DESIGN

ศิลปะไม่ใช่ศีลธรรม! รู้จัก SEX ของอุทิศ เหมะมูลผ่านนิทรรศการภาพโป๊? ‘ร่างของปรารถนา’

By: PSYCAT August 18, 2017

มนุษย์ผู้ชายแม่งคิดถึงเรื่องเซ็กส์ตลอดเวลา“, “เรื่องเซ็กส์มันเป็นเรื่องที่ไหลเวียนอยู่ในชีวิตคนอยู่แล้ว” และ “ศิลปะไม่ใช่ศีลธรรม” 3 ประโยคข้างต้นจากปากอุทิศ เหมะมูล แม้สั้น กระชับ แต่รวบยอดตรงประเด็นจนแทบจะสรุปความนิทรรศการร่างของปรารถนา ไว้ได้ครบถ้วนหมดแล้ว

แต่จะมีความหมายอะไรถ้าเราไม่ได้พูดคุยกับอุทิศ เหมะมูล นักเขียนซีไรต์ ปี พ.ศ. 2552 และศิลปินผู้วาดภาพ ก่อนที่นิทรรศการจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (19 สิงหาคม) โดยเฉพาะมุมมองเรื่องเซ็กส์ การเอากัน ความหื่นกาม ภาพโป๊ ภาพเปลือย ศีลธรรม และศิลปะ นี่จึงไม่ต่างจากการพูดคุยเพื่อเล้าโลมให้พร้อมกระโจนเข้าเสพนิทรรศการภาพโป๊ ภาพเปลือย ภาพศิลปะ หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก เป็นการอุ่นเครื่องให้เร่าร้อนสมกับที่อุทิศรังสรรค์มันขึ้นมาอย่างร้อนเร่าไม่แพ้กัน

ร่างของปรารถนาที่มาของ ‘ภาพ’ ร่างของปรารถนา

“จริง ๆ เล่มนี้คิดไว้ตั้งนานแล้ว” คือคำตอบของอุทิศเมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นแรกสุดของนิยายซึ่งเป็นที่มาของนิทรรศการภาพโป๊ (?) ‘ร่างของปรารถนา’ ครั้งนี้ โดยระยะเวลานานที่เขาพูดถึงคือระยะเวลา 9 ปีนับตั้งแต่เริ่มคิด กว่าจะออกมาเป็นนิยายร่างของปรารถนาเล่มสมบูรณ์อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

หลังจากเขียน ‘ลับแล แก่งคอย’ นิยายที่ได้รางวัลซีไรต์เสร็จ เขาก็วางแผนเขียนนิยายหลายสไตล์ต่อ “คิดไว้ว่าอยากมีนิยายที่เราจะทยอยเขียน ก็จะมีหนังสือที่เขียนถึงพ่อ เขียนถึงงานศพของพ่อ อีกเล่มก็อยากเขียนถึงความรักของผู้ชายต่างวัย เรื่องของชายมีอายุที่หลงรักเด็กหนุ่ม” นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ร่างของปรารถนา’ นิยายที่ปรากฏกายให้เราเห็นเมื่อเดือนที่ผ่านมา

“ตัวเองอยากจะกลับมาวาดรูปอีกครั้งด้วย แต่ว่าเราจะวาดอย่างไรเพื่อไม่ให้มันเป็นแค่ภาพประกอบในนิยาย” เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นโปรเจคต์ภาพเรือนร่างเปลือยในอิริยาบถต่าง ๆ ที่แปะรายรอบตัวเราอย่างโจ่งแจ้ง ฉูดฉาด “นิยายก็อยู่ในโครงการนั้นด้วย งานศิลปะก็จะมีด้วย” ผลจึงออกมาอย่างที่เห็นภาพร่างของปรารถนาที่เร่าร้อนเปิดเผยจึงออกมาในรูปงานศิลปะที่เป็นผลงานของตัวละครเอกในนิยายเล่มล่าสุดของเขา

การได้เขียนถึงเซ็กส์ก็เหมือนการทำความเข้าใจ

ถ้าติดตามงานของอุทิศมาตลอดจะเห็นว่าเขามักมีฉากร่วมรัก ฉากการมีเซ็กส์กันของมนุษย์สองคนเพื่อเล่าเรื่องราวบางอย่างในนิยายของเขาอยู่เสมอ ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมอุทิศ เหมะมูลมักเลือกใช้เซ็กส์ ใช้การร่วมรัก ใช้การเอากันของมนุษย์เป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องต่าง ๆ ?

“มนุษย์ผู้ชายแม่งคิดถึงเรื่องเซ็กส์ตลอดเวลา จริง ๆ มันก็เป็นข้อมูลที่ปฏิเสธไม่ได้นะ” อุทิศชัดเจนกับความคิดที่ว่าเซ็กส์ไม่ต่างอะไรจากพลังอำนาจที่เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของตลอดเวลา เขาสรุปให้เราฟังอีกว่า “การได้เขียนถึงเซ็กส์ก็เหมือนการทำความเข้าใจมันหรือว่าการพยายามหาคำตอบจากมันถึงภาวะที่มันมาครอบงำเราแบบนี้ด้วย”

การทำความเข้าใจเรื่องเซ็กส์และสภาวะที่ถูกเซ็กส์ครอบงำของเขาจึงออกมาในรูปแบบงานเขียนและงานศิลปะที่อุทิศพูดกึ่งจริงกึ่งขำกับเราว่าเขาต้องใช้งานมัน จะปล่อยให้มันมาครอบงำตัวเขาไปอย่างสูญเปล่าไม่ได้

“มันเหมือนถ้ามึงมาหากูแล้ว กูต้องได้ใช้งานมึงน่ะ ต้องไม่เสียเปล่า เหมือนเราดูหนังโป๊ก็ต้องได้งานด้วย ไม่ใช่แค่ดูแล้วเสียเปล่า” เขาพูดพร้อมระเบิดเสียงหัวเราะไปพร้อม ๆ กับเรา

นิทรรศการ ‘ร่างของปรารถนา’ จึงถูกวาดขึ้นด้วยความไม่เสียเปล่าจากการดูหนังโป๊อย่างไม่สูญเปล่าของอุทิศ เหมะมูล โดยเขาใช้ภาพจากหนังโป๊มาเป็นแบบในการวาดด้วยนั่นเอง

เราเดินดูภาพการร่วมรักกระจ่างตาในอิริยาบถต่าง ๆ ตรงหน้า โดยไม่ได้รู้สึกประดักประเดิดแต่อย่างใด แต่ถึงใครจะดูแล้วประดักประเดิดเราก็คิดว่านั่นไม่ใช่ความผิด เพราะศิลปะไม่มีผิดถูก ซึ่งคงไม่ต่างอะไรจากเซ็กส์ พอดีกับที่อุทิศพูดต่อว่า “เรื่องเซ็กส์มันเป็นเรื่องที่ไหลเวียนอยู่ในชีวิตคนอยู่แล้ว แต่มันกลายเป็นเรื่องที่ถูกจำกัด ถูกห้ามไม่ให้พูด หรือถ้าจะพูดก็ต้องพูดให้มีชั้นเชิง ให้มีศิลปะ หรือไม่ก็ต้องมีข้อคิดคติสอนใจที่ทำให้มันกลายเป็นอย่างอื่น”

ทำไมเซ็กส์ถึงต้องกลายเป็นอย่างอื่น? เราโพล่งถามออกไปอย่างใคร่รู้ว่าเขาจะตอบอะไร “ทำไมเราต้องมองภาพเปลือยของผู้หญิงแล้วถูกบอกว่าให้คิดถึงความอุดมสมบูรณ์สิ หรือบอกให้คิดถึงความงามของสรรพสิ่ง ซึ่งเราว่านี่มันยังไม่ตรงพอ มันทำให้เซ็กส์ยังไม่ถูกพูดถึงจริง ๆ “

อุทิศพยายามอธิบายถึงเซ็กส์ที่ในรูปแบบที่ถูกทำให้กลายเป็นบาป เป็นกิเลส เป็นตัณหา หรือแม้แต่เซ็กส์ที่เป็นศิลปะเพื่อความงาม เขากำลังจะสื่อว่าเซ็กส์ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งอื่น ๆ สิ่งอื่น ๆ สารพัดสิ่งที่เซ็กส์ไม่ได้เป็นจริง ๆ “ก็ทำไมเราต้องพูดเรื่องเซ็กส์เพื่อเอาไปเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นล่ะ? ทำไมเราไม่พูดเรื่องเซ็กส์ก็คือเรื่องเซ็กส์ไปเลย” เขาถามย้ำ

“ความรู้สึกที่ได้จากเซ็กส์มันคือความเร่าร้อนกว่านั้น แล้วทำไมเวลาเราพูดถึงมันถึงกลายเป็นความสงบงาม กลายเป็นความเย็นสบาย ทำไมเราพูดถึงเซ็กส์แบบเร่าร้อนไม่ได้ พูดถึงมัน ในแง่การเป็นเดรัจฉานของมนุษย์ไม่ได้”

“ทำไมเซ็กส์ต้องกลายเป็นแค่กิเลส ตัณหา มันก็เกิดจากที่มนุษย์เอาถ้อยคำอะไรเหล่านี้แหละไปกำกับมัน เราอยู่ในสังคมที่ปล่อยให้กลุ่มคำมาจำกัดพฤติกรรมทางเพศของเรา แม้แต่การพูดเรื่องเซ็กส์ เรายังพูดไม่ได้เลย” นั่นสิ แม้แต่การพูดถึงเรื่องธรรมดาที่สุดของมนุษย์อย่างการพูดเรื่องเซ็กส์เรายังพูดไม่ได้เลย เราทวนคำกับตัวเองในใจ

ศิลปะไม่ใช่ศีลธรรม

ราวกับว่าการพูดคุยผ่านช่วงการเล้าโลม มาถึงจุดที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เราจึงไม่ทิ้งช่วงให้เสียจังหวะ รีบถามต่อว่า “ถ้าอย่างนั้นในความคิดของคุณภาพโป๊ ภาพเปลือย ความหื่น ศิลปะ ความงาม ศีลธรรม มันก็ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนล่ะสิ?”

“แล้วทำไมศิลปะต้องทำหน้าที่เป็นศีลธรรมที่คอยเข้าไปกำกับใจคนว่า สิ่งนี้เป็นศิลปะนะ สิ่งนี้เป็นลามกอนาจารนะ” อุทิศยืนยันหนักแน่นกับเราว่าศิลปะไม่ได้มีหน้าที่รับใช้ศีลธรรมหรือบรรทัดฐานทางสังคมที่จะมาบอกว่าการเปิดเห็นอวัยวะเพศแปลว่าโป๊ แต่ถ้าไม่เห็นแปลว่าเป็นความงาม มีสุนทรียะ เป็นศิลปะ “คือถ้ามันออกมาจากเงื่อนไขแบบนั้น มันก็คือการเซ็นเซอร์นั่นแหละ ไม่ใช่ศิลปะ”

เมื่อเราถามลึกและน้ำเน่าไปกว่านั้นว่าถ้ามันไม่มีเส้นแบ่งระหว่างโป๊ อนาจาร ศิลปะ แล้วเส้นระหว่างเซ็กส์กับรักในทัศนะของอุทิศ เหมะมูลล่ะมีไหม เขานิ่งนึกไปสักพัก ก่อนจะตอบเราสั้น ๆ แต่จริงใจที่สุดเท่าที่เราเคยได้ยินมาคือ “ไม่รู้โว้ย” ก่อนที่เราจะหัวเราะพร้อมกันอีกครั้ง

ถ้าศิลปะไม่ได้มีหน้าที่ในการขีดเส้นว่าอะไรควรเป็นศิลปะ อะไรควรเป็นได้แค่ภาพโป๊ที่คนไม่ให้ค่า แล้วสังคมล่ะคุณคิดว่าสังคมเปิดกว้างมากพอที่จะยอมรับงานแบบที่โจ่งแจ้ง ฉูดฉาดของคุณมากพอหรือยัง? เรายิงคำถามกลบคำถามน้ำเน่าเมื่อครู่

“เราว่าคนน่ะเปิดกว้าง ผู้คนในสังคมมีความพร้อมที่จะเปิดกว้างนะ แต่มันก็จะมีคนที่เสียงดังบางคนพยายามอ้างว่าสังคม หรือพยายามใช้คำนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนอะไรบางอย่างแล้วพยายามคอยกำหนด หรือพยายามทำตัวเป็นบรรทัดฐานอะไรบางอย่างแล้วบอกว่าแบบนี้ยังไม่พร้อม ผู้คนในสังคมยังไม่พร้อม และคนเหล่านี้

คนที่ทำตัวเหมือนมีศีลธรรมเหล่านี้ก็จะชอบทำเสียงดังขึ้นมา แล้วก็ทำให้เกิดศีลธรรมสำเร็จรูปขึ้นมาเพื่อที่จะคอยพิทักษ์ความสงบเรียบร้อยอีนดีงามของสังคม แล้วก็คอยบอกว่าใครพร้อม ไม่พร้อม คอยบอกว่าสังคมเป็นแบบไหน พร้อมหรือยัง”

“ถ้ามองผู้คนในสังคม เราว่ามีความพร้อมสูงด้วยซ้ำ เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม”

แต่เราก็เชื่อว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจ มันอาจจะมีคนประเภทที่ตำหนิว่าแย่จัง ไร้ศีลธรรมมาก ภาพแบบนี้ คุณมีอะไรจะอธิบายคนแบบนั้นคนที่วางตัวเองเป็นไม้บรรทัดของสังคม อยากบอกเขาว่าอะไร?

“ใจเย็น ๆ ๆ อย่าเพิ่งตื่นตระหนก นั่งคิดซักแป๊ปหนึ่ง รอดู มันอาจไม่ใช่อย่างที่ตัวเองคิดไปไกลก็ได้ อาจไม่ใช่เรื่องบ่อนทำลายหรือทำร้ายสังคมอย่างที่เราคิดก็ได้”

“มันต้องเปิดพื้นที่ความท้าทาย มันต้องเปิดพื้นที่ให้กับความอิสระเสรี เปิดใจให้กว้าง ๆ แล้วก็ให้เกียรติคนอื่น ๆ ได้เรียนรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นด้วยตัวเขาเอง อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไปก่อน”

เราเชื่อว่าต้องมีคนที่เข้าใจและอยากจะมาเสพงานเหล่านี้นฐานะศิลปะ ภาพเปลือย ภาพโป๊ หรืออะไรก็ตาม แต่อะไรคือข้อดีของการได้มาดูงานจริง ๆ กับตามากกว่ารอดูจากภาพในเฟซบุ๊กที่เขาถ่าย ๆ กัน?

“งานเพนท์ติ้ง งานดรอว์อิ้งมันดีกว่าเสมอที่ได้มาดูงานจริง ๆ คือเวลาที่มันเป็นงานจิตรกรรมเนี่ยมันไม่เหมือนการเห็นจากภาพถ่าย หรือจากแคตตาล็อกงาน ทุกคนควรจะได้มีประสบการณ์ในการยืนเผชิญหน้าจริง ๆ กับตัวงานของมัน มันจะได้เห็นรายละเอียดที่มากกว่าจะเห็นได้จากภาพถ่ายหรือหนังสือ” เขาย้ำอีกครั้งว่าส่วนสำคัญของงานศิลปะคือการได้มาเห็นงานอยู่ตรงหน้าจริง ๆ มาดูลายเส้น ดูวิธีที่มันถูกเขียนขึ้นอย่างลื่นไหล อย่างมั่นใจ หรืออย่างขัดเขิน มันมีรายละเอียดที่ทำให้การได้มาเห็นสามารถสัมผัสกับตัวงานได้ดีกว่า

แม้ไม่ต้องย้ำเราก็จะกลับไปดูงานซ้ำอีกรอบแน่นอน เพื่อซึมซาบเซ็กส์ในฐานะเซ็กส์ เซ็กส์ไม่ใช่สิ่งอื่น เพื่อบอกกับตัวเองและคนรอบข้างว่าเซ็กส์ไม่ใช่เรื่องสกปรก แต่เราสามารถพูดถึงมันได้เหมือนที่เราสามารถพูดเรื่องอื่น ๆ ได้ทั้งด้านงดงามและด้านที่ไม่งดงาม

สำหรับใครที่สนใจสัมผัสประสบการณ์แบบที่เราได้รับนิทรรศการร่างของปรารถนาเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคมไปจนถึงวันที่ 30 กันยายนที่ ARTIST+RUN ถนนนราธิวาส ซอย 22

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line