Life

ทำไมคนเหงาถึงเจ็บปวด ? เข้าใจความเหงาและวิธีการรับมือกับมัน

By: unlockmen October 14, 2020

หลายคนอาจรู้สึกแปลก ๆ กับสิ่งที่เรียกว่าความเหงา เพราะบางครั้งต่อให้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย ก็ยังรู้สึกเหงาได้เหมือนกัน

เราอยากบอกว่า ความจริงแล้วความเหงาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ใช่แค่เพราะไม่มีเพื่อนเพียงอย่างเดียว มันยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ความเหงาเกิดขึ้นมาเหมือนกัน เช่น เราอาจกำลังมองหาความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ หรือ เราอาจจะยังไม่คุ้นชินกับที่ที่เราอยู่ หรือเราอาจมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ความเหงาก็เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตเราจริง ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยแล้ว และด้วยความปราถนาดีที่อยากเห็นทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี UNLOCKMEN เลยอยากอธิบายถึงพิษภัยของความเหงา และวิธีการรับมือกับมัน


งานวิจัยเผยความเหงาทำให้ร่างกายอ่อนแอ!

ว่ากันว่า ความเหงาทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ และมีอันตรายถึงชีวิต งานวิจัยชิ้นหนึ่งโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Brigham Young University (2015) ได้ทำการตรวจสอบ (meta-review) งานวิจัย 70 ชิ้น และพบว่า ความเหงา (loneliness) เพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต 26% เทียบกับซึมเศร้า และวิตกกังวลที่เพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต 21%

นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยที่บอกว่า ความเหงาเป็นอันตรายต่อชีวิตเหมือนสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน และคนเหงามีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีถึง 50%!

โดยสาเหตุที่คนเหงามีโอกาสเสียชีวิตสูง อาจเป็นเพราะพวกเขามีความอ่อนแอต่อโรคร้ายแรง เกิดจากความเหงาที่ส่งผลให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ลดความสามารถในการต่อสู้กับภัยคุกคามในร่างกายน้อยลง ส่งผลให้พวกเขามีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัย University of California (2017) พบว่าเซลล์ของคนที่ใช้ชีวิตกับความเหงาเรื้อรัง (chronic loneliness) จะมีความแตกต่างจากคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ที่ทรมานกับ chronic loneliness จะมีความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรคได้น้อยลง ร่างกายเกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคระบบประสาทเสื่อม (neurodegenerative disease) ง่ายขึ้นตามมาด้วย

ทีมวิจัยยังพบว่า ร่างกายของเราตอบสนองต่อ chronic loneliness ไม่ต่างจากที่เราตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง (chronic stress) เช่น การเกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจน หรือการใช้ชีวิตหลังมีความเครียดจากประสบการณ์ร้าย ๆ (post-traumatic stress) กล่าวคือ มันทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด (cortisol) และอะดรีนาลีน (epinephrine) เหมือนเวลาที่เกิดความเครียดนั้นเอง ซึ่งเมื่อฮอร์โมนเหล่านี้อยู่ในเลือด จะส่งผลต่อการทำงานของภูมิคุ้มกัน

ความร้ายกาจของความเหงาอีกอย่างหนึ่ง คือ เวลาเหงา เราอาจไม่ได้เหงาแค่คนเดียว แต่คนรอบข้างก็อาจเหงาตามได้ด้วยเช่นกัน งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Personality and Social Psychology (2009) ชี้ให้เห็นว่า ความเหงาอาจติดต่อไปยังคนอื่นได้จากผลจากการวิจัยเป็นเวลา 10 ปี พบว่าคนที่ใกล้ชิดกับคนเหงาจะมีโอกาสเหงามากขึ้น 52%


 

รับมือกับความเหงาอย่างมีคุณภาพ

เมื่อความเหงาเป็นดั่งโรคติดต่อและอาจทำให้เราตายเร็วขึ้น เราเลยจำเป็นต้องให้ความสำคัญและหาวิธีการรับมือกับมัน เพราะฉะนั้น เมื่อทุกคนเหงา เราเลยอยากให้ทุกคนจำ 5 สิ่งนี้ไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเหงาเล่นงานมากเกินไป

การเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อความเหงาก่อน เพราะหากเรามองว่าความเหงาเป็นความจริงเสมอ เราคงไม่มีวันหนีจากมันได้ ไม่สามารถหยุดคิดว่าตัวเองไร้คุณค่าได้ ลองมองว่าความเหงาเป็นเพียงความรู้สึก ไม่ใช่ว่าเราโดดเดียวจริงๆ จะช่วยให้เราไม่จมกับความเหงาและไม่ทุกข์ทรมานกับมันมากเกินไป

ให้ความสำคัญกับปัจจุบัน เวลารู้สึกดีกับอะไรบางอย่างก็แชร์ให้คนอื่นรับรู้ เช่น เพื่อน หรือ เพื่อนร่วมงาน ไม่จำเป็นต้องแชร์เรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่ทำให้เรามีความสุข เช่น การได้ช่วยเหลือคนอื่น เป็นต้น สิ่งนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนอื่น และทำให้เรารอดพ้นจากความเหงาได้

สนใจความต้องการและอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราสนใจความเหงาของตัวเองน้อยลง เพราะความเหงาทำให้เราโฟกัสแต่เรื่องของตัวเอง และจมอยู่กับตัวเอง เพราะฉะนั้น ลองคิดถึงคนอื่นมากขึ้น เช่น ลองอวยพรคนอื่นให้เจอกับสิ่งดีๆ หรือ ยิ้มให้กับคนที่ได้เจอ จะช่วยให้เรามีความสุขและรู้สึกเชื่อมต่อกับคนอื่นมากขึ้น

หาเพื่อนสนิทที่เราไว้ใจสัก 3 – 4 คน จะช่วยให้เรารู้สึกหายเหงาได้ เพราะความเหงาเกิดขึ้นได้จากการขาดความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ เมื่อไม่มีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ ร่างกายของเราก็เลยสร้างความเหงาขึ้นมา เพื่อให้เรามองหามัน ดังนั้น อย่าเลือกคบเพื่อนแบบเน้นปริมาณ แต่ต้องเน้นคุณภาพจะดีที่สุด!

คุยกับคนแปลกหน้า งานวิจัยเผยว่า การมีปฏิสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ กับคนแปลกหน้า เช่น คุยกับบาริสต้าหรือพนักงานในร้านกาแฟอาจช่วยลดความเหงาได้ และทำให้เรารู้สึกเชื่อมต่อทางสังคมมากขึ้นได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ลองทักทายหรือเปิดบทสนทานกับคนใหม่ๆ ซะ!!


 

Appendixs: 1 / 2 / 3   

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line