Life
ZERO TO HERO : “โย – โยธิน พูนสำรอง” แห่ง “KNOWWHERE STUDIO” ร้านเสื้อวินเทจที่เริ่มลงทุนด้วยเงินเพียง 500 สู่กำไรสูงสุดหลักแสนบาท!
By: JEDDY August 19, 2022 217807
เสื้อยืดมือ 2 หากอ่านชื่อของมันเผิน ๆ ความหมายของมันอาจจะหมายถึงของเก่า, ของถูกโละ หรือของไม่ใช้แล้ว แต่หากได้เจาะลึกคำ ๆ นี้ลงไปอีก ก็จะพบว่ามันคือสินทรัพย์ที่มีมูลค่าตั้งแต่หลักร้อย จนถึงหลักล้าน ใช่แล้วคุณอ่านไม่ผิดหรอกครับ เสื้อยืดมือ 2 วินเทจหลาย ๆ ตัวราคาพุ่งแรงไม่แตกต่างจากวงการพระเครื่องเลยแม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้ทำให้ใครหลายคนลงมาจับธุรกิจชนิดนี้ เพราะการเริ่มต้นอาจจะไม่ต้องใช้งบประมาณลงทุนมากเหมือนกับธุรกิจประเภทอื่น ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ เพราะแค่มีเงินอย่างเดียวนั้นมันไม่เพียงพอ
ด้วยเหตุนี้ Unlockmen เลยได้นัดพูดคุยกับ “โย – โยธิน พูนสำรอง” เจ้าของร้านเสื้อยืดมือ 2 และเสื้อวินเทจสุดคูลย่านสะพานควาย นามว่า “Knowwhere Studio” ที่ในปัจจุบันมีลูกค้าทั่วโลกติดตามอยู่บน Instagram มากกว่า 56,000 บัญชี โยเป็นอีกหนึ่งบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากเงินเพียงแค่ 500 บาทเท่านั้น! มาติดตามเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จตามสไตล์ของ Zero To Hero ได้เลยครับ
“โย” เดิมทีไม่ได้เป็นคนที่สนใจเสื้อยืดวินเทจมาก่อน แต่เป็นคนที่ชื่นชอบแฟชั่นที่มาจากวงดนตรีแนวเพลงที่โยรักอย่างเช่น ฮาร์ดคอร์, เดธเมทัล หรือเดธคอร์มากกว่า ดังนั้นช่วงแรกความสนใจก็จะไปอยู่ตรงนั้นทั้งหมด วงไหนแต่งตัวเท่ วงไหนใส่เสื้อแบรนด์อะไร หรือเสื้อวงไหนสวย ๆ โยก็จะได้แรงบันดาลใจในการแต่งตัวตาม
แต่ถ้าย้อนไปซักช่วงเกือบ ๆ 20 ปีก่อน ใครก็ตามที่จะซื้อเสื้อวงก็มักจะไปที่ตลาดนัดจตุจักรกันทั้งนั้น ซึ่งโยก็เป็นหนึ่งในนั้น และก็เป็นที่นี่ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โยได้เริ่มใกล้ชิดกับเสื้อวินเทจมากขึ้น เพราะเขาได้ตัดสินใจหางานทำในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ด้วยการเป็นลูกจ้างร้านขายเสื้อมือ 2 จนโยได้ซึมซับความรู้มามากมายโดยไม่รู้ตัว
“จริง ๆ ส่วนตัวโยเป็นแบบครูพักลักจำมากกว่า เขาก็มีสอนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ทุกวันที่ทำงานเสาร์อาทิตย์ โยจะพับผ้าไม่น้อยกว่า 300 ตัวต่อวันอยู่แล้ว พอเราพับเราก็เห็นว่าเนื้อผ้าเป็นอย่างไร คอเสื้อเป็นแบบไหน ตะเข็บเดี่ยวรุ่นเก่าเป็นอย่างไร ได้จับ Texture ค่อนข้างเยอะ ตอนเรานั่งพับผ้าก็ได้ซึมซับเรื่องพวกนี้ไปด้วย ทำให้เราได้เห็นหน้าผ้า โยถึงบอกว่าบางทีจับแล้วรู้เลยว่าของแท้หรือของปลอม”
เริ่มรู้สึกว่าชำนาญช่วงไหน?
“ระยะเวลาบอกไม่ได้ แต่มันรู้ด้วยตัวมันเอง ยิ่งอยู่กับมันมากเท่าไรก็ทำให้บางทีแค่มองผ่านตาก็รู้แล้วว่าของปลอมหรือเปล่า แล้วมันก็มาจากการที่ลูกค้าพูดกรอกหูเราตลอด แล้วยิ่งสมัยตอนที่โยเริ่มเป็นพ่อค้า ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่มีในมือถือ การค้นหาใน Google มันค่อนข้างยาก
ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่สามารถหาได้เลยว่าเสื้อตัวนี้ราคาเท่าไหร่ ยุคนั้นคุณต้องใช้ประสบการณ์ตัวเองดูว่าตัวนี้มันแท้ไหม มีราคาไหม ต้องใช้ความรู้เราล้วน ๆ แต่สมัยนี้ ความรู้ไม่ต้องมี แค่มีมือถือก็รู้ อยากรู้อะไรก็พิมพ์ไปเลย มันต่างกัน สมัยผมความรู้มันมาจากตัวเราจริง ๆ มากกว่า”
หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์จนสุกงอม ในช่วงระหว่างทำงานประจำก็เป็นอีกครั้งที่โยใช้ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เริ่มตะลุยหาซื้อเสื้อมือ 2 ตามร้านที่เปิดตามตลาดนัดด้วยการลงทุนจากเงินของแฟนเพียงแค่หลักร้อยเท่านั้น
“เราก็คิดว่าไม่อยากทิ้งเวลาไปเปล่า ๆ แฟนเลยให้เงิน 500 เราก็ขับรถไปตามตลาดนัดที่มีราวผ้ามือ 2 คือเรามีความรู้แน่น สมองเราพร้อมที่จะลุยแล้ว เราก็ซื้อตามราวนี่แหละ ตัวละ 35 เอามาขาย 300 บ้าง 500 บ้าง ต่อยอดไปเรื่อย ๆ ไม่กี่เดือน โยปั้นจากเงิน 500 เป็นเงินทุน 5 หมื่นได้”
ทำไมร้านเสื้อมือ 2 ทั่วไปถึงมีเสื้อแบบนี้หลุดออกมา?
“ต้องบอกว่าตลาดในตอนนี้แตกต่างกัน เมื่อ 5-10 ปีที่แล้ว ตลาดนัดมันยังมีคำว่าของหลุด เพราะพ่อค้าที่ขายตามตลาดนัดยังไม่รู้จักโลกออนไลน์ เขาไม่รู้ว่าการหาเสื้อในอินเตอร์เน็ตคืออะไร สมมติเขาซื้อเสื้อมือ 2 มากระสอบนึง ราคา 2-5 พัน แต่ละกระสอบเฉลี่ยประมาณ 200-250 ตัว เขาตัดกระสอบปุ๊บ เขาก็เอามาใส่ไม้แขวนเลย
คิดดู สมมติเขาซื้อกระสอบละ 2,000 เขาขายได้ทั้งหมดก็ได้กำไรตั้งหลายบาท เขาไม่ได้มาคิดว่าตัวนี้หัวผ้า (เสื้อทำราคาได้) ตัวนี้หางผ้า (เสื้อทำราคาไม่ได้) คือขายราคาเดียวตัวละ 35 บาท ผลพลอยได้ก็ตกมาที่เรา มันเริ่มต่อยอดจากพวกนี้มากกว่า
ทุกวันนี้เป็นโลกของอินเตอร์เน็ต เป็นการหาของหลุดทางออนไลน์กันแล้ว คือมันยังพอมีคนที่ไม่รู้ถึงมูลค่าอยู่บ้าง ต่อให้เขาขายในราคาที่ 1,000 บาท แต่เราอาจจะมองเป็นของหลุดก็ได้ เพราะเราอาจจะขายได้ 50,000 ก็ได้ 100,000 ก็ได้ ยุคในการหาของค่อนข้างต่างกัน ส่วนตัวผมชอบแบบสมัยก่อนมากกว่า มันมีการแข่งขัน มันสนุกกว่าเยอะ ยุคนี้ความรู้อาจจะมีเท่ากัน แต่ต้องวัดกันที่ความเร็วของเทคโนโลยี”
สรุปได้ว่านอกเหนือจากเงิน ที่สำคัญเลยคุณต้องมีความรู้ เพราะมันจะทำให้คุณได้เปรียบมากกว่าใครเพื่อน
การทำธุรกิจแบบเพลย์เซฟคือการค่อย ๆ ขยับขึ้นไปทีละขั้น ซึ่งตัวของโยเองก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน โดยเข้าเริ่มต้นทำธุรกิจในโลกออนไลน์ที่ไม่ต้องลงทุนค่าเช่าหน้าร้านแต่อย่างใด อีกทั้งโยยังได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพราะเริ่มรู้ตัวว่างานอดิเรกเริ่มกระทบกับงานหลักเข้าให้แล้ว
“ตอนนั้นเริ่มมี Facebook ก็เริ่มโพสต์ขายหน้า Facebook ส่วนตัว ขายอยู่ 1-2 ปี เริ่มมีลูกค้าต่างชาติเยอะ ทำให้ช่วงหนึ่งห่างหายจากการขายหน้า Facebook ไป เพราะได้ลูกค้าต่างชาติซื้อส่ง ทั้งจากอังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เราก็แค่ไปโรงเกลือทุกวันจันทร์หาของ กลับมาถ่ายรูปส่งให้เขา คิดตังค์ แล้วเอาของไปส่ง เสร็จแล้วก็นอนเล่นที่คอนโด แล้ววันจันทร์ก็วนทำใหม่
จนกระทั่งได้เงินมาก้อนหนึ่ง แฟนก็บอกลองขายลูกค้าทาง Instagram ดูไหม ทำให้เริ่มมีร้านของตัวเองที่ชื่อว่า Knowwhere Studio จากทางนี้เลย เริ่มปั้นร้านจาก 0 Follower จากไม่มีคนรู้จัก เริ่มปั้นมาเรื่อย ๆ โดยเริ่มจากเอาของที่ส่งลูกค้าต่างชาติมาโพสต์ลงบ้าง
ส่วนชื่อร้านมันมาจากการที่โยให้คอนเซปต์ไปว่าเอาอะไรก็ได้ให้มีคำว่า Studio แฟนก็เลยบอกว่างั้นก็เอาเป็น ‘Knowwhere Studio’ ก็ได้ เพราะตอนนั้นเราอยู่บ้านเช่า ถ้าชื่อมันไม่ถูกใจค่อยไปเปลี่ยนทีหลัง แต่จนทุกวันนี้ก็ยังใช้ชื่อนี้อยู่”
หลังจากที่สร้างรากฐานจนเริ่มมีรายได้ที่มั่นคงแล้ว โยจึงได้เริ่มสานฝันตัวเองด้วยการสร้าง Knowwhere Studio ที่มีหน้าร้านจริง ๆ ขึ้นมา เดิมทีในช่วงแรกร้านตั้งอยู่ย่านลาดพร้าว ก่อนจะย้ายมาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ย่านสะพานควาย โดยการดีไซน์และการตกแต่ง Knowwhere Studio ได้แรงบันดาลใจมาจากร้านเสื้อวินเทจในประเทศญี่ปุ่น โยได้จดจำดีเทลต่าง ๆ เพื่อนำมาบอกเล่าสู่ Interior จนสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นร้านในฝันของตัวเองได้สำเร็จ
“มันคือความฝันของเรา เราอยากมีร้านตั้งนานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่เราเป็นลูกจ้างเขา จริง ๆ แล้วเราก็อยากนำเสนอความเป็นตัวเองด้วย อย่างน้อยเวลาคนมาหน้าร้านเขาจะรู้จักว่าเราฟังเพลงแนวนี้ มีสไตล์แบบนี้ รสนิยมแบบนี้ อยากให้คนเห็นมากกว่า ไม่ใช่เห็นเราแค่โลกออนไลน์ เพราะโลกออนไลน์มันสร้างกันได้ แต่อันนี้เราอยากให้เขาเห็นตัวตนของเรา อยากให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของเรา”
เดิมที Knowwhere Studio เกือบจะไม่ได้ประจำการอยู่ในสถานที่ตั้งปัจจุบันซะแล้ว แต่มันดันมีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้เกิดขึ้นกับโยโดยบังเอิญ
“ตอนแรกโยตั้งใจจะเอาตึกที่ถัดไปจากตึกนี้ประมาณ 4 ห้อง จนได้เข้าไปดู ก็คุยกับแฟนว่าเอาอย่างไรดี เพราะค่าเช่าค่อนข้างแพงตั้งครึ่งแสน ไหนจะตกแต่งอีก ก็เลยบอกกลับไปว่าเดี๋ยวให้คำตอบพรุ่งนี้แทน
แต่พอโยเดินออกมา ป้ายโฆษณาปล่อยเช่าขนาดใหญ่ของบ้านหลังนี้มันปลิวลงมาต่อหน้าโย อันนี้คือเรื่องจริง ขนลุกเลย ก็เลยคุยกับแฟนว่า ‘เอ้า หลังนี้เขาปล่อยเช่าด้วยเหรอ’ เหมือนตอนแรกลมพัดป้ายขึ้นไปข้างบน ก็เลยไม่เห็น เราเลยโทรเดี๋ยวนั้นเลย”
สุดท้ายโยก็ได้เช่าบ้านหลังนี้ในราคาแค่เพียง 15,000 บาท/เดือนเท่านั้น หรือนี่อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกลิขิตมาแล้วก็เป็นได้
หลังจากได้ทราบที่มาที่ไปของ Knowwhere Studio พอสมควรแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะมาทำความรู้จักกับเสื้อวินเทจ ว่ามันคืออะไรกันแน่?
โยได้อธิบายเรื่องนี้ให้ฟังแบบง่าย ๆ เสื้อวินเทจคือเสื้อที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป อย่างเช่นปัจจุบันคือปี 2022 ถ้าเสื้อตัวไหนที่ผลิตในปี 2002 ลงไป นั่นหมายความหมายว่าเสื้อตัวนั้นจะถูกตีเป็นวินเทจ นี่คือหลักสากลที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเสื้อเท่านั้น แต่มันรวมถึงสิ่งของทุกอย่างที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไปด้วยเช่นกัน ซึ่งสินค้าวินเทจพวกนี้ราคาจะดีดขึ้นโดยอัตโนมัติ
“เมื่อก่อน ช่วง 20 ปีที่แล้ว เสื้อวงป๊อปพังก์ ราคา 300-500 ซื้อใส่สบาย แต่ตอนนี้ 3,500-4,000 บาทเข้าไปแล้ว ด้วยความที่มันวินเทจราคามันเลยดีด และด้วยความหายากด้วยเลยทำให้ราคาสูง มีปัจจัยหลายอย่าง
เอาง่าย ๆ เสื้อวง My Chemical Romance โยขายล่าสุดไปพันกว่าบาท มันเป็นเสื้อปี 2000’s ต้น ๆ เสื้อวงอีโมยุคนั้นคือเชยมากเลยนะ แต่ตอนนี้พอครบรอบมันดูสวยเฉยเลย เมื่อก่อนโคตรถูก เดินวังหลังซื้อตัวหลักร้อยเอง”
เสื้อวินเทจในปัจจุบันนอกจากเสื้อวงที่ได้รับความนิยม ก็จะมีพวกเสื้อแบรนด์ต่าง ๆ เช่น Nike (รวมถึงพวกเสื้อทีมกีฬาประเภทต่าง ๆ ด้วย), เสื้อลายการ์ตูนเช่น Looney Tunes หรือเสื้อภาพยนตร์ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นเหมือนกันหมดทั่วโลก ส่วนข้อแตกต่างเล็กน้อยจะขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่นิยมเสื้อแนวไหนมากกว่ากันเท่านั้นเอง
ปัจจุบันมีร้านเสื้อวินเทจมากมายทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ แต่การที่ Knowwhere Studio ได้รับความนิยมก็ต้องมีอะไรบางอย่างที่แตกต่าง ซึ่งสิ่งนั้นคือความจริงใจที่มีให้กับลูกค้านั่นเอง
“ถ้ามีลูกค้ามาที่ร้านด้วยความรู้คือศูนย์ เราก็สามารถแนะนำ ให้ความรู้กับเขาได้ โยเคยมีลูกค้าที่อยากซื้อเสื้อตัวหนึ่งแพงมากราคา 25,000 บาท โยก็บอกว่ายังไม่แนะนำให้ซื้อ เพราะเพิ่งอยากมาใส่เสื้อวินเทจ ไปซื้อราคา 500-1,000 ก่อนดีกว่า แต่ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะรีบขายเลย อยากได้เงิน
แต่ส่วนตัวเงินก็มีความหมายนั่นแหละ แต่ไม่อยากรู้สึกเหมือนเราไปหลอกขายเขา แต่ถ้าเขารู้ว่าเสื้อตัวนี้มันคืออะไร พิเศษอย่างไร เราก็อยากขายให้คนแบบนี้มากกว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากขายให้คนที่ไม่รู้ แต่เราไม่อยากรู้สึกว่าเราไปหลอกขายเสื้อเขา อยากให้เขาซึมซับกับมันมากกว่านี้ แล้ววันหนึ่งคุณกลับมาเอาเสื้อตัว 25,000 เราก็ต้องขายให้คุณอยู่แล้ว
ไม่ใช่ว่าเรากีดกันลูกค้านะ แต่เราอยากให้ลูกค้าได้เสื้อไปแล้วรู้สึกชอบมาก ๆ มันมีเหมือนกันที่พอผมแนะนำเสื้อวงพร้อมกับดีเทลของวงนั้นไป แล้วเขาบอกว่า ‘พอกลับไปฟังเพลงรู้สึกชอบมากเลย ถ้าพี่มีอีกบอกผมนะอยากได้อีก’ มันทำให้เรารู้สึกดี เขาก็รู้สึกดี โยอยากให้เป็นแบบนั้น ไม่ใช่ขายแล้วเรากลับบ้านไปนั่งคิดว่า เราหลอกขายเสื้อเขาไป ความรู้สึกมันต่างกัน
ผมอยากให้คนที่ซื้อไปอยากหยิบมาใส่ อยากดูแล ทำให้เขารู้สึกมีคุณค่าทางจิตใจด้วยเหมือนกัน”
แม้จะประสบการณ์มากมายขนาดไหน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยพลาดพลั้งกับการโดนหลอกซื้อเสื้อปลอมเช่นกัน เพราะการเลือกซื้อของบนโลกออนไลน์เปรียบเสมือนดาบสองคม แง่ดีคือสะดวกสบายในการช้อป ไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าเดินทาง แต่แง่ลบคือเราไม่ได้สัมผัสจริง ๆ ว่าเสื้อตัวนั้นใช่ของแท้หรือไม่
“ในออนไลน์ดูแค่รูปมันยาก ล่าสุดกดของจากประเทศญี่ปุ่น เป็นเสื้อวง AC/DC โยฝากน้องคนญี่ปุ่นกดให้ ต้องบอกว่าความรู้เสื้อวินเทจของน้องคือศูนย์เหมือนกัน แต่เราแค่บอกว่ากดเสื้อตัวนี้ให้หน่อย เราได้ดูรูปแล้วมันใช่เลย พอของมาถึงไทย จบเลย ผ้าไม่ใช่ แต่นอกนั้นคือเหมือนมาก แต่พอจับ Texture การสกรีนค่อนข้างแตกต่างกันชัดเจน
แต่อย่างที่บอก ถ้าไม่เคยโดนของปลอมก็ไม่รู้ว่าของแท้เป็นอย่างไร แต่โยรู้ว่าของแท้เป็นอย่างไร แต่พลาดเพราะเราไม่ได้จับเนื้อผ้า บางทีมีคนส่งเสื้อมาให้ดูว่าเสื้อแท้ไหม ผมก็บอกเลยว่าผมตอบไม่ได้จริง ๆ เพราะยังไม่ได้จับเนื้อผ้า ยังไม่ได้จับสกรีน แต่บางตัวง่ายคือดูรูปก็รู้ เช่น สีต่าง แต่บางตัวยากมาก เช่นของจากจีน เขาก๊อปเก่งมากจริง ๆ”
หลาย ๆ คนอาจจะไม่ทราบว่าปัจจุบันวงการเสื้อวินเทจได้รับผลกระทบจากการระบาดของเสื้อปลอมไปทั่วโลก เพราะในปัจจุบันมีโรงงานที่ก๊อปเสื้อพวกนี้โดยเฉพาะ ก็อปทั้งเนื้อผ้า วิธีการผลิต หรือแม้กระทั่งรอยแตกจากตัวสกรีนเลยทีเดียว
“มันมีผลกระทบกับทั่วโลกเลย ทางฝรั่งค่อนข้างเซ็งกับเรื่องนี้ สมมติเสื้อตัวนึงเคยราคาดีดไป 1-2 แสน เพราะหายากและมีน้อยมาก คนไทยก็ก๊อป ทำของปลอมออกมา
คนที่ไม่รู้จักเสื้อวินเทจก็ไปซื้อเสื้อก๊อปตามตลาดนัดราคาตัวละหลักร้อยมาใส่ เขาก็มาคิดว่าจะไปซื้อหลักแสนทำไม มันทำให้เสน่ห์ลดลงไปเยอะ คนทำเสื้อปลอมเขาอาจจะมองว่าทำเพื่อกำไรอย่างเดียว ไม่ได้สนใจเรื่องความแรร์ ไม่ได้มองว่าหายากอย่างไร คุณค่าแบบไหน ทำไมราคาโดดไปขนาดนั้น
เอาจริง ๆ ช่วงหลังคนไทยโดนด่าค่อนข้างเยอะ พอกูขายตัวนี้ได้แพงก็ก๊อปขายอีกแล้ว คือเราก็พูดไม่ได้ เราก็ตัวเล็ก ๆ เราออกปากออกเสียงไม่ได้ มันพูดยาก”
โยรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?
“หลัก ๆ เลยคือโยไม่ซื้อมาขายอยู่แล้ว อีกสิ่งที่โยรู้สึกว่าไม่อยากทำที่สุด คือร้านที่ขายของปลอมแล้วบอกลูกค้าว่าเป็นของแท้ คนที่ทำคือโคตรไม่มีจรรยาบรรณในการเป็นพ่อค้าเลย เราก็ทำได้แค่ Protect ลูกค้าเรา บางทีลูกค้าเราไปซื้อมา เราก็แค่บอกว่าตัวนี้ปลอม แล้วให้ลูกค้าไปเคลียร์กับร้านเอง เราทำได้แค่นั้น เราไม่สามารถไปบอกร้านที่ขายของปลอมเองได้”
ด้วยเหตุดังกล่าวโยจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าด้วยการอธิบายสินค้าแต่ละตัวให้ละเอียดที่สุด
หลาย ๆ คนอาจจะพอคุ้นหูกับคำว่า “Bootleg” กันมาบ้าง แต่อาจจะยังไม่ทราบว่าความหมายของมัน ซึ่งจริง ๆ แล้วว่ากันแบบตรงไปตรงมามันคือเสื้อปลอมนั่นเอง แล้วทำไมคนรักเสื้อวินเทจถึงยังชอบเก็บสะสม โยมีคำอธิบายมาฝากทุกคน ดังนี้
“มันคือเสื้อปลอมนั่นแหละ ทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อหรือรองเท้า ถ้ามันเกิน 20 ปี เขาจะตีเป็นวินเทจทั้งหมด ที่คนเริ่มให้ความสำคัญกับเสื้อ Bootleg วินเทจ เนื่องจากเสื้อทำมาน้อย หายาก ราคาเลยสูง ส่วนใหญ่อยู่ในพวก RAPTEE (เสื้อศิลปินสายแร็ปเปอร์) มากกว่าในยุคก่อน
โยจำได้เลยเสื้อที่แฟนคลับทำ แล้วตอนนี้ราคาพุ่งไป 1-2 แสน คือเสื้อตอนที่ ‘Biggie (วง The Notorious B.I.G.)’ ตาย แล้วแฟนคลับทำเสื้อ ‘Rip Biggie’ ชูใส่ขบวนขนศพ โดยที่เขาไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทีมงานเลย ต้องบอกว่าสมัยนั้นพวกฮิปฮอป เช่น Tupac ทำเสื้อกันน้อยมาก หลักพัน หลักหมื่นตัว ทำให้ราคาค่อนข้างสูงมากกว่า แต่พวกวงร็อกทำทีเป็นล้านตัว
Bootleg ส่วนมากเป็นพวกแฟนคลับทำ หรือร้านขายเสื้อตามข้างถนนในอเมริกาเขาก็ทำขายกัน ส่วนใหญ่พวกเสื้อ Bootleg จะผลิตจากโซนอเมริกาใต้ เพราะค่าแรงเขาถูกมาก เขาก็เลยสามารถเอามาขายในราคาตัวละ 10$ ได้”
มีข้อถกเถียงว่าไม่ควรสนับสนุนเพราะไม่ถูกลิขสิทธิ์?
“ถ้ามองแง่ลิขสิทธิ์ก็มองว่ามันไม่ถูก แต่ถ้ามองในแง่ของ Collector การเก็บเสื้อมันก็มีคุณค่า บางตัวแฟนคลับทำกันเองมีแค่ไม่กี่ตัว ของทุกอย่างบนโลกมีทั้งถูกทั้งผิด เราต้องทำความเข้าใจกับมันให้ได้ ถ้าเราเข้าใจมัน สุดท้ายก็จะอยู่ในมุมมองแบบไหนมากกว่า”
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าปัจจุบันประเทศไทยคือแหล่งเสื้อวินเทจอันดับ 1 ของโลก เสื้อที่ราคาแพง ๆ หายากแบบสุด ๆ ส่วนมากอยู่ที่บ้านเรา ตัวอย่างเช่นร้าน Knowwhere Studio ก็เคยขายเสื้อไปได้ในราคา 100,000 บาท ซึ่งลูกค้าที่ซื้อก็คือคนบ้านเราเอง หรือแม้แต่ต่างชาติก็มักจะต้องมาหาเสื้อวินเทจเจ๋ง ๆ จากไทยทั้งนั้น แต่เรื่องนี้มันก็มีที่มาที่ไปเช่นกัน
“บ้านเราโชคดีตั้งแต่สมัยก่อน มันเริ่มต้นมาจากการบริจาคของ คือบ้านเราอยู่ใกล้เขมร ทั่วโลกจะบริจาคของมาที่นี่หมด มันจะมีเสื้อรวมมาอยู่ด้วย แต่ของพวกนี้มันก็ไม่ได้มีคุณค่ากับเขา มันเลยเกิดเป็นธุรกิจจากฝั่งไทยไปประมูลตู้ของมือ 2 มา หรือไม่ก็มีคนเขมรเอามาขายที่ไทย คือเมื่อช่วง 30-40 ปีก่อนที่ ต่างประเทศ ทิ้งเสื้อมาเขมรเยอะมาก คิดดูว่าพวกเสื้อวินเทจหายากหลุดมาอยู่ในไทยตั้งเท่าไหร่ บางคนเก็บเสื้อแบบที่ถ้าขายทั้งหมดได้หลักร้อยล้านเลย”
กว่าจะก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จกับสิ่งที่ตัวเองรักอย่างเช่นทุกวันนี้ โยต้องก็ต้องฝ่าฝันช่วงเวลายากลำบากมาไม่น้อย ทั้งไม่เหลือเงินติดตัว ต้องยอมทะเลาะกับแฟนเพื่อออกไปหาของตั้งแต่ตี 1 ตี 2 ยอมสละเวลาส่วนตัวออกไปเพื่อก้าวไปสู่จุดหมายที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้
“ต้องบอกว่าจริง ๆ ก็งงนะ แค่มีร้านยังเคยคิดเลยว่าเรามีร้านได้อย่างยังไงวะ พูดแบบโง่ ๆ เลยคือเมื่อก่อนเงินกินข้าวแต่ละวันยังไม่มีเลย ล่าสุดมีสาขาในพารากอน เราก็มานั่งคิดแบบงง ๆ ว่ามีได้ยังไงกัน คือโยเคยเป็นพนักงานในพารากอน ยืนขายของในนั้น
แล้ววันหนึ่ง จากเด็กยืนขายของ ผ่านไปไม่กี่ปีมีร้านของตัวเอง บางทีมันก็พูดไม่ถูกว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ไม่อยากบอกว่าเราประสบความสำเร็จ เราไม่เคยพูดเลย แค่เรารู้สึกเราโตขึ้น เรารู้สึกต้องทำอะไรมากขึ้นเยอะ ทุกวันนี้ก็ยังมีอะไรที่อยากทำอีกค่อนข้างมาก เดี๋ยวมีเซอร์ไพรซ์อีก คือเปิดสาขาที่ต่างประเทศด้วย”
“ง่าย ๆ เลยคือ Knowledge ถ้าไม่มีความรู้อย่าทำ ง่ายมาก ต่อให้มีเงินเป็นล้าน แต่ไม่มีความรู้ก็เจ๊ง ของพวกนี้วัดที่ความรู้ เงินอาจจะมีส่วน มีเงินคุณอาจมีชัยมากกว่าผม ผมเริ่มจาก 0 แต่ความรู้โย 100 ไง การทำธุรกิจอย่างอื่นก็เช่นกัน ถ้ามีคนสอนแล้วเราเรียนรู้ แล้วรู้สึกเราชอบกับมัน ก็ทำ เพราะมันจะทำให้คุณมีความสุขที่จะทำมัน”
ใครที่สนใจอยากไปเยี่ยมชม Knowwhere Studio สามารถเดินทางไปได้ที่ซอยโรงหนังพหลโยธินรามา ใกล้กับ BTS สะพานควาย ฝั่งตรงข้ามกับห้างบิ๊กซี และ Pop Up Store สาขา Siam Paragon ชั้น 2 รวมไปถึงทางโซเชียล มีเดีย Instagram และ Facebook ด้วยเช่นกัน
ทาง Unlockmen ต้องขอขอบคุณ “โย” ที่สละเวลามาถ่ายทอดประสบการณ์ และเอื้อเฟื้อสถานที่ให้กับพวกเราด้วยครับ แต่เรื่องราวของ Knowwhere Studio ยังไม่จบ ใครอยากปลดล็อกสกิลวิธีการเลือกดูเสื้อวินเทจในสไตล์ Man Up รอติดตามที่หน้าแฟนเพจของทาง Unlockmen เร็ว ๆ นี้ครับ
Photographer : Krittapas Suttikittibut