Guide

CAMP LIKE A PRO: หนาวนี้จงออกไปกางเต็นท์ แชร์ 5 สเต็ปต้องรู้ก่อนออกเที่ยวจากประสบการณ์จริง

By: anonymK December 11, 2019

หนาวแรกของ กทม. มาถึงแล้ว เป็นใครก็ต้องอยากออกไปต่างจังหวัดตระเวนล่าหมอก และตั้งเต็นท์ ถ่ายรูปธรรมชาติสวย ๆ ผิงไฟ เฮฮากับเพื่อน หรือพาสาวไปสร้างความประทับใจด้วยกันทั้งนั้น เราเองก็เช่นกัน พอเห็นวันหยุดยาวก็วางแผนลาหยุดและเดินทางไปผ่อนคลายที่อุทยานแห่งชาติแม่เมย จังหวัดตาก กับปางอุ๋ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อกางเต็นท์พักผ่อน

แต่ใช่ว่าทุกคนจะเซียนเรื่องการออกทริป บางคนไปแล้วอาจจะรู้สึกแย่กับความขลุกขลักที่เจอจนไม่อยากเที่ยวแนวแคมป์ปิ้งอีก ทั้งที่จริง ๆ มันไม่ได้ยากขนาดนั้นถ้าเรามีโอกาสเตรียมตัวก่อน เพื่อไม่ให้พลาดแบบเดียวกับที่เราเจอในบางเหตุการณ์ UNLOCKMEN จึงมีทริคสำคัญ 5 ข้อที่พบเจอจากประสบการณ์จริงมาแชร์ให้เตรียมตัวก่อนออกเดินทาง

เพื่อนร่วมทางโคตรสำคัญ

ปัจจัยนี้ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งที่ขาดไม่ได้ จะชวนไปแคมป์ ไปกางเต็นท์ ถ้าเป็นพื้นที่บนอุทยานที่ไม่ใช่ช่วงทางเข้าหรือลานกางที่มีไว้สำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ และไม่ใช่บริเวณที่มีร้านค้าให้สั่งหมูกระทะ มีน้ำอุ่นให้อาบ (บางแห่ง) สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ควร” หาเพื่อนร่วมทริปที่ดีไปด้วย เพราะเวลาอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องช่วยเหลือตัวเอง เราจำเป็นต้องแบ่งหน้าที่ทำกิจกรรมร่วมกัน บางคนต้องทำกับข้าว บางคนต้องล้างจาน ขับรถ ฯลฯ เวลาแบบนี้นิสัยและตัวตนของแต่ละคนจะออกมา

ดังนั้น ถ้าเลือกคนกินแรงไป เราจะต้องรับทำทุกอย่างไว้เอง ถ้าเลือกคนขี้บ่นติดสบายไปอาจจะฟังมันบ่นหูชาจนหงุดหงิด ก่อนออกเดินทางจึงควรมั่นใจว่าถ้าใจเราไม่พร้อมจะทนอยู่ในสภาพนั้นตลอดทริป ควรชวนคนที่มองแล้วว่าคุยกันง่าย อยู่แล้วสบายใจ ไม่เห็นแก่ตัวไปจะดีที่สุด ส่วนเราทริปที่ผ่านมากลุ่มที่เราไปมีทั้งทำกับข้าวได้ คนออกตัวช่วยเหลือคนอื่นเป็นลูกมือ และมีพลขับชำนาญเส้นทาง เวลาไปไหนจึงทำเวลาได้ดี เที่ยวได้คล่องตัวสบาย ๆ

 

กางเต็นท์หน้าเทศกาลอย่า Walk in

หน้าเว็บไซต์สำหรับจองที่พักและบริการของอุทยาน

คนส่วนใหญ่คิดว่าอุทยานเป็นพื้นที่สาธารณะที่เราสามารถเตรียมเต็นท์เข้าไปแล้ว Walk-in เข้าไปกางเต็นท์ได้ตลอดเวลา แต่ต้องไม่ใช่สำหรับช่วงเทศกาลและวันหยุด ไม่ว่าจะเป็นอุทยานไหนในประเทศไทยก็ตาม เราจำเป็นต้องโทรติดต่ออุทยานก่อนเดินทางไปเสมอเพื่อจับจองพื้นที่ไว้

ยกตัวอย่างปางอุ๋ง จังหวัดแม่ฮ่องสอนช่วงวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา เราเองต้องจองพื้นที่กางเต็นท์ล่วงหน้าก่อนเดินทางจริงไว้ราว 1-2 เดือน เพราะทุกอุทยานรองรับจำนวนนักเดินทางจำกัด ใครที่สงสัยว่าถ้าไม่จองแล้วไปถึงหน้างาน เนียนบอกว่าขอเข้าไปเที่ยวได้ไหม บอกตรงนี้ว่าเขาให้เข้าแต่ไม่ให้เอารถเข้าไปจอดและจะแบกเต็นท์เข้าไปก็ไม่ได้ ไล่กลับทันที ดังนั้น สุดท้ายเราอาจจะฟาล์ว ได้กางเต็นท์ใกล้เขื่อนหรือพักโฮมสเตย์แทนจุดพักดี ๆ แทนบรรยากาศที่ตั้งใจ

เว้นกรณีวันธรรมดา ถ้าใครอยาก Walk-in สามารถเดินเข้าไปได้ แต่ทางที่ดีเพื่อเซฟทั้งเวลาและความสนุก ยืนยันว่าโทรไปให้ชัวร์ยังไงก็ดีกว่าแน่นอน

สัญญาณไม่มี เตรียมอย่างอื่นไปหาอะไรทำ

อย่าคิดว่าประเทศไทยกำลังจะมี 5G แล้วสัญญาณโทรศัพท์ ฯลฯ มันจะตามเรามาทุกที่ เพราะเราไปที่อุทยานแห่งชาติแม่เมย จังหวัดตาก แค่ผ่านทางเข้าจากจุดที่เสา AIS สัญญาณวิ่งปรี๊ด เน็ต 4G ยังวิ่งดี เข้าไป 7 กิโลเมตรตรงม่อนครูบาใส ตรงนั้นก็กลายเป็นพื้นที่อับสัญญาณชนิดตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง โทรเข้า-ออกไม่ได้ อินเทอร์เน็ตให้เลิกพูดถึง ดังนั้น ก่อนไปที่ไหนก็ตามจึงควรหาข้อมูลล่วงหน้าว่าบริเวณนั้นมีสัญญาณไหม

กรณีที่รู้แน่ว่าตรงนั้นไม่มีสัญญาณ ก่อนไปให้ทำ 2 อย่างต่อไปนี้

  1. บอกคนในครอบครัวและคนที่จำเป็นต้องติดต่อให้รู้ล่วงหน้า เวลาติดต่อไม่ได้จะได้ไม่แตกตื่นและหากเกิดอะไรกับเรา พวกเขาจะได้รู้ว่าควรต้องไปเริ่มติดตามที่ไหน
  2. เตรียมทุกความบันเทิงล่วงหน้าตอนมีสัญญาณเตรียมไว้ จะซีรีส์ เพลง หรือหนัง ดาวน์โหลดเอาไว้เปิดตอนออฟไลน์ เพราะบนนั้นอากาศดีแต่จะไม่มีไฟฟ้าไม่มีอะไรให้เราทำเลย หรือถ้ากลัวจะเปลืองแบตเตอรี่ หนังสือดี ๆ สักเล่มช่วยได้
พาวเวอร์แบงก์แบกได้เท่าไหร่ก็แบกไป

ต้องขอบคุณที่โลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่าพาวเวอร์แบงก์ เพราะวันนี้อุปกรณ์หลายอย่างที่เราใช้สามารถชาร์จเข้ากับพาวเวอร์แบงก์ได้ทั้งนั้น เช่น ไฟ LED ที่สามารถใช้เป็นแสงสว่างให้เราตลอดคืน สมาร์ตโฟน หรือลำโพงบลูทูธไว้เพิ่มความบันเทิง ดังนั้น อย่ามัวหวังน้ำบ่อหน้าว่าข้างหน้าจะมีที่ให้ชาร์จกับหมู่บ้านได้ตลอด เพราะการเตรียมตัวให้พร้อมเสมอเป็นสิ่งจำเป็น และดีไม่ดีคนข้าง ๆ จะมาขอชาร์จของเราเวลาแบตฯ หมด เตรียมเยอะไว้เหลือดีกว่าขาด ช่วยเผื่อแผ่ได้ดี

รถขาเข้าสำคัญไม่แพ้ขาออก

บางคนติดรถไปกับเพื่อน แต่ขากลับแยกย้ายตามสถานีขนส่งของจังหวัดเพื่อลงเข้ากรุงเทพฯ เตือนว่าต้องเตรียมตัวให้ดีก่อนเพราะวินาทีตกรถมันเกิดกับใครก็ได้

  1. โทรจองก่อนไปถึง โดยเฉพาะหน้าเทศกาล: สิ่งที่เราเจอมากับตัวคือโทรไป บขส. คนรับสายบอกว่ารถออกทุกชั่วโมง แต่พอไปเจอหน้างานจริง รอบรถว่างคือเที่ยวเที่ยงคืนทั้งที่ไปถึงท่ารถก่อน 5 โมง เนื่องจากรถเต็มมาจากที่อื่นก่อนแล้วหรือมีคนโทรจองมาล่วงหน้าแล้ว แต่ถ้าไม่มีและรีบจริง ๆ ให้หาทางออกด้วยการไปจังหวัดข้างเคียงที่เป็นจุดผ่านหรือรถเยอะ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เรารีบโดดขึ้นรถจากกำแพงเพชรเดินทางไปหารถต่อที่นครสวรรค์แทน
  2. บขส. ดีแต่มีรถตู้สำรองไว้ย่อมดีกว่า: กรณีที่เห็นว่าตัวเองของเยอะ ไม่อยากนั่งรถตู้เลยจริง ๆ กลัวโดนว่า เรื่องนี้มีทางออก คือการซื้อที่นั่งเพิ่มไว้วางของ เพราะเราเองก็ทำเช่นกัน ไม่ต้องห่วงว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ยอมให้จองเพราะเขายอมให้เราจองอยู่แล้ว

หมายเหตุ: รถตู้เดินทางได้ไม่เกิน 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ดังนั้น เราควรโทรถามสถานที่ขึ้นรถขาเข้าจากท่ารถก่อน อย่าคิดแต่ว่าไปถึงที่ท่ารถยังไงก็ได้นั่ง เพราะส่วนตัวเราเดินทางไปที่กำแพงเพชรและโทรไปจองรถตู้เพื่อซื้อตั๋วกำแพงเพชร – กรุงเทพฯ แต่ท่ารถตู้บอกให้เราไปขึ้นที่ตำบลสลกบาตรแทน เนื่องจากรถที่วิ่งระยะไกลไม่มี

ที่สำคัญพอระยะทางไกลมาก รอบรถก็ต้องหมดเร็วตามและส่วนมากไม่เกิน 4 โมงก็หมดแล้ว ใครที่ติดนิสัยเคยเดินทางใกล้มีรถถึงรอบทุ่มหนึ่ง สองทุ่มต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด่วน

ถึงจะมองดูว่ามีรายละเอียดยุ่งยาก แต่เสน่ห์ของการกางเต็นท์แคมป์ปิ้งก็เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่หลายคนยอมเสี่ยง ยอมเหนื่อย ยอมไปสนุกแม้มันจะไม่ได้สะดวกสบาย เพราะได้สัมผัสธรรมชาติและสัมผัสเวลาร่วมกับคนข้าง ๆ ที่เป็นคนจริง ๆ ไม่ใช่การมองจอ ได้ทำกิจกรรมที่เราไม่ได้ทำมานาน

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line