Entertainment

เรียนรู้ Opportunity Mindset เปลี่ยนทุกวิกฤติให้เป็นโอกาส ผ่านตัวละครดังในซีรีส์ Netflix

By: unlockmen January 13, 2021

เมื่อว่าด้วยเรื่องการไปให้ถึงเป้าหมายของทีม นอกเหนือจากการสร้างจุดแข็งตนเองและศึกษาคู่แข่งอย่างรอบด้านแล้ว ปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็เป็นทักษะสำคัญที่คนทำงานยุคนี้ต้องมี โดยเฉพาะคนที่อยากก้าวขึ้นมาเป็น “ที่หนึ่ง” ในโลกการทำงานที่มีการแข่งขันสูงและเจอกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คำตอบของการสร้างเสริมทักษะดังกล่าวเริ่มต้นจากสิ่งที่เรียกว่า Opportunity Mindset

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่ากระบวนการปลดล็อกความคิดสู่การหาทางออกจากวิกฤติในชีวิตประจำวันนั้น ต้องผ่านกระบวนการคิดของสมอง 4 แบบ ได้แก่ 

Defeatist Mode ความรู้สึกหวาดวิตก เครียด หรือกังวลเมื่อเจอปัญหา กลัวว่าถ้าลองทำแบบนี้ไป อาจทำให้ทุกอย่างแย่ลงกว่าเดิม
Sustainer Mode ความคิดที่ว่าสิ่งที่จะทำไม่มีทางเป็นไปได้ คิดมากเกินไปทั้งที่ยังไม่ลองทำ ทำให้สมองถูกบล็อก ไม่กล้าก้าวออกจาก comfort zone มาลองทำสิ่งใหม่
Dreamer Mode ความรู้สึกเป็นอิสระจากเงื่อนไขทุกอย่าง ทุกสิ่งที่คิดมีโอกาสเป็นไปได้เสมอ นำไปสู่ความคิดที่จะลงมือทำอย่างจริงจัง
Opportunity Mode ความรู้สึกมั่นใจ คิดบวก และมาพร้อม can-do attitude ก่อให้เกิดการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งคิดแก้ไขข้อบกพร่องมากกว่าจะล้มเลิกทุกอย่างเมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่หวัง

แน่นอนว่าคนเราจะคิดแก้ไขปัญหาได้ก็ต่อเมื่อสมองอยู่ในภาวะ Dreamer Mode และ Opportunity Mode ซึ่งนำไปสู่การสร้าง Opportunity Mindset คนที่มีชุดความคิดแบบนี้จะรู้จักพลิกแพลงวิธีการทำงานให้ผ่านไปได้ด้วยดีในสถานการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ ที่สำคัญ มักมองเห็นโอกาสในชีวิตได้ก่อนใครเสมอ เพราะกระบวนการคิดเป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้ บทความนี้จึงพาคุณมาถอดบทเรียนวิธีแก้ปัญหาหรือเอาตัวรอดจากวิกฤติเฉพาะหน้าของตัวละครดังในซีรีส์ Netflix เพื่อฝึกกระบวนคิดแบบ Opportunity Mindset ไปด้วยกัน

 

อะริสึ Alice in Borderland: ยอมรับและมองปัญหาให้ขาด

เริ่มแรกต้องรู้และทำความเข้าใจว่าปัญหาคือ “อะไร” เพื่อนำไปสู่การหาสาเหตุและวิธีแก้ไขได้อย่างตรงจุด ฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อการทำงานเกิดปัญหาหรือประสบวิกฤตินอกเหนือไปจากแผนที่วางไว้นั้น หลายคนมักตกอยู่ในสภาวะ freak out วิตกกังวลไปก่อนหรือติดอยู่ใน Defeatist Mode หากเราปล่อยให้ตัวเองเครียดหรือหวาดวิตกกับปัญหาต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นอยู่แล้ว การเผชิญหน้าและยอมรับว่าเรากำลังเจอ “ปัญหาใหญ่” จึงเป็นประตูด่านแรกที่ทำให้มองเห็น “ทางออก” ได้มากกว่า 

Source: BBC

Alice in Borderland โลกแห่งการเอาตัวรอดที่จำลองออกมาในรูปของเกมการแข่งขัน โดยมี “ชีวิต” เป็นเดิมพัน สะท้อนภาพวิกฤติชีวิตผู้คนได้ชัดเจน ในขณะที่ทุกคนต่างหนีตายจากสถานการณ์บีบคั้นรูปแบบต่าง ๆ อะริสึ กลับคิดหาวิธีเอาชนะเกม ตั้งแต่เริ่มมองว่า “โจทย์” ของเกมนั้นคืออะไร เป็นเกมที่ต้องใช้ตรรกะ ความร่วมมือ หรือการทดสอบจิตใจมนุษย์ ไปจนถึงการสวมบทบาทหรือคิดแบบมาสเตอร์ในแต่ละเกม เพื่อหาคำตอบว่าถ้าเขาเป็นคนคิดกติกาเกมนี้ เขาต้องการให้เกมออกมาในรูปแบบไหน การเลือกมองปัญหาในฐานะบุคคลที่สามจึงทำให้เขามองเห็นปมปัญหาในภาพรวมได้ง่ายกว่า นำไปสู่การคลี่คลายปัญหาที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะวิธีมองปัญหาแบบนี้ช่วยดึงเขาให้มีสติ ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์หวาดกลัวจนจิตหลุดและตายก่อนเหมือนเพื่อนร่วมชะตาคนอื่น

 

โปรเฟสเซอร์ Money Heist: วิเคราะห์เหตุและผลตามจริง

หากอยากอ่านปัญหาให้ขาดต้องรู้จักฝึกคิดวิเคราะห์สิ่งรอบตัวบนหลักการและความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุและผล เพราะการฝึกคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลจะช่วยให้เราเข้าใจความเป็นไปของผู้คน สรรพสิ่ง และเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามจริง ปราศจากอคติ อารมณ์ และความรู้สึกส่วนตัว เมื่อต้องเผชิญอุปสรรคในโลกการทำงานจริง ก็ไม่ถูกชักจูงหรือคล้อยตามสภาพแวดล้อมรอบตัวได้ง่าย ที่สำคัญ การทำความเข้าใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลยังช่วยให้เรารู้จักคิดหาทางป้องกันปัญหาเหล่านั้นไม่ให้เกิดขึ้นได้ก่อนอีกด้วย 

Source: Timesofmalta

ภารกิจปล้นธนาคารกลางของเหล่าจารชนใน Money Heist คงเดินทางมาสู่การยึดโรงผลิตทองคำในซีซัน 4 ไม่ได้หากขาดโปรเฟสเซอร์ แม้จะเกิดเรื่องผิดแผนบ่อยครั้ง แต่ต้องยอมรับว่าโปรเฟสเซอร์สามารถพลิกแพลงวิกฤติตรงหน้าให้ผ่านไปได้แทบทุกครั้ง ซ้ำยังเกิดแรงกระเพื่อมส่งต่อมาถึงการเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคมด้วย หากเจาะลึกวิธีวางแผนปล้นของโปรเฟสเซอร์ จะเห็นได้ว่ามีการคิดอยู่บนฐานความเป็นเหตุเป็นผล ตั้งแต่เดินทางไปศึกษาสถานที่ที่จะยึดปล้น วางกลอุบายตลบหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้หลงกล เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนการปล้น หรือกระทั่งวิเคราะห์ลึกถึงความคิดคนที่วางแผนจับฝ่ายตน จนเดาทางทุกวิธีการรับมือของฝ่ายตำรวจและเตรียมแผนสำรองไว้ตอบโต้กลับได้ทุกครั้ง

 

 

พัคแซรอย Itaewon Class: โฟกัส solutions มากกว่าคำพูดคน

ต้องยอมรับว่าการแข่งขันในโลกการทำงานหรือทำธุรกิจยุคนี้ค่อนข้างสูงและรุนแรงพอสมควร หากใครประสบความสำเร็จทำได้ดีย่อมได้รับการชื่นชมยกเป็นต้นแบบ ในขณะเดียวกัน ถ้าล้มขึ้นมาก็ต้องลุกให้เร็ว พยายามเดิน (หรือวิ่งก็ได้ถ้าพอจะมีแรงเร่งเครื่อง) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย บางครั้งเราต้องปิดหูข้างหนึ่งไม่ให้ได้ยินเสียงปรามาสที่ไม่มีสาระอันใด แล้วเปิดรับเฉพาะคำวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาและทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จ การฝึกโฟกัสที่วิธีการทำงานมากกว่าคำพูดคนอื่นจึงสำคัญและจำเป็นมากในยุคปัจจุบัน เพราะนอกจากจะช่วยคัดกรองสิ่งที่ดีและส่งผลบวกเข้ามาในชีวิตเราแล้ว ยังช่วยให้เรียนรู้การสร้างโอกาสลองทำสิ่งใหม่ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

Source: Dryedmangoez

เส้นทางก้าวขึ้นสู่เบอร์หนึ่งทางธุรกิจของ พัคแซรอย ถือว่าผ่านการเคี่ยวกรำมาพอตัว เพราะไม่เพียงเริ่มต้นจากศูนย์อย่างยากลำบาก แต่ยังต้องต่อสู้กับกลโกงสารพัดรูปแบบจากการโจมตีของชางกากรุ๊ป คู่แข่งคู่แค้นที่เปรียบเหมือนปลาใหญ่ในแวดวงธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่ทำให้แซรอยกลับขึ้นมาสู้ได้ทุกครั้งคือรู้จักเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่เสมอ แม้เขาจะได้ชื่อว่าเป็นเถ้าแก่เจ้าของร้าน แต่ก็เปิดรับทุกความคิดเห็นสำหรับนำไปปรับปรุงพัฒนากิจการให้ดีขึ้น โดยไม่เกี่ยงว่าคนคนนั้นจะเป็นลูกน้องหรือไม่ อายุเท่าไหร่ หรือเพศไหนก็ตาม นอกจากนี้ หัวใจสำคัญในการฟันฝ่าอุปสรรคของเขาคือยึดมั่นในจุดยืนและทีมงาน เมื่อทั้งสองอย่างเกิดขึ้นและดำเนินไปพร้อมกันก็ช่วยผลักดันให้เขาเดินไปถึงเป้าหมายได้ในที่สุดแม้มันอาจใช้เวลานานกว่าเมื่อเทียบกับคนที่มีต้นทุนพร้อมอยู่แล้วก็ตาม ทำให้เห็นว่าความมุ่งมั่นตามแนวทางที่ดีและตอบโจทย์ปัญหาย่อมทำให้เราค้นพบและคว้าโอกาสได้สักวัน

 

 

ทรุ มุรานิชิ The naked director: ทำสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้

แม้จะฝึกปรับชุดความคิดให้รู้จักยอมรับ วิเคราะห์ และมองหา “โอกาส” มากแค่ไหน ก็คงประสบความสำเร็จตามเป้าหมายไม่ได้หากขาดการลงมือทำจริง ถึงอย่างนั้น ต้องยอมรับว่าเงื่อนไขบางอย่างที่สังคมสร้างขึ้นมามีส่วนบล็อกเราให้ติดอยู่ในโหมด Defeatist หรือ Sustainer เราจึงต้องเรียนรู้การคิดแบบ Dreamer Mode ให้แข็งแรง เพื่อเตรียมพร้อมความมั่นใจตอนลงมือทำจริงในขั้น Opportunity Mode โดยอาจเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการปรึกษาคนใกล้ตัวที่เราไว้ใจ ถามคำถามทำนองว่า “คิดว่าจะดีไหมถ้าลอง….” เพื่อเสริมความเชื่อมั่นความคิดตัวเอง หากฐานความคิดแข็งแรงพอแล้ว ก็อาจคิดหาคำถามที่มากกว่าหาว่าดีหรือไม่ดี มาเป็นคำถามประมาณว่า “จะทำอย่างไรให้มันดีถ้าลอง…” แน่นอนว่า solutions ทุกอย่างที่ตอบคำถามดังกล่าวต้องอยู่บนหลักการและความเป็นเหตุเป็นผลด้วย ถึงจะสร้างสิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ในที่สุด

Source: Popcornx

กว่าจะมาเป็นตำนานแห่งแวดวงหนังผู้ใหญ่ โทรุ มุรานิชิ ต้องผ่านความยากลำบากในชีวิตมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งผิดหวังเรื่องงานและคนรัก ตลอดจนอุปสรรคบนเส้นทางธุรกิจหนัง AV ในยุคแรกเริ่มและเต็มไปด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย แต่ชีวิตนักธุรกิจต้องกล้าที่จะ “เสี่ยง” และมุรานิชิก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขา “กล้า” มากพอจนทำสิ่งที่คนทำหนัง AV ยุคนั้นไม่คิดจะทำกัน ทั้งครีเอตการทำหนังสือโป๊ให้มีเรื่องราวมากกว่าเสพภาพเปลือย แถมยัง uncensored และแอบขายใต้ดิน จนมาถึงยุคทำหนังโป๊ที่พยายามหาช่องโหว่กฎหมาย สร้างหนังผู้ใหญ่ที่ไม่สอดใส่จริง หรือจนท้ายที่สุดก็ให้นักแสดงเล่นกันแบบสอดใส่จริง เพื่อให้ได้อารมณ์ของหนังอย่างที่ควรจะเป็น สิ่งที่น่าคิดก็คือการแหกขนบกฎหมายของเขาไม่ได้ทำเพียงเพราะต้องการเงิน แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ที่นำพาหนัง AV ก้าวข้ามมายาคติว่าเป็นสิ่งลามกอนาจาร สร้างความเสื่อมโทรมให้กับสังคม จนได้ชื่อว่าเป็น Emporor of Porn

อันเดร เลย์ตัน Snowpiercer: ปรับตัวและคว้าโอกาสเมื่อถึงเวลา

แม้วันที่คิดว่าเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสิ่งได้ดีแล้ว แต่เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นได้เสมอ หากวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบชีวิตหรือไ่ม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อย่าเพิ่งล้มเลิกเป้าหมายหลัก แต่ลองมองหา “โอกาส” ที่อาจซ่อนอยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้นแทน เพราะมันอาจทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าวิธีเดิมที่คิดไว้ก็ได้ ลองต่อยอดจากการโฟกัสวิธีการทำงานหรือ solutions ไม่กี่อย่าง มาคิดหาหนทางที่จะทำให้ถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น เพราะสถานการณ์บางอย่างก็ควรถอยกลับมาเป็นฝ่ายตั้งรับและปรับตัวดีกว่าตอบโต้กลับอย่างตาต่อตาฟันต่อฟันไปทุกครั้ง อย่างน้อยเราก็ได้มีเวลาเรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองและคู่แข่งมากขึ้น ถือเป็นการเฝ้ารอโอกาสที่ไม่ได้ละทิ้งเวลาไปอย่างเสียเปล่า

Source: Deadline

อันเดร เลย์ตัน อดีตตำรวจสืบสวนที่อยู่ท้ายขบวนรถไฟวิลด์ฟอร์ด ซึ่งถือเป็นชนชั้นล่างสุดของขบวนรถไฟนี้ ต้องรับหน้าที่สืบคดีฆาตกรรมพลเมืองชั้นสามที่มีผู้ต้องสงสัยเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งของขบวนรถไฟ เหตุการณ์นี้ถือเป็นเนื้อเรื่องที่เสริมขึ้นมาใหม่จากต้นฉบับนิยายและเวอร์ชันภาพยนตร์ ทำให้ Snowpiercer ฉบับซีรีส์ซับซ้อนขึ้น รวมทั้งเผยให้เห็นทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเลย์ตัน 

การเรียกตัวเขาไปช่วยสืบสวนคดีนั้นทำให้แผนการยึดหัวจักรรถไฟต้องชะงักลง เมื่อขัดขืนคำสั่งไม่ได้ เขาจึงยอมทำและใช้โอกาสนี้เข้าถึงพื้นที่ที่คนท้ายขบวนอย่างเขาคงไม่มีโอกาสได้เหยียบเข้าไป เพื่อเก็บเป็นข้อมูลทำแผนยึดหัวจักรให้แนบเนียนยิ่งขึ้น ที่สำคัญ เลย์ตันยังหาแนวร่วมก่อการปฏิวัติยึดหัวจักร โดยสร้างพันธมิตรกับผู้ทรงอิทธิพลในกลุ่มพลเมืองชั้นสามโน้มน้าวให้เห็นถึงความอยุติธรรมในการพิพากษาคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้น จนพวกเขาตกลงร่วมก่อการปฏิวัติกับคนท้ายขบวน แม้ภารกิจยึดหัวจักรวิลด์ฟอร์ดยังดำเนินต่อมาจนถึงซีซัน 2 (ซึ่งจะเข้าฉายทาง Netflix เร็ว ๆ นี้) แต่ต้องยอมรับว่าวิธีการพลิกแพลงวิกฤติเป็นโอกาสของเลย์ตันนำมาสู่การลงมือทำสิ่งสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนบนขบวนรถไฟนี้ไปอย่างสิ้นเชิง

Writer : Piyawan C.

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line