Life

เขาอยู่ใกล้ก็เหมือนอยู่ไกล ทำไมความสนิทสนมถึงทำให้คนฟังกันน้อยลง

By: unlockmen February 3, 2021

หลายคนคงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า ถ้าเราอยากจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เราต้องใช้เวลาร่วมกับเขานาน ๆ จนเกิดความสนิทสนม แต่ในความเป็นจริงประโยคนี้อาจจะผิดก็ได้ เพราะนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ยิ่งเราใกล้ชิดสนิทสนมกันมากเท่าไหร่ เราอาจจะยิ่งเข้าใจและรับฟังกันน้อยลง ปรากฎการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘closeness communication bias’ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นพอสมควร


CLOSENESS COMMUNICATION BIAS เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ถ้าเราถามว่า “ทำไมเราถึงรับฟังกันน้อยลงเมื่อเราสนิทกันแล้ว ?” คำตอบ คือ เมื่อเรารู้จักใครสักคนเป็นอย่างดี จนเรียกได้ว่าสนิทกัน เรามักจะไม่พยายามปรับตัวเข้าหาอีกฝ่ายเหมือนกับตอนแรก ๆ ที่รู้จักกันอีกแล้ว เพราะเราคิดว่าตัวเองจำอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับคน ๆ นั้นได้แล้ว เช่น รู้ว่าเขาจะพูดอะไร หรือ คิดอะไร เราเลยใช้ความเคยชินตอบโต้มากกว่าจะตั้งใจฟังพวกเขาจริง ๆ

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะว่า คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตลอดเวลา ในแต่ละวันเราเจอกับอะไรมากมาย ซึ่งบางอย่างก็อาจเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดกาลเลยก็มี ดังนั้น การใช้ความเคยชินรรับมือกับฝ่ายตรงข้ามจึงอาจนำมาซึ่งปัญหาด้านความสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ความเข้าใจผิด การทะเลาะเบาะแว้ง จนอาจต้องเลิกกันในท้ายที่สุด

งานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อว่า “The closeness-communication bias: Increased egocentrism among friends versus strangers” ที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Experimental Social Psychology (JESP) ได้ศึกษาเรื่อง closeness-communication bias ผ่านการทดลองที่จับคู่ผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคนกับเพื่อนหรือคนรักของพวกเขา และจากนั้นค่อยนำพวกเขาไปจับคู่กับคนแปลกหน้า

เมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองอยู่กับคู่ของตัวเอง นักวิจัยจะให้พวกเขาตีความสิ่งที่อีกฝ่ายพูด และประเมินผล ซึ่งผลการทดลองที่ออกมาถือว่าผิดจากสิ่งที่ผู้เข้าร่วมการทดลองคาดไว้ในตอนแรก คือ ผู้เข้าร่วมการทดลองเข้าใจในตัวคนสนิทในระดับที่ไม่ต่างจากคนแปลกหน้าเลย แถมหลายเคสเข้าใจได้แย่กว่าคนแปลกหน้าอีกด้วย

นักวิจัยได้อธิบายถึงสาเหตุที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะ การเข้าใจคนอื่นอย่างแม่นย่ำมักต้องใช้ ‘การคิด’ เช่น คิดว่าสิ่งที่เขาพูดหมายความว่าแบบนี้จริงรึเปล่า และตรวจสอบมัน แต่พอเป็นคนที่เราสนิทกันแล้ว เรามักจะไม่คิดถึงเรื่องนั้น เพราะเราเชื่อว่าตัวเองอยู่แล้วว่าตัวเองรู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไร และคิดว่าพวกเขาจะรู้ในสิ่งตัวเองพูดด้วย กล่าวคือ พวกเรามักสร้างสเตอริโอไทป์กับคนที่เรารู้จักเป็นอย่างดี และด้วยสเตอริโอไทป์เหล่านั้นนั่นแหละ ที่ทำให้เราทำผิดพลาดในความสัมพันธ์


ความสัมพันธ์มีปัญหาแก้ไขได้ด้วยการฟัง

แน่นอนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการไม่ฟังกัน สามารถแก้ไขด้วยการหันมาฟังกันมากขึ้น UNLOCKMEN เลยอยากนำวิธีช่วยให้ทุกคนเป็นผู้ฟังที่ดีขึ้นมาฝากกัน ซึ่งวิธีเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน คนในครอบครัว หรือ คนรัก มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

                          เอาสิ่งที่กวนสมาธิเราออกไปก่อน

การฟังเป็นสกิลที่ต้องใช้สมาธิและความสนใจอย่างหนัก และมันจะทำได้ยากเมื่อเรากำลังเจอกับสิ่งรบกวน เช่น เสียงแจ้งเตือนโทรศัพท์ หรือ เสียงอีเมล์เข้าจากคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ดังนั้น ถ้าเราอยากเป็นผู้ฟังที่ดี เราต้องพยายามกำจัดสิ่งที่รบกวนสมาธิออกไปให้หมด เช่น ปิดทีวี ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ เพื่อประสิทธิภาพในการฟัง ซึ่งเป็นกุญแจที่จะช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

ทำให้ตัวเองมั่นใจว่าเข้าใจที่อีกฝ่ายพูดจริง ๆ

ฟังดูง่าย แต่เป็นเรื่องยากเหมือนกัน เพราะอย่างที่บอก closeness-communication bias มักทำให้เราสนใจความต้องการของอีกฝ่ายน้อยลงกว่าเดิม และใช้ความเคยชินในการจัดการความสัมพันธ์ สิ่งที่ตามมา คือ ความไม่เข้าใจกันจนความสัมพันธ์อาจจบลง ดังนั้น เราต้องแน่ใจว่าตัวเองไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมัน และเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดจริง ๆ โดยวิธีการที่จะทำให้เราเข้าใจอีกฝ่ายมากที่สุด คือ การหยุดและตั้งคำถาม เช่น ถามตัวเองว่าเราเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดจริงหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจให้ลองถามกับฝ่ายตรงข้ามว่า “คุณพูดว่า…ใช่หรือไม่” หรือ “เราเข้าใจว่า…ถูกรึเปล่า” จะช่วยให้เราเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ใส่ความแคร์ในคำพูดของเรา

ใส่ความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยเข้าไปในคำพูดและการกระทำของเรา จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราลงเรือลำเดียวกับเขาโดยการพูดคำ เช่น เรื่องนี้ก็สำคัญกับฉันเหมือนกัน เรื่องนี้สำคัญสำหรับเราทั้งคู่ เราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน ถ้าอีกฝ่ายพูดในเรื่องลบ ๆ เช่น ความเครียด หรือ ความยากลำบาก ให้เราแสดงการสนับสนุน เช่น บอกว่า “เราอยู่ตรงนี้เพื่อเธอ” หรือ บอกว่า “มีอะไรให้ช่วยบอกได้เสมอ” ถ้าอีกฝ่ายพูดในสิ่งที่ดีให้พูดในสิ่งดี ๆ เช่น “นั่นมันเยี่ยมไปเลย” หรือ “ไปฉลองกันเถอะ”

ทำให้คนอื่นรู้สึกว่า “เราเข้าใจเขา” อยู่เสมอ

นอกจากเราจะต้องพยายามเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดแล้ว เรายังต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราเข้าใจเขา และเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดและทำแบบนั้นด้วย ซึ่งเราสามารถทำได้โดยการตอบกลับด้วยประโยคที่แสดงความเข้าใจ เช่น “เราเข้าใจว่าทำไมเธอถึงทำแบบนั้น” “เราเข้าใจว่าทำไมเธอถึงมีความสุขกับเรื่องนั้น” หรือ ตอบกลับด้วยการแสดงความเห็นด้วยกับอีกฝ่ายด้วยประโยคเช่น “ฉันก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน” หรือ “เป็นเราเราก็จะทำแบบนั้น”

สนใจร่างกายของเราตัวเองด้วย
อย่าลืมว่า เราต้องทำให้คนอื่นรู้สึกว่า “เรากำลังฟังเขาอยู่” ด้วย ถึงจะเรียกได้ว่า เราอยู่ในโหมดฟังอย่างสมบูรณ์จริง ๆ ซึ่งการใช้หูฟังอย่างเดียวอาจไม่ทำให้เขารู้สึกแบบนั้น มันต้องใช้ภาษากายในการแสดงออกด้วย เช่น การสบสายตา หรือ การพยักหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเรากำลังฟังเขาอยู่จริง ๆ

เราเข้าใจดีว่า การเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเรื่องยาก เพราะมันทำให้เราฝืนธรรมชาติ และทำในสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย แต่ถ้าเราไม่ละความพยายาม และมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อไป เราเชื่อว่า คุ้มค่าแน่นอน


Appendixes: 1 / 2 / 3

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line