Life

LIKING GAP: เมื่อการพูดคุยกับคนแปลกหน้า ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่เราคิด

By: unlockmen August 17, 2020

เคยเป็นมั้ย เวลาคุยกับคนใหม่ๆ คนแปลกหน้า เราจะรู้สึกไม่มั่นใจ เพราะคิดว่าเขาคงคุยกับเราแล้วรู้สึกไม่สนุกเท่าไหร่ ขอบอกเลยว่าคุณไม่ได้เดียวดายในเรื่องนี้ เพราะ ‘Liking Gap’ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน

แต่ไอ้สิ่งที่เรียกว่า Liking Gap มันคืออะไร? แล้วมันเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสัมพันธ์ตรงไหน? UNLOCKMEN จะอธิบายให้ทุกคนฟัง พร้อมแนะนำ 3 เคล็ดลับทลายกำแพงการพูดคุยกับคนแปลกหน้าเอาไว้ฝึกฝนสกิลการเข้าสังคม และต้องเริ่มต้นบทสนทนากับพบผู้คนหน้าใหม่ ๆ

Liking Gap คือ คำเรียกสภาวะที่เรารับรู้ความชื่นชอบจากคนอื่นไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยเรื่องนี้ได้รับการยืนยันโดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เรามักประเมินความชอบที่ได้รับจากคนอื่นต่ำกว่าความเป็นจริง

งานวิจัยชิ้นนี้ทำโดยทีมวิจัยของ ‘Erica Boothby’ นักจิตวิทยาจาก ‘Cornell University’ ในปี 2018 ซึ่งได้ศึกษาสถานการณ์ที่คนแปลกหน้าพูดคุยกัน (ทั้งในห้องทดลอง และสถานการณ์จริงของผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อป) โดยทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างใน 2 เรื่อง ได้แก่ แต่ละคนชอบคู่สนทนาของตัวเองมากแค่ไหน? และแต่ละคนคิดว่าคู่สนทนาของตัวเอง รู้สึกชอบเรามากน้อยแค่ไหน ?

นักวิจัยได้ทำการศึกษา 5 ครั้ง (มีการเปลี่ยนสถานการณ์ และกลุ่มตัวอย่างระหว่างการทดลอง) ในกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนรวมกันกว่า 700 คน และได้สรุปผลการทดลองว่า คนมักชอบคู่สนทนาของตัวเอง มากกว่าที่เขาคิดว่าคนสนทนาจะชอบพวกเขา และได้เรียกปรากฎการณ์มายาทางจิตวิทยานี้ว่า ‘liking gap’ ซึ่งคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนขี้อายมาก ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากมันอย่างรุนแรง

นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่า คนจะรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในความสามารถของตัวเองเวลาเข้าร่วมการสนทนากับคนอื่น และยังมีแนวโน้มคิดถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นในการสนทนากับคนอื่นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะแย้งนักวิจัยได้ว่า คนที่มีมารยาทคงไม่พูดว่าคนอื่นชอบตัวเองหรอก เพราะงานวิจัยเก็บข้อมูลจากการรายงานของผู้เข้าร่วมการทดลอง แต่มันก็แสดงให้เราเห็นว่า ไม่ควรกลัวการคุยกับคนแปลกหน้า ซึ่งมันมีงานวิจัยมารองรับแล้วว่า การพูดคุยกับคนแปลกหน้าส่งผลดีต่ออารมณ์ของเรา อาทิ งานวิจัยที่ชื่อว่า “Is Efficiency Overrated?: Minimal Social Interactions Lead to Belonging and Positive Affect” (2013)

งานวิจัยศึกษาสถานการณ์ของคนที่ถูกวานเข้าไปรับเครื่องดื่มในร้านกาแฟ Starbucks โดยมีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกแค่เข้าไปและออกมา และ กลุ่มที่สองเข้าไปแล้วมีการสนทนากับแคชเชียร์ด้วย ซึ่งผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่สนทนากับพนักงานจะออกมาจากร้านกาแฟด้วยอารมณ์ที่ดีกว่ากลุ่มแรก และรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากกว่าด้วย

แต่ถึงจะรู้แล้วว่าอย่ากลัวการคุยกับคนแปลกหน้า การเริ่มต้นพูดคุยกับคนใหม่ๆ อาจจะยังเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน เพราะเราถูกสั่งสอนมาว่า ไม่ให้ไว้ใจคนแปลกหน้า หรือ บางคนมีบุคลิกเป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยชินกับการคุยกับคนใหม่ๆ ดังนั้น เราเลยได้นำ 3 เคล็ดลับที่ช่วยให้เราสามารถพูดคุยกับคนแปลกหน้าได้อย่างดี มาแบ่งปันทุกคน

เข้าใจระดับของหัวข้อสนทนา

เราควรรู้ก่อนว่าเรื่องแบบไหนที่ควรถามและไม่ควรถามเวลาเจอกับคนแปลกหน้าครั้งแรก เรื่องแบบไหนเราควรถามเฉพาะคนที่เราสนิท หรือ เรื่องแบบไหนที่เราสามารถถามใครก็ได้ หากรู้เรื่องเหล่านี้แล้วก็จะหลีกเลี่ยงการถามที่สร้าง dead air ในบทสนาได้ ซึ่งเราสามารถแบ่งประเภทของหัวข้อสนทนาเป็น 3 ระดับ ได้ดังนี้

ระดับที่ 1: พื้นที่ปลอดภัย (safe territory) เป็นเรื่องทั่วๆ ไป เช่น กีฬา สภาพอากาศ ดารา เป็นต้น

ระดับที่ 2: เรื่องที่อาจทำให้เกิดการเถียงกันได้ (potentially controversial) เช่น ศาสนา การเมือง ประสบการณ์ความรักหรือการเดท หากลองเปิดหัวข้อการสนทนาด้วยเรื่องพวกนี้แล้ว เขาไม่สนใจก็ควรถอย

ระดับที่ 3: หัวข้อที่ต้องมีความใกล้ชิดกันมากที่สุด (the most intimate topics) เช่น ครอบครัว การเงิน สุขภาพ และชีวิตการทำงาน การถามเรื่องเหล่านี้ต้องดูด้วยว่าจังหวะมันได้หรือไม่ เพราะถ้าเราถามเรื่องพวกนี้ผิดเวลา ก็อาจทำให้เราถูกมองว่าถามซอกแซกมากไป และคู่สนทนาจะตีตัวออกห่างได้

แสดงความสนใจในหัวข้อการสนทนา

พูดเยอะไม่ได้ทำใหเราเป็นนักสนทนาที่ดี แถมจะทำให้เราเหนื่อยเกินไปด้วย ดังนั้น คนที่พูดน้อยก็สามารถเป็นนักสนทนาดีได้ เพียงแค่แสดงความสนใจในหัวข้อการสนทนา เช่น ตั้งใจฟัง หรือ ถามในรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นพูด และไม่ต้องกลัวว่า การพูดน้อยไปจะทำให้การสนทนาติดขัด เพราะ ถ้าเราตั้งใจฟังคู่สนทนาอย่างดีแล้ว เราจะมีคำถามที่ถามเขาต่อได้ และบทสนทนามันก็จะไปต่อได้เรื่อยๆ เช่นกัน

เป็นนักสนทนาที่ดี

เป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี ในการพูดคุยกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็น คนแปลกหน้า หรือคนที่เรารู้จักอยู่แล้ว สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือการเป็นนักสนทนาที่ดี ซึ่งหลักการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การมี eye contact กับคู่สนทนาตลอดการสนทนา หรือฟังที่คนอื่นพูดให้จบก่อนค่อยถาม หรือตั้งใจฟังและถามคำถามในสิ่งที่พวกเขาพูด เป็นต้น

 


Contributor: วัศพล โอภาสวัฒนกุล

Reference: 1 / 2 / 3

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line