Business

รับมือกับ Presenteeism ภาวะที่ลูกน้องทำงานได้แย่ลงเนื่องจากอาการเจ็บป่วย

By: unlockmen September 10, 2021

เวลาป่วยหลายคนอาจไม่กล้าที่จะลางานด้วยหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาด้านการเงิน ภาระงานที่กองเป็นภูเขา หรือ การอยู่ในสังคมที่มองคนลาหยุดไม่ดี สุดท้ายพวกเขาก็พยายามพาตัวเองมาทำงานในสภาพที่ไม่พร้อมเต็มที่ และทำผิดพลาดได้บ่อยขึ้นในที่สุด ปัญหาเรื่องพนักงานไม่ยอมลาหยุดงาน และมาทำงานตอนป่วย หรือ บาดเจ็บ เราเรียกกันว่า ‘Presenteeism’ ซึ่งสามารถทำลาย Productivity ในการทำงานของคนได้มากถึง 1 ใน 3

แถมปัญหานี้ยังอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดด้วย มีคนทำงานชาวไทยจำนวนมากที่ไม่ยอมลาป่วย และมาทำงานในสภาพที่ไม่พร้อม ส่งผลให้พวกเขาทำงานได้ไม่เต็มที่ อ้างอิงจาก การสำรวจของบริษัทประกันซิกน่า (2018) พบว่า คนไทยราว 89% ยังคงไปทำงานแม้ตัวเองจะป่วย หรือ มีสภาพจิตใจที่ไม่พร้อม ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาลดลงเหลือเพียง 74% เท่านั้น

นอกจากจะทำให้งานเสียแล้ว ปัญหานี้อาจนำไปสู่ปัญหาหนักข้ออื่น ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องความเหนื่อยล้าของพนักงาน หรือ ปัญหาที่ร้ายแรงกว่านั้นอย่างการแพร่ระบาดของโรคในออฟฟิศ Presenteeism จึงเป็นปัญหาที่ส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจอย่างมาก และคนระดับผู้นำไม่ควรมองข้ามปัญหานี้


ทำไมพนักงานถึงไม่ยอมลาป่วย ?

ภาระงานที่มากเกินไป  นโยบายที่กระตุ้นให้พนักงานลาหยุดน้อยลง วัฒนธรรมที่สนับสนุนการทำงานหนัก จนถึง มุมมองที่มีต่อการลาหยุดว่าเป็นเรื่องเลวร้าย ล้วนกระตุ้นให้เกิด Presenteeism ได้ทั้งนั้น เพราะพวกมันสร้างความกลัวให้กับพนักงาน ทำให้พนักงานไม่กล้าลาหยุดเมื่อตัวเองป่วย และพยายามลากสังขารมาทำงานให้ได้


อาการของ Presenteeism เป็นอย่างไร ?

การระบุ Presenteeism ในองค์กร มักเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะพนักงานอาจมีความสามารถในการปิดบังอาการป่วย หรือ ปัญหาทางใจได้อย่างแนบเนียน ภายนอกอาจดูเหมือนพวกเขายังคงมาทำงานปกติ และทำตัวเหมือนปกติ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ สภาพจิตใจและวิธีการทำงานของพวกเขา

ความท้าทายยังมากขึ้นไปอีก เมื่อหลายบริษัทมีนโยบายให้พนักงาน work from home เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาด การทำงานอยู่แต่หน้าคอม หรือ การประชุมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนในบริษัทเจอหน้ากันน้อยลง และสังเกตอาการป่วยของกันและกันได้ยากขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนสามารถมองเห็นปัญหานี้ง่ายขึ้น เราจึงอยากแนะนำวิธีการสังเกตอาการของ Presenteeism ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งเหล่านี้ ได้แก่

  • พนักงานมีอาการป่วยอย่างเห็นได้ชัด
  • พนักงานไม่ค่อยลาหยุด
  • พนักงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน
  • พนักงานทำผิดพลาดบ่อยขึ้น
  • พนักงานทำงานนานขึ้น

ผู้นำจะรับมือกับ Presenteeism ได้อย่างไรบ้าง ?

การแก้ไขปัญหา Presenteeism เริ่มต้นได้จากการรับรู้ปัญหาที่ทำลายสุขภาพของพนักงาน เช่น ถ้าพนักงานของเราส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง พวกเธออาจเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าผู้ชาย พนักงานอาจเครียดจากปัญหาเรื่องเงิน หรือ ปัญหาเรื่องการทำงานที่ออฟฟิศ เป็นต้น

เมื่อหัวหน้ารับรู้ถึงปัญหาเหล่านี้แล้ว ต่อมาก็ควรคิดและออกมาตรการป้องกันปัญหาเหล่านั้นได้ให้ได้มากที่สุด เช่น ถ้าเป็นปัญหาใหญ่คือ ปัญหาด้านสุขภาพจิต ก็ควรกำหนดสวัสดิการเรื่องการนัดพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์  รวมไปถึง การให้ความรู้เรื่องการควบคุมความเครียดแก่พนักงาน เป็นต้น

ต่อมา คือ การสร้างวัฒนธรรมที่ป้องกันการเกิด Presenteeism มากขึ้น เช่น การอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้ การลดภาระงานของพนักงาน รวมไปถึงการบังคับใช้นโยบายที่ช่วยให้พนักงานสามารถดูแลตัวเองได้ และกล้าที่จะหยุดเมื่อตัวเองป่วยมากขึ้น

ผู้นำหลายคนอาจกลัวว่า ถ้าพนักงานกล้าลาหยุดมากขึ้น จะทำให้การทำงานลำบากมากขึ้น คุณควรระลึกไว้เสมอว่า พนักงานที่มีความสุข และแข็งแรง จะมีความพร้อมในการทำงานมากกว่าคนป่วยอยู่แล้ว และที่สำคัญ คือ คุณควรหาทางป้องกันการป่วยการเมือง หรือ การลาป่วยเป็นประจำโดยไม่มีเหตุผลอันควร (absenteeism) ด้วย เพราะปัญหานี้ก็ส่งผลเสียต่อองค์กรได้ร้ายแรงไม่แพ้กัน

ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการที่หัวหน้าสามารถทำได้เพื่อป้องกัน Presenteeism หากนำไปปรับใช้แล้ว เราเชื่อว่าพนักงานของคุณจะมีความพร้อมในการทำงานอยู่เสมอ และงานของพวกเขาจะไม่ค่อยเกิดข้อผิดพลาดบ่อยนัก


Appendix: 1 / 2 / 3 / 4

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line