Life

วิธีรับมือกับ Illusory Superiority เมื่อหัวหน้าคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นจนไม่ยอมรับฟังลูกน้อง

By: unlockmen December 21, 2021

ปฏิเสธได้ยากว่าความมั่นใจเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่หัวหน้าทุกคนควรมี เพราะมันช่วยในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ

แต่ความมั่นใจมากเกินก็ส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวหน้าเหมือนกัน และคนจำนวนไม่น้อยก็ประเมินตัวเองสูงเกินกว่าความเป็นจริงอีกด้วย เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ความเหนือกว่าเทียม หรือ Illusory Superiority และระดับผู้นำทุกคนควรรู้วิธีรับมือกับมัน


What is Illusory Superiority ?

ความเหนือกว่าเทียม (Illusory Superiority) คือ cognitive bias ประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนประเมินคุณสมบัติและความสามารถของตัวเองสูงเกินไป จนคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากคนอื่นมากนัก

ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นได้เมื่อการเข้าใจตัวเองในบางเรื่องทำได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นนามธรรมอย่าง ความเฉียวฉลาด (Intelligence) บางคนอาจประเมินเรื่องนี้แบบเข้าข้างตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น คนที่เทพคำนวณ อาจนิยามว่า ความฉลาดคือทักษะคณิตศาสตร์ หรือ บางทีเราก็ไม่ได้รับ feedback ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตัวเอง เราจึงกลายเป็นคนที่มั่นใจในตัวเองมากเกินไป

นอกจากนี้ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมก็ส่งผลต่อการเกิด Illusory Superiority เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น คนเอเชียตะวันออกมักประเมินความสามารถของตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อการพัฒนาตัวเอง และการอยู่ร่วมกับคนในสังคม ในขณะที่ชาวตะวันตกชอบแสดงความเหนือกว่าให้คนอื่นเห็นมากกว่า


How to avoid Illusory Superiority ?

แม้ Illusory Superiority จะมีข้อดี เช่น ทำให้หัวหน้ามีสุขภาพจิตที่ดี กล้าเผชิญหน้าความกลัวและอุปสรรค์ต่าง ๆ แต่มันก็มีข้อเสียที่ร้ายแรงต่อการทำงาน คือ ทำให้หัวหน้าไม่ยอมรับฟังลูกน้อง และบริหารงานในทิศทางที่ผิดได้ ดังนั้น เราควรรู้จักวิธีรับมือกับอาการนี้ให้อยู่หมัดเพื่อให้เราทำงานในบริษัทได้อย่างมีความสุข

มองหาประโยชน์ของทุกคนที่เราทำงานด้วย

ถ้าเราสนใจแต่ความผิดพลาดของคนอื่น เราอาจประเมินความสามารถของคนอื่นแย่ไป ลองมองหาคุณค่าของเพื่อนร่วมทีม เช่น คิดว่าเขาทำประโยชน์อะไรให้กับบริษัทบ้าง แล้วเราจะเข้าใจว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนหลายคน

 

เข้าใจจุดอ่อนของตัวเอง

หัวหน้าที่ดีต้องแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะเขาเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นมากที่สุด หากหัวหน้าทำตัวใหญ่โตและเชื่อว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง พวกเขาจะได้รับความร่วมมือจากคนอื่นน้อยลง ดังนั้น  หัวหน้าควรเป็นคนแรกที่บอกว่าตัวเองไม่ได้เก่งหรือสมบูรณ์แบบ และยอมรับว่าตัวเองไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้

 

เข้าใจประโยชน์ของการไม่ควบคุม

คนทำงานแต่ละคนมีความคิดและความสามารถที่แตกต่างกัน การไปยัดเยียดวิธีการทำงานของตัวเองให้พวกเขา จึงเป็นเรื่องที่ไม่เวิร์กเสมอไป การปล่อยให้เพื่อนร่วมงานได้เรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเอง จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาความสามารถในการทำงานได้ดีกว่า และแทนที่จะไปบอกพวกเขาว่า อะไรถูกและอะไรผิด เราควรรับฟังเพื่อนร่วมงาน และให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับเขาดีกว่า

 

หยุดตัวเองไม่ให้พูดถึงข้อผิดพลาดของคนอื่น

การบอกว่าคนอื่นผิดเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่า เมื่อคุณทำให้เพื่อนร่วมงานเกิดความอับอาย มันจะเป็นเรื่องยากที่คุณจะได้รับความเชื่อใจและความเคารพจากเขา และอาจทำให้เขาหลีกเลี่ยงคุณไป ดังนั้น แทนที่จะไปวิจารณ์คนอื่น ควรคิดคำถามที่ทำให้พวกเขามองเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองมากกว่า

 

ให้คำชมมากกว่าคำวิจารณ์

เพื่อนร่วมงานมักจำว่าเราทำอะไรกับพวกเขาไว้บ้าง ถ้าเราชอบวิจารณ์ดุด่าพวกเขาบ่อย พวกเขาอาจมองว่าเราเป็นหัวหน้าใจร้าย และคำแนะนำของเราจะถูกพวกเขามองในเชิงลบ ดังนั้น แทนที่เราจะคิดคำด่าหรือคำวิจารณ์ เราควรให้คำชมที่จะกระตุ้นให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้นจะดีกว่า เพราะคำชมที่ดีจะช่วยให้พวกเขามีกำลังใจในการทำงานที่ดีขึ้น

 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการเอาชนะ Illusory Superiority สำหรับคนที่เป็นนายคน ซึ่งเราหวังว่ามันจะช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันที่ดีขึ้น และทุกคนสามารถนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ได้ทั้งกับการเข้าสังคมและการทำงาน


 

Appendix: 1 / 2 / 3 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line