EVENT

เราทำศิลปะให้คนเข้าไปอยู่ได้: 'THE DUALITY' นิทรรศการที่รวมศิลปะกับพื้นที่อยู่อาศัยเข้าด้วยกัน

By: PSYCAT November 15, 2018

“นี่คืองานศิลปะที่คนเข้าไปนอนและอยู่อาศัยได้” คือประโยคไม่ยาวนักแต่หนักแน่นจากปากคุณสรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง ผู้อำนวยการฝ่ายคอร์ปอเรท มาร์เก็ตติ้งแห่ง AP Thailand ที่เราจำขึ้นใจ เพราะนี่ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน งานศิลปะในภาพจำของเราทุกคนมักเป็นเรื่องสูงส่งเกินเอื้อมถึง ดังนั้นภาพการอยู่อาศัยและใช้เวลาในแต่ละวันอยู่ร่วมกับงานศิลปะจึงเป็นภาพที่คล้ายความฝันมากกว่า

โชคดีที่ AP Thailand ไม่คิดว่าศิลปะที่ผสานรวมเข้ากับที่อยู่อาศัยเป็นได้แค่ความฝัน  AP Thailand จึงร่วมกับศิลปินที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับโลกอย่าง Lucas Price และคู่หู O Terawat-Tarida สร้างสรรค์งาน collaboration สุดพิเศษให้กับคอนโด Life Asoke Hype ภายใต้คอนเซปต์ The DUALITY นิทรรศการที่รวมเอาศิลปะกับพื้นที่อยู่อาศัยเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

การนอนอยู่บนงานศิลปะจะให้ประสบการณ์แบบไหนกันแน่ ?
เราอดสงสัยไม่ได้ และอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบกับนิทรรศการ The DUALITY ครั้งนี้ไปด้วยกัน

เพราะ AP เชื่อว่าศิลปะต้องอยู่ร่วมกับคนได้จริง

“กล้าหาญ” เราอยากมอบคำนี้ให้กับ The DUALITY ตั้งแต่ก้าวแรกที่เท้าย่างเข้าไปในนิทรรศการ ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นงานศิลปะอยู่พ้นไปจากพื้นที่อย่างพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หรือแกลเลอรี่สักแห่ง แต่ The DUALITY ไม่ใช่แค่แหวกขนบพื้นที่ทางศิลปะ แต่กล้าหาญที่จะก้าวข้ามไปอีกขั้นด้วยการทำศิลปะให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย หรือจริง ๆ คือการทำพื้นที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นศิลปะเต็มรูปแบบ

“ศิลปะมีบทบาทกับชีวิตคนเมืองมากขึ้น” คุณสรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวงเปิดเผยถึงความสนใจแรกของเอพี แล้วเล่าต่อว่าเอพีเชื่อใน Function Base ทุกอย่างที่เอพีทำผู้อยู่อาศัยต้องสามารถใช้งานได้จริง ดังนั้นเมื่อเอพีต้องการสร้างสรรค์ศิลปะในแบบของตัวเอง ศิลปะนั้นต้องไม่ใช่แค่การเอาภาพมาแขวนในพื้นที่อยู่อาศัย แต่ศิลปะต้องผสมผสานเข้ากับฟังก์ชั่น หรือพูดให้ง่ายที่สุดคือศิลปะในแบบของเอพีคือศิลปะต้องเป็นฟังก์ชั่นที่อยู่ร่วมกับชีวิตประจำวันคนได้จริง

นิทรรศการ The DUALITY ครั้งนี้จึงเป็นสารที่เอพีต้องการสื่อให้เห็นว่าเอพีต้องการนำศิลปะมาสู่ชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยให้ได้มากที่สุด และแน่นอนว่าตัวนิทรรศการทำให้เราเข้าใจคำพูดของคุณสรรพสิทธิ์อย่างปราศจากข้อกังขา

“ที่นี่ห้องจึงไม่ใช่แค่ห้อง แต่ห้องกลายเป็น Art Space”

The DUALITY: ความเหมือนที่แตกต่างอย่างลงตัวของความเป็นกรุงเทพฯ และสองศิลปิน

“ความขัดแย้ง” คำนี้ในสายตาผู้ชายอย่างเรามักให้ภาพความวกวน วุ่นวาย อลหม่านผุดขึ้นมาในหัว แต่ “The DUALITY” กลับเป็นนิทรรศการที่รวมเอาความขัดแย้งเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน ลงตัว งดงามและแปลกใหม่จนคาดไม่ถึง ไม่ใช่แค่ศิลปะกับพื้นที่อยู่อาศัยที่ถูกนำมาหลอมรวมกันเท่านั้น แต่ The DUALITY คือการตีความเมืองกรุงเทพฯ โดย AP Thailand ผ่านสายตาของสองศิลปินชื่อดังอย่าง Lucas Price, O Terawat และ Tarida ที่สร้างสรรค์ศิลปะคนและแบบ ตีความกรุงเทพฯ คนละแบบ แต่ทันทีที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันก็ขับเน้นเสน่ห์ของกันและกันออกมาได้อย่างน่าสนใจ

Lucas Price เริ่มต้นความเป็นศิลปินบนเส้นทางสาย Street Art เขาคือสมาชิกผู้ก่อตั้ง Burning Candy ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินกราฟิตี้เจ้าของผลงานโด่งดังมากมายในประเทศอังกฤษ การตีความกรุงเทพฯ ออกมาในคอนเซปต์ DUALITY ของเขาจึงเต็มไปด้วยความซื่อตรง ดิบ ดุ แต่ชัดเจนและทรงพลัง

“การใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ เองนั่นแหละที่ผมมองว่ามันคือศิลปะรูปแบบหนึ่ง”

Lucas Price เล่าให้เราฟังว่าสำหรับเขาแล้ว DUALITY มันก็คือชีวิต เราไม่อาจใช้ชีวิตไปในทิศทางเดียว แต่ชีวิตคือความย้อนแย้ง คือความกลับไปกลับมา และ DUALITY คือการสะท้อนกลับไปกลับมาของชีวิตซึ่งสำหรับเขานี่แหละคือศิลปะ โดยเฉพาะชีวิตในกรุงเทพที่เขานิยามสั้น ๆ ว่า DUALITY ของเมืองฟ้าอมรแห่งนี้คือ “ความดิบและความประดิดประดอย” ในทางหนึ่งเขามองเห็นความงามในความจริงของผู้คน ท้องถนน แต่อีกทางกรุงเทพฯ ก็ผ่านการปรุงแต่งจนเกิดเป็นความงามอีกรูปแบบหนึ่งที่แม้ขัดแย้งกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว

ในขณะที่ O Terawat และ Tarida เริ่มต้นเส้นทางการเป็นศิลปินในฐานะนักวาดภาพประกอบ O Terawat เติบโตต่อมาในสายแฟชั่น แมกกาซีน และไลฟ์สไตล์ ในขณะที่ Tarida ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับงานออกแบบ

“ศิลปะมันคือการออกแบบอย่างหนึ่ง คนกรุงเทพฯ เองก็อยู่กับศิลปะมาตลอด
แค่ศิลปะบางชิ้นเข้าใจง่าย แต่บางอย่างก็เข้าใจยาก”

ศิลปะตามนิยามของ O Terawat จึงอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เราอาจคิดว่าศิลปะสูงส่งเกินเอื้อม แต่เขามองว่าการออกแบบก็เป็นแขนงหนึ่งของศิลปะ และกรุงเทพฯ เองก็เป็นแหล่งศูนย์รวมขนาดใหญ่แห่งการออกแบบ บางการออกแบบอาจมาในรูปตึกสูงเรียบหรูที่หลายคนเข้าไม่ถึง แต่การออกแบบของใช้เพื่อแก้ปัญหาง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปสำหรับเขานั่นก็คือศิลปะ

“กรุงเทพฯ คือส่วนผสมที่แตกต่าง หลากหลาย แต่ลงตัว”

DUALITY ของกรุงเทพฯ ผ่านการตีความของ O Terawat จึงเป็น “การอยู่ร่วมกันของสองสิ่งที่อาจจะเหมือนหรือต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้” ประโยคนี้จากปากเขาทำให้เราพยักหน้าตามเพราะนิทรรศการ The DUALITY ก็เป็นเช่นนั้น ความละเอียดละเมียดละไมในงานของ O Terawat และ Tarida และงานตรง ๆ สุดทรงพลังของ Lucas Price แม้จะแตกต่างกันสุดขั้วแต่สามารถอยู่ร่วมกันและทรงเสน่ห์จนเราหลงใหล

DOMESTIC VANDALISM: เมื่อ Lucas Price ร่ายบกวีเป็นงานศิลปะในที่อยู่อาศัย

แม้เราจะนิยามงานของ Lucas Price ว่าคือความเป็นสตรีตอาร์ตที่ตรง ดิบแต่ทรงพลัง ทว่าเมื่อเห็น DOMESTIC VANDALISM ผลงานของเขาอันเป็นส่วนหนึ่งของ The DUALITY ที่คอนโด Life Asoke Hype แล้ว เรากลับเห็นรายละเอียดที่เต็มไปด้วยความใส่ใจของเขาซุกซ่อนอยู่

“Modern Poetry” Lucas Price นิยามรูปแบบของ DOMESTIC VANDALISM ไว้แบบนั้น เพราะศิลปะทุกชิ้นที่อวดสายตาเราอยู่ตรงหน้าแม้เขาจะใช้เวลาสร้างสรรค์แบบฉับพลันตามสไตล์สตรีตอาร์ต แต่ทุกชิ้น ทุกรายละเอียดผ่านการคิดทบทวนมาแล้วอย่างดี มันจึงไม่ต่างจากบทกวีที่แม้มีเพียงคำสั้น ๆ ไม่กี่บรรทัด แต่ผ่านการให้ความหมายลึกซึ้งมาแล้วอย่างถี่ถ้วน

“มันคือการสาดงานศิลปะเข้าไปในห้อง แต่ให้กลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกัน”

DOMESTIC VANDALISM จึงเป็นบทกวีที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของ Lucas Price ที่ยิ่งเราเดินดู เราก็จะยิ่งเข้าใจตัวตน เรื่องเล่า ศิลปะในสายตาเขา พร้อม ๆ กับเข้าใจความงามของการเป็นคนเมืองและการตีความกรุงเทพฯ ไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับงานชิ้นหลักของ Lucas Price คือภาพเขียนแบบ Hyper-Real Painting ของถังดับเพลิงสีเงินวาว มีตัวหนังสือ GHOST SHOWERS เป็นองค์ประกอบหลักของเรื่องเล่า ความพิเศษของงานชิ้นนี้สำหรับเราคือความตื่นตะลึง เนื่องจาก Lucas Price สามารถสร้างสรรค์ถังดับเพลิงจากการลงสีด้วยสองมือแต่เหมือนจริงราวกับภาพถ่าย โดย Lucas Price ระบุว่าเขามักเลือกวัตถุที่มีพื้นผิวน่าสนใจ เพื่อที่ทุก ๆ ระยะการมองเห็นจะให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน และประสบการณ์ครั้งนี้ยากจะลืมจนเราอยากชวนให้ทุกคนมาเห็นกับตาสักครั้งในชีวิต

“มันคือตัวแทนของการขโมยซีนท่ามกลางเมืองใหญ่ ที่คนมีเงินได้ซื้อบิลบอร์ด
ในขณะที่เรามีถังดับเพลิงและสามารถแสดงจุดยืนของตัวเองได้เหมือนกัน”

ถังดับเพลิงสำหรับ Lucas Price จึงไม่ใช่แค่เครื่องมือดับเพลิง แต่เขาใช้มันเป็นเครื่องพ่นสีเพื่อสร้างกราฟิตี้ขนาดใหญ่ เพื่อประกาศจุดยืนว่าศิลปะบางชิ้นอาจไม่ได้มีเม็ดเงินหนุนหลัง แต่พวกเขาก็สามารถช่วงชิงพื้นที่และความสนใจในเมืองใหญ่มาได้เช่นกัน รวมถึงตัวอักษร GHOST SHOWERS ซึ่งมาจากชื่อเพลงที่เขาชอบ และความหมายของละอองสีที่เวลาเขาทำงานกราฟิตี้ขนาดใหญ่ละอองสีเหล่านี้จะร่วงหล่นโปรยปรายเป็นสายราวกับ GHOST SHOWERS

ภายในห้องเรายังจะเห็นหลอดไฟนีออนที่ถูกดัดเป็นถ้อยความต่าง ๆ ที่ Lucas Price อธิบายว่า“นี่แหละคือ Modern Poetry ที่มันสามารถสะท้อนความรู้สึกของเมืองที่สนุก สดใสและคาดไม่ถึง” รวมถึงรูปถ่ายโพลารอยด์ที่ Lucas Price ระบุว่ามันคือ

“รูปโพลารอยด์คือความไม่สมบูรณ์แบบอันมีความหมาย”

สำหรับเขาการได้ยกกล้องโพลารอยด์ขึ้นมาถ่ายอะไรเก็บไว้ในชั่ววินาทีมันคือการบันทึกความงามของชั่วขณะหนึ่งเอาไว้ แม้คุณภาพมันจะไม่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่การเก็บวินาทีนั้นไว้ได้มันคือการบันทึกในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งคงไม่ต่างจากความหมายของความเป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยความงามชั่วขณะหนึ่งที่รอให้เราบันทึกไว้ในความทรงจำ

แต่การเป็นศิลปินสตรีตอาร์ตของเขา ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าการทำงานศิลปะบนท้องถนน กับการสร้างสรรค์ศิลปะในที่อยู่อาศัยมันท้าทายมากขึ้นมั้ย “ในฐานะศิลปินเราต้องทำงานศิลปะในพื้นที่หลากหลายอยู่แล้ว ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ทำงานในบริบทพื้นที่อยู่อาศัย แต่มันดีตรงที่งานชิ้นนี้ผมได้เป็นตัวเอง ได้ทำงานอย่างอิสระ ไม่มีกรอบ การทำงานครั้งนี้จึงเหมือนรางวัลในชีวิตเลยทีเดียว”

แม้เขาจะออกตัวว่าศิลปินต้องทำงานในพื้นที่แบบไหนก็ได้ แต่ Lucas Price ก็ยอมรับว่านี่คือครั้งแรกในชีวิตที่ได้ทำศิลปะให้กิน นอน อยู่ หรือแม้กระทั่งเหยียบได้ (ในรูปแบบพรม) แต่เขาก็ย้ำว่าเขาทำงานศิลปะแบบที่คนจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมันได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะรู้สึกแปลกแยกกับมัน

DOMESTIC VANDALISM ของ Lucas Price ในคอนเซปต์ The DUALITY จึงเต็มไปด้วยความดิบ ตรง ทรงพลังตามสไตล์สตรีตอาร์ตชื่อก้อง ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยรายละเอียด ความหมาย และถ้อยความที่งดงาม กระชับ ลงตัวราวกับบทกวี การได้ดื่มด่ำบทกวีที่ร่ายออกมาเป็นงานศิลปะฝีมือ Lucas Price จึงเป็นความพิเศษที่เราอยากชวนให้คุณมาร่วมชื่นชมให้ได้

PETALS ROOM: จากดอกไม้ของ O Terawat และ Tarida สู่ความงามแห่งความหลากหลาย

“เราทำงานแฟชั่นมาก่อน แฟชั่นคืองานที่สวมใส่วันนั้นและเปลี่ยนได้ในวันนั้น ต่างจากที่อยู่อาศัย เพราะเราต้องอยู่กับมันทุกวัน ถ้าเราอยากทำให้มันฉูดฉาด มันก็ต้องเป็นความฉูดฉาดที่อยู่ด้วยได้จริง ๆ “ นี่คือประโยคที่คุณธีรวัฒน์เริ่มต้นเล่าถึงความท้าทายของการสร้างสรรค์ PETALS ROOM ซึ่งถือว่าหนักหน่วง เนื่องจากผนวกรวมกับความถนัดเดิมที่ชินกับการวาดมากกว่าการออกแบบของที่ต้องใช้ได้จริง

“งานชิ้นนี้เริ่มต้นที่วงกลีบดอกไม้ดอกแรก เพราะมันคือจุดกำเนิดงานสร้างสรรค์ทั้งหมดในห้องนี้”

ดอกไม้ผลิบานเติบใหญ่จากกลีบเล็ก ๆ แบบไหน ก็คล้ายกับว่า PETALS ROOM ของ O Terawat และ Tarida งอกงามจากตรงนั้นเช่นกัน เพราะแม่จะเริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่ถนัดและความท้าทายที่ถาโถม แต่พวกเขาก็มองว่านี่แหละคือความท้าทายว่าเราจะสามารถทำสิ่งที่เราไม่ถนัดให้เป็นตัวเองมากที่สุดได้อย่างไร และผลงานที่ออกมาก็ทำให้เรายอมรับว่าดอกไม้ที่ผลิบายออกมาจากฝีมือของพวกเขาเต็มไปด้วยความน่าหลงใหลจนเราไม่อาจถอนตัว

PETALS ROOM เป็นตัวแทนของหญิงสาวที่ถูกนำมาผสมผสานกับรูปแบบและสุนทรียภาพแนว Oriental Modern ภาพที่เราจะได้เห็นจึงเป็นวงกลีบดอกไม้ ที่ผสมผสาน ทับซ้อน เกาะเกี่ยว ออกมาเป็นรูปร่างแตกต่างหลากหลาย ซึ่งคุณธีรวัฒน์อธิบายว่านี่เป็นการสะท้อนตัวตนความหลากหลายของผู้หญิงหนึ่งคน รวมไปถึงความหลากหลายของกรุงเทพฯ ที่แม้จะเต็มไปด้วยความแตกต่าง แต่ก็ประกอบรวมกันขึ้นมาเป็นความงามอันลงตัวได้

“ถ้าดูใกล้ ๆ จะเห็นว่าบางกลีบมันดูออแกนิค บางกลีบก็ดูร้าย และบางกลีบอ่อนโยน”

ความพิเศษของ PETALS ROOM จึงเป็นประสบการณ์อันแตกต่าง เมื่อเรามองกลีบดอกไม้จากระยะที่แตกต่าง เพราะหากเรามองกลีบดอกไม้ใน PETALS ROOM ใกล้ ๆ ก็จะให้ความรู้สึกใกล้ชิด แต่ถ้าเราถอยห่างออกมาเราจะเห็นความหลากหลายและรายละเอียดยิบย่อยแห่งความเป็นผู้หญิง

“ศิลปะอยู่กับชีวิตคนกรุงเทพฯ เสมอมา บางทีเราก็เสพมันโดยไม่ทันรู้ตัว”

คุณธีรวัฒน์ทิ้งท้ายไว้แบบนั้น พลางชี้ให้ดูภาพวาดวงแขนนางรำที่ถูกนำมาพลิกด้านวางต่อกันแล้วกลายเป็นกลีบดอกไม้ดอกหนึ่ง เพราะศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวันได้ เขาเชื่ออย่างนั้น และเราก็เชื่ออย่างนั้นเช่นกัน โดยเฉพาะศิลปะจากสิ่งรอบตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่งอกงามจนกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยอย่าง PETALS ROOM ทำให้เราเข้าใจเลยว่าศิลปะไม่ได้อยู่ไกลตัวอย่างที่เคยคิด แต่เราอยู่ร่วมกับมันได้

The DUALITY: นิทรรศการที่มากกว่านิทรรศการ

การได้มาดื่มด่ำศิลปะที่นิทรรศการ The DUALITY ใน Life Asoke Hype ครั้งนี้ทำให้เราเต็มอิ่มกับความหมายของศิลปะที่ไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด แต่ศิลปะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราได้อย่างกลมกลืน ในขณะเดียวกันความหมายของกรุงเทพฯ ที่เราอาศัยอยู่เมื่อมองผ่านสายตาของศิลปินแล้วทำให้เราเข้าใจว่าความงามมีอยู่ในทุกที่ ขอเพียงเราใช้เวลามองหา

แต่นอกจาก DOMESTIC VANDALISM และ PETALS ROOM แล้ว ภายในนิทรรศการยังมีงานศิลปะผลงาน Lucas Price และคู่หู O Terawat และ Tarida ให้เราได้ละเลียดและดื่มด่ำจนจุใจ

Outdoor Canvas: ผลงานบนผืนผ้าใบขนาด 7 เมตรที่สูงจนเราตื่นตะลึง แต่ภาพและความหมายชวนให้ดื่มด่ำและตื่นตะลึงยิ่งกว่า ผลงานของ Lucas Price และคู่หู O Terawat และ Tarida ที่ซ่อนความหมายของความเป็นเมืองและคอนเซปต์ The DUALITY ชวนให้ขบคิดอย่างน่าสนใจ

Hyper Real Painting: สำหรับใครที่ติดใจผลงานของ Lucas Price ในแบบสมจริงจากถังดับเพลิงใน DOMESTIC VANDALISM สามารถสานต่ออารมณ์ได้ที่ Smiling Basketball ที่เป็นงาน Hyper Real Painting สุดสมจริง คาดด้วยลายพ่นสเปรย์กราฟิตี้แบบเร็ว ๆ ไว้ลายศิลปินสตรีตอาร์ต บอกเลยว่าพื้นผิวของลูกบาสตรงหน้าจะทำให้เราอ้าปากค้างได้ไม่แพ้ถังดับเพลิง

Bloom Shelf: สัมผัสลวดลายและการผสมผสานของกลีบดอกไม้ ตัวแทนของผู้หญิงที่มีไลฟ์สไตล์แบบ Hype ในด้านหนึ่ง และอีกด้านของชั้นที่จัดแสดงงาน คุณจะพบกับงานเวคเตอร์กราฟฟิคที่ใช้องค์ประกอบหลากหลายของกรุงเทพ แต่ถูกผสมผสานอย่างกลมกลืนจนเป็นดอกไม้ในอีกฟอร์มหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซปต์หลักของ Bangkok Art Biennale ว่า Beyond Bilss ที่สื่อถึงความสุขที่คนไทยเอาศิลปะมาร่วมกับเรื่องใกล้ตัว,ความเชื่อทางสังคมและศาสนา ทำให้เกิด perception ใหม่ๆขึ้นที่สวยงามและมีความหมายที่ซ้อนอยู่อย่างมีชั้นเชิงและน่าสนใจ

Hanging wall art: คอนเซปต์ความงามแบบ DUALITY ของ Lucas Price และคู่หู O Terawat และ Tarida ถูกตีแผ่แบบขยายใหญ่ชัด จนเราตีความและเสพมันได้อย่างราบรื่นมากขึ้นบน Hanging wall art ที่จะทำให้เราเห็นความงามของความย้อนแย้งในสรรพสิ่งอย่างเต็มที่

สำหรับผู้ชายคนไหนที่เคยคิดว่าศิลปะช่างเข้าถึงยาก เราอยากให้ไปสัมผัสนิทรรศการ The DUALITY ด้วยตัวเอง ที่นี่จะทำให้เราเข้าใจคำว่า “นี่คืองานศิลปะที่คนเข้าไปนอนและอยู่อาศัยได้” ของคุณสรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์แบรนด์องค์กรแห่ง AP Thailand

แม้วันนี้เราจะยังไม่ได้ล้มตัวลงนอนบนงานศิลปะ แต่เราก็อยากท้าให้คุณมาล้มตัวอยู่อาศัยในงานศิลปะสักครั้งในชีวิต รับรองว่าประสบการณ์ครั้งนี้จะไม่อาจหาอะไรเทียบ ที่สำคัญ The DUALITY จัดขึ้นในความร่วมมือกับ Bangkok Art Biennale 2018 โดยนิทรรศการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม ที่ HYPE GALLERY (MRT พระราม 9) https://goo.gl/maps/N6SU3hh3NSs 

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line