Life

อยากได้กราฟิกสวย ๆ แต่ขอโลโก้ใหญ่หน่อย ทำไมโจทย์ที่ขัดแย้งกันถึงทำให้ความคิดสร้างสรรค์บรรเจิด

By: unlockmen November 16, 2020

เคยต้องแก้โจทย์ที่มีความขัดแย้งกันไหม ? เช่น ต้องให้บริการสุขภาพที่ดีที่สุดในราคาที่ถูกที่สุด หรือ ต้องทำงานศิลปะที่ทีความหมายมากที่สุดและหารายได้ได้มากที่สุด เป็นต้น หลายงานวิจัยได้ชี้ว่า ปัญหาประเภทนี้อาจทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นกว่าปกติ


งานวิจัยเผยการคิดขัดแย้งอาจช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

newscientist.com

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1996 อัลเบิร์ต โรเธนเบิร์ก (Albert Rothenberg) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้สัมภาษณ์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลจำนวน 22 คน ควบคู่กับการวิเคราะห์ภูมิหลังของเหล่านักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงโลกที่ได้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อนำข้อมูลมาทำเป็นงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งผลการวิจัยของ โรเธนเบิร์ก พบว่า นักคิดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกได้เสียเวลาจำนวนมากไปกับการสร้าง ‘ความคิดคู่ตรงข้าม’ หรือ ‘สิ่งที่ตรงกันข้ามกัน’ ยกตัวอย่างเช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ก็เคยครุ่นคิดหาคำตอบว่า วัตถุจะสามารถเคลื่อนที่และหยุดนิ่งไปพร้อม ๆ กันขึ้นอยู่กับผู้สังเกตได้อย่างไร จนเป็นที่มาของทฤษฎีสัมพันธภาพ (Relativity Theory) อันโด่งดังของเขา

โรเธนเบิร์ก ยังพบอีกว่า แม้แต่นักเขียนมากรางวัลก็มักมีบ่อเกิดความคิดสร้างสรรค์จากการครุ่นคิดถึงไอเดียที่ไม่มีความสอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น บทละครเรื่อง The Iceman Cometh ของ ยูจีน โอนิล (Eugene O’Neill) ก็พัฒนาเรื่องจากความปราถนาที่ขัดแย้งกันของตัวละคร ฮิคกี้ (Hickey) ซึ่งต้องการภรรยาที่ซื่อสัตย์และไม่ซื่อสัตย์ต่อเขาในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่บอกว่า ความรู้ที่ขัดแย้งกัน (paradoxical cognition) ช่วยให้นักคิดสามารถแก้ปัญหาที่พบเจอในทุกวันได้ดีขึ้น และช่วยพัฒนาความสามารถในการทำงานของพวกเขาได้เช่นกัน งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำโดย เอลล่า ไมรอน สเปคตอร์ (Ella Miron-Spektor) รองศาสตรจารย์ ภาคพฤติกรรมองค์การ จากสถาบันการศึกษา INSEAD ได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเขียน 3 คำกล่าวซึ่งมีความขัดแย้งกัน ยกตัวอย่างเช่น การนั่งสามารถทำให้เราเหนื่อยได้มากกว่าเดิน เป็นต้น และหลังจากนั้น พวกเขาต้องเข้ารับการทดสอบด้านความคิดสร้างสรรค์ 2 ครั้ง

โดยครั้งแรกจะเป็นการทดสอบที่เรียกว่า ‘remote association test’ ผู้เข้าร่วมการทดสอบนี้ต้องหาคำตอบว่าอะไรเชื่อมโยงกับคำ 3 คำ ได้แก่ เจ็บ (sore), ไหล่ (shoulder), เหงื่อ (sweat) ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องคือ ไข้หวัด (cold) ส่วนการทดสอบต่อมาชื่อว่า ‘candle problem’ ซึ่งเป็นการทดสอบที่ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดูภาพที่มีวัตถุหลากหลายวางอยู่บนโต๊ะ เช่น เทียน แพ็คไม้ขีดไฟและกล่องตะปู ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะอยู่ใกล้กับกำแพงกระดาษ หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองต้องคิดหาวิธีการติดตั้งเทียนบนกำแพง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เทียนต้องเผาไหม้อย่างถูกต้อง น้ำตาเทียนไม่หยดใส่โต๊ะหรือพื้น และต้องใช้แค่วัสดุทั้งหมดที่มีอยู่ในภาพเท่านั้น ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องของปัญหานี้ คือ วางเทียนไว้ในกล่องตะปู และตอกกล่องให้ติดกับกำแพง

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองที่ต้องครุ่นคิดถึงคำกล่าวที่ขัดแย้งกัน มีผลการทดสอบที่ดีกว่า คนในกลุ่มควบคุม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ในตอนต้นถูกขอให้เขียน 3 คำกล่าวที่น่าสนใจแทน โดย 35% ของคนในกลุ่มคิดขัดแย้งได้พบคำตอบที่ถูกต้องของ candle problem ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่า เมื่อเทียบกับ กลุ่มควบคุมซึ่งมีผู้ตอบถูกเพียง 21%

การครุ่นคิดถึงไอเดียที่ขัดแย้งกัน แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายก็ตาม ดูเหมือนจะช่วยให้คนคิดนอกกรอบได้ดีขึ้น โดยนักวิจัยบอกว่า คนที่ถูกขอให้แสดงความคิดเห็นที่ตอบสนองความต้องการ 2 อย่างพร้อมกัน เช่น เสียค่าใช้จ่ายต่ำสุด แต่มีความเป็นนวัตกรรมสูงสุด จะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนที่ถูกขอให้ตอบสนองความต้องการเพียงอย่างเดียว กล่าวได้ว่า ความต้องการที่ขัดแย้งกันโหมไฟทางความคิดของผู้คน


รับมืออย่างไรเวลาเจอกับปัญหาที่น่าปวดหัว ?

เวลาได้รับโจทย์มาว่าต้องทำเป้าหมายที่ขัดแย้งกันให้สำเร็จ พวกเราแต่ละคนอาจมีวิธี react ต่างกัน บางคนอาจคิดว่า เราทำไม่ได้หรอก หรือ มันต้องเลือกสักอย่างสิ (หรือที่เรียกกันว่า dilemma mindset) บางคนอาจคิดว่า ต้องทำให้ได้ หรือ มันต้องมีวิธีทำให้มันได้ทั้งสองอย่างสิ (นี่คือตัวอย่างของ paradox mindset)

แต่อย่างที่บอกไปว่า paradox mindset ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และส่งผลดีต่อการทำงานมากกว่า เราเลยอยากแนะนำวิธีการประยุกต์ใช้ paradox mindset เพื่อประโยชน์ในการทำงาน


ตั้งคำถามใหม่ 
เวลาเราเผชิญหน้ากับความแย้ง เราอาจแก้ปัญหาด้วยการเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คิดว่าจะทำธุรกิจแบบเดิมต่อไป หรือ ปรับปรุงธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากกว่าเดิม เมื่อเจอกับสถานการณ์แบบนี้ เราอยากแนะนำให้ลองเปลี่ยนจากการตั้งคำถามที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ‘ควรเปลี่ยนหรือทำต่อ ?’ เป็นคำถามที่พยายามบรรลุเป้าหมายทั้งสอง เช่น ‘เราจะเปลี่ยนและทำแบบเดิมต่อไปในเวลาเดียวกันได้อย่างไร ? ’หรือ ‘อย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่น การเปลี่ยน) จะสนับสนุนการทำอีกอย่างหนึ่ง (เช่น การทำต่อ) ได้อย่างไร ?’ เป็นต้น การเปลี่ยนคำถามจะทำให้เรารู้ว่า ไม่จำเป็นต้องละทิ้งเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งไป และพบโอกาสบรรลุเป้าหมายหลายอย่างพร้อมกันมากขึ้น


ยอมรับความตึงเครียด และสร้างความสบายใจต่อความไม่สบายใจ
paradox mindset จะช่วยให้เรามองความตึงเครียดว่าเป็นความจริงที่ทุกคนต้องเผชิญ และเมื่อเรามองว่ามันเป็นเรื่องปกติแล้ว เราจะยอมรับมันมากขึ้นด้วย เช่น ผู้ปกครองที่ยอมรับนิสัยชอบต่อล้อต่อเถียงวัยรุ่นได้ มองว่ามันเป็นธรรมชาติของเด็กในวัยนี้ พวกเขาก็จะรู้สึกว่ามันเป็นพฤติกรรมที่คุกคามพวกเขาน้อยลง เราเข้าใจว่าการรับมือกับความไม่แน่นอน คงเป็นเรื่องยากสำหรับทุกคน แต่เมื่อเรายอมรับมันได้แล้ว เราจะรู้สึกสบายใจกับมันมากขึ้น และถูกคุกคามจากมันน้อยลง


ถอยจากปัญหา
ในขณะที่ ความตึงเครียดกระตุ้นให้เรามองเห็นความหมายและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ แต่มันก็ทำให้เราตกอยู่ในสภาวะหยุดนิ่งอย่างหนักได้เหมือนกัน เราอยากแนะนำว่า เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ลองถอยจากปัญหา และหันมารับมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นมากขึ้นดู เพราะเวลาที่เรายากลำบาก เรามักจะคิดได้ไม่รอบด้าน แม้แต่คนที่มี paradox mindset เองก็อาจแก้ปัญหาด้วยตัวเองลำบาก การหาข้อมูลจากคนอื่นจึงเป็นเรื่องสิ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้เราเห็นวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้มากขึ้น และมองเห็นภาพใหญ่ของปัญหามากขึ้น นอกจากนี้มันยังส่งผลดีต่อสภาพจิตใจของเรา เพราะการแชร์กับคนอื่นช่วยให้เราสบายใจขึ้นได้


หาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ
ถ้าเราโฟกัสเพียงเป้าหมายเดียว เราจะพลาดโอกาสในการบรรลุความต้องการที่หลากหลายไป เราเลยต้องมี paradox mindset เพื่อให้เราสามารถมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายหลายอย่างพร้อมกันได้ ดังนั้น เมื่อเราต้องบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่มีต้นทุนที่จำกัด แทนที่จะคิดว่า ‘เราสามารถทำงานนี้ให้สำเร็จด้วยบัดเจทเพียงเท่านี้จริงหรือ ?’ ลองเปลี่ยนเป็น ‘เราจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง’ จะช่วยให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ มากขึ้น จะช่วยให้เรามองเห็นโอกาสในการบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้มากขึ้น


ในยุคที่รวดเร็ว เราอาจคิดเร็ว ทำเร็ว และแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่รวดเร็ว และเราสบายใจมากที่สุด โดยไม่พิจารณาตัวเลือกอื่น ๆ ที่จะให้ประโยชน์แก่เรามากกว่า เราเลยอยากแนะนำว่า เวลาเจอกับสถานการณ์ที่เร่งรีบ ลองหายใจเข้าลึก ๆ พร้อมตั้งสติให้ดีก่อน ตัดสินใจ ลองทำอะไรให้ช้าลงดูบ้าง อาจช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีมากขึ้น


Appendixs: 1 / 2

 

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line