Business

‘เมื่อความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง’ งานวิจัยเผย เรื่องที่เรากังวลส่วนใหญ่มักไม่เป็นความจริง

By: unlockmen September 3, 2020

หลายคนอาจไม่ค่อยชอบสิ่งที่เรียกว่า ‘ความกลัว’ เท่าไหร่ เพราะมันทำให้เราทุกข์ และบางครั้งมันก็รบกวนชีวิตเราจนเราไม่เป็นอันทำอะไร แต่รู้ไหมว่า ความกลัวส่วนใหญ่มักไม่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงสิ่งที่เราคิดไปเอง และความกลัวก็มีประโยชน์ถ้าเรารู้จักใช้ประโยชน์จากมัน ซึ่งในบทความนี้ UNLOCKMEN อยากให้อธิบายเรื่องเหล่านี้ให้ทุกคนฟัง

หลายคนอาจคุ้นเคยกับแนวคิดที่ว่า ‘ความกลัวเป็นสิ่งที่ไม่จริง’ เพราะเคยดูภาพยนตร์แนวไซไฟเรื่อง ‘After Earth (2013)’ ซึ่งมีฉากหนึ่งที่ ตัวละครเอก Cypher Raige (Will Smith) ผู้บัญชาการหน่วยยูไนเต็ด เรนเจอร์ ได้สั่งสอนลูกชายของเขา Kitai Raige (Jaden Smith) ถึงเรื่องของความกลัวไว้ได้อย่างคมคายว่า

“ความกลัวเป็นสิ่งที่ไม่จริง ความกลัวอยู่ได้แค่ในการคิดถึงอนาคตของเราเอง มันเป็นผลผลิตของจินตนาการ ทำให้เรากลัวในสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นเลยในปัจจุบัน และอาจจะไม่มีวันเกิดขึ้น (Fear is not real. The only place that fear can exist is in our thoughts of the future. It is a product of our imagination, causing us to fear things that do not at present and may not ever exist)”

ซึ่งสิ่งที่ Cypher Raige กล่าวไว้ ก็อาจสามารถนำมาใช้ได้ในโลกของความเป็นจริงด้วย เพราะงานวิจัยล่าสุดจากวารสาร Behavior Therapy (2019) ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ได้แสดงให้เราเห็นว่าความกลัวของเราส่วนมากจะไม่เป็นความจริง

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยภาวะวิตกกังวลทั่วไป (GAD หรือ Generalized Anxiety Disorder) จำนวน 29 ราย เพื่อดูว่าพวกเขาคาดเดาผลร้ายที่จะเกิดขึ้นได้แม่นยำมากแค่ไหน โดยในช่วง 10 วันแรกของการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องจดบันทึกความกังวลของตัวเอง หลังกจากนั้น ติดตามผลในอีก 30 วันถัดมาว่าความกลัวของพวกเขา มีอันไหนบ้างที่เป็นจริง

ผลการวิจัยพบว่า 91.4 % ของสิ่งที่ผู้เข้าร่วมการทดลองกังวลทั้งหมด ไม่ได้เป็นความจริง แถมถ้าเราไปดูที่ความกังวลของผู้เข้าร่วมการทดลองรายบุคคล จะพบว่าส่วนใหญ่แต่ละคนจะมีเรื่องที่กังวลแล้วเป็นจริงคือ 0% กล่าวคือ “ไม่มีความกังวลใดที่เป็นจริงเลย”


ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า “แต่ละอารมณ์ก็มีหน้าที่ของมัน” ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ (ทำให้เราตระหนักถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น), ความสุข (ทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น), ความโกรธ (เป็นแรงจูงใจให้เราลงมือทำอะไรบางอย่าง) รวมไปถึง “ความกลัว” ที่มีบทบาทช่วยป้องกันเราจากผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น การเจ็บป่วย การขาดทุน การโดนทำโทษ เป็นต้น เพราะฉะนั้นทุกอารมณ์จึงมีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ทั้งหมด

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้อารมณ์เป็นใหญ่ในการทำเรื่องต่าง ๆ มักนำมาซึ่งปัญหา บางครั้งก็ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท หรือสงครามกลางเมืองแบบที่เราเห็นกันอยู่ ดังนั้นความกลัวที่มากเกินควบคุม จึงส่งผลเสียต่อเราเหมือนกัน


ส่วนมากความกลัวมักมาใน 2 รูปแบบ ได้แก่ “กลัวในความเป็นไปได้ที่เรื่องเลวร้ายจะเกิดขึ้นในอนาคต” “และกลัวว่าผลลัพธ์ที่เลวร้ายขั้นสุดที่พยากรณ์ไว้จะเป็นจริง” ซึ่งพอเรามีความกลัวในเรื่องอนาคตมากเกินไป เราก็จะไม่กล้าลงมือทำอะไรที่เราอยากทำในปัจจุบันเพราะกลัวว่าจะผิดพลาด หรือเปลี่ยนแปลงอะไรที่เราอยากเปลี่ยนแปลง (Comfort zone) เพราะกลัวผลด้านไม่ดีที่อาจจะเกิดขึ้นมากกว่าปัจจุบัน สุดท้ายเราก็กลายเป็นคนเก็บกด และจะเสียสุขภาพกายและจิตอีก เพราะต้องอดทนอยู่กับสิ่งที่เราไม่ชอบ อยากจะเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะความกลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น เราจึงต้องรู้จักรับมือกับความกลัวอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้มันเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากจนเกินไป จนทำให้เราไม่เป็นอันทำอะไร ซึ่งการรับมือกับความกลัวสามารถทำได้โดยใช้วิธีการต่างๆ ดังนี้

 

ทำความเข้าใจความกลัวของตัวเอง

การแก้ปัญหาที่ดีควรแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ที่ปลายเหตุ ดังนั้นเวลาเจอกับความกลัว เราควรต้องเข้าใจต้นตอของมัน โดยอาจตั้งคำถามและจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เช่นสาเหตุของความกลัว ผลของความกลัวที่มีต่อการตัดสินใจของเรา เป็นต้น

ซึ่งเมื่อเราเข้าใจความกลัวแล้ว เราจะคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น สมมติถ้าเรากลัวว่าเพื่อนร่วมงานจะเกลียดเรา เพราะกังวลว่าเราเป็นคนเข้าสังคมไม่เก่ง ไม่มีอะไรดีเด่นให้คนรอบข้างประทับใจ พอมีเวลาได้ทำความเข้าใจตัวเอง บางทีเราอาจจะคิดและเพิ่มข้อดีของตัวเองได้หลายเรื่อง เช่น เราอาจฝึนฝนการเข้าสังคมให้เก่งขึ้น โดยใช้เพื่อนร่วมงานเป็นตัวช่วยให้เราพยายามพัฒนาตัวเองก็ได้ หรือเข้าใจว่าการเข้าสังคมไม่เก่งก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นเกลียดเราจริง ๆ แต่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย หรือปรับมุมมองว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนชอบเราได้อยู่แล้ว เราจะปลงและลดความกังวลในการพยายามเข้าสังคมให้คนอื่นประทับใจ แต่ก็อาจเลือกวิธีการอื่นแทน เช่นเลือกเข้าหาเฉพาะคนที่เข้ากับเราได้ แทนที่จะต้องเข้าหาทุกคน เป็นต้น

 

อย่าเมินความกลัว

อย่างที่บอกไปว่า ทุกอารมณ์ล้วนมีประโยชน์ของมัน ดังนั้น เราเลยต้องใช้ประโยชน์จากความกลัวเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เวลาวางแผนจะลงทุนในธุรกิจใดสักธุรกิจหนึ่ง แล้วเรามีความกลัวว่าธุรกิจจะไม่ประสบความสำเร็จด้วยเหตุผลต่าง ๆ ตรงนี้ทำให้เรามองเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มองเห็นจุดด้อยบางอย่างที่ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อลดความกลัวนั้นลง ในขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่รู้สึกจมหรือเครียดกับความกลัวที่เกิดขึ้น แต่พยายามคิดต่อว่าจะใช้วิธีการไหนเพื่อไม่ให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เรากลัวมันเกิดขึ้น

และที่สำคัญ เราต้องไม่เพิกเฉยความกลัว เพราะถ้าเราเพิกเฉย เราอาจไม่ได้คิดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วน ทำให้ตัดสินใจเร็วเกินไป ซึ่งอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่แย่ได้ เช่น ถ้าเป็นการลงทุน ก็ขาดทุนหนักเพราะไม่เห็นผลเสียที่ถูกซ่อนเอาไว้ ดังนั้นเราอยากย้ำว่า เราไม่จำเป็นต้องตัดสินใจทุกเรื่องได้อย่างรวดเร็วฉับไวก็ได้ (แม้จะเป็นสกิลที่ใครหลายคนชื่นชอบก็ตาม) แต่ควรมีเวลาคิดถึงสิ่งที่เรากลัวด้วย แล้วจะมองอะไรได้อย่างถี่ถ้วนมากขึ้น

 

พูดคุยกับคนอื่น

การพูดคุยกับคนอื่นก็ช่วยให้เราเอาชนะความกลัวได้เหมือนกัน เพราะบางทีสิ่งที่เรากลัวก็เป็นสิ่งที่คนอื่นกลัว แต่เราไม่รู้ คิดว่าเราเป็นเพียงคนเดียวในโลกที่กลัวสิ่งนี้ หรือบางครั้งสิ่งที่เรากลัวอาจไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถเอาชนะได้ด้วยตัวเอง การพูดคุยกับคนอื่น เพื่อน หรือคนในครอบครัว จึงช่วยให้เรารับรู้ว่าเราไม่ได้กำลังเผชิญปัญหานี้คนเดียว แต่คนอื่นก็กำลังเผชิญปัญหาเดียวกันอยู่เหมือนกัน และอาจจะทำให้เกิดการสร้างกลุ่มที่ทุกคนช่วยกันแก้ปัญหาได้

อย่างไรก็ตาม หากคุณรู้สึกว่าความกลัวมันกัดกร่อนชีวิตของคุณมากเกินไป ทำให้คุณเครียด เป็นทุกข์ จนไม่เป็นอันทำอะไร ควรไปพบกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เพื่อรับการตรวจรักษา หรือ การช่วยเหลือที่เหมาะสม

 


Appendix: 1 / 2 / 3 /

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line