Business

แชร์ไปให้บอสอ่าน! นักวิจัยชี้ว่า’งานยุ่งและเครียดเกินไป’ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ตีบตัน

By: PSYCAT May 24, 2017

“ศิลปินยิ่งใหญ่ต้องการความกดดันมหาศาล เพื่อสรรค์สร้างงานอลังการระดับโลก” เราต่างเคยเชื่อแนวคิดอะไรทำนองนี้ แต่มันจริงเสมอไปไหมที่ทุกคนจะสร้างสรรค์งานได้ดีในบรรยากาศงานยุ่ง ๆ หรือคิดงานไอเดียกระฉูดท่ามกลางบรรยากาศความรับผิดชอบล้น ๆ วุ่นวาย ๆ เท่านั้น

เราอาจต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่เมื่อ หนังสือ The Happiness Track: How to Apply the Science of Happiness to Accelerate Your Success  แสดงให้เห็นว่าความคิดล้ำ ๆ เจ๋ง ๆ มักออกมาตอนที่เรารู้สึกผ่อนคลายต่างหาก

unnamed

ถ้ายังจินตนาการไม่ออก เรามีเรื่องราวของนักประดิษฐ์อัจฉริยะอย่าง Nikola Tesla ที่เป็นทั้งนักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ วิศวกรเครื่องกล และวิศวกรไฟฟ้า ถ้ายังไม่นึกไม่ออกอีก UNLOCKMEN ขอกระซิบบอกว่าเขามีส่วนช่วยในการพัฒนาหลอด fluorescent หรือหลอด neon แถมยังเป็นผู้คิดค้นสัญญานวิทยุ และค้นพบหลักการสนามแม่เหล็กไฟฟ้าอีกด้วย

ย้อนกลับมาว่าความผ่อนคลายช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์อย่างไร? Nikola Tesla ในปี 1881 ออกเดินทางไป Budapest พร้อมอาการป่วยอย่างหนัก แต่ความป่วยก็ไม่ใช่ข้ออ้างในการหยุดทำงานของเขา

เขาต้องคิดงานไปด้วย แต่ก็ไม่สามารถคิดออกได้ง่าย ๆ จนกระทั่ง Anthony Szigeti เพื่อนของเขาพาเขาออกไปเดินเล่น เหม่อมองพระอาทิตย์ตก ทันใดนั้น Nikola Tesla อยู่ ๆ ก็เข้าใจหลักการหมุนของสนามแม่เหล็กขึ้นมาทันที ซึ่งหลักการนี้นำไปสู่การพัฒนากลไกไฟฟ้ากระแสสลับซึ่งมีความสำคัญมากในปัจจุบัน

Frkekulé

ไม่ต่างจาก Friedrich August Kekulé นักเคมีชาวเยอรมันที่เป็นหนึ่งในนักเคมีอินทรีย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุโรปสำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการพลิกโฉมวงการเคมีไปจากเดิม

ส่วนที่โด่งดังที่สุดที่ผู้คนมักกล่าวถึงเขาก็คือการค้นพบโครงสร้างรูปวงแหวนของสารประกอบอินทรีย์ในขณะที่กำลังเหม่อลอยถึงภาพงูกินหางที่เป็นวงกลม (เหม่อลอยแล้วได้งานยิ่งใหญ่อย่างนี้ก็ได้เหรอ?)

หรือแม้แต่ Albert Einstein อัจฉริยะคนสำคัญก็ขึ้นชื่อเรื่องการเปิดเพลง Mozart ฟัง เมื่อต้องเผชิญปัญหาซับซ้อนหรือต้องการแรงบันดาลใจ

pexels-photo-89860

เราอาจข้องใจว่านี่อาจเป็นแค่ความบังเอิญหรือเปล่า? แต่งานวิจัยที่ชื่อ The Science of Mind Wandering: Empirically Navigating the Stream of Consciousness โดย Jonathan Schooler ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ชี้ว่าความคิดสร้างสรรค์มักจะมาในช่วงที่เราไม่ได้พยายามจดจ่อคาดคั้นถึงมัน หรืออยู่ในช่วงเวลาสบาย ๆ ปล่อยใจให้ล่องลอยมากกว่า

นอกจากนั้นถ้าเราต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่ท้าทาย เรามักจะทำได้ดีกว่าถ้าเริ่มต้นจากอะไรง่าย ๆ ไม่กดดันเกินไป เพื่อเป็นการยั่วให้พวกเขาอยากค้นหาและเรียนรู้ในขั้นตอนต่อ ๆ ไปที่ยากขึ้นตามลำดับ

ปัญหาก็คือชีวิตการทำงานจริง ๆ ไม่มีใครคอยเปิดโอกาสให้เรานั่งเหม่อลอย แล้วเราจะสามารถอ้างได้ว่าเรากำลังคิดงานสุดยิ่งใหญ่อยู่ เราถูกกดดันให้โฟกัสกับงานอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ช่วงเวลาพักก็อาจต้องรับโทรศัพท์ ตอบอีเมล์ ทุกเวลาคือความกดดันให้สมองเราต้องรับส่งข้อมูลอยู่ตลอดเวลา

แต่ทุกปัญหาก็ย่อมมีทางออก นอกจากส่งบทความนี้ให้เจ้านายอ่านแล้ว เราก็สามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเองเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกไปเดินเล่น ที่งานวิจัยชี้ว่าการออกไปเดินเล่นนอกตัวอาคารช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ หรือถ้าเดินอยู่ในอาคารก็พอไหว ดีกว่าไม่ได้เดินแล้วนั่งติดแหง็กอยู่กับที่

17-03-28-happiness-005

ถ้าการเดินไม่ใช่ทางก็ลองเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ดูบ้าง อย่าจมอยู่กับงานหรือทักษะเดิม ๆ ที่เราทำเป็นประจำทุกวัน มีงานวิจัยที่บอกว่าการได้พาตัวเองไปเรียนรู้สิ่งใหม่ เที่ยวในที่ใหม่ ๆ พบเจอคนใหม่ ๆ เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลายซึ่งจะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และการทำงานให้มีประสิทธิภาพได้มากกว่าเดิม

Barbara Fredrickson นักจิตวิทยายังแนะนำวิธีเพิ่มเติมอีกว่า การใช้เวลาสนุก ๆ มากขึ้นก็ช่วยได้ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่หยุดเล่นเมื่อเติบโตขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วการเล่นสนุกช่วยให้เรามีความสุขกับการทำงานมากขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ

หรือถ้าไม่มีเวลาเล่นสนุกขนาดนั้นการสลับไปมาระหว่างช่วงเวลาทำงานกับผ่อนคลายก็เป็นอีกวิธีที่ดี เพราะช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลายจะช่วยให้สมองปลอดโปร่งมากพอสำหรับไอเดียใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในช่วงที่เราต้องทำงาน

รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าปล่อยให้บรรยากาศการทำงานรอบตัวเต็มไปด้วยความกดดัน ความเครียด จนไม่มีเวลาปล่อยสมองโล่ง ๆ เพื่อเปิดทางให้ความคิดสร้างสรรค์ล่ะ

SOURCE1SOURCE2SOURCE3SOURCE4SOURCE5SOURCE6

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line