Entertainment
SUBCULTURE : “MONOMOTH” นักมวยปล้ำแห่งค่าย SETUP THAILAND PRO WRESTLING กับการ “ไขความลับที่ไม่ลับ” ของกีฬาสุดบ้าพลัง
By: JEDDY July 16, 2022 216798
สัปดาห์ก่อนเราได้นำแนะนำให้กับทุกคนรู้จักกับ SETUP Thailand Pro Wrestling ค่ายมวยปล้ำแห่งแรกที่มีเจ้าของเป็นคนไทย โดยผ่านการสัมภาษณ์กับ คุณปูมิ – ปรัชญ์ภูมิ บุณยทัต ผู้ร่วมก่อตั้งค่าย จนได้ทราบเกี่ยวกับที่มีที่ไปกว่าที่จะเกิดเป็นค่ายมวยปล้ำไทยขึ้นมา
แต่การจะรู้จักแค่เพียงผู้ร่วมก่อตั้งค่ายก็คงยังไม่เพียงพอ เพราะเรายังได้พูดคุยกับ “Monomoth” นักมวยปล้ำฟอร์มร้อนแรงที่กำลังจะมีคิวขึ้นปล้ำชิงแชมป์ประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้ อีกทั้งยังได้เปิดเผยเรื่องราวของกีฬามวยปล้ำในหลาย ๆ แง่มุมที่คุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน และที่สำคัญเขายังเป็นชาว LGBTQIA+ นั่นทำให้เรื่องราวของเขายิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ และต่อจากนี้คือเรื่องราวของ “Monomoth” แห่งค่าย SETUP Thailand Pro Wrestling
Monomoth หรือชื่อเล่นจริง ๆ คือ “มอธ” ซึ่งฉายาในวงการมวยปล้ำได้มาจากสมัยยังเป็นบลอกเกอร์ทำคอนเทนต์ลงทางยูทูป เขาได้เล่าให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นความชื่นชอบมวยปล้ำมันมาจากตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เพราะได้ซึบซับมาจากพี่ชายที่ชอบดูมวยปล้ำ จนพี่ชายได้เลิกดูไปแต่ตัวเขาก็ยังคงติดตามมันอยู่ตลอด และมีความชื่นชอบนักมวยปล้ำหญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมอธมี Mickie James และ Rey Mysterio เป็นไอดอลของเขา
“ตอนนั้นที่ดูก็ไม่รู้ทำไมเราถึงชอบดูมวยปล้ำหญิง เราก็พยายามจะดูคู่อื่นแต่ถ้าเวลาน้อยหรือไม่มีเวลาก็จะโฟกัสที่ผู้หญิงพราะรู้สึกชื่นชอบ ตามนักมวยปล้ำหญิงมากกว่านักมวยปล้ำชาย จะรู้สึกรู้ดี ชอบศึกษา ชอบย้อนดูแมตช์โดยเฉพาะของผู้หญิง แต่ถ้าถามว่าชอบตรงไหน คือเวลาที่ดูมันจะมีทั้งการต่อสู้ มีความเอนเตอร์เทน มีความจริตด้วย
แล้วด้วยความที่เราดูของฝั่งอเมริกา มันจะมีบทบาทเหมือนดูละครครับ เรารู้สึกชอบจังเลย สนุกจังเลย แล้วสมัยนั้นผมว่าเนื้อเรื่องก็เข้มข้นด้วยนะ ทำให้เด็กคนหนึ่งดูแล้วรู้สึกชอบ ก็เลยตามมาเรื่อย ๆ แล้วก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมชอบออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก”
นอกจากการออกกำลังกายตามปกติ แน่นอนว่ามอธยังฝึกท่ามวยปล้ำกับหมอนข้าง รวมไปถึงคุณพ่อด้วยเช่นกัน
“ตอนนั้นดูมวยปล้ำอยู่ แล้วบอกพ่อขอทำท่านี้หน่อย เราก็จะไปทำท่าล็อกคอ แต่พ่อน่าจะรีบหันหน้าเข่าก็เลยฟาดคางเขาเลือดกบปากเลยครับ ฮ่า ๆๆๆ แล้วผมจะเล่นกับหมอนข้าง เราจินตนาการว่ากำลังเล่นมวยปล้ำกับคนจริง ๆ พอโตมาได้มาปล้ำจริงก็รู้สึกว่ามาไกลเหมือนกันนะเนี่ย”
ด้วยความชื่นชอบที่มีต่อมวยปล้ำทำให้มอธตั้งเป้าหมายอยากจะเป็นนักมวยปล้ำจริง ๆ ให้ได้ตั้งแต่เด็ก ๆ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เขาได้มีโอกาสเรียนทั้งเทคควันโด, ยูโด, มวยไทย รวมไปถึงยิวยิตสูด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงมัธยม และแน่นอนว่าการฝึกมวยปล้ำจริงจังครั้งแรกในช่วงม.6 ด้วยเช่นกัน
“ตอนนั้นเราประมาณ ม.6 ทาง Gatoh Move ได้จัดอีเวนต์ที่เซนทรัลเวิร์ลพอดี รู้สึกจะเป็นงาน Japan Expo มีจัดเวทีมวยปล้ำ เขาจะให้เราจ่ายเงิน 500 บาท เพื่อแลกกับการซ้อมมวยปล้ำประมาณ 2 ชั่วโมงบนเวทีเลย
จำความรู้สึกได้เลยว่ามันเหมือนความฝัน ทุกวันนี้ยังมีรูปอยู่เลยครับ รู้สึกว่า 2 ชั่วโมงนั้นมันได้เติมเต็มสิ่งที่เราเล่นกับหมอนข้างมา 7-8 ปี อัดพ่อเรามา 7-8 ปี พอเราได้มาอยู่จุดที่เราฝันไว้ จุดที่เราอยากอยู่ มันเหมือนมีอะไรในใจที่รู้สึกมีความสุข”
หลังจากนั้น 3-4 เดือนให้หลังมอธก็ได้เข้ามาเป็นนักมวยปล้ำฝึกหัดกับค่าย Gatoh Move และเขาก็ทุ่มเทให้กับการซ้อมนานถึง 2 ปีก่อนที่จะได้ขึ้นปล้ำแมตส์แรกที่ Siam Square One แม้จะเป็นการปล้ำบนเบาะต่อหน้าคนดูเพียง 70 คน แต่มันก็เต็มไปด้วยความตื่นเต้น และเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับมอธมาจนถึงปัจจุบัน
มีดีแค่ฝีมือมันก็อาจจะไม่เพียงพอให้ทุกคนจดจำคุณได้ เพราะอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญของนักมวยปล้ำคือการสร้างคาแรคเตอร์และบทพูดที่โดดเด่นจนทำให้แฟน ๆ ทุกคนไม่มีทางลืมชื่อของคุณ
“คาแรคเตอร์ในมวยปล้ำสำหรับผมเป็นสิ่งที่ยากที่สุดครับ เพราะว่าซ้อมมวยปล้ำทุกคนซ้อมได้หมด สมมติผมไม่เป็นอะไรเลยแต่อยากเป็นนักมวยปล้ำก็มาซ้อมเยอะ ๆ ไปออกกำลังกายหนัก ๆ จนร่างกายกำยำ ม้วนหน้าม้วนหลังเก่ง ผ่านไป 2-3 เดือนทำได้หมดเลยตามที่เขาสอน
แต่สุดท้ายนักมวยปล้ำที่ประสบการณ์เยอะเขาจะมีกึ๋นที่คาแรคเตอร์ ยิ่งประสบการณ์เยอะการแสดงออกมาก็จะชำนาญตามไปด้วย คาแรคเตอร์จึงเป็นสิ่งที่ยากจริง ๆ ครับ”
มอธยอมรับว่ามีการปรับคาแรคเตอร์จากฟีดแบคของคนดูอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาให้ตรงกับความชื่นชอบของคนดูด้วยเช่นกัน หากมีท่าทางไหนที่ได้รับการตอบรับที่ดีนั่นหมายความว่ากำลังมาถูกทางแล้ว
ท่าไม้ตายคืออีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับนักมวยปล้ำเพื่อเผด็จศึกคู่ต่อสู้ มันมีท่าที่ดูรุนแรง, สวยงาม หรือบางทีก็มีเอาฮา ซึ่งแนวคิดหลัก ๆ ในการคิดท่าคือการที่เราสามารถใช้ได้กับนักมวยปล้ำทุกคน
“ท่าไม้ตาย ถ้าเอาอินไซด์หน่อยคือต้องเป็นท่าที่เราสามารถทำใส่ทุกคนในค่ายได้ สมมติผมมีท่ามหัศจรรย์มาก เท่มาก เห็นแล้วสะดุ้งเลย ผมทำกับคนนี้ได้ แต่อีกคนที่ตัวใหญ่ผมทำไม่ได้อันนี้ก็ถือว่าไม่ผ่าน เราต้องดูความเป็นจริงด้วยว่าสิ่งที่เราคิดมาเป็นไปได้ไหม คนอื่นเขาจะซ้อมกับเราได้ไหม ถ้าทำได้ก็ต้องทำให้สวยด้วย เพราะมันคือท่าไม้ตาย ถ้าเราทำได้และทำได้สวยก็จะอนุมัติว่าเป็นท่าไม้ตายของเราครับ”
มวยปล้ำนอกจากจะใช้ท่าทางฟาดฟันใส่กัน ในบางครั้งเพื่อเพิ่มความสะใจให้กับคนดูเราก็เลยมักจะได้เห็นทั้งเก้าอี้, โต๊ะ, บันได หรือแม้กระทั่งไม้เคนโด้ ที่ถูกนำมาประเคนฟาดเข้าใส่คู่ต่อสู้ ใครดูผ่าน ๆ คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทนไปได้ยังไง แต่ความลับของมันจริง ๆ แล้วอุปกรณ์ต่าง ๆ ล้วนถูก Mock Up ขึ้นมาด้วยวัสดุที่เปราะบางเพื่อความปลอดภัยของนักมวยปล้ำ
“เรื่องการเซฟกับอุปกรณ์ ของอเมริกาบอกได้เลยว่า 100% คือทำขึ้นมาครับ เพื่อให้เซฟตี้ที่สุด ทุกอย่างมีแรงกระแทก มันเจ็บหมด แต่เขาก็จะทำอะไรที่เซฟตี้เสมอ เช่น ตะปูอาจจะทำให้มน ๆ ส่วนโต๊ะจะชัดสุดคือเป็นโต๊ะที่เด็ก 5 ขวบวิ่งชนก็แตก หรือเก้าอี้ที่ถ้ามองดี ๆ จะเห็นว่ามันคือเก้าอี้ไว้ฟาด
ส่วนของที่ไทยเราก็ทำเหมือนกันครับ อะไรที่มันเซฟได้เราก็ทำขึ้นมา อะไรที่มันดูทน ๆ ได้เช่นไม้เคนโด้ก็อาจจะต้องดูว่าทำอย่างไรให้ฟาดแล้วเจ็บในระดับที่เราทนได้ คนดูสนุกและนักมวยปล้ำก็โอเคมากกว่าครับ
ถ้ามันแลกกับผลงานหรือสิ่งที่คนดูจะแชร์ออกไปมันก็คุ้มครับ แล้วทุกอย่างที่เราทำก็ต้องอิงถึงความปลอดภัยด้วยไม่ใช่แบบว่าเอาตะปูจริง ๆ มาโยน แล้วเลือดอาบเลย ไวรัลแน่แต่มันอันตรายแน่นอน”
แม้ว่ากีฬามวยปล้ำจะมีการฝึกซ้อมกันเป็นคู่อยู่เสมอเพื่อทำให้รู้จังหวะและรู้คิวเวลาออกไปปล้ำจริง แต่โอกาสที่จะเกิดการผิดคิวก็มีได้เช่นกัน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้โชว์ไหลลื่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ
“นักมวยปล้ำที่ดีบอกเลยว่าต่อให้เป็นอันดับ 1 ของโลกเขาก็ต้องมีพลาด แต่ว่าเขาจะเป็นนักมวยปล้ำที่ดีได้มันก็ขึ้นอยู่กับการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีแค่ไหน พวกนี้ต้องมีประสบการณ์เยอะถึงจะเก่ง
มันมีหลายซีนที่นักมวยปล้ำมาเฉลยทีหลังว่าโป๊ะ แต่คนดูไม่รู้ เพราะจุดหนึ่งคือคนดูเขาไม่รู้เลยว่าคุณทำอะไรอยู่ เขามีหน้าที่ดู เขาไม่ได้มาดูตอนเราซ้อมว่าเราทำอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้หน้างานไม่โป๊ะ ถ้าทำตรงนั้นได้เนียนก็จะเป็นนักมวยปล้ำที่ดีมาก ๆ เลยครับ”
หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่ามวยปล้ำมันคือการแสดง แล้วอะไรคือวิธีตัดสินการแพ้ชนะ? หรืออะไรคือปัจจัยที่ทำให้นักมวยปล้ำคว้าแชมป์ได้? ซึ่งความลับของมันก็คือความนิยมในตัวนักมวยปล้ำนั่นเอง หากคุณมีกระแสดี, สร้างเรตติ้งให้รายการ, สินค้าขายได้ หรือสร้างรายได้จากช่องทางอื่น ๆ นั่นก็หมายความว่าคุณมีโอกาสทีจะคว้าเข็มขัดสูงอย่างแน่นอน
“มีคนชอบพูดตลอดว่ามวยปล้ำคือธุรกิจ ๆ ซึ่งตอนแรกผมก็คิดว่ามันธุรกิจขนาดนั้นเลยเหรอ พอเราเป็นนักมวยปล้ำแล้วรู้มากขึ้นก็เห็นด้วยว่ามันเป็นธุรกิจจริง ๆ
อย่างของค่ายใหญ่ WWE สมมติมีนักมวยปล้ำเดินไปหาผู้บริหารบอกว่า ‘พี่ครับ ผมอยากเป็นแชมป์’ เขาจะถามกลับมาเลยว่าเขาจะได้อะไรจากการที่คุณเป็นแชมป์ แค่นั้นเอง ถ้าตอบได้ก็เป็นแชมป์ โอกาสก็ส่วนหนึ่ง แต่เขาก็ต้องมองแล้วว่าคนนี้ขายได้ไหม ถ้าเราออกสินค้า เราออกของเล่น อะไรก็ตามแล้วคนซื้อสินค้า เราก็ได้เป็นแชมป์”
มอธคือบุคคลของความแตกต่างบนความเท่าเทียมในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งนอกจากตัวเองจะต้องมีหัวใจที่เข้มแข็งแล้ว กำลังใจและความเข้าใจจากครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
“ต้องขอบคุณคนที่บ้านที่ไม่ว่ามอธจะทำอะไรก็สนับสนุนหมด มันเลยทำให้มอธโตมาเป็นคนที่อยากทำอะไรก็ทำ มอธอยากเรียนโยคะ มอธก็เข้าไปเรียนแบบเป็นผู้ชายคนเดียว มอธไม่เขิน มอธไปทำกิจกรรมอะไรที่เราแปลกแยกคนเดียวในนั้น เราก็ไม่เขิน
แล้วพอมาอยู่ในมวยปล้ำ ไม่ได้คิดเลยครับว่าการที่เราเป็นเกย์มันแปลก เออถ้าคนอื่นมองมาก็คงคิดว่าแปลก แต่มอธไม่เคยคิดว่าตัวเองแปลก มอธแค่คิดว่าฉันกำลังทำในสิ่งที่ฉันชอบ ทำแล้วมีความสุข ไม่ได้รู้สึกยากหรือกดดัน
ส่วนความแปลกมันคือตรงที่สังคมมีคำถามกับเราว่า ยากไหม? เป็นเกย์แล้วเล่นมวยปล้ำทำได้ไง? ซึ่งมันไม่เห็นเป็นอะไรเลยนะครับ มันมีความสุขดี ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมพิสูจน์ได้คือทำตรงนี้ของเราให้ดีมาก ๆ แค่นั้นก็พอ ไม่มีประโยชน์ที่เราจะไปตอบคำถาม สุดท้ายเราต้องโฟกัสตัวเองว่ามีความสุขไหม ดีหรือยัง ถ้ายังไม่ดีก็ทำต่อไปไม่ได้มานั่งคิดเลยว่าฉันแตกต่าง ฉันเป็นเกย์แล้วไม่ได้ มันไม่มีเวลาคิดตรงนั้นเลยครับ”
แม้ว่ามอธจะมีความใฝ่ฝันที่ยิงใหญ่ เช่น อยากมีโอกาสขึ้นปล้ำในอิมแพค อารีนา หรืออยากจะมีแฟนคลับมาให้กำลังใจเยอะ ๆ แต่สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดมอธอยากให้นักมวยปล้ำบ้านเรามีรากฐานที่แข็งแรงไม่แพ้นักมวยปล้ำต่างชาติ
“ความฝันสูงสุดจริง ๆ ก็อยากจะทำให้ที่บ้านของเราประเทศไทยมีศิลปะการต่อสู้ที่ดี ทุกคนมีศักยภาพที่ดี มันก็น่าจะก่อสร้างเป็นฐานที่ดีได้ในไทยได้ ไม่ใช่ว่าเฮ้ย ฉันมีคุณค่านะเพราะฉันไปต่างประเทศ มันควรจะดูมีคุณค่าแล้วก็สร้างมูลค่าขึ้นมาที่ไทย เป็นฟีลแบบสมมติผมได้ไปต่างประเทศแล้วเขาดูง้อเราว่า เฮ้ย ที่ไทยก็เจ๋งนะ เพราะฉะนั้นความฝันคืออยากวางรากฐานมวยปล้ำที่ไทยให้แข็งแรงให้ได้ครับ”
“มวยปล้ำมันให้มากกว่าที่จินตนาการไว้เยอะเลยครับ เพราะว่ามวยปล้ำตอนนี้เป็นอีกเซฟโซนหนึ่งของเรา เวลาเราไปโชว์มวยปล้ำมันก็อาจจะเจ็บตัว หรือซ้อมเหนื่อย ๆ มีอาการผิวช้ำด้วย จากที่เคยปล้ำกับหมอนข้างตอนเด็ก ๆ แต่ตอนนี้เราอยู่ได้ในจุดที่อยากยืนมาตลอดทั้งชีวิต หมายความว่าเรามาได้ไกลมาก ๆ กว่าที่คิดไว้แล้ว
มวยปล้ำมันให้อะไรเยอะมาก ให้ความมั่นใจ รู้สึกมีคุณค่า มันรู้สึกดีทุกครั้งที่เรามองกลับไปว่าเราเลือกไม่ผิดที่เดินทางสายนี้ เราเลือกไม่ผิดเลยที่อยากจะเป็นอย่างนี้ เราเลือกไม่ผิดเลยที่ยอมเสียสละเวลาแลกอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อมวยปล้ำ ได้เจอคนดู ได้แสดงมันออกมา มันให้อะไรเยอะมากกว่าที่คิดมาก ๆ ครับ”
ใครสนใจอยากไปชม Monomoth บู๊ชิงเข็มขัดระดับประเทศแบบสด ๆ ไปติดตามได้ในศึก SETUP Thailand Pro Wrestling Episode 9 ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ ณ G Village ซอยลาดพร้าว 18 ไปดูให้เห็นกับตาว่ามวยปล้ำไทยไปไกลแค่ไหนแล้ว!
ขอบคุณรูปประกอบบางส่วนจากแฟนเพจ : SETUP Thailand Pro Wrestling
Photographer : Krittapas Suttikittibut