Work

OVERQUALIFIED: “ขอโทษนะ คุณดีเกินไป”สาเหตุแท้จริงที่บริษัทไม่รับเราเมื่อเขาบอกว่าเราดีเกิน

By: PSYCAT February 17, 2020

ในยุคที่งานไม่ได้หาง่าย ๆ แถมหลายองค์กรยังปลดคนออกเพื่อความคล่องตัว การสมัครงานแล้วโดนปฏิเสธจึงอาจเกิดขึ้นได้กับใครหลาย ๆ คน บางคนโดนปฏิเสธเพราะคุณสมบัติไม่ถึง เพราะตำแหน่งในองค์กรไม่ว่าง หรือเพราะความต้องการไม่ตรงกัน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการปฏิเสธที่ผู้ชายอย่างเราเข้าใจได้

แต่เมื่อโดนปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานด้วยเหตุผลคุณดีเกินไปหรือ OVERQUALIFIED เรามักจะงงเป็นไก่ตาแตก คิดว่าจะมีแค่คนรักเท่านั้นที่บอกปฏิเสธเราด้วยเหตุผลนี้ อ้าว แต่ที่ทำงานไม่ต้องการคนดี ๆ หรอกเหรอ? ดีเกินไปมันเกินไปอย่างไร? ความหมายที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ใต้คำว่า OVERQUALIFIED คืออะไรกันแน่

UNLOCKMEN พาสำรวจความหมายที่ซ่อนอยู่ใต้คำว่าดีเกินไปที่องค์กรใช้ปฏิเสธไม่รับเราเข้าทำงาน

ไม่ได้ดีเกินไป แต่เราจ่ายคุณไม่ไหว

บางทีคำว่าดีเกินไป หรือ OVERQUALIFIED  นั้นไม่ได้หมายความว่าเรามีคุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบเกินที่เขาต้องการแต่อย่างใด แต่อาจหมายความว่าคุณสมบัติเรานั้นก็ตรงกับประกาศรับสมัครของตำแหน่งนั้นทุกประการ แต่เขาไม่สามารถจ่ายค่าคุณสมบัติที่เราเรียกไปได้ไหว

แล้วจริง ๆ เขาต้องการอะไร? เขาต้องการคนที่คุณสมบัติเท่านี้แต่เรียกค่าตอบแทนต่ำกว่าเรา รวมถึงยินดีรับคนที่คุณสมบัติไม่ถึง (แต่บอกว่าจะทำตามคุณสมบัตินั้นให้ถึง) และเรียกค่าตอบแทนต่ำกว่า ดังนั้นไม่ต้องมัวกังวลว่าเราดีเกินไป หรือสิ่งที่เรามีมันแย่ แต่แค่ความต้องการเขากับเราเรื่องค่าตอบแทนต่อคุณสมบัติที่เหมาะสมนั้นไม่ตรงกัน

แม้ประสบการณ์และการเรียนรู้จะสำคัญกว่าค่าตอบแทน แต่การทำงานในองค์กรที่ไม่เห็นคุณค่าของความสามารถเรา ก็เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มเสี่ยง เพราะหมายความว่าทัศนคติขององค์กรอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสามารถคนทำงานมากพอ และนั่นอาจทำให้คุณทุกข์ทรมานมากกว่ามีความสุข

คุณดีพอนะ แต่เรากลัวว่าคุณจะจากเราไปไว

คำว่าดีเกินไปจากบางองค์กร คือการบอกว่าเรานี่แหละดีมาก เหมาะสมที่สุด แต่เพราะเรายิ่งดีพร้อม ยิ่งดูสมบูรณ์แบบมากเท่าไรกลายเป็นข้อกังวลขององค์กรมากเท่านั้น เนื่องจากองค์กรมักมองว่าคนที่เก่ง มีศักยภาพคือบุคลากรที่หลายองค์กรล้วนต้องการตัว

การจะรับคนที่เก่งมาก สมบูรณ์แบบมาก จึงหมายถึงความเสี่ยงขององค์กรถ้าจะต้องเสียคนเก่งคนนั้นไป เพราะคนเก่งก็มีโอกาสได้รับการเสนองานมากกว่า ได้รับการเสนอค่าตอบแทนที่ดีกว่า คำว่าดีเกินไปของบางองค์กรจึงหมายถึงการที่องค์กรไม่พร้อมรับความเสี่ยงกับการที่จะรับคนเก่ง ๆ อย่างคุณมาแล้วต้องเสียคุณไปในระยะเวลาไม่นาน

กรณีนี้นับเป็นเหตุผลที่เราพอป้องกันตัวเองได้ เมื่อไปสัมภาษณ์งานแต่ละครั้งการบอกเป้าหมายที่ชัดเจนของการมาทำงานที่นี่ โดยอาจพูดถึง Career Path ว่าเราอยากร่วมงานกับที่นี่ในระยะยาว ไม่ต้องการเปลี่ยนงานไปไหนบ่อย ๆ หรือเปลี่ยนในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อให้องค์กรนั้นมั่นใจมากขึ้นว่าเขาจะไม่เสียเราไปให้ใคร และเราจะไม่โดนปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าคุณดีเกินไปในบริบทนี้อีก

คุณดีเลยแหละ แต่ตำแหน่งนี้อาจไม่ใช่อย่างที่คุณคาดหวังน่ะสิ

นอกจากทักษะความสามารถแล้ว สิ่งหนึ่งที่ใครหลายคนถูกปฏิเสธจากองค์กรคือเรื่องทัศนคติเกี่ยวกับการทำงาน เราเชื่อว่าผู้ชายหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของมนุษย์ที่มีทัศนคติเรื่องงานแย่แสนแย่จนไม่มีใครอยากรับเข้าทำงาน หรืออยากทำงานด้วยอีกต่อไป

แต่ในบางกรณีทันศนคติการทำงานที่แสนกระตือรือร้น ทะเยอทะยาน ต้องการความท้าทายตลอดเวลา และวางแผนการก้าวหน้าอย่างเป็นระบบ ก็อาจทำให้เราถูกมองว่าดีเกินไปได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่ความผิดของเราแต่อย่างใด

แต่เป็นเพราะว่าองค์กรนั้นมองว่าตำแหน่งที่เราสมัครเข้าไปนั้นไม่อาจให้ Career Growth อย่างที่เราและทัศนคติของเราเป็นได้ ในแง่หนึ่งก็นับว่าองค์กรซื่อสัตย์มากพอที่บอกกับเราตรง ๆ ว่าตำแหน่งนี้เป็นทางตันซึ่งอาจไม่เหมาะกับคนที่ปรารถนาจะป่ายปีนไปให้ถึงยอดเขาอย่างเรา (จะได้ไม่เสียเวลาทั้งคู่)

คุณดีทุกประการ แต่อายุคุณไม่ใช่แบบที่เราต้องการ

อีกเหตุผลหนึ่งที่องค์กรปฏิเสธไม่รับเราเข้าทำงาน แต่ใช้คำว่าคุณดีเกินไปมาบังหน้าคือข้อจำกัดเรื่องอายุ ถ้าในประกาศรับสมัครงานระบุไว้เสร็จสรรพเรื่องอายุก็อาจไม่เสียเวลาเราเท่าไร แต่องค์กรบางแห่งก็ไม่ได้ระบุอายุที่ต้องการแน่นอน ระบุเพียงประสบการณ์การทำงาน (ซึ่งเราก็มีจำนวนปีที่ทำงานตรงตามที่บริษัทต้องการทุกอย่าง)

แต่เอาเข้าจริงบางบริษัทก็มีอายุที่ต้องการอยู่ในใจ เช่น ตำแหน่งบางตำแหน่งนอกจากระบุคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว ก็ต้องการคนมีอายุมากหน่อยเพื่อภาพลักษณ์ภูมิฐาน แล้วเราดันอายุน้อยเกินไป หรือบางตำแหน่งที่อยากได้คนทำงานเป็นหน้าเป็นตาที่ให้ภาพลักษณ์แบบคนรุ่นใหม่ แต่เราอายุเกินที่เขาคิดไว้ในใจ

ถ้าเป็นเพราะเหตุผลนี้ แต่ทางบริษัทไม่แฟร์พอที่จะประกาศให้ชัดเจนเรื่องอายุ ก็อย่ามัวกังวลใจว่าทำไมเราดีเกินไป ดีเกินไปหมายความว่าอะไรอยู่ให้เครียดเปล่า ๆ เดินหน้าหาองค์กรใหม่ที่แฟร์มากพอที่จะประกาศความต้องการตัวเองให้ชัดดีกว่า

ดีเกินไปไม่ว่าจะออกมาจากปากแฟนที่บอกเลิก หรือออกมาจากปากบริษัทที่ไม่รับเราเข้าทำงานก็เจ็บทั้งนั้น ปัญหาหัวใจเราอาจแก้ไขให้ไม่ได้ แต่กับเรื่องบริษัท คำว่าดีเกินไปก็มีหลายความหมายที่ซ่อนอยู่ ดังนั้นอย่ามัวกังวลว่าเราต้องเก่งน้อยลง ดีน้อยลงหรือเปล่า แต่ Move On ไปหาที่ที่เหมาะสมและเห็นคุณค่าของเราที่สุดต่อไปกันเถอะ

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line