Life

“เราคงไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้” Learned Helplessness เมื่อปัญหาเรื้อรังทำลายความหวังในการแก้ไข

By: unlockmen April 30, 2021

บ่อยครั้งที่เราต้องเจอกับสถานการณ์ที่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก และตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งความอันตรายของสถานการณ์ที่น่าอึดอัดเหล่านั้น คือ มันอาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Learned Helplessness ซึ่งเป็นอาการประเภทที่ทำให้เรายิ่งแก้ปัญหาและทำงานได้แย่ลงกว่าเดิม

Learned Helplessness คือ ภาวะที่มนุษย์เจอกับความตรึงเครียด หรือ ควบคุมไม่ได้มาเป็นเวลานาน จนพวกเขาเกิดความรู้สึกสิ้นหวัง หรือ ไร้ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์นั้นอย่างสิ้นเชิง และสุดท้ายเมื่อมีโอกาสที่พวกเขาจะควบคุมหรือแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ พวกเขาก็จะหมดกำลังใจ และไม่พยายามที่จะคลี่คลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เหล่านั้นอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น คนที่พยายามเลิกสูบบุหรี่หลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ แล้วคิดว่า ตัวเองเกิดมาเพื่อเป็นนักสูบบุหรี่ เป็นต้น

คนที่ตกอยู่ในภาวะนี้จะมีลักษณะเหล่านี้ เผชิญหน้ากับความเจ็บปวดทางใจในฐานะผู้ถูกกระทำ (passive) กล่าวคือ เมื่อพวกเขาเจอกับความยากลำบาก พวกเขาจะนิ่งเฉยและไม่ลงมือทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เหล่านั้น พวกเขาจะไม่เรียนรู้ว่าการ take action หรือ การตอบสนองต่อปัญหาจะช่วยให้พวกเขาสามารถควบคุมมันได้ และอาจมีระดับความเครียดที่สูงกว่าปกติอีกด้วย

Learned Helplessness ถือเป็นปัญหาที่ขัดขวางการใช้ชีวิตของเราพอสมควร เพราะมันจะทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังเวลาอยู่เบื้องหน้าปัญหาที่ซับซ้อน หมดแรงจูงใจในการแก้ปัญหา ทำลายความมั่นใจในการใช้ชีวิต และทำให้เรามองโลกในแง่ลบอีกด้วย อีกทั้งมันยังส่งผลเสียต่อความสามารถในการทำงานของเรา

งานวิจัย (2004) จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Cedarville University ได้ศึกษาผลของ Learned Helplessness ในนักเรียนที่ทำข้อสอบ 2 ประเภท ได้แก่ ข้อสอบระดับง่าย และ ข้อสอบระดับยาก และพบว่า กลุ่มที่ทำข้อสอบยากจะรู้สึกท้อแท้ สงสัยในความสามารถทางวิชาการของตัวเอง และยังพลาดคำถามง่าย ๆ ที่อยู่ในข้อสอบอีกด้วย ส่วนกลุ่มที่ทำข้อสอบง่ายไม่มีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ นำไปสู่ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยที่ว่า Learned Helplessness มีผลกระทบต่อคะแนนสอบของนักเรียนทั้งสองกลุ่ม

เมื่อ Learned Helplessness เป็นภาวะที่ไม่ดีต่อใจเท่าไหร่ เราควรป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นดีกว่า ซึ่งสามารถทำได้โดยการเปลี่ยน Explanatory Style หรือ เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์เลวร้าย ซึ่งจะช่วยให้เรามองโลกในแง่บวกมากขึ้น และสามารถก้าวข้าม Learned Helplessness ไปได้ โดยการเปลี่ยน Explanatory Style ควรเป็นไปในแนวทางเหล่านี้

ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว บางทีมันอาจมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ความเลวร้ายเกิดขึ้น ฉะนั้น อย่าโทษตัวเองเวลาเกิดความผิดพลาดทันที แต่ให้คิดถึงปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมา อาทิ ถ้าเราพ่ายแพ้ในการแข่งขันบ่อยครั้ง อย่าคิดว่าตัวเองไร้พรสวรรค์ในการเล่นกีฬา เราอาจไม่ได้เรียนรู้หรือฝึกซ้อมเทคนิคที่จำเป็น

ไม่คิดว่าความย่ำแย่จะคงอยู่ไปตลอดกาล หลายเรื่องเปิดโอกาสให้เราเปลี่ยนแปลงมันได้ เพียงแค่เราต้องหาเหตุผลว่าอะไรทำให้มันเกิดขึ้น อาทิ ถ้าเราสอบตกวิชาเลข อย่าบอกว่าตัวเองไม่ได้เกิดมาเพื่อทำเลข เราอาจเพียงขาดความรู้พื้นฐาน ซึ่งสามารถไปหาหนังสือมาอ่าน หรือ ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้ได้

ไม่เหมารวมว่าทุกอย่างต้องเป็นเหมือนกันหมด เพราะมันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจชอบการท่องเที่ยว แต่เราแค่เจอทริปที่แย่เท่านั้น ถ้าสถานที่ เพื่อนร่วมเดินทาง หรือ เวลาเปลี่ยนไป เราก็เอนจอยกับการท่องเที่ยวได้เหมือนเดิม

นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยให้เราเอาชนะ Learned Helplessness ได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น การระบายกับคนที่เข้าใจเรา เพื่อขอกำลังใจและการสนับสนุน เปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ย่ำแย่ให้เป็นความคิดและพฤติกรรมที่บวกมากขึ้น รวมถึงการยึดมั่นในเป้าหมายและวิธีการในการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เรามีความหวัง ลองนำไปใช้กันดู แล้วเราจะผ่านพ้นไปได้ทุกเรื่องราวปัญหา


Appendix: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line