Business

“5 หนทางสร้างคอนเนกชันแบบรุ่นใหญ่”วงสนทนาแบบไหนก็คุยคล่องอย่างมืออาชีพ

By: PSYCAT February 18, 2020

คอนเนกชันคืออีกกุญแจหนึ่งที่จะไขบานตูแห่งโอกาสใหม่ ๆ ให้ชีวิตลูกผู้ชายอย่างเรา คอนเนกชันไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีความสามารถ แต่มันหมายถึงการที่เราทำความรู้จักคนที่เหมาะสม ผูกมิตรภาพและใช้ใจแลกใจจนเกิดเป็นคอนเนกชันที่ดี” ซึ่งจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ความสามารถและผลงานของเราไปอยู่ถูกที่ถูกทางได้สะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตามคอนเนกชันไม่ได้ลอยมาจากอากาศ การรู้จักสร้างคอนเนกชันให้เหมาะสมก็ถือเป็นอีกความสามารถหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้และฝึกฝน เพื่อให้ทุกปาร์ตี้ ทุกการสังสรรค์ หรือทุกงานเลี้ยงที่เต็มไปด้วยคอนเนกชันให้เก็บเกี่ยว เราจะได้สร้างบทสนทนาได้ลื่นไหล วางตัวได้ราบรื่น และเข้ากับผู้อื่นได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

ตรงกลางคือตำแหน่งสำคัญ

หลายคนคิดว่าการสร้างคอนเนกชันจากบทสนทนานั้นมีแค่สกิลการพูดเท่านั้นที่สำคัญ จนหลงลืมไปว่าตำแหน่งที่เราเลือกอยู่ในงานสังสรรค์หรืองานทางธุรกิจนั้น ๆ ก็สำคัญและมีความหมายไม่แพ้กัน

เราเข้าใจดีว่าการไปในที่ที่เราไม่รู้จักใครเลย และหลาย ๆ คนก็มากันเป็นกลุ่มหรือดูจะรู้จักกันอยู่ก่อนแล้ว การเลือกเดินเข้าไปที่มุมห้อง แล้วยืนมองใครต่อใครจากมุมนั้นมันให้ความรู้สึกอุ่นใจกว่า แต่ในความอุ่นใจนั้นก็เป็นการตัดโอกาสของตัวเราเองเช่นกัน

เพราะในปาร์ตี้ที่ต่างคนต่างต้องการหาคอนเนกชันและคนส่วนใหญ่อาจแปลกหน้าต่อกันนั้น ไม่มีใครเดินข้ามห้องจากมุมหนึ่งไปมุมหนึ่ง (โดยเฉพาะเมื่อสถานที่นั้นกว้างใหญ่) เพื่อหาคนที่อยากคุยโดยเฉพาะ แต่ผู้คนมักเลือกคนที่อยู่ตรงหน้าพวกเขา คนที่อยู่ไม่ไกลจากพวกเขา หรือคนที่มองเห็นได้ง่าย ไม่ต้องสอดส่ายสายตาหาให้เหนื่อย

การเลือกยืนตรงกลางห้องจึงถือเป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ไม่ว่าใครผ่านไปผ่านมา หรือมองมาจากมุมไหนก็เห็นและง่ายต่อการที่ทั้งเราและเขาจะเริ่มต้นทำความรู้จักกัน ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าการไปยืนอยู่มุมห้องรอใครเดินเข้ามา และจบลงด้วยการยืนไถมือถืออย่างเหงา ๆ จนจบงาน

ถ้าไม่รู้จะเริ่มบทสนทนาแบบไหนให้ชื่นชมคนอื่น

บางครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเดินดุ่ม ๆ เข้าไปเริ่มต้นบทสนทนากับคนแปลกหน้า หรือแม้แต่การยืนกลางห้องแล้ว แต่ถ้าไม่มีใครมี Eye Contact กับเราเลย จู่ ๆ จะไปสวัสดีครับ อยากคุยด้วยก็อาจทำให้เราเคอะเขิน แถมยังไม่รู้จะสานต่อบทสนทนานั้นอย่างไร

ดังนั้นถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร และกลัวว่าแค่สวัสดีครับ มันดูน่าเบื่อเกินไป ให้ลองชื่นชมใครสักคน หรืออะไรสักอย่างที่เขาทำ (อย่างจริงใจ) เพื่อเปิดบทสนทนา

อาจจะเป็นใครสักคนที่มาพรีเซนต์อะไรบางอย่างในงานนั้นแล้วเรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นน่าประทับใจมากอาจเป็นใครสักคนที่สวมสูทชุดที่เรารู้สึกว่าเท่และมีรสนิยมสุด ๆ ลองกล่าวชื่นชมสิ่งเหล่านั้น แล้วถามไถ่ที่มาที่ไป

การเริ่มต้นแบบนี้ไม่เพียงทำให้อีกฝั่งรู้สึกดี แต่หมายความว่าเราเองก็ละเอียดอ่อนและใส่ใจมากพอที่จะสังเกตหรือเล็งเห็นผลงานที่เขาทำ นอกจากนั้นการถามที่มาที่ไปของสิ่งที่เราชื่นชมมีส่วนทำให้อีกฝั่งอยากมีบทสนทนากับเราได้มากขึ้นมากกว่าการทักทายทั่ว ๆ ไป

รู้จักคำถามตัวเราเองให้ดีรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

ในวงสนทนาโดยเฉพาะจุดประสงค์เพื่อ Keep Connection ไปเพื่อส่งเสริมกันและกันต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะด้านธุรกิจ การงานหรือด้านอื่น ๆ เรามักสนใจแต่ว่าคำตอบเราจะดูดีพอหรอยัง? คำตอบเราจะดูเป็นผู้เชี่ยวชาญพอไหม? แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่มีความหมายไม่แพ้คำตอบก็คือคำถาม

หลายครั้งที่เราถามอะไรออกไปแกน ๆ แบบเฉพาะหน้า เพราะก็ไม่รู้จะถามอะไร และเมื่ออีกฝั่งตอบกลับมาเราก็ทำได้ แค่อ่อ ครับ” “อืมมม” “อ้าาาแล้วพยักหน้าหงึกหงัก ทำสายตาคล้ายว่าสนใจ แต่ในหัวกลับว่างเปล่า ไม่รู้จะถามอะไรต่อ (และคำถามเดิมก็อาจดูงง ๆ ตั้งแต่ต้น)

ดังนั้นอีกวิธีที่จะช่วยให้บทสนทนาราบรื่น วิธีสร้างคอนเนกชันแบบรุ่นใหญ่และมืออาชีพคือการที่เราต้องรู้จักคำถามของเราดีพอ และการรู้จักคำถามย่อมเกิดจากการเตรียมตัวมาอย่างพิถีพิถัน

ปัญหาการไม่รู้จะถามอะไรจะหมดไป การถามไปแบบงงจนไม่รู้จะถามอะไรต่อก็จะหายวับเช่นกัน ถ้าเราลิสต์คำถามราว ๆ  5-10 ข้อ แบบที่เรารู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสานบทสนทนา หรือสร้างคอนเนกชันทางธุรกิจ เช่น ช่วงนี้ธุรกิจของคุณมีความท้าทายอะไรเป็นพิเศษไหม อะไรที่คุณรักที่สุดเกี่ยวกับงานของคุณ หรือสิ่งอื่น ๆ เกี่ยวกับงานอดิเรก หรือการวางแผนอะไรบางอย่างในชีวิต งานและธุรกิจของเขา

การเตรียมคำถามไว้นอกจากจะทำให้ไม่เกิดจังหวะเดดแอร์ เรารู้ว่าควรถามอะไรต่อ แล้วยังทำให้อีกฝั่งรู้สึกว่าเรากระตือรือร้นที่จะคุยกับเขามากกว่า แค่ถามแล้วก็พยักหน้าไปเรื่อย ๆ แน่นอน

การแนะนำตัวที่ดีต้องทั้งกระชับและชวนให้ถามต่อ

ในสถานที่ที่คนมารวมตัวการเพื่อหาคอนเนกชันและสร้างบทสนทนาต่อกัน นอกจากทักทายตามมารยาทแล้วช่วงนี้ทำอะไรอยู่ครับถือเป็นอีกคำถามหนึ่งที่เรามักจะต้องถูกถาม ทั้งตามมารยาทและเพราะอีกฝั่งต้องการรู้ว่าเราทำงานอะไรมีความเชี่ยวชาญอะไร จะได้รู้ว่าต้องคุยอะไรต่อ

แม้ใครหลายคนคิดว่าการแนะนำตัวและพูดเกี่ยวกับตัวเองถือเป็นเรื่องง่ายที่สุดแล้วจนเผลอประมาท ร่ายยาวว่าทำอะไร สนใจอะไร พูดยืดยาวจนหาจุดขึ้นต้น จุดพีค และจุดลงท้ายไม่ได้ ซึ่งนั่นถือเป็นหายนะสำหรับคู่สนทนา เพราะเมื่อมันยืดยาว เขาก็ไม่รู้ว่าต้องโฟกัสอะไร ไม่แน่ใจว่าเราเชี่ยวชาญเรื่องไหนที่สุดกันแน่ จะถามต่อก็ไม่รู้ว่าควรถามอะไร ดังนั้นการแนะนำตัวควรกระชับไม่ใช่ร่ายไปเรื่อย ๆ

นอกจากกระชับแล้ว ก็ควรมีจุดน่าสนใจมากพอให้อีกฝั่งโฟกัสได้ถูกว่าเราทำอะไร รวมถึงเปิดจุดที่ชวนให้ถามต่อได้ เพราะฉะนั้นการแนะนำตัวไม่ใช่แค่การพูดเรื่องตัวเองธรรมดา ๆ แต่เป็นคำตอบที่เราก็ควรเตรียมตัวให้ดี ไม่ต่างจากการทำเรซูเม่สมัครงาน เพราะการเริ่มต้นแนะนำตัวอย่างน่าประทับใจก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง

จำให้ขึ้นใจเรามาเพื่อคอนแทค

การสร้างบทสนทนาเพื่อคอนเนกชันต่างจากงานปาร์ตี้สังสรรค์ประเภทอื่น ๆ ที่เราคุยยิ่งนานก็ยิ่งดี ดื่มกันยิ่งสนุกก็ยิ่งใช่ เพราะการมาเพื่อหาคอนแทค คือการที่เรามาในงานหนึ่งงานเพื่อที่จะได้คอนแทคมากกว่าหนึ่งคอนแทค ไม่เช่นนั้นถ้าคุยคนเดียวไปตลอดงาน เท่ากับว่าในงานนี้เราจะได้มาเพียงคอนแทคเดียว

วิธีการก็คือเราควรกำหนดเวลาว่าเราจะใช้เวลาทำความรู้จักคนหนึ่งคน (รวมถึงแนะนำตัวเองอย่างครอบคลุม) เท่าไร? อาจจะ 5-15 นาที ไม่เกินกว่านี้ แล้วหลังจากนั้นก็ขอตัวอย่างแนบเนียน เช่น ขอตัวไปเอาเครื่องดื่มก่อนนะครับ ยังเดินไม่ทั่วเลยขอตัวไปดูรอบ ๆ ก่อนนะครับ หรืออาจจะขอไปเข้าห้องน้ำ

สิ่งสำคัญคือก่อนขอตัวอย่าลืมแลกคอนแทค ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ อีเมล หรือนามบัตร โดยทันทีที่ออกมาจากเขาคนนั้น ให้รีบบันทึกคอนแทคที่ได้มา ด้วยการโน้ตเพิ่มไปว่าเรื่องอะไรเกี่ยวกับคนนี้ที่เราจำได้ (หรือน่าจดจำ)

อาจเป็นธุรกิจที่เขาทำ บทสนทนาที่เราคุยแล้วชอบที่เราจะสามารถติดต่อเขาไป แล้วเมื่อสบโอกาสได้ติดต่อเขาไปก็ใช้โน้ตที่จดไว้ ยกเรื่องนั้น ๆ ขึ้นมาพูดให้เขาประทับใจว่าเราจดจำเขาได้จริง ๆ  หรือจะเป็นประโยคที่เขาเคยชวนให้ไปเยี่ยมธุรกิจเขา เปรย ๆ ว่าอยากให้ไปอีเวนต์ สิ่งเหล่านี้แสดงความพิถีพิถันที่จะทำให้เราโดดเด่นออกมาจากคนอื่น ๆ ที่อาจแค่มีคอนแทคแต่จำอะไรไม่ได้เลย

 

การสร้างคอนเนกชันจากบทสนทนาในงานหรือสถานที่ที่มีคนอยู่จำนวนมากเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ผู้ชายอย่างเราต้องฝึกฝนและเตรียมตัวอย่างพิถีพิถัน เพราะคอนเนกชันคือประตูแห่งโอกาสที่ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่เราต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยความพยายาม

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line