเสียงได้ยาก จึงมีการเปลี่ยนแปลงเป็น Blue Ribbon Burger และ Big Mac ในเวลาต่อมา โดยที่มาของชื่อนี้มาจาก Esther Glickstein Rose นักการตลาดประจำสำนักใหญ่ของบริษัท McDonald’s ประจำรัฐ Illinois

ก่อนที่ในเวลาต่อมาเมนู Big Mac จะเพิ่มความนิยม จนถูกนำไปวางขายทั่วสหรัฐอเมริกาในปี 1968 นับจากวันนั้นถึงปัจจุบันถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปีพอดิบพอดีของเบอร์เกอร์ต้นแบบของโลกเลยก็ว่าได้ สำหรับขนาดมาตราฐานของเบอร์เกอร์ Big Mac ประกอบไปด้วย เนื้อขนาด 1.6 ออนซ์ 2 ชิ้นราดด้วยซอสสูตรพิเศษจาก McDonald’s ประกบด้วยอเมริกันชีส, ผักกาด, แตงกวาดองและหัวหอม ท็อปปิ้งขนมปังด้วยเมล็ดงา จนเสร็จสมบูรณ์ออกมาเป็นเบอร์เกอร์ฉ่ำ ๆ พร้อมเซิร์ฟ กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Ameican Culture อย่างปฎิเสธไม่ได้

นอกเหนือจากความเจ๋งในเรื่องรสชาติความอร่อยแล้ว Big Mac ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ McDonald’s เรื่อยมา แถมความมหัศจรรย์ของมันยังกลายเป็นตัวแทนที่บ่งบอกระบบเศรษฐกิจและค่าครองชีพของคนประเทศนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานระดับล่างของประเทศสิงค์โปร์คือ 34,600 บาท พอหาร 30 ก็จะตกอยู่ที่ประมาณวันละ 1,153 บาท และราคา Big Mac ในประเทศสิงค์โปร์อยู่ที่ 146 บาท ทำให้ทำงาน 1 วันสามารถซื้อ Big Mac ได้ประมาณ 7 ชิ้น

ในขณะเทียบกับเมืองไทยที่มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ 300 บาท และราคา Big Mac อยู่ที่ 123 บาท ซึ่งถ้าหากทำงาน 1 วัน คนไทยยังกิน Big Mac ได้ไม่ถึง 3 ชิ้นเสียด้วยซ้ำ ราคา Big Mac ยังถูกนำมาใช้ในด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ ที่เรียกว่า “Big Mac Index” เพื่อสะท้อนทฤษฎีของ Purchasing-Power Parity (PPP) ที่เชื่อว่าในระยะยาว ราคาของสินค้าชนิดเดียวกันในแต่ละประเทศควรมีราคาเท่ากันในที่สุด

เหตุผลเพราะ McDonald’s คือบริษัทที่มีสาขามากที่สุดทั่วโลก และเมนู Big Mac ก็ยังมีวางจำหน่ายอยู่ทุกประเทศจึงไม่แปลกหากมันจะถูกนำมาเป็นตัวแทนเปรียบเทียบ เพื่อต้องการทำให้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ PPP ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าราคา Big Mac จะสามารถอธิบายวัดผลได้ตรงเสมอไป เพราะแต่ละประเทศอาจจะมีต้นทุนทางวัตถุดิบไม่เท่ากัน

ด้วยเหตุนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ทาง McDonald’s จึงได้ออกแคมเปญใหม่ที่ใช้อยากให้ทุกคนมาร่วมใช้สกุลเงินเฉพาะของทางร้านนั่นคือ MacCoin  ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศอะไร ก็สามารถใช้ MacCoin สำหรับการซื้อเบอร์เกอร์ Big Mac ทว่าตอนนี้ก็ยังมีการยืนยันระบุสกุลเงินนี้จะถูกมาใช้ในบ้านเราหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ  MacCoin จะพร้อมใช้ในวันที่ 2 ตุลาคม เบื้องต้นสำหรับ 50 ประเทศนำร่องอย่างแน่นอน

Source  , Source2 

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line