Life

Money or Time ? เมื่อความสุขเกิดขึ้นจาก ‘เงิน’ และ ‘เวลา’ เราควรใช้จ่ายด้วย mindset แบบไหน

By: unlockmen November 11, 2021

หลังจากที่เราเรียนจบมหาวิทยาลัย และกำลังเข้าสู่วัยทำงาน หลายคนคงเคยเจอกับสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่าง “งานที่เงินดีแต่ไม่มีเวลาทำอย่างอื่น” หรือ “งานที่เงินอาจจะให้เงินไม่ดีมากเมื่อเทียบกับงานแรก แต่ก็ทำให้เรามีเวลาไปใช้ชีวิตมากกว่า” แต่ละคนคงมีเหตุผลในการเลือกงานที่แตกต่างกันไป บางคนกำลังเจอกับปัญหาเรื่องการเงินก็เลยเลือกงานที่มีเวลาว่างน้อย หรือ บางคนที่ไม่มีความเครียดเรื่องเงินก็อาจเลือกงานที่ได้เงินเดือนคุ้มค่ากับเวลา

แต่ไม่ว่าคุณเลือกงานแบบไหน อาจต้องคิดถึง ‘ความสุข’ ของตัวเองด้วย เพราะงานวิจัยบอกเราว่าคนที่ให้ความสำคัญกับเงินอาจไม่ใช่คนที่มีความสุขมากเท่าไหร่

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง (2019) ได้ขอให้นักศึกษาที่กำลังเรียนจบจาก University of British Columbia จำนวนกว่า 1,000 คน ทำแบบประเมินที่วัดว่าพวกเขามีแนวโน้มจะให้คุณค่ากับเวลามากกว่าเงิน หรือ เงินมากกว่าเวลา ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูล นักวิจัย พบว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ (61.7 %) ให้ความสำคัญกับเวลามากกว่าเงิน ในขณะที่เด็กนักเรียนเกือบ 40% ให้ความสำคัญกับเงินมากกว่า

นอกจากนี้นักวิจัยยังขอให้พวกเขารายงานระดับความ พึงพอใจในชีวิตของตัวเอง (life satisfaction) โดยการตอบคำถามเช่น “Taking all things together, how happy would you say you are?” ซึ่งการตอบจะเป็นการให้คะแนนไล่ระดับตั้งแต่ 0 -10 โดย 0 จะหมายถึง ไม่เลย และ 10 จะหมายถึง มากที่สุด ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ในช่วงหนึ่งปีหลังจากจบการศึกษา นักเรียนที่ให้ความสำคัญกับเงินจะมีความสุขน้อยกว่าคนที่ให้ความสำคัญกว่าเวลา

ดูเหมือนว่า ปรากฎการณ์นี้จะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนที่เพิ่งเรียนจบเท่านั้น คนที่เข้าสู่วัยทำงานแล้วก็ดูจะได้รับผลกระทบจากมันเหมือนกัน งานวิจัยโดย Hal Hershfield, Cassie Mogilner และ Uri Barnea (2016) ได้ทำการสำรวจชาวอเมริกัน 4,000 คน เพื่อดูว่าพวกเขาให้คุณค่ากับเวลาหรือเงินมากกว่ากันซึ่งผลการสำรวจพบว่าคนกว่า 64% เลือกเงินมากกว่าเวลา แต่คนที่ให้ความสำคัญกับเวลามีความสุขมากกว่าคนที่สนใจเรื่องเงิน

ไม่ได้เป็นเพราะคนที่สนใจเวลารวยมากพอที่ไม่ต้องเครียดเรื่องเงินเท่านั้น หลังจากนักวิจัยควบคุมตัวแปรทางด้านรายได้แล้ว ผลลัพธ์ก็ยังออกเหมือนเดิม โดยคนแก่ คนที่แต่งงานแล้ว และผู้ปกครอง จะมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าได้อยู่เหมือนกัน อย่างคนแก่ก็มีเวลาเหลือไม่มาก คนที่มีคู่ครองหรือลูกก็ให้ความสำคัญกับเวลา เพราะอยากใช้มันกับคนที่ตัวเองรัก หรือ รู้สึกว่าถูกคนในครอบครัวขโมยเวลาไป หรือ ทั้งสองเหตุผล

พอเห็นแบบนี้แล้วหลายคนคงคิดว่า “หรือเราควรปฏิเสธความก้าวหน้าทางการงานที่เข้ามา” แต่ในความเป็นจริงเราไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเสมอไป เพราะมันก็มีงานวิจัยที่บอกว่า เงินช่วยให้เราพอใจในชีวิตของตัวเองมากขึ้นได้เหมือนกัน

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง (2010) ที่ทำโดย Daniel Kahneman และ Angus Deaton สองนักวิชาการที่ได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ทำงานวิจัยเพื่อยืนยันว่า เงินมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตใน 2 ด้าน ได้แก่ ด้านความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์ หรือ คุณภาพชีวิตประจำวัน (everyday quality of daily life) เช่น ความสุข ความเครียด ความเศร้า หรือ ความโกรธ และด้านการประเมินชีวิต (life evaluation) หรือ ความคิดที่คนมีต่อชีวิตของพวกเขาเอง

ผลการวิจัยพบว่า เงินมีอิทธิพลต่อวิธีการประเมินชีวิตของคน โดยเมื่อพวกเขาคิดถึงเรื่องเงิน คนที่มีเงินมากจะรู้สึกดีกับชีวิตของตัวเองมากกว่า ในขณะที่ความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์ก็เพิ่มขึ้นตามรายได้เช่นกัน แต่ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นกับ คนที่มีรายได้ปีละ $75,000 หรือ (2.4 ล้านบาทเท่านั้น) พอมีรายได้มากกว่านี้ คนจะไม่มีความสุขกับเงินเดือนสูงอีกต่อไป

นักวิจัยจึงสรุปว่า รายได้น้อยเกี่ยวข้องกับการประเมินชีวิตตัวเองต่ำและการมีความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์ต่ำ ในขณะที่รายได้สูงสามารถซื้อความพึงพอใจในชีวิตได้ แต่อาจจะไม่ใช่ความสุขในชีวิต

จนมาปีนี้ได้มีงานวิจัยล่าสุดที่ทำโดย Matthew Killingswort จาก Wharton School (University of Pennsylvania) ซึ่งต้องการต่อยอดจากงานวิจัยเมื่อปี 2010 โดยการศึกษาข้อมูลจากรายงานประสบการณ์แบบสุ่ม (experience-sampling reports)  1,725,994 ชิ้น จากชาวยูเอสจำนวนกว่า 33,391 คน และพบว่าความพึงพอใจในชีวิต และสุขภาวะของคนเพิ่มขึ้นตามรายได้

นอกจากนี้นักวิจัยยังพบด้วยว่าความเป็นอยู่ของคนจะดีขึ้น เมื่อคนมีรายได้เกิน $80,000 (2.6 ล้านบาท) ต่อปีด้วย นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ยิ่งรายได้มากขึ้นเท่าไหร่ มันอาจยิ่งทำให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในแต่ละวัน รวมไป ถึงความพึงพอใจในชีวิตที่มากขึ้น

กล่าวได้ว่า เงินและเวลา ทั้งคู่ต่างมีความสัมพันธ์ต่อความสุขของเรา ถ้าเราไม่ค่อยมีเวลาให้ตัวเองกับครอบครัว เราก็คงรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับชีวิตได้ง่าย หรือ ถ้าเรามีเงินน้อยหรือมีภาระทางการเงิน เราก็คงไม่ค่อยพอใจชีวิตตัวเองเหมือนกัน

การรู้จักใช้เงินอย่างมีคุณค่าที่สุด อาจช่วยให้เรามีความสุขได้มากที่สุด เช่น ในการทำงาน บางงานมันอาจคุ้มค่าที่จะจ้างคนอื่น หรือ เวลาจะซื้อของสักชิ้น เราอาจลองคิดถึง ‘ของที่ให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีสุด’ มากกว่า ‘ซื้อของที่มีคุณสมบัติดีที่สุด’ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเปรียบเทียบ ต่อให้เราคิดว่าซื้อของที่ดีที่สุดแล้ว เราก็อาจรู้สึกเฟลเมื่อเห็นคนซื้อของชิ้นเดียวกันในราคาที่ถูกกว่า การเลิกเปรียบเทียบจะช่วยให้เรามีความสุขกับการใช้เวลาและเงินมากขึ้นได้เช่นกัน


Appendix: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line