Life

หยุดคิดถึงเรื่องเศร้าในอดีตไม่ได้ ? เรามีวิธีที่จะช่วยให้คุณรับมือกับมันได้ดีขึ้น

By: unlockmen November 17, 2020

เคยเป็นไหม ? ดูหนังเพลิน ๆ อยู่ดี ๆ ก็นึกถึงความทรงจำแย่ ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่อง งาน ความสัมพันธ์ ฯลฯ พอเป็นแบบนี้จากอารมณ์ดี ๆ ก็กลายเป็น อึมครึ้ม กันทุกคนแน่นอน

ความทรงแย่ ๆ มักเป็นสิ่งที่ลืมได้ยาก และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับเราอย่างยาวนาน คนที่เป็นทุกข์กับมันไปตลอดชีวิตก็มี แต่ถ้าเรามีวิธีการป้องกันและรับมือกันมันที่ดี ความทรงจำเหล่านั้นก็อาจส่งผลกระทบกับเราน้อยลง และเราก็อาจลืมมันได้ง่ายขึ้นด้วย ในบทความนี้ เราอยากพาทุกคนไปดูว่า เราจะมีวิธีการรับมือความทรงจำแย่ ๆ ได้อย่างไรบ้าง


อยู่ดี ๆ ทำไมเราถึงนึกย้อนความทรงจำเก่าได้ ?

ความทรงจำที่อยู่ดี ๆ ก็นึกขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า ความทรงจำแบบอัตโนมัติ (Involunatry memory) ซึ่งเป็นความทรงจำประเภทที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากเจอกับตัวกระตุ้นความทรงจำ เช่น รสชาติ หรือ กลิ่นของอาหารที่เคยกินมาในอดีต เป็นต้น บางครั้งก็เกิดจาก โรคเครียดหลังเจอเหตุการณ์เลวร้าย (Posttraumatic stress disorder หรือ PTSD) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตซ้ำไปซ้ำมา

ปรากฎการณ์นี้ได้รับความสนใจมานานหลายปีแล้ว โดย มาร์แซล พรุสต์ (Marcel Proust) นักเขียนคนสำคัญของฝรั่งเศส เป็นคนแรกที่กล่าวถึงคำว่า ความทรงจำแบบอัตโนมัติ ในงานเขียนของเขา ‘À la Recherche du Temps Perdu’ (ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.1871 – 1922) เขาได้พรรณนาถึงเหตุการณ์ตอนที่เขากำลังกินเค้กชา แล้วความทรงจำในวัยเด็กตอนที่เขากำลังกินเค้กชากับคุณป้าของเขาก็ผุดขึ้นมา ความทรงจำนี้ยังทำให้เขานึกถึงบ้านเกิด และเมืองที่เขาอยู่ในวัยเด็กด้วย ซึ่งต่อมานักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ‘involuntary autobiographical memory chaining’ หมายถึง ปรากฎการณ์ที่การนึกถึงความทรงจำหนึ่งกระตุ้นให้นึกถึงความทรงจำอื่น ๆ ต่อกันเป็นทอด ๆ

ข่าวร้าย คือ เราอาจคิดถึงความทรงจำแย่ ๆ ได้ง่ายกว่า ความทรงจำดี ๆ อ้างอิงจากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง (2007) ที่ทำโดย อลิซาเบธ เอ เคนซิงเกอร์ (Elizabeth A. Kensinger) ทำการศึกษาสมองของกลุ่มทดลองด้วยเครื่อง functional MRI (fMRI) และพบว่า เหตุการณ์แย่ ๆ ช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น orbitofrontal cortex และ amygdala ของผู้เข้าร่วมการทดลอง ยิ่งสมองส่วนนี้ถูกกระตุ้นจากเหตุการณ์แย่ ๆ มากเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสจำรายละเอียดที่กระตุ้นอารมณ์ของเหตุการณ์นั้นได้มากขึ้น เช่น รูปทรงของอาวุธปืน

ปรากฎการณ์นี้อาจเกิดขึ้น เพราะวิวัฒนาการของมนุษย์ต้องการปกป้องพวกเราจากเหตุการณ์ที่จะมาคุกคามชีวิตในอนาคต การจดจำเหตุการณ์ร้าย ๆ ได้อย่างชัดเจน จึงช่วยให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้นเวลาเจอกับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในครั้งถัดไป


เราจะหยุดคิดถึงเรื่องแย่ ๆ ในอดีตได้อย่างไร ?

ผลเสียของการนึกถึงความทรงจำเดิมบ่อย ๆ คือ มันอาจทำให้ความทรงจำที่เราอยากลืมอยู่กับเรานานขึ้น เราเลยจำเป็นต้องมีวิธีรับมือกับมันเพื่อให้เราต่อสู้กับมันได้ดีขึ้น ซึ่งเราอยากให้ทุกคนรับรู้และจดจำเรื่องเหล่านี้เอาไว้

ความทรงจำมักมีตัวกระตุ้นเสมอ ความทรงจำแย่ ๆ ไม่ได้อยู่ในหัวของเราตลอดเวลา มันอาจจะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เรานึกถึงความทรงจำแย่ ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้

ดังนั้น เราควรเริ่มค้นหาตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความทรงจำแย่ ๆ ซึ่งเป็นได้ทั้ง รูป รส กลิ่น และเสียง เมื่อเราระบุสิ่งเหล่านั้นได้แล้ว เราจะควบคุมความทรงจำของเราได้ง่ายขึ้น

เมื่อเราจมอยู่กับความทรงจำแย่ ๆ เราอาจติดอยู่ในวงจรความคิดลบที่หนีออกมาได้ยาก ดังนั้น เราจึงต้องเช็คความคิดตัวเองอยู่เสมอว่า เรากำลังคิดถึงเหตุการณ์แย่ ๆ อยู่หรือไม่

ยิ่งเรารู้ตัวเร็วว่าตัวเองกำลังคิดลบ เราก็ยิ่งหยุดมันได้เร็วขึ้น ลองคิดถึงเรื่องดี ๆ แทนที่เรื่องแย่ ๆ แล้วคุณจะมีพลังบวกมากขึ้น เราอยากแนะนำให้คุณพกสมุดที่จดบันทึกเรื่องราวหรือความทรงจำดี ๆ ไว้ด้วย เผื่อว่า เวลาที่เราเริ่มคิดถึงความทรงจำแย่ ๆ เราก็จะหยิบมันขึ้นมาอ่านเพื่อเพิ่มพลังบวกให้กับตัวเองได้

การคิดถึงความผิดพลาดในอดีตซ้ำ ๆ อาจเกิดขึ้น เพราะเรานิยมความสมบูรณ์แบบ ใครที่เป็นแบบนี้ เราอยากแนะนำว่า ให้ลองทำผิดพลาดแบบตั้งใจดู เพราะยิ่งเราตั้งใจทำในสิ่งที่เราคิดว่าผิดพลาดมากขึ้นเท่าไหร่ เราจะยิ่งมองสิ่งนั้นเปลี่ยนไป เราอาจจะเคยชินกับมันมากขึ้น และรู้สึกแย่กับการกระทำนั้นน้อยลง และที่สำคัญบอกกับตัวเองด้วยว่า เราไม่จำเป็นต้องได้รับการยอมรับ หลังจากที่เราสมบูรณ์แบบแล้ว แต่เราสามารถได้รับการยอมรับในตอนนี้ได้เลย

เวลาคิดถึงเรื่องแย่ ๆ เราอาจละความสนใจจากมันได้ ด้วยวิธีการหาอะไรทำให้ตัวเองยุ่ง เช่น ออกกำลังกาย โทรคุยกับเพื่อน ฯลฯ และต้องบอกกับตัวเองว่าจะต้องไม่คิดถึงอะไรที่ทำให้เรายิ่งคิดมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ความทรงจำที่น่าเจ็บปวดนั่นยากที่จะลืมเลือน และเราคนเดียวอาจรับมือกับมันไม่ไหว ลองคุยกับคนอื่นมากขึ้น เพื่อหามุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับปัญหา หรือ จะไปพบผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกัน


 

Appendixs: 1 / 2 / 3

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line