Life

ทำไมเราถึงรู้สึกแย่เมื่อขี้เกียจ ? รู้จัก INTERNALIZED CAPITALISM และวิธีรับมือกับมัน

By: unlockmen April 21, 2021

ถ้ารู้สึกว่า ตัวเองยังขยัน เก่ง ฉลาด หรือ ยังตามคนอื่นไม่ทัน และมักรู้สึกผิดเมื่อเอาเวลาว่างมาพักผ่อนทำเรื่องไร้สาระไปวัน ๆ บางทีคุณอาจกำลังเป็น Internalized Capitalism อยู่ก็เป็นได้ ซึ่งอาการนี้ไม่ได้ถูกอธิบายในพจนานุกรมใด ๆ แต่เป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ เพื่ออธิบายถึงปัญหาของการใช้ชีวิตในสังคมทุนนิยม (Capitalism) ที่บีบบังคับให้คนต้องแสดงความโปรดักทีฟ และพยายามเอาชนะคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้คนเอาความโปรดักทีฟมาเป็นตัวประเมินคุณค่าของตัวเอง

ดังนั้น พอคนที่ออกอาการ Internalized Capitalism ใช้เวลาทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยโปรดักทีฟ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวเล่น หรือว่า กิจกรรมพักผ่อนจิตใจอื่น ๆ พวกเขาเลยมักรู้สึกเครียด หรือ รู้สึกแย่จากการทำสิ่งเหล่านั้นอยู่เสมอ แถมบางคนที่มีอาการนี้ยังมีพฤติกรรมทำลายสุขภาพตัวเองด้วย เช่น อ่านหนังสือจนดึกดื่น กดดันตัวเองอย่างหนัก กินข้าวไม่เหมาะสม ฯลฯ มันจึงเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง และควรได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วยิ่งดี  ซึ่งในบทความนี้ เราได้นำวิธีในการฟื้นฟูตัวเองมาฝากทุกคนด้วย จะมีวิธีอะไรบ้าง ลองไปดูกันเลย

ใส่ใจกับตัวเองมากขึ้น

บางทีพอเราโฟกัสกับงานมากเกินไป จนเกิดความไม่สบายใจ หรือ ความเครียดในระหว่างการทำงาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักเป็นอุปสรรค์ต่อการทำงาน และการใช้ชีวิตของเราด้วย ดังนั้น แทนที่จะโฟกัสแต่การทำงาน เราควรหาเวลาพักผ่อนในระหว่างวันทำงานด้วย และใช้เวลานั้นในการทำกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น เดินเล่น หรือ อ่านหนังสือ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องทำนานเพียงแค่ไม่กี่นาทีก็ช่วยให้จิตใจเราสงบได้แล้ว แล้วค่อยกลับไปทำงานอีกครั้ง

คุยกับคนอื่นบ่อย ๆ

เมื่อเราเก็บความคาดหวังไว้ที่ตัวเอง บางทีเราอาจไม่มีวันรู้เลยว่าความคาดหวังของเราจะเป็นจริงได้แค่ไหน และการโฟกัสอยู่กับความคาดหวังที่เป็นจริงได้ยาก มีแต่จะสร้างภาระให้กับจิตใจของเราเปล่า ๆ ทางที่ดีกว่า คือ การอธิบายความคาดหวังของตัวเองให้ใครสักคนฟัง มันจะช่วยให้เรารอดจาก Internalized Capitalism ได้ เพราะคนที่เราคุยด้วย อาจทำให้เห็นว่าความคาดหวังของเรา เป็นเรื่องที่เป็นจริงได้ยาก หรือ ไม่จำเป็นต้องคาดหวัง เราเลยรู้สึกสบายใจมากขึ้นได้เวลาคุยกับคนอื่น ดังนั้น ถ้ามีเวลาว่างลองโทรหรือส่งข้อความไปหาเพื่อนดูนะ

รู้จักสลับโหมดให้ถูกต้อง

แม้ว่าจะเลิกทำงานแล้ว บางคนยังคงคิดเรื่องงานอยู่ อาจเพราะมีงานที่ค้างคาอยู่ และไม่สามารถทำให้เสร็จได้ จึงเกิดความติดใจและเก็บเอาเรื่องนั้นมาคิดนอกเวลางาน ปรากฎการณ์นี้ส่งผลให้ชีวิตมีปัญหาตามมาได้ ทางที่ดีเราควแบ่งให้ชัดเจนระหว่าง โหมดใช้ชีวิต และ โหมดโปรดักทีฟ เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องงานมาปะปนกับชีวิตส่วนอื่นของเรามากเกินไป โดยเราอาจสร้างคาถาบางอย่างขึ้นมา เพื่อใช้ในการเปลี่ยนโหมดให้เหมาะสม ยกตัวเองอย่างเช่น ตอนที่เราคิดถึงงานค้างนอกเวลางาน เราอาจบอกตัวเองว่า “เราไม่ใช้เครื่องจักร เราไม่ใช่หุ่นยนต์” หรือ “เราจะออกจากโหมดทำงาน เข้าสู่โหมดชีวิตช่วงเย็น” เป็นต้น

จำไว้ว่าพลังงานมีขึ้นก็มีลง

แทนที่จะรู้สึกแย่กับการที่เราไม่สามารถทำทุกอย่างให้สำเร็จภายในวันเดียว เราควรจำไว้ดีกว่าว่าแต่ละวันเรามีพลังงานและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน และจะเป็นเรื่องดี ถ้าเรารับรู้ว่าวันไหนตัวเองมีพลังงานเท่าไหร่ และมีข้อจำกัดมากน้อยเพียงใด เพราะมันจะทำให้เราสามารถวางแผน to-do list ที่เหมาะสมกับแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วเราจะไม่ต้องมานั่งเครียดเรื่องการทำงานหนักหรือน้อยเกินไปอีก

ทบทวนหน้าที่การงานของตัวเองอีกครั้ง

บางทีเราควรกลับมาพิจารณาหน้าที่การงานของตัวเองอีกครั้งว่า เหมาะสมกับเรามากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเรารู้สึกว่างานที่ทำอยู่ทำให้เราเกิดอาการเครียดหนัก รบกวนเวลาชีวิต หรือทำให้ต้องคิดเรื่องงานตลอดเวลา งานที่เราทำอยู่มันก็อาจจะไม่ดีต่อคุณภาพชีวิตของเราเท่าไหร่ ถ้างานที่ดี คือ งานที่เราทำมันให้ดีได้ โดยไม่ต้องเปลื้องตัวมากเกินไป จนทำให้ชีวิตส่วนตัวพัง

ทั้งหมดนี้ก็คือวิธีการเอาชนะ Internalized Capitalism เพื่อให้เราสามารถฟื้นฟูตัวเองจากความกดดันและความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงานได้ เราหวังว่าทุกคนที่นำวิธีเหล่านี้ไปใช้จะสามารถทำงานได้อย่างเป็นสุขกันถ้วนหน้า


SOURCES: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line