Life

WINTER BLUES ความโรแมนติกที่อาจทำให้ชีวิตเราพัง!!

By: unlockmen November 12, 2020

ฟ้าครึ้ม ๆ ลมเย็น ๆ อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกว่า ฤดูหนาว ช่างเป็นฤดูที่โรแมนติกและน่าผ่อนคลายเสียเหลือเกิน แต่สำหรับบางคน ฤดูหนาวอาจเป็นช่วงเวลาของความเหงา ความเศร้า และการจมอยู่กับความทุกข์ หรือที่เราเรียกกันว่า ซึมเศร้าฤดูหนาว (winter blues) ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต

บทความนี้ UNLOCKMEN เลยอยากพาไปรู้จักกับภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล หรือ seasonal affective disorder (SAD) เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทัน และรับมือกับมันได้ดีขึ้น


WHAT IS SAD ?

seasonal affective disorder (SAD) คือ ภาวซึมเศร้าประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ภาวะนี้มักเกิดขึ้นเป็นวงจร คือ เริ่มต้นและจบลงในเวลาเดียวกันของทุกปี

อาการ SAD มักแสดงออกมาอย่างชัดเจนในช่วงฤดูหนาว บางครั้งมันเลยถูกเรียกว่าเป็น ซึมเศร้าฤดูหนาว (winter depression) แต่ก็มีบ้างที่มีอาการในช่วงฤดูร้อน และดีขึ้นในช่วงฤดูหนาว

แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า SAD เกิดขึ้นจากสาเหตุใดอย่างชัดเจน แต่ว่ากันว่าอาจเกิดขึ้นได้จากการรับแสงที่เปลี่ยนไป เช่น การได้รับแสงแดดน้อยลง ซึ่งผลของมันทำให้สมองส่วน ‘ไฮโปทาลามัส’ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของนาฬิกาชีวิต ทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ได้แก่

เมลาโทนิน สารในสมองที่กระตุ้นความง่วง และควบคุมวงจรการหลับและการตื่น คนที่เป็น SAD จะมีวงจรการหลั่งสารนี้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม หรือ หลั่งออกมาผิดเวลา ซึ่งผลที่ตามมาอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รู้สึกง่วงเหงาหาวนอนในตอนเช้ามากขึ้น

เซโรโทนิน สารในสมองที่เกี่ยวข้องกับความกังวล ความสุข รวมถึง ความหิว และการนอนหลับ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่า การทำงานของเซโรโทนินถูกควบคุมด้วยแสง ดังนั้น การขาดแสงแดดจึงอาจทำให้เซโรโทนินต่ำลง และเพิ่มโอกาสในการเป็นภาวะซึมเศร้ามากขึ้นได้

นอกจากนี้ การได้รับแสงน้อยลงจากฤดูก่อนหน้า อาจส่งผลกระทบต่อ ‘นาฬิกาชีวิต’ (circadian rhythm) ของเราด้วย โดยอาจทำให้วงจรการทำงานของร่างกายเราในแต่ละวันผิดเพี้ยนไป และก่อให้เกิดอาการ SAD ตามมา

สำหรับใครที่สงสัยว่าตัวเองเป็น SAD หรือไม่ เราอยากให้ลองเช็คดูว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ได้แก่

    • รู้สึกได้ถึงอารมณ์ลบอย่างต่อเนื่อง เช่น เหนื่อยหน่าย หดหู่ ท้อแท้ ฯลฯ
    • ไม่มีความสุข หรือ สูญเสียความสนใจในการทำกิจกรรมประจำวัน
    • หงุดหงิดง่าย
    • รู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกผิด รู้สึกไร้ค่า
    • รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง ขาดพลังงาน และง่วงนอนในเวลาปกติ
    • นอนหลับนานกว่าปกติ และรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะตื่นนอนในตอนเช้า
    • กระหายแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) และน้ำหนักเพิ่ม

HOW TO OVERCOME ‘SAD’ ?

ข่าวดี คือ เราสามารถเอาชนะอาการซึมเศร้าฤดูหนาวได้ด้วยตัวเอง และเราก็ได้นำวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ทุกคนเอาชนะซึมเศร้าได้มาฝากด้วย ลองทำสิ่งเหล่านี้ดู แล้วสุขภาพจิตของคุณจะดีขึ้น

 

บำบัดด้วยแสง
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า อาการ SAD เกิดขึ้นได้จากการรับแสง การบำบัดด้วยแสงจึงสามารถช่วยเราในเรื่องนี้ได้ งานวิจัยบอกว่า คนที่มีอาการ winter blues ราว 50 – 80% จะมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการบำบัดด้วยแสง ดังนั้น ลองนั่งใกล้ ๆ กล่องไฟสักครึ่งชั่วโมงต่อวัน จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ควรติดตั้งฟิลเตอร์อัลตร้าไวโอเล็ตด้วย เพราะแสงสีฟ้าสามารถชะลอการทำงานของฮอร์โมนที่กระตุ้นความง่วงและตื่นตัวได้ แถมมันยังเป็นมิตรกับดวงตาเรามากกว่าแสงไฟปกติอีกด้วย

 

ทานอาหารเสริมทริพโตเฟน
เราสามารถทำให้การบำบัดด้วยแสงได้ผลมากขึ้นได้ โดยการทานอาหารเสริมทริพโตเฟนการร่วมด้วย เพราะทริพโตเฟนเป็นกรดอะมิโนที่สามารถเปลี่ยนเป็นเซโรโทนินหลังจากเข้าสู่ร่างกายของเราได้ มันจึงเป็นอาหารเสริมที่ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ดี

 

ทานปลา น้ำมันตับปลา หรือ อาหารเสริมวิตามินดี
เมื่อถึงฤดูกาลที่แสงอาทิตย์น้อยลง เราอาจได้รับวิตามินบางชนิดน้อยลง เช่น วิตามินดี ซึ่งเป็นวิตามินประเภทที่ช่วยในเรื่องของอารมณ์ การรักษาระดับน้ำตาล และระบบภูมิคุ้มกัน เราเลยอยากแนะนำให้ทานอาหารเสริมวิตามินดีกันในช่วงหน้าหนาว สารอาหารอีกชนิดหนึ่งที่เราอยากแนะนำ คือ โอเมก้าสาม ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำงานของเซลล์สมองและเลือด และเราสามารถได้รับสารอาหารชนิดนี้จากการทานน้ำมันตับปลาหรือปลา

 

นั่งหน้าไฟ
มีงานวิจัยที่บอกว่า การนั่งหน้าไฟช่วยลดความดันเลือด และทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ฉะนั้น วันหยุดฤดูหนาวนี้ ถ้าใครเหงาๆ และยังคิดไม่ออกว่าจะไปไหนดี ลองออกไปตั้งแคมป์และก่อกองไฟดู อาจช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้าหน้าหนาวได้

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดว่าอาการรุนแรง และมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เราขอแนะนำให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักบำบัด เพื่อรับการวินิจฉัย และการรักษาโรคที่ถูกต้องจะดีที่สุด


Appendixs: 1 /

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line