Business

UNLOCK CORP: ในวันที่ทุกคนอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ทำไมญี่ปุ่นถึงมีลูกจ้างที่ทำงานอย่างมีความสุข

By: anonymK October 11, 2019

ถ้าความฝันคือ “สูตรสำเร็จ” ที่คนในยุคนี้ต้องการ
ถ้า “ธุรกิจของตัวเอง” คือทางออกของอิสระการใช้ชีวิต

เคยสงสัยไหมว่าทำไมถึงยังมีคนคิดต่างจากเราและมีความสุขกับการเป็นลูกจ้าง ไม่ต้องลุกมาเป็นเจ้าของธุรกิจอะไรไปจนเกษียณ ทำไมเวลาเราดูรายการญี่ปุ่น เรามักเห็นพนักงานมีอายุหรือคนหนุ่มสาวที่ทุ่มเทและตั้งใจทำงาน ทั้งที่เขาเป็นเพียงพนักงานตัวเล็ก ๆ แต่กลับมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่และมีความสุขจนทำให้เรารู้สึกอิจฉา

คำตอบนี้เราได้มันมาหลังจากมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร. กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่หลายคนรู้จักเธอในชื่อ “เกตุวดี Marumura” นี่ถือเป็นหนึ่งในคำถามที่ผุดขึ้นมาระหว่างพูดคุยกันช่วงสัมภาษณ์ยาว (ใครอยากดูฉบับเต็มรอติดตามได้) แต่เชื่อว่าประเด็นนี้ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจ คิดว่าชาว UNLOCKMEN น่าจะอยากรู้เหมือนกัน เราเลยสรุปและนำมาแบ่งปันแล้วด้านล่าง

 

แรงงานต่างชาติน้อยกว่า

ดร. กฤตินี เริ่มประเด็นแรกด้วยเรื่องแรงงาน ชี้ปัจจัยความต่างเบื้องต้นว่า “สังคมญี่ปุ่นเขาไม่ได้มีแรงงานจากประเทศข้างเคียงมากเท่ากับไทย” นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนที่ทำงานตลอดสายพาน ตั้งแต่งานในโรงงานจนถึงงานนั่งโต๊ะ ส่วนใหญ่เป็นคนญี่ปุ่นทั้งหมด ดังนั้น เรื่องนี้คงต้องบอกว่าปัจจัยทางสังคมส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นเขาเป็นลูกจ้างด้วย ขณะที่ไทยอาจจะมีคนที่เข้ามาทำหน้าที่นี้ทดแทนได้ เพราะมีแรงงานจากประเทศข้างเคียงทั้งพม่า ลาว ฯลฯ ที่เข้ามาทำงานในไทยมากกว่า

 

องค์กรทำงานเป็นทีมและร่วมแรงร่วมใจกัน

ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ถึงทุกข์กับการเป็นลูกจ้าง แต่ญี่ปุ่นกลับไม่ใช่อย่างนั้น?

เหตุผลที่เราอยากอยู่เหนือคนอื่น อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากเติบโตไว ส่วนหนึ่งจะมองว่าเป็นเรื่องขั้นบันไดการเติบโตที่จำเป็นจะต้องไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็ได้ แต่อีกมุมหนึ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปคือระบบการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างญี่ปุ่นกับไทย

ถ้าใครที่เติบโตมาในวัฒนธรรมแบบไทย ลองสังเกตดูให้ดีอาจจะเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจแทรกอยู่ในไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างจากลูกน้องกับเจ้านายชัดเจน เช่น ห้องน้ำเจ้านายแยกจากห้องน้ำพนักงานทั่วไป การดูแลเจ้านายแตกต่างจากการดูแลพนักงานทั่วไป บ่อเกิดความแตกต่างนี้เลยเป็นจุดบ่มเพาะความรู้สึกให้พนักงานตัวกะเปี๊ยกอย่างเรา ๆ คิดเอาว่า “ทำไปทำไม”

ทำไปทำไมโดยที่เราไม่ได้อะไร
ทำแทบตาย เจ้านายหรือเจ้าของกิจการนั่นแหละสบาย

และเพื่ออยู่ในสถานะแบบเดียวกัน เราจึงอยากเป็นคนจ้าง คนชี้เพื่อบอกให้คนไปทำในสิ่งที่เราต้องการมากกว่า ขณะที่ในญี่ปุ่น บริษัทพยายามดูแลพนักงานทุกระดับด้วยความเท่าเทียมอย่างดีที่สุด คนในองค์กรจึงไม่ค่อยคิดถึงความเหลื่อมล้ำจนเป็นต้นเหตุให้ทุกข์กับการทำงาน

 

คุณค่าของความตั้งใจ คือผลผลิตที่ได้จากความร่วมมือของทุกคน

ไม่ว่าจะงานอะไร คนญี่ปุ่นก็มักจะภูมิใจในงานเสมอ พนักงานตัวเล็กทุกตำแหน่งละเอียด พิถีพิถัน แม้ในสิ่งที่คนท่ัวไปอาจจะไม่ได้ให้ค่าอะไรมันเลย นั่นเพราะคนญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังว่าเขาคือส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญของการทำงานเสมอ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เบื้องหลังคือการต่อจิ๊กซอว์หลายชิ้น

เมื่อความจริงจังในการทำงานมารวมเข้ากับการทำงานเป็นทีม ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ทำอะไรก็ไม่โดนเอาเปรียบหรือขโมยความตั้งใจ เดินหน้าไปด้วยเป้าหมายเดียวกันเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด การทำงานจึงได้ผลที่แตกต่าง คนที่อยากก้าวหน้าอาจพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ แต่คนที่พอใจกับการเป็นพนักงานที่สร้างความสำเร็จให้องค์กรก็ยังคงไลฟ์สไตล์นั้นได้แบบไม่คิดว่าตัวเองล้มเหลวเรื่องการใช้ชีวิต

นอกจากนี้ การตั้งเป้าเรื่องการทำธุรกิจและการทำงานด้วยหัวใจยังทำให้พวกเขาไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ความคิดที่อยากทำเพื่อผู้อื่นมากกว่าตัวเงินนี่แหละคือสิ่งที่ซื้อใจพนักงานทุกคน ทุกระดับไว้ได้อย่างยั่งยืนไปจนถึงวันเกษียณ และเป็นเหตุผลให้ธุรกิจขนาดเล็กยังคงเติบโตได้เสมอในญี่ปุ่น

 

ค่านิยมเรื่องความอดทน

คำตอบนี้เราไม่ได้นำมาจากอาจารย์กฤตินี แต่มาจากการอ่านบทความที่เคยพูดถึงประเด็นนี้อยู่บ่อยครั้ง ค่านิยมของญี่ปุ่นปลูกฝังการรูปแบบการเติบโตของการทำงานคนละแบบกับเรา เพราะคนญี่ปุ่นให้คุณค่ากับความอดทน กรณีลุกมาย้ายงานบ่อย ๆ จะถูกมองด้วยภาพลักษณ์ด้านลบมากกว่าบวก คนจะไม่มองว่าคุณมีความสามารถเกินงานและองค์กรที่รับผิดชอบจนต้องลาออก ขณะที่เมืองไทย มองว่าถ้าองค์กรที่อยู่เริ่มไม่ตอบโจทย์ การไปหาโอกาสแสดงศักยภาพที่บริษัทอื่นเพื่อให้โอกาสตัวเองเติบโตเป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่าทู่ซี้อยู่ที่เดิม

 

คำตอบของการเป็นลูกจ้างหรือเจ้านายคงไม่มีอะไรที่ถูกหรือผิด แต่เบื้องลึกที่เรามองเห็นอาจจะมาจากเหตุผลหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ บทความไม่ได้เขียนมาเพื่อบอกว่า “คุณจงเป็นลูกจ้างต่อไป” เพื่อเอาอย่างญี่ปุ่น หรือ “ลุกมาเติบโต ออกมาทำธุรกิจเถอะ” ตามเสียงของสังคมไทยส่วนใหญ่ เพราะสุดท้ายเรามองว่าสิ่งที่ตอบโจทย์การทำอะไรสักอย่างให้ยาวนาน คงไม่ใช่หัวโขนที่สวมอยู่ แต่เป็น “คุณค่า” จากสิ่งที่เราทำ

เมื่อให้คุณค่ากับสิ่งไหน สิ่งนั้นจะเติบโต และถ้าคุณรักในสิ่งที่ตัวเองทำ ทำไปแล้วเลี้ยงชีพได้ ต่อให้ไม่ต้องก้าวใหญ่เท่าคนอื่น คุณจะรู้ความหมายของการลงมือทำสิ่งนั้นในทุก ๆ วันอย่างมีความสุข

ขอให้มีความสุขและสนุกกับการใช้ชีวิตทุก ๆ วัน

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line