Life

HEALING MINDSETS: เปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนมีความสุขมากกว่าเดิม ด้วยหลักจิตวิทยา PERMA

By: unlockmen April 16, 2021

ในยุคนี้ ความสุขดูเป็นเรื่องที่ไขว่คว้าได้ยากเหมือนกัน เพราะมองไปทางไหนก็เจอแต่ข่าวร้ายมากกว่าข่าวดีอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่อง COVID-19 ที่น่าจะทำให้หลายคนจิตตกกันมากที่สุดในช่วงนี้ เราเลยอยากมาแนะนำทฤษฎีสร้าง well-being (สุขภาวะ) ที่เรียกว่า PERMA เพื่อให้ทุกคนสามารถ survive ช่วงนี้ไปได้อย่างราบรื่นกันถ้วนหน้า


อะไร คือ PERMA THEORY

PERMA Theory เป็นทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) ที่พัฒนาโดย Martin Seligman นักจิตวิทยาชาวสหรัฐฯ และเจ้าของหนังสือแนว Self-Help ยอดนิยม Flourish (2011) ซึ่งทฤษฎีนี้อธิบายสิ่งที่ทำให้มนุษย์เจริญรุ่งเรือง (human flourishing) หรือ มีความสุข (well-being) ทั้งหมด 5 อย่าง สามารถแบ่งได้ตามตัวอักษร PERMA ได้แก่ Postive Emotion (อารมณ์บวก) , Engagement (การมีส่วนร่วม) , Relationships (ความสัมพันธ์), Meaning (ความหมาย) และ Accomplishment (ความสำเร็จ) โดย PERMA แต่ละตัวทำงานกับสุขภาวะของเราดังนี้

Positive Emotion (P)

อารมณ์บวก เช่น ความสนุกสนาน การมองโลกในแง่ดี ความหวัง หรือ ความรัก ฯลฯ ถือเป็นรากฐานของการมี well-being เลย เพราะอารมณ์เหล่านี้มักทำให้รู้สึกดีเสมอ ถ้าเรามีอารมณ์บวกมากขึ้น เช่น รู้สึกเอนจอยกับชีวิต หัวเราะบ่อย ยิ้มได้เมื่อเจอเรื่องทุกข์ ฯลฯ เราก็จะมี well-being มากขึ้นเหมือนกัน แต่นอกเหนือจากการสร้าง well-being แล้ว อารมณ์บวกยังช่วยป้องกันอารมณ์แย่ ๆ และเพิ่มความถึกทนให้กับเราอีกด้วย ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องหามาใส่ตัวกันให้มาก ๆ

Engagement (E)

Engagement หรือ การมีส่วนร่วม จะหมายถึง การที่เราทุ่มเทพลังงาน เวลา รวมถึง ความสามารถของตัวเอง ให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ งาน หรือ โปรเจกต์ ฯลฯ จนเราสามารถเข้าสู่ภาวะทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Flow ได้ ซึ่งภาวะนี้มักทำให้คนจมอยู่กับสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่รู้สึกถึงสิ่งที่อยู่รอบข้าง และที่สำคัญ คือ มันทำให้เรารู้สึก feel good ด้วย ดังนั้น Engagement จึงเป็นกุญแจสู่ความสุขเหมือนกัน

Relationships (R)

ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น (Positive Relationships) เราจะรู้สึกแฮปปี้ เพราะความสัมพันธ์ที่ดีมักทำให้เราไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อีกทั้ง เพื่อน แฟน หรือ คนในครอบครัว สามารถทำให้เราหัวเราะ มีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น หรือ ช่วยเหลือเราเมื่อยามยากลำบากได้เช่นกัน ดังนั้น เราจึงเรียกความสัมพันธ์ว่าเป็นพื้นฐานของความสุขได้

Meaning (M)

ทุกคนมักรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองต้องมีคุณค่าและความหมาย เพราะฉะนั้นการเลือกนับถือศาสนา การยึดในอุดมการณ์บางอย่าง หรือ การยึดติดกับเป้าหมายในชีวิต จึงเป็นเรื่องที่สร้าง well-being ให้กับเราได้เหมือนกัน เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตของเรามีอะไร กลับกัน ถ้าเราไม่มีเป้าหมายในชีวิต อุดมการณ์ หรือ สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจใด ๆ เลย เราก็อาจจะรู้สึกว่าชีวิตของเราช่างไร้ค่า และไม่มีความสุขได้

Accomplishment (A)

สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสุขอย่างสุดท้าย คือ ความสำเร็จ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ความพยายามในการไปถึงเป้าหมายที่ฝันไว้ การตั้งใจทำงานเพื่อความก้าวหน้า หรือ การฝึกฝนตัวเองจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ โดยไม่หวังเรื่องอื่น เช่น เงิน แต่ความสำเร็จก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขเสมอไป เห็นได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว ไม่มีความสุขก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

PERMA เป็นทฤษฎีที่นอกจากจะช่วยเพิ่ม well-being ให้กับเรา แล้วยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า PERMA เกี่ยวข้องกับเรื่องดี ๆ ของมนุษย์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การมีสุขภาพที่ดี การมีชีวิตชีวา การมีความสุขกับหน้าที่การงานรวมถึงชีวิต และส่งเสริมเรื่องการมีความรับผิดชอบในองค์กรได้ด้วย การนำทฤษฎีนี้มาปรับใช้จึงเป็นเรื่องที่เราควรทำกันมาก ๆ เลย


เราจะนำ PERMA THEORY มาใช้ได้อย่างไร

สำหรับใครที่อยากนำทฤษฎีนี้ไปใช้พัฒนาตัวเอง เราขอแนะนำวิธีการฝึกฝนตัวเองแบบง่าย ๆ เพื่อเพิ่ม PERMA ในตัวเรา โดยวิธีที่เราอยากจะแนะนำให้ทุกคนรู้จักมีทั้งหมด 5 วิธี ดังนี้

เริ่มจากการหาความสุขให้กับตัวเองก่อน

ความสุขต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน โดยเราสามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองได้ง่าย ๆ เพียงแค่หาเวลาทำกิจกรรมที่เราชอบ อยู่กับคนที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข หรือ ไปในที่ที่เราอยากไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราเกิดอารมณ์บวกในตัวเองมากขึ้น และมี well-being มากขึ้นตามมา แต่ถ้าเราอยู่ในที่ที่ทำให้เราไม่มีความสุข อาทิ ทำงานในออฟฟิศแคบ ๆ ทุกวัน สิ่งเราทำได้เพื่อสร้างความสุขให้ตัวเอง คือ อาจหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้นมาแต่งโต๊ะทำงานของตัวเอง อาทิ กระถางต้นไม้ เพราะเมื่อเราใกล้ชิดกับสิ่งที่เราชอบ เรามักจะมีความสุขมากขึ้น

กำจัดสิ่งรบกวนให้หมด

เวลาทำงานหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ สิ่งที่เราควรทำให้ได้ คือ การเข้าสู่ภาวะ Flow ซึ่งภาวะนี้จะเกิดขึ้นได้ยากเมื่อเราถูกสิ่งอื่นรบกวน เช่น เสียงโทรศัพท์ หรือ เสียงคนอื่นคุยกัน ดังนั้น เราต้องหาวิธีกำจัดสิ่งรบกวนสมาธิของเราให้หมด เพื่อรักษาสมาธิ และเข้าสู่ Flow ได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้าเสียงรบกวนเป็นเสียงไลน์จากเพื่อน เราก็อาจปิดเสียงไลน์ในเวลาทำงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การที่เราไม่สามารถจดจอกับงานได้อย่างเต็มที่ อาจเป็นเพราะงานที่เราทำอยู่ไม่ตอบโจทย์ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากมีความสุขยาวนาน ควรเช็คเรื่องนี้ด้วย

ออกไปเจอกับคนอื่นบ้าง

บางทีการใช้ชีวิตคนเดียวนาน ๆ ก็ทำให้เราไม่มีความสุขได้เหมือนกัน เพราะเมื่อเราไม่ได้คอนเนคกับใคร เรามักรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว และใช้ชีวิตลำบากขึ้น ดังนั้น อย่าอยู่คนเดียวนานเกินไป พยายามหาเวลาออกไปเจอหรือพบปะกับคนอื่นบ้าง ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน คนในครอบครัว หรือ แฟน จะช่วยให้เราเอาชนะความโดดเดี่ยว และมีความสุขมากขึ้นได้ การทักคนที่ไม่ได้คุยด้วยนาน หรือ หาสังคมใหม่ที่เป็นแหล่งรวมคนที่มีความชอบคล้ายเรา ก็ช่วยสร้าง Relationships ได้ดีเหมือนกัน เพราะบางทีพวกเขาอาจเป็นคนที่มีโมเมนต์ร่วมกับเราหลายอย่าง หรือ มีความสนใจที่คล้ายกันหลายเรื่องก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราคอนเนคกับพวกเขาได้ง่ายขึ้น

ทำในสิ่งที่คลิ๊กกับเรา

บางครั้งเราต้องรู้สึกถึงคุณค่าของอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็น คุณค่าของงานที่เราทำ คุณค่าของคนอื่น หรือ คุณค่าของตัวเราเอง เราถึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ดังนั้น เราเลยต้องทำในสิ่งมีคุณค่าต่อเรา และอาจมีคุณค่าต่อคนอื่นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ทำงานที่ตัวเองมีแพสชั่น ทำสิ่งใหม่ที่เราสนใจ หรือ ทำในสิ่งที่ช่วยเหลือคนอื่น เป็นต้น แบบนี้จะช่วยให้เรานรักษาความสุขไว้ได้

ทำตามเป้าหมายชีวิตของตัวเอง

บาคนอาจกำลังทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ชอบอยู่ ด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น เพื่อเงิน ฐานะ หรือ ครอบครัว ซึ่งแน่นอนว่า ต่อให้ประสบความสำเร็จแล้ว พวกเขาก็อาจไม่ได้มีความสุขมาก เมื่อเทียบกับ คนที่ได้ทำตามความฝันของตัวเอง ดังนั้น เราเลยควรสนใจเป้าหมายในชีวิตของตัวเองมากกว่าทำตามความคาดหวังของคนอื่น โดยเป้าหมายที่เราตั้ง ควรสามารถทำได้จริง ภายในระยะเวลาที่ชัดเจน และมีรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจง ไม่เป็นเป้าหมายที่กว้างจนเกินไป

ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการสร้างความสุข และเพิ่ม PERMA ในชีวิต เราหวังว่าทุกคนจะสามารถนำหลักการนี้ไปใช้ และสามารถสร้างความสุขให้ชีวิตของตัวเองได้ในทุกสภานการณ์


Appendix: 1 / 2 / 3

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line