Work

ทีมที่มีอยู่ ‘เวิร์ก’ ‘ไม่เวิร์ก’? เผยวิธีดูและ 5 เทคนิคปั้นทีมสไตล์ GOOGLE ที่ทำให้องค์กรโตเร็ว เต็มศักยภาพ

By: anonymK June 6, 2019

องค์กรจะรุ่งหรือร่วงอยู่ที่คนในองค์กร เพราะงานใหญ่ไม่เคยสร้างเสร็จด้วยคนเพียงคนเดียว ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะอัจฉริยะแค่ไหนก็ตาม องค์กรสายเทคฯ ระดับโลกอย่าง Google จึงให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม แต่ใช่ว่าทุกทีมจะทำได้เท่ากัน ดังนั้น การประเมินเพื่อหาทีมที่ดี โดดเด่น นำมาใช้เป็นกรณีตัวอย่างไว้เพื่อพัฒนาทีมอื่น ๆ ให้ขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขาใส่ใจเสมอมา

คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าที่ Google ไปได้ไกลเพราะคนในองค์กรเก่ง แต่ความจริงแล้วการรวมตัวของคนเก่งก็มีจุดอ่อนหลายอย่าง โดยเฉพาะกับการทำงานเป็นทีม หรือการคุมทีม คนเก่งหลายคนไม่ใช่หัวหน้าที่คุมทีมได้ดี และยิ่งเก่งมากบางคนอาจจะตกม้าตายเรื่องคุมทีมพลาดเพราะ Micromanage ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความตั้งใจดีอยากให้งานออกมาสมบูรณ์แบบเพอร์เฟกชั่นนิสต์ หรือความไม่เชื่อใจในทีมจนพยายามไปเจาะและจี้ทุกรายละเอียดก็ตาม สุดท้ายความหวังดีแบบนี้ทำให้การทำงานตึงเครียด ดับความคิดสร้างสรรค์ แถมทีมยังมีแนวโน้มจะดื้อเงียบไม่ยอมทำตามคำสั่งอีกด้วย

คำถามวัดความเป็นผู้นำของ Google

เพื่อวัดศักยภาพความเป็นผู้นำที่ดีซึ่งเป็นพื้นฐานของทีมเวิร์กที่ดี Google จึงออกแบบคำถามสำหรับสอบถามพนักงานเพื่อตรวจสอบ โดย 13 ข้อด้านล่างคือคำถามบางส่วนที่ใช้ประเมินคุณภาพทีมได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ

  1. ผู้บังคับบัญชาของฉันให้ฟีดแบ็กเพื่อพัฒนาความความสามารถตัวเอง
  2. ผู้บังคับบัญชาของฉันไม่ทำตัวเป็น “Micromanage”
  3. ผู้บังคับบัญชาของฉันปฏิบัติกับฉันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
  4. ผู้บังคับบัญชาให้คุณค่าต่อความเห็นที่ฉันเสนอเพื่อทีม แม้มันจะแตกต่างจากความคิดของเขา
  5. ผู้บังคับบัญชามุ่งโฟกัสที่ผลลัพธ์และลำดับความสำคัญ
  6. ผู้บังคับบัญชาแบ่งข้อมูลที่ได้รับจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้รู้เสมอ
  7. ผู้บังคับบัญชาได้ตัดสินใจสิ่งที่มีความหมายต่อการพัฒนาเส้นทางอาชีพของฉันเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา
  8. ผู้บังคับบัญชาสื่อสารเป้าหมายที่ชัดเจนให้กับทีมของเรา
  9. ผู้บังคับบัญชามีความรู้ทางเทคนิค (เช่น การเขียนโค้ด, การขายในภาคธุรกิตระดับโลก ฯลฯ) สิ่งที่จำเป็นต่อการดูแลฉันให้มีประสิทธิภาพ
  10. ฉันจะแนะนำผู้บังคับบัญชาจนเองให้กับชาว Google คนอื่น ๆ
  11. ฉันพึงพอใจกับสมรรถภาพโดยรวมของผู้บังคับบัญชา
  12. อะไรที่คุณอยากแนะนำให้ผู้บังคับบัญชาทำต่อ
  13. อะไรที่คุณอยากให้ผู้บังคับบัญชาเปลี่ยนแปลง

จากคำถามทั้งชุดนี้ เราจะเห็นว่ามีแค่ข้อ 9 เพียงข้อเดียวเท่านั้นที่เป็นการวัดทักษะความสามารถของผู้บังคับบัญชา ที่เหลือเป็นเรื่องการบริหารทีมล้วน ดังนั้น ต่อให้เป็นหัวหน้าที่เก่งแค่ไหนหากรวมแล้วไม่ผ่านข้ออื่น ๆ ก็ถือว่าสอบตก

เหตุผลที่สกิลไม่ได้สำคัญกว่าการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องที่ Google อุปโลกน์ขึ้นมา เพราะเขาพิสูจน์แล้วด้วยการวิจัยทีมเวิร์กภายในบริษัทจำนวนกว่า 180 ทีมที่มีแพทเทิร์นสมาชิกต่างกันเพื่อนำมาหาคำตอบเป็นเวลาหลายปี ทั้งทีมที่มีเคมีเดียวกัน มีความสามารถมากพอกัน นิสัยหรือรสนิยมใกล้เคียงกันหรือต่างกัน เป็น Introvert หรือ Extrovert ไม่แต่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ไม่มีผลกับการสร้างทีมเวิร์กที่ดี ขณะเดียวกันระหว่างวิจัย พวกเขาได้พบเทคนิคในการพัฒนาทีม 5 ข้อให้ทีมทำงานได้อย่างโดดเด่น และผลักดันให้การทำงานก้าวไปข้างหน้าเหล่านี้

 

เทคนิค 5 ข้อเพื่อสร้างทีมเวิร์กที่เต็มที่กับงาน

1. สร้างความปลอดภัยทางจิตใจ : เมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในทีม จะไม่มีใครคอยซ้ำ
การสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจส่วนบุคคล ทำงานและสร้างบรรยากาศที่ทำให้สมาชิกในทีมทุกคนรู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องขึ้นเขียงทุกครั้งเพื่อแสดงความคิดเห็น และรู้สึกว่าเป็นพื้นที่เปิดอย่างแท้จริงเพื่อโชว์ไอเดียได้เต็มที่

2. ความไว้วางใจ : เมื่อทีมตัดสินใจจะทำอะไร พวกเขาทั้งหมดจะลงมือทำมันไปด้วยกัน
ความเชื่อใจคือสิ่งสำคัญในการทำให้ทีมก้าวเดินไปพร้อมกัน ทีมที่สามารถไว้วางใจเรื่องการทำงานของสมาชิกทุกคนจะทำงานอย่างมีคุณภาพและตรงตามเวลา

3. โครงสร้างและความชัดเจน : ทีมของเรามีกระบวนการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ
ยิ่งเข้าใจเป้าหมาย ความทุ่มเทยิ่งสูงขึ้น การรับรู้จุดประสงค์ของการทำงานแต่ละชิ้นคือปัจจัยสำคัญของทีมเวิร์กที่ดี ส่วนการตั้งเป้าหมายของการทำงานชิ้นนั้น ๆ ตั้งได้ทั้งระดับบุคคลและระดับกลุ่ม แต่ต้องเป็นเป้าที่มีทั้งความท้าทายและอยู่บนพื้นฐานที่ทำได้ ซึ่งตามปกติ Google จะใช้เครื่องมืออย่าง OKR มาช่วยกำหนด

4. สร้างความหมายและคุณค่า : งานที่เราทำให้ทีมมีความหมายกับเรา
หาจุดประสงค์ส่วนตัวที่เราได้ผลประโยชน์ร่วมกับทีมช่วยทำให้ทุกคนในทีมทำงานดีขึ้น เรียกง่าย ๆ คือทุกคนมีเป้าการทำงานส่วนตัวที่หลากหลายแตกต่างกัน เช่น ความมั่นคงทางการเงิน การดูแลครอบครัว อยากให้ทีมทำงานสำเร็จ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้ว่าการทำงานในมือมีจุดประสงค์อื่นของเราซ้อนอยู่ด้วย ความฮึดจะเพิ่มเป็นเท่าตัว

5. ผลกระทบหรืออิทธิพล : “ฉันเข้าใจว่าการทำงานของทีมของเรามีส่วนช่วยอย่างไรต่อเป้าหมายขององค์กร”

ผลงานที่เราทำทุกชิ้นจะต้องมีผลไปถึงส่วนอื่นขององค์กร เรื่องนี้หลายคนน่าจะรู้สึก เพราะงานที่ทำแบบวัน ๆ ไม่รู้ทั้งเป้าหมายและคิดว่าต่อให้มีหรือไม่มีงานจากเฟืองตัวนี้องค์กรก็ไม่ได้รับรู้อะไร คืองานที่บั่นทอนคุณภาพจิตใจคนทำงาน แต่ถ้างานที่ทำอยู่มีอิทธิพลช่วยเสริมเป้าหมายขององค์กรให้แข็งแรงขึ้น ทีมจะยิ่งมีไฟในการทำงาน

เทคนิคทั้ง 5 ข้อจาก Google มีความน่าสนใจเพราะเน้นเรื่องการให้คุณค่าคนและคุณค่าของงานนำมารวบเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเมื่อคนในทีมมีความสามารถมาเจอบรรยากาศดี ๆ ในการทำงานเป็นทีม พวกเขาจะรู้สึกอยากผลักดันและพัฒนาตัวเองให้ขึ้นไปเคียงข้างสมาชิกเก่ง ๆ คนอื่น ๆ โดยปริยาย

“ต่อให้การทำงานวันนี้ทุกคนจะรู้ว่าตัวเองเป็นเฟือง 1 ชิ้นที่ขับเคลื่อนองค์กร แต่ทุกคนอยากเป็นเฟืองตัวที่สำคัญที่สุดเสมอ เพราะท้ายที่สุดแล้วคุณภาพการทำงานยังคงขึ้นอยู่กับคุณภาพจิตใจ เมื่อพนักงานยังเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจและความรู้สึก”

 

SOURCE: 1 / 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line