Life

เมื่อคิดมากไป จนใจแย่ชีวิตพัง “หยุดคิดมากแล้วช่างแม่งบ้างก็ได้” เพื่อเยียวยาตัวเราเอง

By: PSYCAT June 10, 2020

ชีวิตเรายากกันไปคนละแบบ มีเรื่องท้าทายกันไปคนละอย่าง โดยเฉพาะในสถานการณ์ตอนนี้ที่เหมือน COVID-19 พาชีวิตเราขึ้นประจำที่นั่งบนรถไฟเหาะตีลังกาที่ไม่มีจุดหมาย บางช่วงพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด แต่บางทีก็ตีลังกาพลิกกลับหลัง หรือดำดิ่งจนหัวใจแทบวาย

การคิด การวางแผน หรือการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อมุ่งมั่นทำให้ชีวิตให้ดีขึ้นนั้นไม่ผิดอะไร แต่การวางแผนหรือการแก้ปัญหาก็ต่างกับ “การคิดมาก” พอสมควร หลายคนคิดมากแล้วสามารถพาตัวเองออกจากความคิดเหล่านั้นได้ ในขณะที่บางคนจมอยู่กับ “การคิดมาก” จนบั่นทอนตัวเองและคนใกล้ตัว

“กังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดึงดันกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว” สำรวจตัวเองหน่อยว่าคุณคิดมากไปหรือเปล่า?

การเป็นคนคิดมาก กับการเป็นคนช่างคิดและวางแผนรอบคอบนั้นมีเส้นแบ่งบาง ๆ กั้นอยู่ หลายคนปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความคิด ความกังวล หรือสิ่งที่แก้อะไรไม่ได้แล้ว แต่อ้างกับคนอื่นว่า ผมแค่เป็นคนรอบคอบ ฉันแค่เป็นคนช่างคิดช่างวางแผน 

ลองสำรวจตัวเองอีกครั้งว่าเรากำลังครุ่นคิด หมกตัวอยู่กับสิ่งที่เราจัดการได้แน่ ๆ จริงไหม? หรือบางเรื่องมันพลาดไปแล้ว ให้ตายอย่างไรก็แก้ไม่ได้ (ซึ่งคนละเรื่องกับการคิดถึงทางแก้ในอนาคต) ในขณะที่บางสิ่งที่เรากังวลก็คือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และบางทีมันอาจไม่ได้มาถึงในรูปแบบที่เราเอาแต่คิดถึงมันก็ได้ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการวางแผนรับมือกับปัญหาที่เราเจอ)

ดึงดันกับอดีต คิดมากในสิ่งที่แก้ไม่ได้และคิดไปก็ไม่ได้อะไร

  • “เมื่อเช้าไม่น่าพูดแบบนั้นในที่ประชุมเลย หัวหน้าจะมองเรายังไงนะ? คนในทีมต้องมองว่าเราโง่แน่ ๆ”
  • “ไม่น่าตัดสินใจลาออกจากที่ทำงานเก่าเลยว่ะ ถ้ายังอยู่ที่นั่น ป่านนี้คงมีความสุขไปแล้ว จะตัดสินใจลาออกทำไมวะ?”
  • “ถ้าเลือกแผนการตลาดอีกแผนคงดีกว่านี้ เลือกแผนนี้แล้วห่วยจัง ทำไมทีมเลือกแผนห่วยแบบนี้?”

 กังวลกับอนาคต คิดมากในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และคิดไปก็ไม่ได้แปลว่าจะแก้อะไรได้

  • “พรุ่งนี้ต้องพรีเซนต์งานสำคัญแล้ว ต้องแย่แน่ ๆ คนต้องดูออกว่าเราตื่นเต้น หัวหน้ายิ่งต้องจี้ถามในสิ่งที่เราตอบไม่ได้ชัวร์ แล้วเราก็จะตื่นเต้นจนตอบไม่ได้ ทุกอย่างพังไม่เป็นท่าแหงเลยว่ะ”
  • “มีพนักงานใหม่เข้ามา ไฟแรงน่าดู คงกวาดเอาความรับผิดชอบทุกอย่างของเราไป เราคงกลายเป็นหมาหัวเน่าในแผนกมากขึ้นทุกที ๆ ท้ายที่สุดคงโดนบีบให้ลาออกจนได้”
  • “คนในทีมทำตัวห่วยแตกแบบนี้ ทำไมไม่ปรับปรุงตัวสักที แบบนี้อะไร ๆ จะดีขึ้นได้ยังไง? ยอดบริษัทคงดิ่งฮวบ ๆ บริษัทอื่นคงแซงหน้าไปหมด”

การคิดมากในปริมาณที่เหมาะสม และตั้งคำถามที่ถูก หลาย ๆ ครั้งก็อาจนำไปสู่การหาทางออกที่ดีได้ แต่หลายครั้งที่การคิดมากก็วนอยู่กับการคิดซ้ำ ๆ วน ๆ ว่าอะไรที่ผ่านไป และอะไรที่ยังมาไม่ถึง รวมถึงคำถามที่ว่า “ทำไมต้องเป็นแบบนี้?” แล้วหมกมุ่นอยู่กับการหาคำตอบที่บางทีก็ไม่ได้ช่วยอะไร ซึ่งต่างจากการวางแผน หรือการแก้ไขปัญหาด้วยคำถามที่ว่า “แล้วเราลงมือแก้ไขอย่างไรได้บ้าง?”

“ตระหนักว่าการคิดมากไม่ช่วยอะไร” ขั้นตอนแรกของการหยุดคิดมาก

ขั้นตอนแรกของการเลิกอะไรสักอย่าง คือการตระหนักว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นไม่ดีต่อตัวเอง ตราบใดที่เรายังเชื่อว่าการคิดมากของเรานั้นคือการคิด การวางแผน หรือการเป็นคนรอบคอบ เราก็จะดันทุรังอยู่อย่างนั้น

ดังนั้นขั้นตอนแรกของการหยุดคิดมากคือการตระหนักและแยกให้ได้ว่าเรากำลังคิดเพื่อแก้ปัญหาจริง ๆ หรือเอาแต่ผลิตซ้ำเรื่องแย่ ๆ ของตัวเองและคนอื่นอยู่อย่างนั้นโดยไม่ได้นำมาซึ่งทางแก้เลย? ทุกครั้งที่มีความคิดใดความคิดหนึ่งวนกลับมาซ้ำ ๆ เราเองจึงต้องสังเกตวิธีการที่เราคิดถึงสิ่งนั้น ๆ ด้วยตัวเองว่าเราคิดกับมันอย่างไรกันแน่

ถ้ามันคือการคิดเพราะดึงดันกับอดีตหรือกังวลกับอนาคตแบบปราศจากวิธีการแก้อย่างเป็นรูปธรรม เราต้องบอกให้ตัวเองหยุดเสียเวลาไปกับสิ่งนี้เพราะมันไม่ช่วยอะไรเราเลยมีแต่จะทำให้แย่ลงด้วยซ้ำ

หยุดขยายความรู้สึกกังวล “มุ่งตรงไปแก้ปัญหาเสมอ”

มันง่ายแสนง่ายที่จะคร่ำครวญว่าเราพูดอะไรผิดในที่ประชุมไปบ้าง สายตาคนทั้งออฟฟิศมองว่าเราโง่เง่าอย่างไร หรือโอดครวญว่าทีมเราห่วยแตกแค่ไหนที่เลือกทางนั้น ลูกค้าต่อว่าอย่างไร รวมไปถึงการนั่งจินตนาการว่าอนาคตจะพังอย่างไร พินาศแบบไหน รายละเอียดเหล่านี้คือความรู้สึกเราล้วน ๆ ว่าเกิดอะไรเลวร้ายไปแล้วบ้าง? หรืออะไรเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นบ้าง? แล้วเราก็ขยายความคิด ความรู้สึกนี้ให้ใหญ่โต

สิ่งที่ต้องทำคือเลิกเอาความรู้สึกเลวร้ายเหล่านั้นมาแผ่ขยายครอบคลุม แต่ถามตัวเองว่า “ปัญหาคืออะไร?” และ “เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรได้บ้าง” เพราะมันป่วยการที่จะไปนั่งจี้รายละเอียดความเลวร้าย หรือคร่ำครวญว่าทำไมไม่เป็นแบบนั้นแบบนี้ ทางเดียวที่จะแก้ความเลวร้ายก็คือการแก้ที่ปัญหา

การเป็นคนลงมือทำและแก้ปัญหาได้ตรงจุดก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนคิดมากหรือกังวลอยู่กับความรู้สึกตัวเอง แต่ต้องสามารถโฟกัสให้ได้ว่าอะไรที่เราควบคุมได้และต้องรีบลงมือแก้ไข

“อะไรควบคุมได้ อะไรควบคุมไม่ได้” ตัดเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ออกจากใจให้เป็น

นอกจากการพยายามมุ่งแก้ปัญหาจะสำคัญแล้ว อีกวิธีที่จะทำให้เราหยุดเปล่าเปลืองเวลาไปกับการคิดมากคือการฝึกตัวเองให้เข้าใจว่า “อะไรที่เราควบคุมได้ และอะไรที่เราควบคุมไม่ได้” เพราะการเอาเวลาไปคิดในสิ่งที่อย่างไรเราก็ไม่มีวันควบคุมได้เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ ในขณะที่ถ้าเรารู้ว่าอะไรที่เราควบคุมได้แน่ ๆ เราก็จะได้ทุ่มเทความคิดกับมันให้เต็มที่

หากเราเผลอทำอะไรผิดในที่ประชุม สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้คือสายตาที่คนอื่นมองเรา วิธีการที่คนอื่นจะพูดลับหลัง ความคิดของหัวหน้าที่มีต่อเรา แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือการขอโทษอย่างมืออาชีพ การพยายามแก้ไขสิ่งที่พรีเซนต์พลาดอย่างเป็นรูปธรรม และการพยายามไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำในการพรีเซนต์ครั้งต่อไป

เมื่อเราแยกได้ เราจะเริ่มเห็นว่าการไปหมกอยู่กับความคิดที่ว่าทำไมเราพลาด และคนอื่นมองเราโง่แค่ไหนนั้นเป็นการคิดมากที่เราเองควบคุมไม่ได้และไม่ได้ช่วยอะไร แต่ถ้าเรารู้ว่าปัญหาคือตรงไหน และเราควบคุมได้ ลงมือแก้ได้ เราก็จะทุ่มเทลงไปในสิ่งที่เราควบคุมและแก้ไขได้อย่างตรงจุด

หรือถ้าต้องไปขายงานแข่งกับบริษัทอื่น สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้คือลูกค้าจะชอบหรือไม่ชอบ ซื้อหรือไม่ซื้อ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือการเตรียมแผนการขายให้ดีที่สุด อย่างน้อยที่สุดการแยกว่าอะไรที่เราคุมได้หรือไม่ได้ จะทำให้เราเข้าใจว่าเราก็ได้ทำและทุ่มเทกับสิ่งที่เราทำได้อย่างดีที่สุดแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ไม่ว่าเราจะทำดีแค่ไหน จะได้ไม่มัวคิดมากหรือจมอยู่กับการโทษตัวเองว่าทำไมสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่เป็นดังใจ

อยากคิดมาก อยากกังวล อดไม่ไหว “ตั้งเวลาสำหรับกังวลโดยเฉพาะ”

เราเข้าใจดีว่าการที่อยู่ ๆ มาบอกว่า “หยุดกังวลสิ” หรือ “เลิกคิดมากเถอะ” มันง่ายแสนง่าย แม้เราจะรู้อยู่เต็มอกว่ามันไม่ดี แต่ในทางปฏิบัติการเลิกนิสัยที่คุ้นชินมานานก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันง่าย ๆ ดังนั้นอีกวิธีที่สำคัญก็คือการตั้งเวลาสำหรับคิดมากหรือกังวลให้ตัวเองไปเลย!

วิธีการง่ายแสนง่ายคือตั้งเวลาของแต่ละวันไว้ เช่น ทุก 13.00 – 13.15 จะเป็นเวลาที่เราอนุญาตให้ตัวเองกังวลได้เต็มที่ ข้อดีก็คือเมื่อยังไม่ถึงเวลาที่กำหนด แล้วเราเผลอคิดมาก ก็บอกให้ตัวเองหยุด เดี๋ยวค่อยเอาเรื่องที่กำลังคิดมากและกังวลนี้ไปคิดเมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้ ดังนั้นตัวเราจะเริ่มเข้าใจว่า เราจะยังกังวลได้อย่างที่ต้องการ แค่ต้องกังวลตามเวลาที่ตั้งไว้เท่านั้น

แทนที่เราจะคิดมากมั่ว ๆ คิดมาทั้งวัน คิดมากไม่หยุดหย่อน เราก็จะสามารถกำหนดเวลาคิดมากของตัวเองให้เหลือวันละ 15 นาทีเท่านั้น และเมื่อถึงจุดนั้นการที่เราปล่อยให้ตัวเองหมกตัวอยู่กับความคิดมากราว ๆ วันละ 15 นาทีทุกวัน เราจะเริ่มตระหนักได้ว่าเวลาที่เราสูญไปกับการปล่อยความคิดที่ไม่ได้อะไรนั้นนานเกินไปแล้ว

แต่ที่สำคัญคือต้องไปลืมว่าการคิดมากและกังวลเป็นคนละเรื่องกับการคิดแก้ปัญหา หรือการวางแผนในสิ่งที่เราควบคุมได้

โลกไม่ง่าย ชีวิตเต็มไปด้วยสิ่งท้าทายอยู่ทุกวัน อย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความคิดร้าย ๆ ที่บ่อนทำลายสุขภาพกายและใจ แต่ลองมาค่อย ๆ หยุดกังวลแล้วหาทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรมไปพร้อม ๆ กันดีกว่า

 

 

SOURCE 1 2 3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line