Business

ลงทุนสบายใจ ซื้อ LTF/ RMF ต้องรู้อะไรบ้าง

By: Lady P. October 6, 2015

ช่วงใกล้สิ้นปีเรามักได้ยินเพื่อนหรือพี่ที่ทำงานพูดถึงการซื้อ LTF หรือ RMF กันอยู่บ่อยๆ หลายคนคุ้นเคยกับคำว่า LTF/RMF เป็นอย่างดี แต่อาจจะไม่รู้ในรายละเอียดว่าสรุปแล้วมันคืออะไรกันแน่ รู้แค่ซื้อเพื่อหักภาษีช่วงสิ้นปีตามคำบอกเล่าเร็วๆของคนในบริษัท แต่ลึกๆก็ยังมีคำถามในรายละเอียดอยู่ว่า นอกจากหักภาษีปลายปีแล้ว ทำไมต้องซื้อ LTF/RMF ด้วย เค้าเอาเงินเราไปทำอะไร และต้องพิจารณาปัจจัยอะไรในการเลือกซื้อบ้าง เพราะมีมากมายหลายกองทุนเหลือเกิน ดังนั้นเราจึงไม่พลาดที่จะเอาข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ LTF และ RMF แบบเข้าใจง่ายมาแบ่งปันกันค่ะ

ทำความรู้จัก : LTF / RMF

ก่อนที่จะทำความรู้จัก LTF และ RMF อยากให้พวกเรารู้จักคำว่า “กองทุนรวม” กันก่อน  กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ เครื่องมือในการลงทุนแบบหนึ่งที่นำเงินของผู้ลงทุนหลายๆคนมารวมกัน โดยมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแล นำเงินก้อนนั้นๆ ไปลงทุนต่อในหลักทรัพย์ต่างๆให้บรรลุเป้าหมาย สร้างกำไรตามนโยบายใดนโยบายหนึ่งที่ได้ตั้งและประกาศเอาไว้ตั้งแต่แรก ยกตัวอย่างเช่น กองทุนรวมน้ำมัน กองทุนรวมทอง หรือกองทุนรวมหุ้น เป็นต้น

ซึ่ง LTF และ RMF ก็เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่นอกจากจะมีคนคอยดูแลเงินของเราให้ต่อยอดได้ผลกำไรแล้ว ยังมีลักษณะเด่นคล้ายกันในเชิงการออมและลดหย่อนภาษี แต่ก็มีความแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่างที่เราต้องรู้เอาไว้

LTF : LONG TERM EQUITY FUND หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว

151005-kbank-g1

กองทุนรวมชนิดนี้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนและการออมอย่างเป็นระบบผ่านตลาดหุ้นไทยโดยสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ลงทุนเป็นของแถม ซึ่งรัฐบาลให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปีปฏิทิน  ยกตัวอย่าง หากคุณมีรายได้ต่อปี 500,000 บาท คุณสามารถซื้อ LTF เพื่อหักภาษีได้สูงสุด 75,000 บาท (500,000 บาท x 15% ของจำนวนรายได้) ส่วนจะได้เงินคืนภาษีคืนกลับมาเท่าไหร่ก็อยู่ที่ฐานภาษีของแต่ละคน และต้องถือหน่วยลงทุนเป็นเวลา 5 ปีปฏิทิน หมายความว่า หากคุณซื้อ LTF ในปี 2556 ถือว่าเป็นปีที่ 1 คุณสามารถขายกองทุนนี้ได้ในปีปฏิทินที่ 5 ซึ่งสามารถขายเร็วสุดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้น

RMF : RETIREMENT MUTUAL FUND หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

151005-kbank-g2กองทุนนี้เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมของผู้ลงทุนให้มีเงินใช้จ่ายหลังการเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน การเลี้ยงชีพ หรือเก็บเป็นทุนทรัพย์ให้ลูกหลานในอนาคต ซึ่งข้อดีคือสามารถนำไปหักภาษีได้เช่นกัน โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งหมด แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อรวมกับประกันแบบบำนาญ กองทุน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน)  โดยคุณต้องลงทุนใน RMF ต่อเนื่องทุกปีจนถึงอายุ 55 ปี และลงทุนในปีไหน ก็นำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีในปีนั้นๆ

 

LTF/RMF : เขาเอาเงินเราไปทำอะไร

LTF : LONG TERM EQUITY FUND หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว

ดูง่ายๆตามชื่อเลยว่า กองทุนรวมหุ้นระยะยาว  หลักๆแล้วการลงทุนใน LTF จะเน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นการลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65% เพราะฉะนั้นจัดว่ามีระดับความเสี่ยงสูง ดังนั้นผู้ลงทุนควรมีการศึกษาความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเองด้วย  กองทุน LTF มีทั้งแบบจ่ายเงินปันผลระหว่างปีเมื่อมีผลกำไร และแบบไม่มีเงินปันผล  ซึ่งผู้ลงทุนจะได้เงินต้น และผลตอบแทนรวมทีเดียวตอนขายกองทุนเมื่อครบ 5 ปีปฏิทิน

RMF : RETIREMENT MUTUAL FUND หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

สำหรับ RMF ที่เน้นให้ออมกันถึงเกษียณ นโยบายการลงทุนจึงมีความหลากหลายให้เลือกสรร ตามระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้ ตั้งแต่ต่ำไปจนสูงเลยทีเดียว มีทั้งกองทุน RMF ที่ลงทุนในพันธบัตร, RMF ตราสารหนี้, RMF ทองคำ, RMF หุ้น รวมถึง RMF ที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ต่างประเทศ

 

LTF/RMF : เลือกอย่างไรให้เหมาะกับเรา

คำตอบแรกง่ายๆ คือ ต้องรู้จักเป้าหมายการลงทุนของตนเอง และรู้ว่าตนเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด เพราะอันที่จริงเราควรลงทุนทั้งใน RMF และ LTF เพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่ทั้งด้านการออมและการลดหย่อนภาษี ที่สำคัญเมื่อเงินลงทุนเป็นส่วนที่เหลือจากความจำเป็นแล้ว น่าจะให้ความสำคัญกับ RMF ก่อนเพื่อเป้าหมายระยะยาวและเริ่มเปลี่ยนความคิดว่าเรื่องเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว เพราะการลงทุนใน RMF ต่อเนื่องตั้งแต่อายุ 20 ปลายๆ หรือ 30 ต้นๆ แล้วต้องใช้เวลาลงทุนไปถึงอายุ 55 ปีนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะนอกจากที่คุณจะได้ออมเงิน อย่าลืมว่าเมื่อคุณเกษียณและไม่มีรายได้ คุณต้องมีเงินเก็บมากพอที่จะใช้ชีวิตไปอย่างน้อยอีก 20-30 ปี  ส่วนระยะเวลาในการลงทุนของ LTF นั้น ใช้เวลาเพียงแค่ 5 ปีขึ้นไป ก็ให้ถือเป็นเงินลงทุนอีกส่วนหนึ่งเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะสั้น

นอกจากระยะเวลาในการลงทุนที่เราควรพิจารณาแล้ว คุณยังต้องรู้ตัวเองว่าคุณสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงไหน  หากคุณลงทุนในกองทุน LTF ที่เน้นลงทุนในหุ้น แน่นอนว่าความผันผวนอาจมีมากพอควร ส่วน RMF นั้นมีตัวเลือกหลากหลายตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของคุณ ยกตัวอย่างระดับความเสี่ยงของกองทุนแต่ละประเภทตามตารางด้านล่าง ส่วนใครยังไม่แน่ใจว่าตนเองรับความเสี่ยงได้แค่ไหนลองคลิกทดสอบได้ที่นี่ 

151005-kbank-5

 

LTF/RMF : ซื้อกองทุนไหนดี
พอเราเข้าใจความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุนของตนเองแล้ว ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกลงทุน LTF/RMF เราต้องเข้าใจนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร โดยอย่าลืมที่จะศึกษาหนังสือชี้ชวนของแต่ละกองทุนให้ละเอียดก่อน ยกตัวอย่างกองทุน LTF/RMF เบื้องต้นเช่น

กองทุน K20SLTF  –  ก่อนอื่นง่ายๆเลยพอเจอคำว่า LTF คุณต้องรู้ทันทีว่า  กองทุนนี้จะเน้นลงทุนในหุ้น และหากไปอ่านหนังสือชี้ชวน จะเห็นได้ว่ากองทุนนี้เน้นการลงทุนในหุ้นเด่นที่มีศักยภาพสูงไม่เกิน 20 บริษัทเท่านั้น  และมีการจ่ายปันผลให้กับผู้ลงทุนอีกด้วย (ระดับความเสี่ยง 6)

กองทุน K70LTF –  สังเกตง่ายๆ พอเจอเลข 70 สันนิษฐานได้ว่ากองทุนนี้เน้นลงทุนหุ้นไม่เกิน 70% และที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้  หรือเรามักเห็นกองทุนที่เขียน 70:30 ก็จะเป็นการลงทุนในแบบเดียวกัน  ที่นโยบายเป็นแบบนี้ ก็เพื่อจำกัดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่ให้เกิน 70% ในขณะที่กองทุนทั่วไปจะสามารถลงทุนในหุ้นได้ตั้งแต่ 65% – 100% ดังนั้นกองทุนนี้จึงมีความเสี่ยงที่น้อยกว่ากองทุน LTF ทั่วๆไป (ระดับความเสี่ยง 6)

151005-kbank-4

กองทุน KSFRMF  –  เห็นคำว่า RMF แล้วอย่ามัวคิดแต่ว่าต้องรออายุเยอะๆ ก่อนถึงซื้อ  เพราะยิ่งคุณเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย ก็ยิ่งเพิ่มความมั่นคงยามเกษียณ ซึ่งกองทุนนี้เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ไม่สูงนัก มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความผันผวนน้อย และอย่าลืมว่าคุณต้องจ่ายเงินก้อนนี้จนกว่าจะถึงอายุ 55 ปีนะคะ ( ระดับความเสี่ยง 4 )

กองทุน KGARMF – อีกหนึ่งกองทุน RMF ที่ช่วยในคุณอุ่นใจยามเกษียณ กองทุนนี้จะเน้นลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ทั่วโลก มีระดับความเสี่ยงปานกลาง ( ระดับความเสี่ยงระดับ 5 )

เห็นมั้ยค่ะว่าแม้แต่ LTF/RMF แต่ละกองก็มีนโยบายและความเสี่ยงที่ต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องรู้เลยคือการรับความเสี่ยงของตนเอง และนโยบายการลงทุนที่คุณสนใจ

อ่านถึงตรงนี้ อาจมีคำถามว่าเราควรซื้อแล้วหรือยัง  สำหรับการออมเงินแล้วต้องบอกว่า ยิ่งเริ่มก่อน ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งถ้าเป็นการลงทุนใน LTF/RMF แล้ว นอกจากจะได้ลงทุนเพื่ออนาคต คุณยังได้หักลดหย่อนภาษีและบางกองทุนยังมีการจ่ายปันผลให้อีกด้วย ลงทุนสบายใจ มีกำไรจากปันผลด้วย แล้วทำไมคุณจะไม่เริ่มกันตั้งแต่วันนี้  หากคุณยังมีคำถามเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุน สามารถศึกษาหาข้อมูลได้ที่ KASSET หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขาคะ

151005-kbank-banner

หมายเหตุ: ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือภาษีก่อนตัดสินใจลงทุน

Lady P.
WRITER: Lady P.
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line