Life

THE REAL : “กร-มหาดำรงค์กุล” ซาวด์เอนจิเนียร์-สกิลดนตรีสุดจัด ผู้ซัดแทนได้ทุกตำแหน่งในวง COCKTAIL (เว้นแค่นักร้องนำ)

By: JEDDY August 27, 2022

ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้? คงไม่จริงเสมอไป!

พิสูจน์ได้จาก The Real ประจำสัปดาห์นี้ กับ “กร-มหาดำรงค์กุล” ซาวด์เอนจิเนียร์เจ้าของห้องอัดสุดเจ๋ง Axis Studio ที่นอกจะช่ำชองสกิลการเนรมิตซาวด์ของดนตรี เขายังเป็นคนที่พกสกิลสุดโหดในการเล่นดนตรี ด้วยการที่สามารถแทนได้ทุกตำแหน่งในวง Cocktail ยกเว้นแค่ร้องนำ

“กร” เป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงได้รับความไว้วางใจจากวงร็อกระดับประเทศ ตัวตนของเขาอยู่ที่นี่ มาทำความรู้จักผู้ชายคนนี้ไปพร้อม ๆ กันครับ


คลุกคลีกับดนตรีตั้งแต่เด็ก

ว่ากันว่าชีวิตวัยเด็กของทุกคนมักจะได้รับอิทธิพลจากพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้านเสมอ คุณกรก็เช่นกัน เพราะเขาได้ซึมซับเสียงดนตรีมาตั้งแต่วัยเด็ก ได้มีโอกาสเห็นคุณพ่อเล่นดนตรีคัฟเวอร์ผลงานเพลงของวง CCR, Santana หรือ The Beatles เป็นต้น 

อยู่มาวันหนึ่งในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 คุณกรก็ได้จับกีตาร์เล่นครั้งแรก โดยมีคุณพ่อที่ช่วยสอนและให้คำแนะนำเล็ก ๆ น้อย จนได้วิธีมาต่อยอดในการฝึกซ้อมเอง หลังจากที่ฝึกกีตาร์ได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มมาหัดตีกลองจนสามารถจับจังหวะได้ ก่อนจะต่อยอดมาหัดเล่นเบส

“เครื่องดนตรีหลักคือกีตาร์ ผมก็เล่นมาเรื่อย ๆ ทั้งกีตาร์ไฟฟ้า กีตาร์โปร่ง ตีคอร์ดทั่วไป หรือแกะโซโล่ พอกีตาร์ได้แล้ว เราก็คิดว่าเบสก็น่าจะพอได้ มันก็ไม่ได้แบบยากมากขนาดนั้น เราก็ลองฝึกเล่นดู”

แม้ว่าคุณกรจะไม่ได้เรียนทางดนตรีแบบสายตรง เพราะไปเรียนจบ BBA บริหารธุรกิจอินเตอร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล แต่เขาก็มีความมุมานะกับเส้นทางดนตรีมาโดยตลอด เคยได้มีโอกาสฟอร์มวงในช่วงมัธยม โดยมี “ฟิลิปส์” มือกลองคนปัจจุบันของวง Cocktail เป็นสมาชิกวงด้วย แต่ไม่ประสบความเร็จมากเท่าที่ควร


เติบโตด้วยการทำงานเบื้องหลัง

นอกจากจะได้เรียนรู้ฉากหน้าของการเล่นดนตรีแล้ว คุณกรยังได้ศึกษาเรื่องของกระบวนการอัดเพลงมาตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งคงมีคนไม่มากที่จะสนใจเรื่องแบบนี้ทั้ง ๆ ที่อายุยังน้อย

“สมัยก่อนคุณพ่อมีเทปรีล (เครื่องอัดเสียงแบบเทปแทบแม่เหล็ก) อยู่บนหัว เราก็ไปกดอัดเล่น ๆ แล้วมันก็มี มิกเซอร์อีกตัวหนึ่ง เราก็เอามาลองอัดตอนซ้อมดู พอเอามาฟังก็แบบ เออ ฟังได้นี่หว่า เจ๋งดีนะ ผมก็เล่นมาเรื่อย ๆ หลังจากนั้นคุณพ่อก็ซื้อตัวอัดเพลงแบบ Multitrack แบบ 16 Channels มาให้ สมัยก่อนที่ยังไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์อัดเพลงกัน

พอเริ่มโตมาก็ได้รู้จักกับพี่ ๆ ที่ ‘กมล สตูดิโอ’ (ห้องอัดของ Bakery Music) ก็ได้สอบถามเขา ขอความรู้เขาบ้างนิดหน่อย ดูจากที่พวกพี่ ๆ เขาทำ เช่น ตรงนี้ต้องปรับอย่างไร เวลา Record ต้องมีขั้นตอนไหนบ้าง ได้เรียนรู้ว่าอุปกรณ์แต่ละอย่างใช้งานอย่างไร เหมือนเราเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ในช่วงที่คลุกคลีอยู่ที่นั่นครับ”


ต่อยอดสู่การสร้าง AXIS STUDIO

พอเจอแนวทางที่ชื่นชอบ ก็ถึงเวลาต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจห้องอัดเสียง จึงเกิดเป็น Axis Studio ที่เนรมิตพื้นที่บ้านย่านพระราม 3 ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ให้กลายเป็นห้องอัดสำหรับเครื่องดนตรีทุกชิ้น รวมไปถึงขั้นตอนการ Edit, Mix และ Master ที่คุณกรก็รับหน้าที่ทำมันด้วยตัวเอง 

ห้องอัดแห่งนี้ต้อนรับศิลปินมากฝีมือมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Cocktail, Three Man Down, Tilly Birds, Taitosmith, Milli และ The Darkest Romance เป็นต้น ซึ่งการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในห้อง คุณกรยังลงมือทำด้วยตัวเองกับคนที่บ้าน รวมถึงคอยหาซื้อเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ตามยุคตามสมัยมากที่สุด ซึ่งรวม ๆ ก็ไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้เลย


ความหมายสำคัญของซาวด์เอนจิเนียร์

“ขอแยกแล้วกัน ขอพูดทางด้าน Studio เพราะผมไม่ได้เชี่ยวชาญที่จะเป็นซาวด์แบบแสดงสด งานทางด้านสตูดิโอ ผมมองว่า เราทำอย่างไรก็ได้ให้ศิลปินสื่อ ‘Message’ ออกมาได้ดีที่สุด คือการที่พวกเขาจะทำดนตรีชิ้นหนึ่งขึ้นมา เราต้องดูองค์ประกอบทุกอย่างให้มันถูกต้อง ต้องคิดว่าสีสันมันควรจะเป็นแบบไหน

เช่นกลอง ควรใช้กลองแบบไหน ชุดไหน ไมค์ประเภทอะไร ที่เหมาะกับดนตรีแบบนี้ ที่มันควรจะออกมาเป็น ฟีลลิ่งนี้ เราก็มาคุยกันหน้างานกับศิลปินเลยว่าอยากได้แบบไหน ถ้าเขาอยากได้แบบนี้เราจัดหาได้ไหม มันคือการทำให้สีสันออกมาถูกต้องตามที่เขาต้องการ”

 

อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญคือองค์ประกอบของซาวด์ ทางคุณกรได้ขยายความให้ฟังว่า

“เรามองเรื่องไปยังเรื่องมิติให้มันฟังแล้วได้ยินชัดเจน มีความเคลียร์ แต่แค่ต้องมองว่าสัดส่วนตื้นลึกหนาบางจะวางตรงไหนให้เหมาะกับแต่ละเครื่องดนตรี ในแต่ละพาร์ตของเพลง เอาให้ฟังแล้วมันเหมาะกับสไตล์ของวงด้วย แล้วก็สไตล์ตัวเพลง

การทำซาวด์ถ้าเอาแบบต่ำ ๆ ก็ต้องฟังประมาณ 30-40 รอบ เพราะว่าเราต้องทำไม่ใช่แค่พาร์ตของมิกซ์มาสเตอร์ มันมีพาร์ต Edit ด้วย ก็ต้องใช้เวลากับมันนิดหน่อยครับ

แผงควบคุมก็สำคัญมาก ผมมองว่ามันเป็น System ที่เราใช้งานแล้วต้องไม่มีปัญหา ทำให้เราสะดวกที่สุดในเวลาทำงาน เพราะว่าบางอย่างมันขาดได้ บางอย่างมันขาดไม่ได้ เราก็ต้องเลือกเอาว่าอันไหนเป็นส่วนสำคัญ เราต้องมาดูว่าต้องใช้ Tool อะไรบ้าง”


UNLOCK สกิลการเล่นดนตรี

ในฐานะผู้เติมเต็มทุกตำแหน่งในวง COCKTAIL

(ยกเว้นร้องนำ)

แม้จะใช้ชีวิตในฐานะเบื้องหลังซะมากกว่า แต่แล้วคุณกรก็ได้มีโอกาสกลับไปทำงานเบื้องหน้าอีกครั้งในฐานะแบ็คอัพคนสำคัญของวง Cocktail ที่สามารถเล่นแทนได้ทุกตำแหน่งทั้งกีตาร์, เบส และกลอง ยกเว้นตำแหน่งนักร้องนำ ในวันไหนที่สมาชิกวงหลักเกิดเหตุสุดวิสัยไม่สามารถขึ้นเล่นโชว์ได้ ทางวงจะต้องติดต่อให้คุณกรไปประจำตำแหน่งแทนเสมอมา นั่นทำให้เราได้มีโอกาสเห็นบุคคลหน้าไม่คุ้นไปปรากฏตัวร่วมโชว์กับวง Cocktail อยู่บ่อยครั้ง

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้รู้จักกับวง Cocktail คือพี่ชายผมเป็นเพื่อนกับพี่โอม พี่ผมก็แนะนำ Axis Studio กับพี่โอมไป ให้ลองเข้ามาดู หลังจากนั้นก็ได้มาร่วมงานกันครับ 

แต่ในช่วงแรก ๆ ผมไปดูเขาทำงานในห้องอัดที่อื่นมาก่อน ส่วนอัลบั้มที่ได้ทำงานจริง ๆ คือ ‘The Memory of Summer Romance’ ที่มีเพลง ‘อาจเพราะ’ อยู่ในอัลบั้ม แล้วก็ได้ทำงานตั้งแต่อัลบั้มนั้นเป็นต้นมาเลย จนถึงปัจจุบัน รวม ๆ แล้วก็ประมาณเกือบ ๆ 20 ปีได้ครับ”

ภาพจากแฟนเพจวง Cocktail

และด้วยความผูกพันธ์กับวง รวมไปถึงคุ้นเคยกับทุกเพลงของ Cocktail เป็นอย่างดี คุณกรจึงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่แทนสมาชิกวง

“ตอนนั้นมันเป็นช่วงคับขัน มันคือสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางวงถามเรามาว่า ‘ลองดูไหม?’ ตอนนั้นมีสมาชิกในวงป่วย เราก็เลยลองดูแล้วกัน ถ้าทางวงโอเคเดี๋ยวเราก็ลองซ้อมดู ลองทวนดู 

คือรายละเอียดในเพลง เราพอจำได้อยู่แล้วเพราะเราทำงานมานาน เราบันทึกเสียงมากับมือ เราอยู่กับเพลงมาเกือบตลอด แต่การที่จะต้องไปเล่นไปเพอร์ฟอร์มบนเวที เราก็ต้องทวน ต้องฝึกเยอะมากเหมือนกันด้วยและจุดสำคัญเลย เราเป็นคนเบื้องหลังมาตลอด พอเราต้องไปอยู่เบื้องหน้า เราต้องเอนเตอร์เทนคนดูให้ได้ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ได้เก่งขนาดนั้น ก็ต้องฝึกนิดนึงครับ”

การเข้าใจวิธีการเล่นและธรรมชาติของทุกเครื่องดนตรียังมีผลต่อการทำงานซาวด์เอนจิเนียร์ด้วยเช่นกัน

“ถ้ามองในมุมมองที่ผมเป็นซาวด์เอนจิเนียร์ ผมมองว่ามันสำคัญนะ เพราะเราจะได้เข้าใจในเครื่องดนตรีแต่ละอย่างได้ชัดเจนที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพราะบางทีการอัดอะไรต่าง ๆ 

ถ้าเราไม่เข้าใจในตัวเครื่องมัน ก็อาจจะทำงานได้ยากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าทำงานไม่ได้นะ คือทำงานได้ แต่ถ้าเราเล่นเป็นทุกชิ้น เราก็จะแนะนำเขาได้ว่าลองแบบนี้ไหม หรือว่าลองปรับแบบนี้ไหม”


การเตรียมตัวก่อนโชว์ในเวลาที่จำกัด

“ตอนนั้นที่ไปเล่นแทนพี่เชา ตำแหน่งกีตาร์ ตอนนั้นรู้ว่าต้องเล่นก็ประมาณช่วงบ่ายแล้วมั้งครับ แล้วก็ซ้อมตอนกลางคืนเลย เบสก็เหมือนกัน รู้ก่อนล่วงหน้าประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วก็ไปซ้อมเลย สถานการณ์มันคับขันนิดนึง พอจะเล่นจริงเราก็จะมีเวลาเตรียมตัวอีกประมาณ 3-4 วัน แล้วก็เล่นเลย อย่างเล่นแทนพี่เชาคืองานเปิดอัลบั้ม แล้วก็งานอื่นอีกเล็กน้อยที่ติดกัน 

ถ้าถามว่าอันไหนที่เรารู้สึกว่าเล่นยากที่สุดใน 3 ตำแหน่ง เรามองว่ากีตาร์ เพราะว่าตัวเมโลดี้ ดีเทลต่าง ๆ มันเยอะมาก แล้วก็เราต้องพยายามเล่นให้ได้ค่อนข้างโอเค คือต้องฝึกเยอะนิดหนึ่ง แล้ว ณ เวลานั้น มันค่อนข้างคับขัน มันต้องทวนตลอดเวลาเลย ระหว่างก่อนที่จะขึ้นไปเล่นก็ต้องทวนเหมือนกัน

แต่ว่าสิ่งสำคัญเลยคือเราต้องฟังสำเนียงออริจินัลก่อน คือตอนเราเล่นมันอาจจะผิดสำเนียงไปบ้าง เราไม่ได้เล่นได้เป๊ะขนาดนั้นหรอก แต่อย่างน้อยก็ทำให้ตัววงมันไปได้ หมายถึงว่าไปทั้งหมด ให้โชว์มันสามารถ Go on ได้ครับ”

สิ่งที่คุณกรเล่ามาไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด แม้จะคุ้นเคยกับเพลงของ Cocktail เป็นอย่างดี การมีเวลาซ้อมและเตรียมตัวแบบจำกัดมาก แต่สามารถออกไปเล่นได้อย่างไม่เคอะเขินกับบทเพลงนับ 10 ในเวลา 1 ชั่วโมง มันบ่งบอกความสามารถและสกิลสุดโหดของผู้ชายคนนี้ได้เป็นอย่างดี 


ข้อคิดฝากถึงซาวด์เอนจิเนียร์รุ่นใหม่

“ถ้าใครอยากทำก็เริ่มได้เลยนะครับ เริ่มจากซื้ออุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อที่จะลองทำดู เพราะยุคนี้มันง่ายขึ้นแล้ว ง่ายขึ้นมาก เราไม่ต้องมีอุปกรณ์ราคาสูงมาก ๆ แต่การมีอุปกรณ์ที่ดีก็เป็นตัวช่วยที่สำคัญมากเหมือนกัน ในการที่จะทำให้ได้เสียงคุณภาพดีจริง ๆ แต่ถ้าสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น ก็เริ่มจากอะไรทีย่อมเยาดีกว่าครับ”


ใครที่สนใจอยากใช้ห้องอัดคุณภาพดี ๆ จบด้วยกระบวนการมิกซ์และมาสเตอร์ สามารถติดต่อสอบถามแฟนเพจ : Axis Studio ได้โดยตรงเลยครับ ทั้งนี้ทาง Unlockmen ต้องขอบคุณคุณกร ที่อำนวยความสะดวกเปิดบ้านตอนรับพวกเราให้ได้เข้าไปทำความรู้จักด้วยครับ

ติดตามคลิปสัมภาษณ์คุณกรได้ทางแฟนเพจ Unlockmen เร็ว ๆ นี้

Photographer : Krittapas Suttikittibut

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line