Business

คิดให้ดี ก่อนเลือกหุ้นส่วนกิจการ หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ

By: Lady P. November 13, 2020

การทำธุรกิจของตนเองนั้น  พูดได้เลยว่ามันไม่ง่ายเลย  ยิ่งเป็นโปรเจคที่ยิ่งใหญ่ต้องการเงินทุนมากมาย หรือต้องมีไอเดียบรรเจิด  การลงทุนคนเดียวอาจจะทำให้โปรเจคของเราไปถึงฝั่งฝันได้อย่างช้า

การมีหุ้นส่วน หรือที่เราเรียกว่า PARTNERSHIP อาจเป็นอีกวิธีที่ดีที่เราจะมีหัวสมองเพิ่มขึ้น ในการคิดงาน ตัดสินใจ การสร้างธุรกิจให้เติบโตแข็งแรง แข็งแกร่งยิ่งขึ้น  แต่การจะมีหุ้นส่วนที่ดีนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย  ยิ่งเห็นจากตัวอย่างคนรอบข้างหลายแบบที่ต้องตัดความสัมพันธ์กับเพื่อนรักหลังจากมีเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกัน หรือ การโดนโกงจากหุ้นส่วน  ความคิดไม่ตรงกันทำให้การตัดสินใจผิดพลาดในการทำธุรกิจ

ปัญหาเหล่านี้อาจลดลงได้หากคุณเริ่มต้นอย่างมีการวางแผน เราจึงรวบรวมแนวคิดเบื้องต้นก่อนตัดสินใจเลือกหุ้นส่วนมาเป็นแนวทางสำหรับคนที่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจ

“เป้าหมายของการทำธุรกิจของคุณคืออะไร”

ก่อนที่คุณจะไปหาหุ้นส่วนกิจการ สิ่งแรกที่คุณควรคิดมากๆคือ เป้าหมายของธุรกิจที่คุณอยากทำคืออะไร

ถามตัวเองดีๆว่า ทำไมคุณถึงเริ่มต้นทำธุรกิจนี้?

เหตุผลหลักในการทำธุรกิจนี้คืออะไร?

คุณมองภาพธุรกิจของคุณจะเป็นอย่างไรในอีก 5 ปี?

อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงในการทำธุรกิจของคุณ

คิดให้ออก คิดให้เยอะ คุณคิดว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการเงินลงทุนหลายล้าน จำเป็นต้องให้คนอื่นเข้ามาถือหุ้นหรือไม่ ถ้าใช่ เรามองมูลค่าธุรกิจของเราเอาไว้เท่าไหร่ และ Partner ของคุณจะลงทุนเท่าไหร่ คิดเป็นกี่ % เพราะคำถามเหล่านี้จะมีส่วนในคำตอบว่าหุ้นส่วนที่คุณต้องการเป็นแบบใด


“LIST สิ่งที่คุณต้องทำออกมาให้หมด”  

การที่จะทำให้ธุรกิจของคุณสำเร็จไปได้นั้น  คุณต้องทำอะไรบ้าง  ลองจดบันทึกสิ่งที่ต้องทำทั้งหมดออกมา ให้ได้มากที่สุดเท่าที่นึกออก  หรืออาจมีการตรวจสอบจากคู่แข่ง Benchmark ในตลาดดูว่าธุรกิจประมาณนี้ ต้องมีปัจจัยอะไรในการสร้างธุรกิจบ้าง

ยกตัวอย่าง หากคุณต้องการเปิดร้านขายสินค้าไอที  คุณต้องมีอะไรบ้าง  คุณมีความเชี่ยวชาญด้านสินค้าไอทีหรือไม่ หรือคุณต้องการหุ้นส่วนที่มีความรู้เกี่ยวกับด้านนี้มาช่วยคุณทำงาน หรือแค่จ่ายเงินอย่างเดียวพอ

เมื่อลิสต์ออกมาแล้วจัดลำดับความสำคัญว่าสิ่งไหนเป็นกุญแจสำคัญอันดับแรก ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ  คุณจะได้รู้ว่าต้องเรียกร้องอะไรจาก Partner บ้าง ก่อนจะสายเกินไป


“แบ่งหน้าที่การทำงาน”  

หลังจากที่คุณลิสต์สิ่งที่คุณต้องทำ และจัดลำดับความสำคัญทั้งหมดออกมาแล้ว   ขั้นตอนต่อไป ลองสร้างตารางขึ้นมาแล้วใส่สิ่งที่คุณลิสต์ลงไป  เพิ่มช่องหน้าที่ของคุณ และ ของหุ้นส่วนคุณไว้  ลองดูว่าสิ่งที่คุณถนัดคืออะไร  และสิ่งที่คุณอยากให้หุ้นส่วนของคุณทำคืออะไร

อย่าลืมต้องตระหนักให้ดีด้วยว่าสิ่งที่คุณจะทำ หรือมอบให้หุ้นส่วนคุณทำนั้นมันไม่มากจนเกินความสามารถเกินไป  ยกตัวอย่างเช่น  คุณถนัดในการขายสินค้า หา Supplier แต่คุณไม่ถนัดในส่วนของเทคนิค ไอที  คุณอยากให้หุ้นส่วนมาช่วยในส่วนของการทำระบบ  แบ่งงานที่จะต้องทำกันให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการขัดใจกันในภายหลัง


“เลือกหุ้นส่วน ก็เหมือนเลือกคู่แต่งงาน”

การที่คุณจะหาใครสักคนมาร่วมอุดมการณ์ดำเนินธุรกิจให้สำเร็จได้นั้น หลังจากที่คุณลิสต์หน้าที่ในการทำงานเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาที่คุณมองหาคนที่จะมาเป็นเพื่อนร่วมคิด ร่วมอุดมการณ์ของคุณ

ในขั้นตอนนี้พูดได้เลยว่าไม่ง่าย หลายคน เริ่มจากการเอาเพื่อนวัยเรียน เพื่อนที่คุณคิดว่ารู้จักดีนี่แหละ มาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ และก็มีเหตุการณ์ปะทะให้ขัดใจมามากมายนักต่อนัก พูดง่ายคือ เรื่องงาน เรื่องเงิน มันไม่เข้าใครออกใคร ต่างฝ่ายก็มองหาประโยชน์จากในมุมของตัวเองเสมอ

เพราะฉะนั้นในขั้นตอนนี้คุณต้องพิถีพิถันเลยทีเดียว เลือกคนที่สามารถทำหน้าที่ตรงกับแผนธุรกิจที่วางไว้ และอย่าลืมว่าในขั้นตอนนี้คุณต้องพูดสิ่งที่ต้องการ แนวทางการทำงาน แผนงานให้เคลียร์ว่าแผนงานในอนาคตเป็นอย่างไร ผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับมีอะไรบ้าง จะหักก็หักกันตั้งแต่ตอนนี้เลย เผื่อมีอะไรไม่โดนใจกันตั้งแต่เริ่มต้น จะได้ไหวตัวทันหาหุ้นส่วนใหม่ที่ถูกจริตกันได้เร็วยิ่งขึ้น


“คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย”

แม้การหา Partnership จะน่ากลัว แต่การทำธุรกิจให้เติบโตได้เร็ว ก็จำเป็นต้องใช้จุดแข็งจากหลายคน หลายด้าน หากเราคิดคนเดียวแล้วงานไม่คืบหน้า ก็หาคนที่มีความเก่งในแต่ละด้านมารวมกันได้ เพราะการทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ออกเงินทุนด้วยตัวเอง ย่อมเสียเปรียบอัตรา growth จนไม่สามารถแข่งขันกับตลาดได้

(ยกเว้นคุณจะเปิดบริษัทที่ใช้ skill ของตัวเองเป็นหลัก เช่น ตากล้อง ศิลปิน หรือ illustrator อันนี้ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะใครก็เอาจุดแข็งของเราไปไม่ได้ แต่ก็ต้องระวังเรื่องสัญญาลิขสิทธิ์ผลงานเอาไว้ให้รอบคอบ)

การทำธุรกิจแบบมี Partnership มักจะหลีกเลี่ยงคำถามในใจว่า “มึงทำอะไรบ้าง” ไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ผิดที่จะคิด แต่คำแนะนำคือพยายามมองในมุมของอีกฝ่ายให้มาก ว่าถ้าขาดเค้า เราจะอยู่ได้จริงหรือเปล่า มันจะมีปัญหาอะไรตามมาบ้าง เพราะกว่าจะจับมือกันทำธุรกิจ ย่อมต้องดูใจกันมาระดับนึงแล้ว ในวันที่สดใส เราอาจจะมองว่าเค้าเกะกะเหลือเกิน แต่ในวันที่ตกต่ำ อย่างน้อยก็มีคนช่วยแบกรับภาระเช่นกันครับ

 

Lady P.
WRITER: Lady P.
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line