Work

ถามให้เลยไม่ต้องเดาใจ 4 ผู้บริหารบริษัทดังคิดยังไงวันวิกฤต แบบไหนที่เรียกว่า WORK FROM HOME

By: anonymK March 27, 2020

เราพูดถึงคนทำงานกันมานาน แต่ฝั่งผู้บริหารระดับสูงล่ะเขาคิดอย่างไรกันบ้าง เคยสงสัยกันบ้างไหม ?

หลายคนหวั่นใจแต่ไม่กล้าถาม หลายคนก็ยังคลุมเครือว่า “Work from Home” ของเรากับมุมมองของเจ้านายมันต่างกันไหม เรื่องนี้คงไม่มีให้ใครตอบได้ดีไปกว่า “ผู้บริหาร” ที่มีลูกน้องในปกครองซึ่งวันนี้ก็ต้องรับมือกับสภาพวิกฤตจากผลกระทบโควิด-19

UNLOCKMEN จึงถือโอกาสนี้สอบถามผู้บริหารทั้ง 4 คนจากบริษัทชั้นนำที่หลายคนรู้จักว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับวิกฤตนี้ และสำหรับพวกเขา คำว่า “Work from Home” ที่มันมีประสิทธิภาพจริง ๆ ควรเป็นแบบไหน ได้แก่ คุณเก่ง – สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO บริษัท RGB72 และ Creative Talk, คุณกลาง – สุจารี อัศวมงคลกุล CEO บริษัท Whiteline Group, คุณป๊อกอติพล อิทธิวัฒนะ Head of Media บริษัท Publicis Group และคุณตูน – สุธีรพันธุ์ สักรวัตร EVP Head of Marketing ของธนาคารไทยพาณิชย์

VOICE OF  CEOS

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ยังมีงานทำอยู่ เพราะคุณเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่โชคดี แต่ก็ต้องคิดต่อว่าเมื่อโชคดีแล้วคุณจะทำอะไรกับโอกาสครั้งนี้?

ในช่วงวิกฤตแบบนี้บอกเลยว่าคำตอบง่าย ๆ ในหัวผู้บริหารคือการตัดคนที่ไม่จำเป็นออกไป แต่คำถามสำคัญคือคุณคือคนที่ไม่จำเป็นคนนั้นหรือเปล่า หรือสามารถปรับตัวตลอดจนความคิดในการทำงานให้ตัวเองกลายเป็นคนที่บริษัทต้องการในเวลานี้ได้

ทริกสำหรับผมมีเพียงสองคำคือ ‘Empathy’ และ ‘Intrapreneurship’ เมื่อคุณมี Empathy สามารถเข้าใจบริษัทและเข้าใจปัญหาใหญ่ที่ลูกค้ากำลังเผชิญในขณะนี้ คุณจะปรับตัวและปรับความคิดให้ไปข้างหน้าได้ โดยไม่รู้สึกว่ามีอะไรมาขวางทางหรือฉุดรั้งคุณเอาไว้ อย่างเช่นถ้าจำนวนงานลดลง แทนที่คุณจะกอดเก็บงานไว้และทำงานตามสั่งไปวัน ๆ ลองคิดไอเดียเจ๋ง ๆ มาช่วยเหลือบริษัท หรือทำงานที่ตอบโจทย์กับสิ่งที่ลูกค้ากำลังมองหาในตอนนี้ดีไหม

วิธีนี้จะทำให้คุณมี Mindset แบบ Intrapreneurship ที่พร้อมและเต็มใจทำงานอย่างสุดความสามารถ อยากเรียนรู้ ปรับตัวได้ในช่วงที่ยากลำบาก และอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของบริษัทอยู่รอดในภาวะวิกฤต

WORK FROM HOME ฉบับคุณสิทธิพงศ์

หลายคนอาจสนุกและตื่นเต้นกับการ work from home บ้างได้ทำงานและโฟกัสงานมากกว่าเดิม เพราะมีเวลาเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการ work from home ระยะยาวอาจเกิดปัญหา เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่บ้านไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำงาน อีกไม่นานบางคนจะเริ่มผ่อนคลายและไม่จริงจังกับงาน เพราะมีทีวี เตียงนอน และโซฟาอยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา

ตั้งเวลาให้ตัวเองทุกชั่วโมง: ถ้าอยาก work from home แบบมีประสิทธิภาพ ต้องตั้งเวลาทุกชั่วโมงว่าเราจะทำอะไร 9.00-10.00 น. ทำอะไร และ 10.00-11.00 น. จะทำอะไรต่อ ทั้งนี้เพื่อตั้งตารางเวลาในการทำงาน กระชับเวลาทำงานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมวิธีนี้ยังช่วยให้เราสามารถสรุปผลลัพธ์ของวันได้อีกด้วย

ปฏิบัติตัวให้เหมือนวันทำงานปกติ: สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำตัวให้สดชื่นอยู่เสมอ ดังนั้นอย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัวเหมือนวันอยู่บ้าน ตื่นเช้ามารีบอาบน้ำให้สดชื่นและแต่งตัวเตรียมพร้อมทำงานเหมือนวันทำงานปกติ

จัดพื้นที่ทำงานให้เป็นกิจจะลักษณะ: ไม่แปลกถ้าคนในบ้านจะเดินมารบกวนขณะทำงาน หรือสภาพอากาศร้อนจนเราไม่อาจทำงานได้อย่างต่อเนื่อง การจัดพื้นที่ทำงานโดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีคนรบกวน อากาศถ่ายเทสะดวก และปราศจากสิ่งยั่วยุใด ๆ จะช่วยทำให้เราทำงานได้อย่างมีสมาธิและโฟกัสกับงานมากขึ้น

 

การตั้งสติและใช้ปัญญารับมือกับทุกสถานการณ์คือทริกที่มนุษย์เงินเดือนควรนำไปปรับใช้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 อย่างตอนนี้ เพราะท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดทำให้หลายคนหวาดกลัวและท้อถอยกับสิ่งที่ไม่แน่นอน

ทุกคนจึงควรทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมี ‘สติ’ คาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แล้วจึงใช้ ‘ปัญญา’ เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตต่อไปไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคแบบไหนก็ตาม ถ้าเรามีทัศนคติที่ดีทุกอย่างจะคลี่คลายและเห็นทางออกในไม่ช้า เพราะไม่ใช่เราคนเดียวที่เจอกับสถานการณ์แบบนี้

WORK FROM HOME ฉบับคุณสุจารี

เตรียมพร้อม: แน่นอนว่าพฤติกรรมการทำงานของเราจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และการทำงานที่บ้านก็ไม่ใช่การหยุดงานหรือลาพักร้อน ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมใจ เตรียมสถานที่ เตรียมอุปกรณ์และระบบสื่อสารให้พร้อมเพื่อให้ทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร: เมื่อต้องทำงานที่บ้านการสื่อสารกันเป็นเรื่องที่สำคัญมากและจะมีมากขึ้นตามมาด้วย นอกจากต้องเตรียม contact ที่จะติดต่อคนทั้งภายในและภายนอกบริษัทแล้ว เรายังต้องเลือกช่องทางการสื่อสารที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์และให้ผลลัพธ์ดีที่สุด ทุกคนจึงจะเข้าใจสารที่สื่อไปในทิศทางเดียวกัน

กำหนดช่วงเวลาที่แน่นอน: เพราะการ Work from Home คือการที่ทุกคนแยกย้ายกันไปทำงานที่บ้าน หัวหน้างานจึงจำเป็นต้องกำหนดช่วงเวลาติดตามผลงานที่แน่ชัดด้วย อย่างเช่นถ้าถามงานไปในช่วงเวลางาน ทุกคนจะต้องตอบพร้อมกันได้เพื่อให้งานที่ทำเดินต่อไปและไม่ติดค้าง

 

ในยุค Transformation อย่างตอนนี้ต่อให้มีหรือไม่มีวิกฤต COVID-19 มนุษย์เงินเดือนก็ต้องมีวิธีคิด ปรับตัว และบริหารตัวเองอยู่ตลอดเวลา ผมเชื่อว่าเรามีหน้าที่หลักคือตักตวงความรู้ใหม่ ๆ ให้ตัวเอง เพราะ “ถ้าไม่มีของใหม่เข้า ก็จะไม่มีของใหม่ออกไป” การอัปเดตตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เราก้าวทันการเปลี่ยนแปลง

น้อง ๆ ในยุคนี้โชคดีที่สามารถเข้าไปเรียนรู้แบบ  Self-Learning จากเว็บไซต์ พอดแคสต์ กูเกิล หรือเฟซบุ๊ก พร้อมพัฒนาตัวเองให้มีความรู้หลากหลายด้าน ไม่ใช่แค่ยึดติดอยู่ที่ Role & Responsibility ที่บริษัทกำหนดเพียงเท่านั้น เช่น ถ้าวันนี้ทำงานหน้าที่วางกลยุทธ์ ก็เป็นเรื่องดีถ้าสักวันเราจะมีความรู้เรื่อง Data Analytic เพิ่มขึ้นมา

นอกจากงานประจำแล้ว ลองมองหาอะไรที่ตรงกับแพสชันของตัวเองไว้ด้วย เวลาที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่าง COVID-19 จะได้มีงานอื่น ๆ ที่เรายังทำได้รองรับ ส่วน Senior Level ที่โตขึ้นไปหน่อยอาจต้องเข้าใจกระบวนการทำงานและปัญหาต่าง ๆ ที่เหล่า Junior พบเจอ ไม่ก็ลองลงมาทำงานเองเพื่อให้รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรและนำไปแก้ไขต่อไป อีกเรื่องที่สำคัญที่สุดของมนุษย์เงินเดือนคือการบริหารเงิน อย่าลืมบันทึกค่าใช้จ่าย สังเกตสภาพการเงินที่เปลี่ยนแปลงของตน และแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้ลงทุนหรืออดออมไว้ใช้ยามฉุกเฉินด้วย

WORK FROM HOME ฉบับคุณอติพล

ตั้งเป้าหมายงาน: แม้การทำงานที่บ้านจะยืดหยุ่นกว่าการทำงานที่บริษัท แต่ถ้าอยากทำงานที่บ้านอย่างมีประสิทธิภาพและมอบประสิทธิผลไม่ต่างจากที่ทำงาน ก็ต้องตั้งเป้าหมายระหว่างวันและเป้าหมายรายสัปดาห์เอาไว้ ว่าวันนี้คุณจะทำอะไรบ้างและสัปดาห์นี้มีงานไหนที่ต้องส่งบ้าง

วางแผนการสื่อสาร: การอยู่ต่างที่อาจเป็นเรื่องยากที่จะสื่อสารกันได้อย่างลื่นไหล เพราะฉะนั้นควรวางแผนการสื่อสารอย่างเป็นระบบ เช่น นัดพูดคุยกับทีมทุกวันตอนเช้าและหลังเลิกงาน เพื่อสำรวจงานประจำวันและดูความคืบหน้าของงานวันนั้น

จัดพื้นที่ทำงาน: เพราะการทำงานจำเป็นต้องใช้สมาธิสูง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่บ้านอาจไม่เอื้อประโยชน์ต่อการทำงานมากนัก แนะนำให้จัดพื้นที่ทำงาน จัดแสงไฟ และบรรยากาศโดยรอบให้เหมาะกับการทำงาน จะช่วยให้ทำงานอย่างมีสมาธิและมีประสิทธิภาพ

 

 

ช่วงนี้เราผ่านระยะการ Work From Home กันมาสักระยะหนึ่งแล้ว การทำงานทันทีหลังจากตื่นนอน แทนที่จะมีการเดินทางอันแสนยาวนานมาคั่นกลาง การใช้เครื่องมือสื่อสารแบบ Video Conferencing แทนที่จะเป็นการวิ่งเข้าห้องประชุม การต้องอยู่คนเดียวกับหน้าจอคอม แทนที่จะได้เฮฮากับเพื่อนฝูง กินข้าวกลางวันกัน ล้วนแล้วแต่สร้างการเปลี่ยนแปลง และรูปแบบในการใช้ชีวิตแบบใหม่ให้กับมนุษย์ออฟฟิศมืออาชีพอย่างพวกเรา

WORK FROM HOME ฉบับคุณสุธีรพันธุ์

การมีวินัย (Discipline) : การมีวินัยคือหัวใจสำคัญของเรื่องนี้และเป็นข้อแรกของการบรีฟสมาชิกในทีม เหตุผลสำคัญก็คือ เมื่อร่างกายเราไม่ต้องตื่นมาทำงาน สมองก็มักจะเข้าสู่โหมดแห่งการพักผ่อนโดยอัตโนมัติ ธรรมชาติสร้างเรามาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นของพวกเราทุกคน ก็คือการตั้งโปรแกรมให้สมองซะใหม่นั่นเอง ว่า Work From Home ≠ Vacation และเครื่องมือที่ดีที่สุด ก็คือวินัย (Discipline) เพราะวินัยนี่แหละ จะเป็นที่มาของประสิทธิภาพในการทำงาน การไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งจำเป็นมากในสถานการณ์อย่างนี้ ก่อนที่จะไปเรื่องอื่น

ความรับผิดชอบ (Accountability) : การมีความรับผิดชอบ ความหมายในการมีความรับผิดชอบในสถานการณ์ปกติที่ทุกคนอยู่พร้อมหน้ากันที่ทำงาน กับ ความรับผิดชอบในสถานการณ์ Work From Home อย่างนี้ อาจแตกต่างกับตอนที่สมาชิกอยู่พร้อมเพรียงกัน ตามหลักจิตวิทยาแล้ว หากทำงานที่ออฟฟิศจะมีการกดดันจากเพื่อนพนักงานรอบข้าง (Peer Pressure) ทำให้เกิดการแข่งขัน มีหัวหน้างานมาคอยตามเช็กความคืบหน้าเกิดแรงกระตุ้น จึงเป็นที่มาของความรับผิดชอบแบบจำยอม แต่เราจะทำอย่างไรให้ยังคงรักษาระดับความรับผิดชอบไว้ได้ ถ้าทุกคนต่างทำงานมาจากคนละที่ ? การสื่อสารคือทางออก

การให้เกียรติและเคารพกัน (Respect) : คือเครื่องมือการแลกเปลี่ยนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน Respect is a currency of trust. ในทุกการออกสงครามหรือการเดินทางหาดินแดนใหม่ในประวัติศาสตร์ กษัตริย์ย่อมต้องมอบอำนาจให้กับขุนพลหรือนักสำรวจของพวกเขาพร้อมๆ ไปกับการไว้วางใจเช่นใด ในสถานการณ์เช่นนี้ก็เช่นกัน เครื่องมือที่จะควบคุม (Control) พนักงานได้ดีที่สุด คือ การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือแม้กับระหว่างเพื่อนพนักงานร่วมทีมด้วยกันเอง

 

ฟังคำแนะนำถึงชาวออฟฟิศจาก 4 ผู้บริหารแล้ว บางอย่างนโยบายหรือวิธีการอาจจะแตกต่างจากออฟฟิศที่เราอยู่ แต่พวกเราที่เป็นพนักงานสามารถเลือกรับข้อแนะนำที่ดีเพื่อนำมาปรับใช้ได้

สำหรับผู้บริหารที่กำลังอ่านแล้วพบวิกฤตเดียวกัน ทว่ายังไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรให้พนักงานรู้ว่าสิ่งที่เผชิญมันหนักหนา หรืออยากให้ทำงานกันอย่างเต็มประสิทธิภาพกว่านี้ บทความนี้อาจจะเป็นหลักการที่เราสามารถวัด KPI ของคนที่ทำงานที่บ้านได้ กรณีที่จำเป็นต้องออกมาตรการอะไร คุณจะมองเห็นคนที่มียังคงศักยภาพพร้อมเดินหน้าสู้วิกฤตไปจนกว่าธุรกิจกลับมาสดใสอีกครั้งได้อย่างชัดเจน

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line