Life

ไม่รู้สึกผิดที่ทำร้ายคนอื่น ?เมื่อการเชื่อฟังอาจทำให้เราเห็นใจคนอื่นน้อยลง

By: unlockmen November 13, 2020

ว่ากันว่า คนเรามีอิสระในการคิด และสามารถควบคุมการกระทำของตัวเองได้ แต่งานวิจัยบอกว่า เมื่อเราถูกบีบบังคับ เราอาจจะไม่ได้มีอิสระในการคิดเหมือนที่ใครหลายคนกล่าวไว้ เพราะการเชื่อฟังคำสั่งทำให้สมองส่วน ‘เห็นอกเห็นใจ’ และ ‘ความรู้สึกผิด’ ทำงานน้อยลง ส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่ทำร้ายคนอื่นได้ง่ายขึ้น


งานวิจัยเผยเชื่อฟังคนอื่นอาจทำให้เราเห็นอกเห็นใจคนอื่นน้อยลง

IMDB

กลุ่มนักวิจัยจากสถาบันประสาทวิทยาศาสตร์เนเธอร์แลนด์ (Netherlands Institute for Neuroscience) ได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเชื่อฟังคำสั่งกับความสามารถในการเห็นอกเห็นใจคนอื่น และพบว่า การเชื่อฟังคำสั่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเห็นอกเห็นใจ รวมถึงความรู้สึกผิด คนที่เชื่อฟังคำสั่งคนอื่นจึงทำในสิ่งที่ผิดใส่คนอื่นได้ง่ายขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร NeuroImage ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 40 คน โดยแต่ละคนจะสวมบทบาทเป็น ’ตัวแทน’ และ ’เหยื่อ’ พร้อมจับคู่กัน ซึ่งตัวแทนแต่ละคนจะมีอำนาจในการกดปุ่ม 2 ปุ่ม ได้แก่ ปุ่มที่ส่งกระแสไฟฟ้าไปสร้างความเจ็บปวดให้เหยื่อ ซึ่งแต่ละครั้งที่กดปุ่มนี้จะได้รับเงิน 5 เซนต์ด้วย ส่วนอีกปุ่มหนึ่งกดแล้วจะไม่ส่งกระแสไฟฟ้า และไม่ได้รับเงิน

ตลอดการทดลองทั้งหมด 60 ครั้ง จะมีทั้งกรณีที่ตัวแทนมีอิสระในการเลือกว่าจะส่งหรือไม่ส่งกระแสไฟฟ้าไปหาเหยื่อ และกรณีที่ตัวแทนได้รับคำสั่งจากนักวิจัยให้กดปุ่ม โดยในการทดลองแต่ละครั้ง นักวิจัยจะเก็บข้อมูลการทำงานของสมองของตัวแทนด้วยเครื่องสแกน MRI ด้วย

การทดลองให้ผลออกมาว่า ตัวแทนจะส่งกระแสไฟฟ้าไปหาเหยื่อมากขึ้น เมื่อพวกเขาได้รับคำสั่งจากนักวิจัยให้ทำ แถมผลการสแกนสมองยังชี้ให้เห็นด้วยว่า สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเห็นอกเห็นใจและความรู้สึกผิด จะทำงานน้อยลง เวลาเหล่าตัวแทนเชื่อฟังคำสั่งของนักวิจัย


ความเห็นอกเห็นใจเกิดขึ้นได้จาก ’การรู้ตัวเอง’

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้บอกว่า ให้ทุกคนเลิกเชื่อฟังคนอื่น แต่อยากให้ทุกคนรู้เท่าทันว่า คำสั่งแบบไหนที่เชื่อฟังแล้วมันจะส่งผลเสียต่อคนอื่น ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราไปถึงจุดได้ คือ ‘การรู้ตัวเอง’ (Self-Awareness) ซึ่งเป็นทักษะที่จะช่วยให้เรามีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น อ้างอิงจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Cognitive Enhancement ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ตัวเองและความเห็นอกเห็นใจที่มากขึ้น

ทีมวิจัยใช้เวลานานถึง 3 เดือน ในการรวบรวมข้อมูลของผู้เข้าร่วมการทดลองทั้ง 161 คน ที่ได้เข้าคอร์สเทรนนิ่งด้านการคิด ที่หลักสูตรการอบรมอ้างอิงมาจาก ทฤษฎีระบบครอบครัวภายใน (Internal Family Systems Model (IFS)) ที่ระบุว่า มนุษย์ประกอบขึ้นจาก ตัวตนย่อย (Sub-Personality) ที่มีความสัมพันธ์เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน และตัวตนเหล่านี้จะช่วยปกป้องเราจากอันตราย หรือ ความเจ็บปวดที่เรากำลังเผชิญอยู่ ตัวอย่างตัวตนย่อย ๆ ของเราก็เช่น เสียงวิจารณ์ภายใน หรือ ความชอบความเกลียดของเรา

ผลของการวิจัยชิ้นนี้ พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีพัฒนาการด้านทักษะในการรับรู้ส่วนของบุคลิกภาพที่แตกต่างกันของตัวเองได้มากที่สุด จะมีทักษะในการเดาสภาพจิตใจของคนอื่น (หรือ ความเห็นอกเห็นใจ) สูงขึ้นด้วย จึงกล่าวได้ว่า จะรู้เขาได้ ต้องรู้เราซะก่อน ถ้าเรารู้ว่าอะไรก่อให้เกิดเราในทุกวันนี้ เราก็จะสามารถเข้าใจความแตกต่างระหว่างตัวเองและคนอื่น รวมถึง รับรู้ปัจจัยที่สร้างตัวตนของคนอื่นขึ้นมาด้วย

 

เมื่อการรู้ตัวเองเหมือนเป็นก้าวแรกสู่ความเห็นอกเห็นใจ เราเลยจำเป็นต้องเริ่มรู้ตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น ทำสมาธิ ทำแบบทดสอบด้านบุคลิกภาพ ลองสวมบทบาทเป็นคนอื่น หรือ ลองถามเพื่อนสนิทเกี่ยวกับตัวเราดูก็ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นได้เช่นกัน


Appendixs: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line