Life

THE REAL : พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ การเผยแผ่ธรรมะที่ต้องไม่ได้แค่บุญแต่ต้องเกื้อหนุนสติปัญญา

By: JEDDY December 2, 2021

ภาพจำของการฟังเทศน์ฟังธรรมในวัดโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นคงจะนึกถึงความน่าเบื่อชวนง่วง แลดูเป็นกิจกรรมของผู้สูงอายุ

แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับการฟังธรรมะที่ผ่านออกมาจากความครีเอทีฟของพระมหาไพรวัลย์ การดึงศัพท์แปลกใหม่ในโลกของโซเชียล มีเดีย มาปรับใช้ให้เข้ากับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนเกิดเป็นกระแสที่พูดถึงในวงกว้างโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่หันมาสนใจศาสนามากขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น และได้เปลี่ยนจากการฟังเทศน์ที่ต้องเข้าวัดเป็นมาเป็นในแฟนเพจผ่านการ Live แทน

อะไรที่ทำให้พระมหาไพรวัลย์ทำได้ขนาดนี้ UNLOCKMEN มีคำตอบมาให้แล้วครับ สภาพ!


จุดเริ่มต้นของการห่มจีวร

“จริง ๆ ต้องบอกว่าเริ่มต้นตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นจบจากประถม วิธีการแบบคนชนบทสมัยก่อน ถ้าเขาไม่มีเงินที่จะส่งลูกเรียนต่อในระดับมัธยมหรือระดับอุมศึกษา เขาก็จะให้ลูกบวช คนสมัยก่อนเขาจะเรียกว่า ‘บวชเรียน’ ก็เลยเข้าสู่การบรรพชาเป็นเณรตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงทุกวันนี้”

“แล้วตอนแรกไม่ได้เคยคิดเลยว่าจะบวชมานานขนาดนี้ อาตมาคิดว่าปกติพระหรือเณร 100 รูป จะมีซัก 90 รูป ที่ไม่ได้คิดว่าจะบวชยาว

พระเณรส่วนใหญ่บวชเพื่อศึกษาในช่วงหนึ่ง ตอนนี้มันมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ มาบวชกันแล้วก็ได้เรียน เรียนจบก็สึกออกไปหางานทำกัน อาตมาก็เป็นหนึ่งในนั้น ไม่ได้คิดเลยว่าจะอยู่ยาวขนาดนี้ ก็คิดว่าเรียนไปเรื่อย ๆ

ตอนเด็ก ๆ มันก็เรียนไปไม่ได้คิดอะไร แม่บอกให้มาบวชเราก็บวช แม่ก็กำชับมาว่าให้ตั้งใจเรียน เราก็เรียน หน้าที่มีแค่นั้นเอง หลักสูตรคณะสงฆ์มันตั้ง 8 ปี เรียนนักธรรม-บาลี แล้ว 8 ปีมันก็เป็นช่วงวัยของมันพอดีเลย ตั้งแต่อายุ 12 พอเรียน 8 ปี ก็อายุ 20 ก็ต้องบวชพระต่อ มันก็เลยยาวเป็นทอด ๆ กันมา”


แรงบันดาลใจในการสอนธรรมมะแบบโมเดิร์น

“อาจจะเป็นเพราะตัวเราด้วยนะ อุปนิสัยเรามันเป็นคนชอบอะไรที่มันทันสมัย เราเป็นคนที่ชอบอยู่กับสังคม อะไรที่มันเป็นกระแส เป็นเทรนด์ เราจะทันทั้งหมด

สมัยก่อนไม่มีโซเชียลเนตเวิร์ก แต่พอมายุคสมัยใหม่มันจะมีมาให้เห็นตั้งแต่ Hi5  ดังนั้นเราก็จะชอบอะไรที่มันเป็นกระแสในสังคม แล้วเราก็เอาเรื่องที่มันเป็นกระแสนี่แหละมาพูด

มีหลายคนบอกว่าอาตมาเป็นนักสื่อสารก็คงจริงอย่างที่เขาพูด เพราะเราเป็นคนชอบสื่อสารกับคน ชอบเอาความเป็นสมัยใหม่มาสอนคน เหมือนกับพยายามจะคุยกับคนอื่นให้รู้เรื่อง เอาธรรมะกับความเป็นเทรนด์มาถ่ายทอด มาพูด มันก็เลยกลายเป็นตัวตนของเราที่มันเป็นแบบนี้”


จุดกำเนิดสไตล์การเทศน์ที่แตกต่าง

“ถ้าถามว่าพระอาจารย์พยอม พระอาจารย์สมปอง เป็นแรงบันดาลใจด้วยไหม ก็ส่วนหนึ่ง แต่ท่านก็ไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจทั้งหมด

เรารู้สึกว่าสังคมสงฆ์ พระที่ทำงานทางด้านการเผยแผ่แล้วเป็นที่ยอมรับมันมีน้อยมาก แทบจะนับได้เลยว่ามีใครบ้างที่เทศน์หรือพูดอะไรแล้วคนในสังคมสนใจ ยุคนั้นก็จะมีพระอาจารย์พยอมที่เป็นยุคเก่าเลย พระมหาสมปองนี่ก็ยุคหลังแล้ว แล้วเวลาเราจะทำงานทางด้านเผยแผ่เราก็ต้องไปดูรุ่นพี่คือสมัยก่อนก็อยากเป็นแบบพวกท่านแหละ

แต่ว่าพอเราได้ทำงานจริง ๆ เราถึงรู้ว่ามันเป็นไม่ได้ เราไม่สามารถเป็นพระพยอมได้ เราไม่สามารถเป็นพระมหาสมปองได้ ในที่สุดแล้วเราก็ต้องมีสไตล์ที่เป็นตัวเรา แต่สไตล์ของเราอาจจะผสมเล็กผสมน้อยมาจากคาแร็กเตอร์และวิธีการของพระรูปอื่น ๆ ที่เขาเคยทำหรือเรียกว่า ‘ไอดอล’ นั่นแหละ”


ความคาดหวังในการเปลี่ยนแปลงสังคม

“ไม่เคยคิดว่ามันจะเปลี่ยนได้มากได้น้อย ไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย

ที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้คิดว่ามันจะไปเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ทำเพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่อยากทำ อยากใช้พื้นที่ของตัวเองในการพูดคุยสื่อสารมากกว่า มองแค่เป็นเรื่องของตัวเองในการสร้างพื้นที่พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ในรูปแบบของเราอย่างไรมากกว่า

แต่ไม่ได้คิดในระดับที่เป็นเรื่องใหญ่ว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมวงกว้าง ไม่เคยคิดเลย”


การส่งต่อแรงบันดาลใจ

“รู้สึกดี รู้สึกดีว่าสิ่งที่เราทำมันไม่สูญเปล่า มันมีประโยชน์

แน่นอนทุกคนใครก็ตามที่ทำคอนเทนต์ เขาก็ต้องอยากให้คนที่มาเห็นชื่นชอบสนใจคอนเทนต์ และได้อะไรบางอย่างกลับไป ถือว่ามันเป็นกำไรแล้วกันนะ แต่ว่าของเรามันอาจไม่ถึงกับการสร้างคอนเทนต์ แต่มันเป็นรูปแบบของเรา ถ้าเราทำแล้วรู้สึกว่าเราได้รับการตอบรับที่ดี มันมีกลุ่มคนฟัง มันมีคนเข้าถึง มันมี FC มันมีกลุ่มแฟนคลับ มีแม่ยก (หัวเราะ) มันก็เป็นเรื่องดี มันเป็นการสร้างเครือข่าย แล้วเครือข่ายนั้นมันก็สามารถเอาไปสร้างเป็นเรื่องดี ๆ ให้สังคมได้เยอะแยะเลย

อย่างที่อาตมาทำจะว่ามันไม่มีประโยชน์ก็ไม่ได้นะ เพจ ๆ หนึ่งคนตามตั้ง 2 ล้านกว่าคน เราสามารถดึงญาติโยมเหล่านั้นมาร่วมทำกิจกรรมอะไรบางอย่างที่เราอยากจะให้เขามีส่วนร่วม เอามาช่วยพระเณรได้เรียนหนังสือ ช่วยน้ำท่วม แล้วพวกเขาก็ยินดีที่จะช่วยซัพพอร์ตเรา

แต่ในส่วนที่เป็นอะไรมากกว่านั้นถึงขั้นว่าไปเปลี่ยนความคิดของเขา ไปสร้างแรงบันดาลใจได้เราก็รู้สึกดีมาก แต่ไม่อยากให้ใครมาคาดหวังในตัวอาตมานะ”


รูปแบบการนำเสนอธรรมะในอนาคต

“เป็นเรื่องของอนาคตเลย เรื่องการเผยแผ่เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ควบคู่ไปด้วยกันอยู่แล้ว มันคือการเรียนรู้บริบทของสังคม อย่างที่อาตมาไป Live แล้วคนดูเยอะ มันมาจากที่เราไปเรียนรู้บริบทของสังคมออนไลน์ในตอนนั้นว่าเขามีคำพูดคำจาแบบนี้นะ มีเทรนด์แบบนี้นะ เขาติดตามเพจนี้กันนะ แล้วเขามีคำพูด มีศัพท์เฉพาะ เราก็ไปหยิบตรงนั้นมาใช้ ซึ่งมันก็เป็นส่วนของช่วงเวลานั้น ๆ  

แต่ถ้าอนาคตข้างหน้าแบบนี้มันอาจจะเอาต์ไปแล้ว คนอาจจะไม่เรียก พส.อาจจะเชยไป ก็ต้องหาอะไรที่มันเป็นเรื่องใหม่มาประยุกต์ใช้กับการเผยแผ่ธรรมะของเรา ให้รู้สึกว่าธรรมะของเรามันไม่เอาต์นะ”

“อย่างรายการธรรมะ Delivery ของพระมหาสมปองเคยเป็นเทรนด์มากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ทำไมยุคนี้พระมหาสมปองถึงยังอยู่ได้  เพราะท่านไม่ยอมตกเทรนด์ ท่านเรียนรู้ที่จะลุกมา Live กับอาตมา เปลี่ยนเทคนิค จนทำให้ท่านก็เป็นที่พูดถึงในนามของพส.อีกรูปหนึ่ง เพราะถ้าท่านใช้วิธีการแบบเดิมมันก็จะหายไป ฉะนั้นมันแล้วแต่บริบทของช่วงเวลานั้นด้วย”

“และนอกจากปรับตัวแล้ว อาตมาคิดว่าจะต้องเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ต้องเข้าใจวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ เข้าใจการให้คุณค่า ซึ่งมันไม่เหมือนกัน

อย่างในยุครุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เขาเข้าวัด เขาก็ไม่ได้ต้องการอะไรมาก เขาเข้าวัดไปฟังเทศน์ฟังธรรม เขาอาจจะต้องการแค่บุญ พอเขารู้สึกว่าเขาอิ่มกับบุญเขาก็กลับบ้าน

แต่กับเด็กรุ่นใหม่เขาไม่ได้ต้องการบุญ เขาต้องการปัญญา เขาต้องการแง่คิดที่มันจะไปทำให้เขามีความเข้มแข็งและไปทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ฉะนั้น เราก็ต้องให้สิ่งที่ตรงกับความต้องการของคนที่มันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยด้วย”


แก่นแท้ของพุทธศาสนา

“อาตมาอยากให้มองศาสนาในแบบที่พระพุทธเจ้าท่านอยากให้มอง ก็คือมองศาสนาเป็นเครื่องมืออะไรบางอย่างที่เราเข้าไปยึดถือแล้วทำให้เราตื่นรู้และเบิกบานในทางปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้ามุ่งเน้นในด้านนี้”

“พุทธ แปลว่า ตื่นรู้ เพราะฉะนั้นศาสนาของท่านคือศาสนาของผู้ตื่นรู้ ตื่นรู้จากการใช้การปัญญาขบคิด ใช้ชีวิตแบบมีเหตุผล ตรรกะที่ดีในการที่จะไม่ไปเชื่อ ไปหลง ไปทำอะไรที่มันไม่ต้องขบคิดก่อนทำ อาตมาอยากให้ศาสนาเป็นแบบนั้น ให้คนพูดถึงศาสนาในทางที่มีเหตุผลนะ ศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ จะมีความเป็นเหตุเป็นผล ให้รู้สึกว่าศาสนาพิสูจน์ได้ คุยได้ มีความเป็นกันเอง”


ชาวพุทธในไทยกับการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

“ถามว่ามันเป็นเรื่องปกติไหมที่มันจะมีกลุ่มคนเหล่านั้นอยู่ มันเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าในทางศาสนาเอง พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้ชัดเจนว่ากลุ่มคนแต่ละคนเปรียบเหมือนบัวสามเหล่า ฉะนั้นอินทรีย์ของคนมันต่างกัน สติปัญญา วิธีคิด วิธีมองของคนมันต่างกัน

แต่ถ้าพูดถึงความคาดหวังที่อาตมาอยากให้เป็น คืออยากให้คนมีความเข้มแข็งจนถึงขนาดว่าไม่ต้องไปพึ่งสิ่งเหล่านั้นแล้ว เขาไม่ต้องไปพึ่งพร ไม่ต้องไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต้องไปพึ่งการกราบไหว้ แต่ให้เขากลับมาพึ่งตัวเองได้ ให้เขานับถือศาสนาแล้วหันกลับมามองเห็นศักยภาพของตัวเอง

พระพุทธเจ้าสอนทุกคนก็เพื่อเรื่องแบบนี้ โดยสุดท้ายแล้วสิ่งที่ลงมือทำมันจะกลับมาหาตัวเองได้”


การบวชพระจำเป็นต้องบรรลุเป็นพระอรหันต์ ?

“มันขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของแต่ละคน แต่ว่าถ้าเป็นสมัยพุทธกาลมันก็ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะว่าพระพุทธเจ้าออกบวชเพื่อต้องการแสวงหาโมกษะเพื่อความหลุดพ้น ความพ้นจากกิเลส

แต่ว่าความหลุดพ้นมันมีหลายอย่าง ต่อให้ไม่ต้องเป็นถึงพระอรหันต์แต่ไปพ้นแบบทีละนิดทีละหน่อยมันก็ได้ พระทุกรูปไม่ใช่บวชแล้วเป็นพระอรหันต์หมด แต่บวชแล้วทำอย่างไรก็ได้ที่จะพยายามเอาตัวเองให้ออกมาจากความทุกข์ได้มากที่สุด มันก็เป็นความหลุดพ้นเหมือนกัน”


ศาสนาควรมีสิทธิ์เลือกเอง

“ใครสักคนจะนับถือศาสนามันต้องมาจากเจตจำนง ศาสนาที่นับถือเพียงเพราะว่ามาจากวงศ์ตระกูล มาจากบัตรประชาชน มันไม่มีประโยชน์

บางคนเป็นศาสนิกของศาสนานั้น แต่อาจจะไม่ปฏิบัติตามหลักของศาสนานั้นเลยก็ได้ เหมือนคนพุทธทั่วไปที่บอกว่าตัวเองเป็นคนพุทธ แต่หลายคนไม่มีความเป็นพุทธในตัวเองเลย หลายคนเอาใจออกห่างจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ไปทำอะไรในแบบที่พระพุทธเจ้าห้าม เพราะฉะนั้น ไม่มีประโยชน์”


ประเพณีบวชทดแทนคุณและจัดงานรื่นเริง

“อันนี้เป็นค่านิยมที่โบราณมากนะ คือสามารถบวชได้ แต่ต้องเป็นความสมัครใจของคนที่บวช การบวชมันไม่ควรบังคับ แล้วบวชตามประเพณีบางทีไม่ได้อะไรเลย ไปบวชกันทีจัดงานสองวันสามวัน หมดเงินไปหลายแสน แต่บวชแค่ 7 วัน ท่องมนต์ยังไม่ได้เลย ห่มผ้ายังไม่ทันถูก บาตรยังไม่ทันเก่าเลย สึกแล้ว มันไม่ได้อะไร

บวชมันเป็นเรื่องดี แต่ขอให้เป็นประสงค์ของคนที่อยากจะบวชเอง ให้เขาได้บวชเอง อย่างน้อยได้มีเวลาเข้าวัดซัก 15 วัน ได้ปฏิบัติธรรม มันก็จะได้บุญ”

“ส่วนการจัดพิธีบวช มันควรจะเรียบง่ายเลย พระพุทธเจ้าบวชมีม้าแค่ตัวเดียวเอง (หัวเราะ) ”

“สมัยก่อนบวชนี่ง่ายมากเลย ให้มันไม่มีอะไรที่มันเป็นเรื่องต้องห้ามในทางพระธรรมวินัย ทำให้มันถูกต้อง มีอัฐบริขาร ผู้ปกครองอนุญาต ไม่ได้เป็นหนี้เป็นสินใคร ไม่ได้ก่อคดีความอะไร เท่านี้ก็บวชได้แล้ว ที่เหลือมันเป็นของเสริม สมัยพระพุทธเจ้าก็ไม่มีหรอกพวกรถแห่ (หัวเราะ)”


หลักธรรมรับมือกับกระแสต่อต้าน

“ใช้หลักโลกธรรม พยายามสอนตัวเองอยู่ว่าอยู่บนโลก เราต้องเข้าใจหลักนี้

หลักโลกธรรมก็คืออะไรที่มันเป็นของคู่กันในทางที่เราชอบและไม่ชอบ ซึ่งมันมีอยู่โดยปกติทั่วไป มีคนนินทา มีคนสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ พระพุทธเจ้าพูดเรื่องนี้ไว้ชัดเจนเลยในหลักโลกธรรม ท่านก็ยังเคยถูกนินทา ทำดีแสนดี คนก็ยังไปจ้างให้คนไปยืนด่าตอนบิณฑบาต

ต่อให้คุณทำดีแค่ไหน คุณก็ต้องเจอโลกธรรม มันเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้น คุณต้องตอบตัวเองแล้วแหละว่าคุณจะอยู่เพื่ออะไร จะไปตามตอบโต้คนที่ด่าคุณ บั่นทอนกำลังใจคุณ หรือคุณจะเอาเวลาที่มีไปพัฒนาตัวเอง ไปทำสิ่งที่มันมีประโยชน์มากขึ้น เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องปกติมาก”


ทำดีไม่ได้ดี ทำเลวกลับได้ดี

“มันก็อยู่ที่ว่าคุณเอาคำว่าดีไปผูกกับอะไร ถ้าคุณเอาคำว่าดีไปผูกกับความดีที่แท้จริง หรือคุณเอาไปผูกไว้กับยศตำแหน่ง ชื่อเสียง ความมีหน้ามีตา สิ่งเหล่านี้มันเป็นของจอมปลอมที่มันอยู่ข้างนอก

ทุกวันนี้คนตัดสินว่าดีหรือไม่ดีก็ไปดูว่าตำแหน่งอะไร ตำแหน่งมันเจริญจังเลย ถามว่ามันของแท้หรือเปล่า มันก็ไม่ใช่ มันเป็นของปลอม มันอยู่ไม่นาน มันอยู่ท่ามกลางการสาปแช่งของคน กินก็ไม่อิ่ม นอนก็ไม่หลับ เพราะมันไม่รู้ว่าตำรวจจะมาจับมันวันไหน เงินที่ได้มามันก็ทุจริตเขามา หากินแบบไม่มีสัมมาชีพ อาตมาว่ามันไม่คุ้มหรอก

ความดีมันต้องเป็นความดีด้วยตัวของมันเอง ทำดียังไงก็ได้ดี ดีโดยตัวของเราเองที่เป็นคนดี สิ่งที่เราทำมันก็แสดงออกมาทางคำพูดคำจาของเรา เป็นคนดีก็พูดสิ่งที่ดี ทำก็ทำแต่สิ่งที่ดีไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับใครหรือแม้แต่ตัวเอง เพราะมันก็คือความดี”

“อาตมาว่าของดียังไงมันก็คือของดี ของดีจะกลายเป็นของไม่ดีมันเป็นไปไม่ได้หรอก อาตมายังเชื่ออยู่ว่ายังไงธรรมะมันก็ต้องดีกว่าอธรรมอยู่แล้ว”


แก่นแท้ของศีล 5

“ศีล 5 มันเป็นหลักธรรมพื้นฐานของการดำเนินชีวิต มันสอนให้เราเคารพคนอื่นพอ ๆ กับที่เราต้องเคารพตัวเราเอง

แต่ศีลข้อ 1 มันไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องการฆ่าเพียงอย่างเดียวนะ แต่พูดถึงเรื่องการเบียดเบียนว่าอย่ามากเกินไป อย่าเอารัดเอาเปรียบหรือข่มเหงรังแกคนอื่น หรือแม้แต่สัตว์อื่น พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามการกิน มนุษย์ไม่ใช่วัวใช่ควายที่จะกินหญ้า มันก็ต้องทำเรื่องที่ปาณาติบาตบ้างบางครั้ง แต่ศีลข้อ 1 มันสอนมากกว่านั้น มันสอนว่าเราจะไม่กินถึงขนาดที่ว่าฆ่ากันจนกินเหลือกินทิ้ง มันคนละอย่างกัน

ฉะนั้น ถ้าเรามีความรักต่อคนอื่นเพียงข้อเดียว เราจะรักษาศีลได้ครบทุกข้อ หัวใจของศีล 5 มันสอนให้เรามีความรักในคนอื่น แต่รักคนอื่นก็ต้องไม่ขโมยของเขา เราต้องมีความสงสารเขา ไม่อยากได้ทรัพย์ของเขา ไม่ไปแย่งชิงของรักของเขา คนรักของเขา รักคนอื่นก็จะไม่ไปมุสามุ่งประโยชน์จากใคร แล้วคนอื่นก็ไม่ไปดื่มเหล้าเมายาที่จะไปเดือดร้อนคนอื่น”

“ส่วนศีลข้อ 5 ในสมัยพุทธกาลมีพระขี้เมาเยอะแยะ พระราชาสมัยก่อนที่จะบรรลุธรรมก็ขี้เมาทั้งนั้น ดื่มน้ำจัณฑ์ทุกคน ขี้เมามันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ส่วนสำคัญของศีลข้อ 5 มันคือสติ การดื่มจนไม่มีสติแล้วความขาดสตินั้นมันไปก่อความเดือดร้อนให้คนอื่น เมาแล้วไปชนคนตาย ทำร้ายคนอื่น นำความเดือดร้อนมาให้ครอบครัวมันก็ไม่ใช่ไง

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณดื่มเหล้าแล้วทำมาหากินได้ปกติ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย”


หนทางดับทุกข์ของศาสนาพุทธในอดีตและปัจจุบัน

“เหมือนเดิมเลย ตราบใดถ้าเราพูดถึงศาสนาก็ต้องพูดอันเดิม เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าท่านไม่ได้สอนอะไรเลย นอกจากทุกข์กับการดับทุกข์ วิธีการอาจจะเปลี่ยนแต่เป้าหมายไม่มีเปลี่ยน เป้าหมายของศาสนาพุทธคือทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองดับทุกข์ แก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้นกับตัวเอง”

“แล้วที่จริงคำว่าธรรมะอกาลิโก คนก็เข้าใจผิดกันเยอะ คนนึกถึงว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเทศน์มายังไงต้องเหมือนอย่างงั้นหมด จริง ๆ ไม่ใช่

คำว่าธรรมะเป็นอกาลิโกก็คือผลที่ได้จากการปฏิบัติธรรมมันยังเหมือนเดิม ถ้าคุณปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องมันดับทุกข์ได้แน่นอน ธรรมะของพระพุทธเจ้าให้หนทางดับทุกข์กับคุณได้แน่นอนไม่มีเปลี่ยนแปลง ถ้าคุณปฏิบัติแล้วมันไม่นำไปสู่การดับทุกข์แปลว่ามันไม่ใช่อกาลิโกแล้ว”


เป็นบทสัมภาษณ์ที่เข้าถึงแก่นของพุทธศาสนาได้แบบชัดเจนมาก ๆ น่าเสียดายจริง ๆ ที่วงการพุทธศาสนาในบ้านเราจะต้องขาดพระนักสื่อสารของยุคปัจจุบันอย่างท่านไป แต่เชื่อได้เลยว่าสิ่งที่ท่านได้ทำเอาไว้มันจะสร้างแรงบันดาลใจในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระรุ่นต่อ ๆ ไปได้อย่างแน่นอนครับ

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line