Business

เจอคนอู้งานควรทำอย่างไร ? วิธีลดปัญหาคนไม่ทำงาน และเพิ่ม productivity ในการทำงานเป็นทีม

By: unlockmen March 26, 2021

เวลาเราทำงาน เรามักจะทำกันเป็นกลุ่ม เพราะมันช่วยให้เราทำงานใหญ่ได้ดีกว่า เสร็จเร็วกว่า และอาจมีคุณภาพที่มากกว่าการทำงานเดียวคน แต่บางครั้งมันก็ทำให้เกิดการอู้งานได้ง่ายเหมือนกัน เพราะสมาชิกบางคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองต้องช่วยงานอะไร แถมยังไม่กล้าถามคนในกลุ่มด้วย หรือ บางคนอาจเห็นว่างานที่ตัวเองทำได้ถูกคนอื่นรับผิดชอบไปหมดแล้ว จึงส่งผลให้เกิดอาการอู้ขึ้นมา แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไร การอู้งานส่งผลเสียต่อการทำงานแน่นอน เพราะมันทำให้งานไปต่อได้ช้า อาจเสร็จไม่ทันกำหนด และทำให้คุณภาพของงานกลุ่มลดลงอีกด้วย ดังนั้น เราอยากมาแนะนำวิธีการรับมือกับกลุ่มคนอู้ เพื่อให้งานเสร็จได้เร็วขึ้น และเพื่อให้องค์กรใช้ประโยชน์จากพนักงานได้ถึงขีดสุด


สร้างทีมให้เล็กที่สุด

หัวหน้าบางคนอาจชอบการทำงานเป็นทีมที่มีคนจำนวนมาก เพราะเชื่อว่ายิ่งมีคนเยอะ ก็ยิ่งช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้มาก แต่ในความเป็นจริง ยิ่งสมาชิกกลุ่มใหญ่เท่าไหร่ จะยิ่งทำให้เกิดอาการขี้เกียจได้มากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากการทำงานเป็นกลุ่ม อาจทำให้บางคนรู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องลงแรงให้กับงานมาก เพราะมีคนอื่นช่วยอยู่แล้ว หรือ บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนเกิน ไม่มีงานให้ทำ ซึ่งเกิดขึ้นได้จาการกำหนดจำนวนสมาชิกที่ไม่เหมาะสม เราเลยอยากแนะนำให้เปลี่ยนความคิดจาก ‘การสร้างทีมทำงานที่ใหญ่’ เป็น ‘การแตกทีมทำงานที่ใหญ่ออกเป็นทีมย่อย’ โดยกำหนดให้แต่ละทีมมีสมาชิกไม่เกิน 3 – 5 คน และจำไว้ว่ายิ่งทีมเล็กเท่าไหร่ แต่ละคนในทีมจะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น และอยากอู้งานน้อยลง


สร้างกฎกลุ่มและบทลงโทษทีชัดเจน

การทำงานแบบไม่มีการทำข้อตกลงร่วมกัน อาจสร้างคนขี้เกียจได้มากเหมือนกัน เพราะบางคนไม่สนใจว่า อาการขี้เกียจ จะส่งผลเสียต่อทีม แถมไม่กฎอะไรมาลงโทษเมื่อพวกเขาขี้เกียจด้วย จึงอู้กันต่อไป ดังนั้น ในการทำงานเป็นกลุ่ม ควรมีการตั้งกฎและบทลงโทษคนขี้เกียจที่ชัดเจน รวมถึงขั้นตอนการประเมินผลการทำงานของคนกลุ่มนั้นด้วย


ให้งานที่สมาชิกคนนั้นทำได้เพียงคนเดียว

เวลามอบหมายให้สมาชิกแต่ละคนทำ หัวหน้าควรให้งานคนละประเภทกัน หรือ ควรให้งานที่คนนั้นสามารถทำได้คนเดียว เพราะมันจะช่วยให้แต่ละคนไม่สามารถพึ่งพาสมาชิกคนอื่น หรือ อู้ได้ ถือเป็นการบังคับให้สมาชิกลงแรงให้งานอย่างเต็มที่ ซึ่งก่อนที่จะทำให้เกิดการจัดสรรงานแบบนี้ได้ หัวหน้าจะต้องมีการแบ่งงานหนึ่งโปรเจ็กต์ออกเป็นหลายด้านก่อน เช่น งานด้านการเงิน งานด้านการสื่อสาร หรือ งานด้านการตลาด ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการอู้แล้ว ยังทำให้หัวหน้าเช็คได้อย่างถี่ถ้วนว่างานหนึ่งต้องการอะไรบ้างเพื่อให้มันมีคุณภาพที่สุด


สร้างระบบติดตามผลงานของสมาชิกแต่ละคน

ถ้าเราปล่อยให้ทีมทำงานไปเรื่อย โดยที่ไม่มีระบบตรวจสอบว่าแต่ละคนทำงานอะไรอยู่บ้าง ปัญหาที่ตามมา คือ การอู้ เพราะบางคนอาจคิดว่าอู้ได้โดยที่ไม่มีใครเห็น ดังนั้น ระบบติดตามงานจึงมีความจำเป็นต่อการกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนทำงาน ซึ่งการสร้างระบบติดตามงาน อาจจะเป็นการทำตารางบันทึกงานที่สมาชิกแต่ละคนรับผิดชอบอยู่ และตารางนี้ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้ด้วย พร้อมให้มีการอัพเดทงานแบบรายวัน


นัดคนอู้งานมาคุย

บางทีการอู้ของสมาชิกในทีมก็ไม่ได้เกิดจากการทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก เสมอไป แต่อาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาส่วนตัว ซึ่งต้องมีการพูดคุย เพื่อแก้ปัญหากันต่อไป ฉะนั้น ถ้าเกิดหัวหน้าทีมคนไหนเห็นสมาชิกอู้งาน ก็ควรนัดพวกเขาคุย ไม่ว่าจะนัดเดี่ยว หรือ นัดทั้งกลุ่ม เพื่อถามหาสาเหตุ และร่วมกันแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการทำงานเป็นทีม คือ ทำให้ทุกคนในทีมรู้สึกมีส่วนร่วมกับงาน และเปิดใจรับฟังทุกปัญหาของทุกคน ถ้าหัวหน้าทำแบบนี้ได้แล้ว รับรองว่า ทั้ง 5 กลยุทธ์ที่เราได้พูดไป เวิร์กแน่นอน !!


Appendixs: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line