Life

ZERO TO HERO : “PAPER PLANES” ชีวิตที่เคยติดลบสู่จุดเริ่มต้นความสำเร็จ ที่รอคอยยาวนานเกินครึ่งทศวรรษ

By: JEDDY December 9, 2022

ช่วงนี้ดูเหมือนว่ากระแสของเพลงร็อกเริ่มจะกลับมาคึกคักมากยิ่งขึ้น สังเกตได้จากวงอย่าง Three Man Down ก็เพิ่งปรับเปลี่ยนสไตล์มาเป็นป๊อปพังก์ในเพลง “น้อง” ส่วนอีกหนึ่งวงที่ภาพของความเป็นร็อกชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มต้นคือ Paper Planes พวกเขาเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ช่วยปลุกกระแสเพลงร็อก ไล่มาตั้งแต่เพลง “เสแสร้ง” จนมาถึง “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” ที่กลายเป็นผลงานสร้างไวรัลไปทั่วบ้านทั่วเมือง ฮิตถึงขนาดเด็กอนุบาลยังต้องแหกปากร้องเพลงตาม

และเพื่อไม่ให้เป็นการหลุดขอบตกกระแส Unlockmen เลยพาทุกคนมาพูดคุยกับ 2 สมาชิกของ Paper Planes ได้แก่ ฮาย-ธันวา เกตุสุวรรณ และ เซน-นครินทร์ ขุนภักดี Kandee Studio ของ “อ๊อฟ Big Ass” ซะเลย


“ทรงอย่างแบด (Bad Boy)”

ซิงเกิ้ล “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” ถูกเผยแพร่ให้ฟังครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2022 มันใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือนก็สามารถทำยอดวิวใน Youtube ได้สูงถึง 22 ล้านวิวเข้าไปแล้ว ซึ่งแบ็คกราวน์ที่มาที่ไปของเพลงนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะมันไม่ได้อยู่ในแพลนการทำเพลงแต่แรก แต่สุดท้ายกลับถูกลัดคิวขึ้นมาทำแทนเพลงอื่น ๆ

ฮายเริ่มเล่าให้เราฟังว่า

“ตอนแรกผมได้ประโยคคำว่า ‘ทรงโคตรแบด แซดโคตรบ่อย’ มาจากเพื่อนในสตอรี่ไอจี ผมรู้สึกว่าคำนี้มันจิ้มใจมาก ผมก็เลยทักไปหาเพื่อนขอเอาไปเขียนเพลงหน่อย แล้วมีจังหวะไปทำ Song Camp ที่ต่างจังหวัดกัน ไปจบอัลบั้มกัน ก็เลยเอาเพลงนี้มาทำเป็นเพลงแรก” 

เซนเสริมว่า

“ตอนแรกที่เราวางแผนไว้คือจะไม่ไดทำเพลงนี้เป็นเพลงแรก เรามีการวางหัวข้อไว้จะทำเพลงอะไรบ้าง เพลงนี้มันเป็นแค่ทอปปิคในใจเฉย ๆ แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะทำเพลงอะไรก็เลยเอาเพลงนี้มาทำก่อนเลย ก็ทำจบกันในวันเดียวเลยครับ”

ส่วนความน่าสนใจของดนตรีเพลงนี้ คือการผสมผสานความเป็นป๊อปพังก์และอีโมแทร็ปเข้าด้วยกัน พร้อมกับเนื้อหาที่เล่าเรื่องความเศร้าให้ดูสนุก ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็มาจากประสบการณ์ตรงของทั้ง 2 สมาชิก อีกทั้งยังเป็นการเปรียบเทียบเรื่องราวการตัดสินคนแต่เพียงภายนอกก็ได้เช่นกัน

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือในตอนแรกทางค่ายเลือกจะปล่อยอีกเพลงก่อน แต่สุดท้ายก็กลายเป็น “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” ที่ได้ปล่อยหลังจากที่ได้ประชุมกับทีมงาน


โอลด์สคูลและโมเดิร์นในเพลงเดียว

อย่างที่กล่าวไปว่าพาร์ตดนตรีของ Paper Planes มีทั้งความโอลด์สคูลของป๊อปพังก์ยุค 2000’s และดนตรีแทร็ป อีกหนึ่งแขนงของสายอิเลกทรอนิกส์ ซึ่งได้รับความนิยมในยุคปัจจุบัน นี่คือส่วนผสมที่ลงตัวจนเกิดซาวด์อันเป็นเอกลักษณ์ของทางวง โดยไอเดียดังกล่าวมีที่มาที่ไปดังนี้

ฮาย…

“มันเกิดจากการที่เราฟังเพลงประมาณนี้อยู่แล้วครับ เรารู้สึกว่าเป็นคนที่ชอบทดลอง เราทั้งคู่ทำงานเบื้องหลังด้วย มีโอกาสทำเพลงป๊อปเยอะมาก ทำให้เรามีเซนส์ของความเป็นป๊อป แต่เราก็มี DNA ของความเป็นร็อกแบบธรรมชาติ มันก็เลยง่ายกับการนำ 2 สิ่งนี้มารวมกัน ก็เลยใส่มันเข้าไปแบบทื่อ ๆ เลยครับ”

เซน…

“เราโตมากับเพลงยุคเก่า ปัจจุบันเราก็ชอบเพลงแบบใหม่ด้วย เราก็แค่เอา 2 สิ่งมาผสมกันเท่านั้นเองครับ”


จาก 3 เหลือ 2

ก่อนที่วง Paper Planes จะปล่อยเพลง “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” ออกมา พวกเขาก็พบความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญภายในวงอีกครั้ง เมื่อ “หยก” มือกีตาร์ ได้ตัดสินใจลาออกจากวงเพื่อไปใช้เวลากับครอบครัว ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรก เพราะเมื่อไม่กี่ปีก่อน “แจ๊ซ” มือกลองก็ได้ลาออกจากวงไปเช่นกัน (ปัจจุบันกลับมาตีเป็นแบ็คอัพให้) เรื่องดังกล่าวได้ส่งผลกระทบให้กับวงมากน้อยขนาดไหน พวกเขามีคำตอบให้ดังนี้

ฮาย…

“ไม่ค่อยมีผลกระทบเท่าไหร่ครับ การทำงานก็ไม่ค่อยเปลี่ยนด้วย อย่างตอนไป Camp ก็จะทำเพลงกัน 2 สมาชิกคือผมกับเซน ส่วนที่เหลือจะเป็นคนช่วยสร้างบรรยากาศครับ”

เซน…

“อย่างเพลงเก่า ๆ ดนตรีก็จะเริ่มต้นจากฮายอยู่แล้ว แบบฮายขึ้นกีตาร์มาก่อนแล้วคนอื่นค่อยมาเล่นตาม แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นทำเอง อัดเองพร้อมกันไปเลยครับ”

ฮาย…

“ตามปกติผมจะเป็นคนที่มีเรื่องในหัวตลอดเวลา ก็จะปรึกษาเพื่อนตลอดว่าไดเรคชั่นเพลงเป็นแบบนี้นะ แบบนั้นนะ ผมเป็นขึ้นโครงไว้ แล้วเซนก็จะมาเสริมรายละเอียดเพิ่มเติมครับ”


ชีวิตกับการถูกบูลลี่

ปัจจุบันสังคมทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการถูกบูลลี่มากยิ่งขึ้น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตามแม้ว่ามันเริ่มจะดีขึ้น แต่การบูลลี่ก็ยังถูกพบเห็นอยู่เป็นประจำ ไม่เว้นแม้แต่สมาชิกวง Paper Planes อย่างฮาย ที่ก่อนหน้านี้หลาย ๆ คนอาจจะพอได้เห็นคอมเมนต์วิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของเจ้าตัวกันมาบ้าง เรามาฟังความเห็นจากฮายและเซนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวกันดีกว่าครับ

ฮาย…

“สังคมของการบูลลี่มันมีมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วครับ ด้วยลักษณะของผมเมื่อก่อนคือฟันเหยิน ผมก็จะโดนล้อตลอด มีอยู่เรื่องนึงฮามาก เป็นการบูลลี่ครั้งแรกที่ผมไม่อยากไปโรงเรียน ผมเดินอยู่หน้าชั้นเรียน แล้วแขนผมไปทับขี้นก

หลังจากนั้นมาตลอดทั้งเทอมโดนเรียกว่า ‘ไอขี้นก’ จนผมไม่อยากไปโรงเรียนเลยครับ พอมองย้อนกลับไปก็เลยรู้ว่านี่แหล่ะคือการบูลลี่ จริง ๆ เมื่อก่อนเหมือนเป็นเรื่องปกติเลย”

เซน…

“ผมเมื่อก่อนโดนเรื่องสีผิว เพราะตัวดำเตะบอลบ่อย โดนล้อว่าเฉาก๊วยเป็นประจำเลยครับ”

ฮาย…

“พอมาเข้ามาเป็นศิลปินแล้วก็โดนหนักเลยครับ ก็โดนทั้งเรื่องหาว่าก็อปวงนู้น วงนี้ โดนจนชินไปเลย แล้วก็มีตอนที่มาคบกับแฟนคนนึงที่เป็นที่รู้จักหน่อย อันนี้โดนหนักเลย มีผู้ชายเกลียดเยอะมากแบบไร้เหตุผล แล้วก็มีผู้หญิงมาเกลียดด้วย”

“ตอนนั้นผมก็งงไปเลยว่าทำไมทุกคนถึงเป็นแบบนี้ ไม่เข้าใจวิธีคิดของคน ทำไมทุกคนถึงเกลียดเราง่ายมากจากข้อความไม่กี่ข้อความ หรือภาพเพียงไม่กี่ภาพ หรือสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาเอง”

ตอนนั้นผม Lost ไปเลย รู้สึกเกลียดโลกภายนอก ไม่อยากคบกับใครเลย อยู่แค่กลุ่มเพื่อนพอแล้ว ทำให้รู้สึกว่าคนเราอยู่แค่เปลือกมาก หรือแม้กระทั่งในวันที่เพลงเราเริ่มประสบความสำเร็จก็ยังโดน ทั้งวงอะไรวะ ดังเพลงเดียวจะเล่นคอนเสิร์ตยังไง เพลงเชี่ยอะไรวะ ประมาณนี้ครับ”

เซน…

“ผมเจอแบบเพลงดังท่อนเดียว ผมก็คุยกับเพื่อนบ่อยนะ ปกติเพลงมันต้องดังกี่ท่อนวะ? ผมก็นึกถึงเพลงอื่นเข้าก็ดังท่อนฮุคนะครับ”

ปัจจุบันทั้งฮายและเซน จัดการกับเรื่องนี้ได้โดยการไม่ให้ความสนใจกับเรื่องแง่ลบ และมุ่งมั่นตั้งใจทำผลงานแทน ซึ่งแตกต่างจากการแก้ไขปัญหาตอนเด็ก ๆ ที่ไม่ถูกต้องเท่าที่ควร


พาร์ตเบื้องหลัง

นอกจากจะประสบความสำเร็จกับงานเบื้องหน้า อีกมุมหนึ่งทั้งฮายและเซน ก็ยังเป็นคนที่ทำงานเบื้องหลังให้กับศิลปินดัง ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Wonderframe, Gavin D, Mirr, Yes’Sir Days, Lomosonic, กวาง AB Normal และอีกมากมาย

ฮาย…

“ของผมก็จะทำงานร่วมกับเซน หลัก ๆ ผมจะทำโปรดิวซ์ ส่วนเซนก็จะเป็นโค-โปรดิวซ์เซอร์ ทำ Editor ทำ Engineer การทำงานจะคล้าย ๆ กับทำกับวงเลยครับ ผมก็เป็นคนขึ้นเสาเข็ม ขึ้นองค์ประกอบของเพลง มีพวก Element มี Material แล้วก็ส่งไปให้เซนทำต่อจนจบเพลงครับ ก็จะทำงานคู่กันตลอด”

เซน…

“ฮายเป็นคนที่โตขึ้นก็จะคอยดึงเพื่อนขึ้นไปด้วยกัน คือผมได้เรียนรู้การทำโปรดิวซ์เซอร์ว่าต้องทำอะไรบ้างนอกจากเพลง ก็จะมีเรื่องการจัดการค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องด้วยครับ”

ฮาย…

“ผมเป็นคนที่ชอบให้เพื่อนโตไปด้วย ผมรู้สึกว่ามีความเป็นลีดเดอร์ในตัวประมาณนึง พอเรามีโอกาสเติบโตเราก็อยากให้เพื่อนโตไปกับเรา ลึก ๆ แล้วผมเป็นคนชอบช่วยเหลือเพื่อนด้วยแก่นจริง ๆ ผมเองก็เทรนด์เซนจากทำงานได้ประมาณนึง จนสามารถทำงานร่วมกันได้ทั้งหมด”

ทั้งฮายและเซน จัดได้ว่าเป็นรูปแบบของศิลปินยุคใหม่โดยแท้จริง เพราะสามารถจบทุกกระบวนการทำเพลงด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ในฐานะคนเบื้องหลังด้วยเช่นกัน


มาม่าจากเศษเหรียญ และซาลาเปาจากทรูพอยท์

ความสำเร็จในวันนี้มักจะมาจากความลำบากในอดีตเสมอ และทั้ง 2 คนก็เคยเผชิญความสาหัสในชีวิตมาไม่น้อยเช่นกัน ถึงขนาดต้องหาเหรียญเพื่อซื้อมาม่า และต้องใช้ทรูพอยท์แลกซาลาเปาทานเพื่อให้รอดพ้นจากความหิวเพราะไม่มีเงิน

ฮาย…

“มันเหมือนหนังชีวิตเลยครับ ผมเริ่มออกจากบ้านมาแบบไม่มีอะไร มาอยู่ห้องเช่าแบบห้องแถวเล็ก ๆ เลย ผมก็เลือกไม่กลับไปที่บ้าน เพราะอยากสร้างฝันให้ตัวเอง ผมพยายามหนีจากความคิดเดิม ๆ จากที่บ้านที่บอกว่าไม่ต้องทำอะไรเยอะ

แล้วผมก็ค่อย ๆ ขยับมาเป็นเล่นกลางคืน ไปทำเทคนิเชียนให้กับวง Zeal หลังจากนั้นก็เริ่มมีเงินเยอะขึ้น ได้ย้ายห้องไปอยู่ที่ที่ดีขึ้น เริ่มได้มาทำงานโปรดิวซ์ มาเป็นศิลปิน จนชีวิตปัจจุบันดีขึ้นมากเลยครับ”

“แต่ช่วงลำบากจริง ๆ คือผมหาเหรียญซื้อมาม่ามาทานเลย เพราะไม่มีเงินกินข้าว”

เซน…

“ผมรู้สึกว่าที่เราเข้ากันได้ เพราะผมกับฮายมีความคล้าย ๆ กันมาก คือเจอความลำบากมาก่อนแล้วพยายามผลักดันตัวเองให้ขึ้นมาจากจุดเดิม ๆ ให้ได้ เพราะอยากให้มันดีขึ้น ผมหางานทำตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ เลย”

“พอตอนโตมีช่วงที่หนักมากจนไม่มีเงิน จนต้องใช้ทรูพอยท์ไปแลกซาลาเปากินในเซเว่น”

“มีอีกเรื่องหนึ่ง มีช่วงหนึ่งเราไปทำงานแล้วได้เงินเดือน ซึ่งเงินมันค่อนข้างโอเคเลย สูงประมาณนึง จนมาถึงสิ้นปีแผนกปิดแบบกลางอากาศ คือเรารู้แล้วว่าสัญญาเราถึงประมาณไหน ก็คิดว่าเดี๋ยวหมดก็คงมีการต่อสัญญา แต่อันนี้มาแจ้งกระทันหันเลยว่าต้องปิดนะ”

ฮาย…

“คือผมลอยตัวเพราะจะย้ายสัญญาไปแกรมมี่พอดี แต่เซนนี่หนักเพราะรายได้จะเท่ากับศูนย์เลย ผมไม่เห็นทางไปรอดเลย ผมคิดต่อว่าถ้าผมไปทำตรงนู้นไม่มีทางจะโยนงานให้เซนได้เท่าเดิมแน่ ๆ แต่โชคดีตอนนั้นเพลง ‘เสแสร้ง’ ดังพอดี ก็เลยได้ไปออกทัวร์ รอดชีวิตกันมาได้ครับ”

เรื่องของฮายและเซน นอกจากจะสะท้อนความไม่ยอมแพ้แล้ว ยังสะท้อนถึงชีวิตจริงของศิลปินที่เพลงยังไม่ฮิตก็หมายถึงไม่สามารถขายโชว์ได้ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือปราศจากรายได้นั่นเอง เพราะกว่า Paper Planes จะเดินทางมาถึงความสำเร็จในเพลง “เสแสร้ง” ได้ มันใช้เวลานานเกือบ 6 ปีเลยทีเดียว


กระแสเพลงร็อกกลับมาแล้ว?

เซน…

“ทรงมันมาดีนะครับ แต่ผมก็บอกไม่ได้เหมือนกัน ผมรู้สึกเพลงร็อกมันกลายเป็นสีสันในแต่ละแนว อย่างเคป๊อปก็เอาไปผสมให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น แต่การที่เพลงร็อกเข้าไปอยู่ในทุกแนว ผมว่าเราไม่ควรไปตัดสินใจว่าแนวนั้นทำไม่ถึงเลย แนวนั้นไม่ใช่ของจริง อะไรแบบนี้ครับ”

ฮาย…

“ร็อกมันอาจจะกลับมาแต่ไม่ใช่รูปแบบเดิม 100% เราต้องนิยามคำว่าร็อกใหม่ ถ้าเรายังไปยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ ของมันก็อาจจะมองว่ากระแสยังไม่มา แต่จริง ๆ มันมาแล้วนะ เพราะมันเข้าไปอยู่ในทุก ๆ แนวครับ”


ทาง Unlockmen ต้องขอขอบคุณฮายและเซน แห่งวง Paper Planes ที่มาเปิดประสบการณ์ในชีวิตที่หลากหลายให้พวกเราได้รับรู้กัน รวมไปถึงขอบคุณทีมพีอาร์ของ genie records ที่ช่วยอำนวยความสะดวก และขอบคุณ Kandee Studio สำหรับสถานที่ในการถ่ายทำในครั้งนี้

สำหรับแฟน ๆ Paper Planes สามารถเข้าไปติดตามทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram และ TikTok รวมไปถึงสามารถฟังเพลงได้ทุกช่องทางสตรีมมิ่งครับ

รูปโดย : Krittapas Suttikittibut

 

 

 

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line