Life

‘คิดว่าเขาใส่ใจ แต่ไม่เคยอยู่ในสายตา’ รู้จักภาวะ SPOTLIGHT EFFECT หลงคิดว่าคนอื่นแคร์เราเกินจริง

By: unlockmen May 6, 2022

“แต่งตัวแบบนี้คนอื่นหัวเราะเยาะแน่เลย”

“เราต้องทำอะไรผิดพลาดไปแน่ๆ ทำไมคนอื่นดูไม่ค่อยพอใจเราเลย”

รู้ไหมว่าบางครั้ง คุณอาจคิดไปเองว่าคนอื่นจะสนใจเรามากเกินความเป็นจริง เพราะมนุษย์มีธรรมชาติที่มักเอาตัวเองเป็นที่ตั้งเสมอ และมักมองเรื่องต่าง ๆ ผ่านความรู้สึกและประสบการณ์ของตัวเอง คิดว่าคนอื่นจะต้องทำหรือรู้สึกเหมือนที่ตัวเองรู้สึก ทางหลักจิตวิทยาเรียกปรากฎการณ์นี้เรียกว่า ‘Spotlight Effect’

วันนี้ UNLOCKMEN จะมาอธิบายให้ฟังว่า Spotlight Effect คืออะไร ทำงานยังไง และเราจะก้าวข้ามมันไปได้อย่างไรบ้าง


เพื่อให้ทุกคนเข้าใจคำว่า Spotlight Effect ตรงกัน ก่อนอื่นเราอยากให้ทุกคนลองจินตนาการว่า พวกเรากำลังอยู่ในโรงละครที่การแสดงละครเวทีกำลังดำเนินอยู่

บนเวที พระเอกและนางเองกำลังแลกเปลี่ยนบทสนากัน ภายใต้แสง spotlight ที่ส่องมายังทั้งคู่ เพื่อเป็นการบ่งบอกผู้ชมว่านี่คือตัวละครสำคัญในฉาก พร้อมดึงดูดความสนใจของสายตาทุกคู่ที่อยู่ในโรงละครให้จับจ้องไปที่นักแสดงใต้แสง spotlight นั้น

Spotlight Effect จึงเป็นคำเรียก ปรากฎการณ์ที่คนคิดไปเองว่าตัวเองได้รับความสนใจจากคนอื่นตลอดเวลา เหมือนกับมีแสง spotlight ส่องมายังพวกเขาตลอดเวลา (ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่โรงละคร ไม่มีแสง spotlight และคนเราไม่ได้สนใจคนอื่นมากขนาดนั้น)

ทำให้พวกเขารู้สึกต้องระแวดระวังตัวเองอยู่เสมอ เพราะกลัวคนอื่นจะสังเกตเห็นความผิดพลาดของตัวเองได้ ยกตัวอย่าง เวลาเล่นกีฬา คนจะรู้สึกว่าเพื่อนร่วมทีมสังเกตข้อบกพร่องของตัวเองมากกว่าความเป็นจริง

 

 

งานวิจัยหลายชิ้นได้พยายามอธิบายการมีอยู่ของ Spotlight Effect ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี ค.ศ.1999 พบว่า Spotlight Effect มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านความกังวลในการประเมินสถานการณ์ทางสังคม (social-evaluative concerns)

อีกทั้งภาวะที่เรารู้สึกว่าคนอื่นเข้าใจความรู้สึกและจิตใจของเรามากเกินความเป็นจริง หรือรู้สึกว่าเราเข้าใจความรู้สึกและจิตใจของคนอื่นมากเกินความเป็นจริง (2 อย่างนี้เรียกว่า illusion of transparency) เกี่ยวข้องกับการมีความวิตกกังวลทางสังคมสูงด้วย

นอกจากนี้ สถานการณ์ทางสังคมยังมีผลต่อความรุนแรงของ Spotlight Effect ด้วย กล่าวคือ ในสถานการณ์ที่เรารู้สึกเหมือนคนกำลังจ้องจับผิดเราอยู่ หรือ อยู่ภายใต้แรงกดดันที่ต้องทำให้คนอื่นชื่นชอบตัวเอง ผลของ Spotlight Effect จะมีความรุนแรงต่อตัวเรามากกว่าตอนที่เราอยู่ในสถานการณ์อื่น ๆ ที่ไม่ต้องแคร์คนในสังคมมาก เช่น อยู่กับคนในครอบครัว หรืออยู่กับเพื่อนสนิท

ส่วนของสาเหตุที่ทำให้เกิด Spotlight Effect เชื่อกันว่ามาจากความคิดที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง (Egocentrism) ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความเห็นแก่ตัว และยกคุณค่าของตัวเองเหนือกว่าคนอื่น อีกทั้ง มุมมองของเราที่มีต่อโลกและคนรอบข้าง ยังเกิดจากประสบการณ์และมุมมองของตัวเราเอง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะรู้สึกว่าทุกคนจะต้องสนใจเรา

 

 

นอกจากนี้ spotlight effect ยังเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่อง สัจนิยมสามัญ (Naïve Realism) และ จุดบอดต่อความเอนเอียง (Bias Blind Spot) ด้วย

โดย Naïve Realism เป็นทฤษฏีที่พูดถึง ธรรมชาติของคนที่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน ยกตัวอย่างเช่น เราเรียนรู้ว่าเสียงแบบนี้คือเสียงร้องของนก พอได้ยินเสียงที่มีลักษณะคล้ายกันในครั้งต่อไป เราก็บอกว่า มันคือเสียงของนก ซึ่งในความเป็นจริงอาจเป็นเสียงที่สังเคราะห์ขึ้นมาก็ได้

ส่วน Bias Blind Spot หมายถึง ภาวะที่เราไม่รู้ตัวว่าการตัดสินใจของตัวเองมีอคติ แต่รู้สึกหรือคิดว่าการตัดสินใจของคนอื่นมีอคติ หรือ เชื่อว่าคนอื่นตัดสินใจอย่างมีอคติมากกว่าตัวเอง)

ทั้ง naïve realism และ bias blind spot ทำให้คนไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีอคติ พวกเขาจะใช้ประสบการณ์และความคิดของตัวเองในการประเมินความคิดและการกระทำของคนอื่น และอาจถึงขั้นรู้สึกว่ามุมมองของตัวเองได้รับการยอมรับจากคนอื่น หรือ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปมอง และท้ายที่สุด พวกเขาเลยเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องให้ความสนใจ


อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง Spotlight Effect ก็มีประโยชน์ต่อการเข้าสังคมเหมือนกัน เพราะมันเป็นเหมือนตัวสร้างแรงผลักดันให้เราต้องปรับตัวเข้ากับสังคม การที่เราต้องแคร์สายของคนอื่นตลอดเวลา ทำให้เราพยายามวางตัวให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข โดยไม่เกิดความขัดแย้งกับคนอื่น หรือโดนนินทาลับหลัง

แม้กระทั่งเรื่องการทำงาน Spotlight Effect ก็มีผลเหมือนกัน ในฐานะตัวผลักดันให้เราทำงานอย่างมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด สร้างความลำบากใจให้กับคนอื่นน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เรามีปัญหากับใคร

แต่ผลเสียของ Spotlight Effect ก็มีเยอะเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความกดดัน ความเครียดจนไม่มีความสุข เพราะต้องสนใจคนอื่นตลอดเวลา เลยไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ หรืออย่างกลุ่มคนที่มีความวิตกกังวลทางสังคมสูง (social anxiety) เช่น เหล่า Perfectionist จะทรมานจาก spotlight effect มาก เพราะคนกลุ่มนี้ปกติก็กลัวการทำผิดพลาดในสังคมมากพออยู่แล้ว พอมี spotlight effect ก็ยิ่งกลัวหนัก และความกดกดดันเวลาต้องเข้าสังคมก็มากขึ้นไปอีก

 

 

เพราะฉะนั้น เราเลยอยากแนะนำให้ทุกคนลองนำวิธีการเอาชนะเจ้า spotlight effect ที่จะแนะนำต่อไปนี้ ไปปฏิบัติกัน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและผ่อนคลายมากขึ้น

อันดับแรก เราอยากให้ทุกคนรู้จัก เทคนิคการรักษาระยะห่างจากตัวเอง (self-distancing techniques) ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของ spotlight effect ได้ ซึ่งเทคนิคนี้ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ใช้การจินตนาการเวลามองตัวเองจากมุมมองของคนอื่น แล้วคิดว่าพวกเขาจะรู้สึกยังไงกับเรา (เทคนิคนี้คล้าย ๆ กับ การสร้าง empathy และเมื่อเราเข้าอกเข้าใจคนอื่นแล้ว เราก็จะเข้าใจตัวเองด้วย ) หากเราสามารถประเมินตัวเองจากมุมมองของคนอื่นได้เป็นอย่างดีแล้ว เราก็จะเข้าใจว่าสิ่งที่เรากลัวเป็นความจริงหรือไม่

ต่อมา วิธีแก้ไขปัญหาที่เราคิดว่าดีที่สุด คือ การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น (feedback) เวลามีเรื่องอะไรที่เราคิดว่าน่ากังวลในสายตาคนอื่น ให้ลองถามคนอื่นไปเลย จะได้รู้ว่ามันน่ากังวลแบบที่คิดไหม เป็นปัญหาในแบบที่เราคิดรึเปล่า ซึ่งการพูดคุยกับคนอื่นจะช่วยลดอาการวิตกกังวลไปได้มาก เราจะได้รู้ไปเลยว่าเราคิดไปเองนะ แต่คนอื่นไม่ได้คิดแบบที่เราคิดซะหน่อย

สุดท้ายคือ เราต้องตระหนักว่า spotlight effect เกิดขึ้นได้กับทั้งเรื่องดีหรือเรื่องร้าย กล่าวคือ เราคิดไปเองว่าคนอื่นสังเกตเห็นข้อผิดพลาดของเรามากกว่าความเป็นจริง ในขณะเดียวกัน เราก็คิดไปเองด้วยว่าคนอื่นจะสังเกตเห็นเรื่องดี ๆ ของเรามากกว่าความเป็นจริง เมื่อเรารู้ว่าคนอื่นมักไม่ได้สนใจเรื่องของเรามากเหมือนกับที่เราคิด เราก็คงคิดได้ว่าแล้วเราจะไปแคร์คนอื่นมากขนาดนั้นไปทำไม และเลิกใช้ชีวิตภายใต้ความกลัว ความวิตกกังวล และรู้สึกผ่อนคลายสบายใจขึ้นในที่สุด

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line