Life

ไม่ได้เบิร์นเอ้าท์ ไม่ได้ซึมเศร้า แต่หมดแพสชั่น รู้จัก Languishing อาการอิดโรยที่เกิดจากความเครียดโควิด

By: unlockmen April 21, 2021

ช่วงนี้หลายคนคงรู้สึกเหมือนชีวิตห่อเหี่ยว โฟกัสกับชีวิตประจำวันไม่ค่อยได้ และช่างไม่มีความสุขเอาเสียเลย เพราะความเครียด ความกังวล หรือ ความกลัวที่เกิดขึ้นจากปัญหา COVID-19 ได้ทำร้ายจิตใจเรามาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ซึ่งอาการนี้อาจไม่ใช่สัญญาณของภาวะซึมเศร้า หรือ เบิร์นเอ้าท์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของ Languishing ภาวะเฉื่อยชาที่ระบาดมากขึ้นในช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19 ก็เป็นได้

ภาวะนี้ได้รับการพูดเป็นครั้งแรกโดย Corey Keyes นักสังคมวิทยา ในงานวิจัยของเขาที่เผยแพร่ทางออนไลน์ในวารสาร Journal of Health and Social Research เมื่อปี 2002 และได้กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในปี 2021 เพราะบทความของสำนักข่าว New York Times ได้กล่าวถึงมัน

โดย Languishing จะไม่ถือเป็นความผิดปกติทางจิต เพราะแม้คนที่มีอาการนี้จะตกอยู่ในสภาพไร้เป้าหมายในชีวิต ขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่มีความสุขหรืออารมณ์ด้านบวกอื่น ๆ กับชีวิตเลย ไปจนถึง จิตใจทำงานได้แย่ ซึ่งคล้ายกับภาวะซึมเศร้า แต่คนที่มีอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีประวัติการเป็นภาวะซึมเศร้าในช่วงก่อนหน้าด้วย เพราะฉะนั้นจึงเรียก Languishing ว่าเป็นความเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิตใจเหมือนซึมเศร้าไม่ได้ แต่เป็นเพียงอาการที่คาบเกี่ยวระหว่าง ’ภาวะซึมเศร้า’ (depression) และ ’อาการเฉื่อยชา’ (flourishing)

Languishing ยังส่งผลเสียต่อเราได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ทำลายแรงจูงใจ และ ทำให้เราไม่มีสมาธิในการทำงานหรือใช้ชีวิต รวมถึง เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคทางสุขภาพจิตมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น หากเราต้องการฟื้นฟูตัวเอง เราจำเป็นต้องหาวิธีการรับมือกับมันให้อยู่หมัดซะก่อน

ซึ่งวิธีแรกที่เราอยากแนะนำ คือ ‘การตั้งชื่อให้กับอารมณ์’ เพราะถ้าเรารู้ตัวว่าอารมณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นั่นคืออะไร เราจะเข้าใจในสิ่งที่เราเป็นมากขึ้น ความสงสัยและความรู้สึกขุ่นมัวก็จะหายไปง่ายขึ้น และยังช่วยให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือผิดปกติด้วย เพราะ Languishing เป็นปัญหาที่หลายคนประสบ อีกทั้ง เราจะอธิบายสภาพอารมณ์ของเราให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย และความเข้าใจผิดก็จะเกิดขึ้นน้อยลง

ต่อมา คือ การเอาชนะ Languishing ด้วยการเข้าสู่โหมดโฟลว์ (Flow) ในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน หรือ ทำงานอดิเรกที่ชอบ เพราะการที่เราเพ่งสมาธิ และทุ่มเทในการทำอะไรบางอย่างจนสุดความสามารถที่จะเข้าโหมดโฟลว์ได้นั้น ทำให้เรารู้สึกดี และหลีกเลี่ยงการโฟกัสกับอารมณ์แย่ ๆ ที่เกิดขึ้นจาก Languishing ได้

อีกวิธีหนึ่ง คือ การพาตัวเองไปเผชิญหน้ากับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็น โปรเจ็กต์ เป้าหมาย หรือ แม้แต่เกมส์ปริศนา แต่ความท้าทายดังกล่าวต้องไม่ยากเกินความสามารถของเรา หรือ เราสามารถแก้ไขมันได้ด้วยตัวเอง เพราะการทำสิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราโฟกัสได้ดีขึ้น และช่วยให้เรารู้สึกมีแพสชั่นในชีวิตมากขึ้นได้

นอกจากนี้วิธีการอื่น เช่น การค้นหาเป้าหมายในชีวิตตัวเอง การฝึก mindfulness หรือ การออกกำลังกาย ก็ช่วยให้เราดีขึ้นได้เช่นกัน เพราะวิธีเหล่านี้จะช่วยให้เราไม่หลงลืมเป้าหมายตัวเอง รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เครียดน้อยลง และมีความสุขมากขึ้นตามมา ฉะนั้นอย่าลืมเอาวิธีเหล่านี้ไปทำกันดูละ


SOURCES:  1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line