

Entertainment
100 Anniversary สโมสรคณะฟุตบอลสำหรับชาวสยาม
By: unlockmen November 11, 2015 18539
โหมโรงกันหน่อยสำหรับกระแสบอลไทยที่ทีมชาติไทยมีคิวจะลงลับแข้งกับทีมไต้หวัน วันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเซีย รอบ 2 กลุ่ม เอฟ ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งทีมชาติไทยมีสิทธิ์ผ่านเข้ารอบไปยังรอบต่อไปสูงมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับวงการฟุตบอลไทยบ่อยหนัก
แต่ความพิเศษของนัดนี้ไม่ได้เกี่ยวเนื่องเพียงผลงานที่กำลังดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของทีมชาติไทย แต่ด้วยวาระที่ทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยจะมีอายุครบรอบ 100 ปี พอดีนับตั้งแต่ทีมชาติไทยชุดแรกลงแข่งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2458 และยังเป็นการเทิดพระเกียรติต่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระผู้ก่อตั้งทีมชาติไทย
เหล่าขุนพล Young blood ของทีมชาติไทยชุดปัจจุบัน
วันนี้ทีมงาน Unlockmen ก็ได้ขอนำประวัติทีมชาติไทย มาเอาใจคอฟุตบอลไทยให้ได้ทำความรู้จักความเป็นมา และเหมือนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไปในตัว
จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับถึง 100 กว่าปี ในช่วงปี พ.ศ. 2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ริเริ่มนำกีฬาฟุตบอล เข้ามาเล่นในไทยเป็นครั้งแรก จนกระทั่งเกิดความนิยมแผ่ขยาย กว้างขวางไปทั่วประเทศ
คณะฟุตบอลสำหรับชาวสยาม และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง “สโมสรคณะฟุตบอลสำหรับชาวสยาม” ขึ้นโดยมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงแข่งขันเป็นผู้เล่นเอง และเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 มีการจัดแข่งขัน ในระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างทีมชาติสยาม (ปัจจุบันคือ ฟุตบอลทีมชาติไทย) กับทีมราชกรีฑาสโมสร ที่สนามราชกรีฑาสโมสร โดยมีดักลาส โรเบิร์ตสัน เป็นกรรมการผู้ตัดสิน
สโมสรคณะฟุตบอลสยาม ทีมชาติไทยชุดแรกในปี 2458
จากนั้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยาม ขึ้นโดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มแรก พร้อมทั้งตราข้อบังคับสมาคมฯ และแต่งตั้งสภากรรมการบริหารชุดแรก ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 7 ท่าน ต่อมาราวปลายปีเดียวกัน จึงเริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่ (ถ้วยพระราชทาน ก) และฟุตบอลถ้วยน้อย (ถ้วยพระราชทาน ข) ขึ้นเป็นครั้งแรก
เสื้อสโมสรคณะฟุตบอลชาวสยาม ที่มีตราพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นเสื้อทีมชาติไทยแบบแรก
ทั้งนี้สมาคมฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 และสืบเนื่องจากที่รัฐบาล จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ประกาศรัฐนิยมเปลี่ยนชื่อประเทศ จากสยามเป็นไทยเมื่อปี พ.ศ. 2482 จึงเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็นชื่อปัจจุบัน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อฟุตบอลทีมชาติเป็น “ฟุตบอลทีมชาติไทย”
ทัพนักฟุตบอลทีมชาติไทยในกีฬา โอลิมปิคฤดูร้อนที่ 16 ประเทศ ออสเตรเลีย
โดยสมาคมฯ ส่งฟุตบอลทีมชาติไทย ลงแข่งขันระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 16 ที่นครเมลเบิร์นของออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2499 จากนั้นสมาคมฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) เมื่อปี พ.ศ. 2500 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง ของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟเอฟ) เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2527
ทีมชาติไทยชุดการแข่งขัน โอลิมปิคฤดูร้อนที่ 16 ประเทศ ออสเตรเลีย
สำหรับปัจจุบัน ฟุตบอลทีมชาติไทยเป็นทีมฟุตบอลที่มีประวัติของความสำเร็จในการแข่งขันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด คือชนะเลิศอาเซียนฟุตบอลแชมเปียนชิพ 4 สมัย และชนะเลิศซีเกมส์ 9 สมัย
โค้ชซิโก้ และนักฟุตบอลทีมชาติไทยยุคดรีมทีม
โดยทีมชาติไทยยังสามารถคว้าอันดับ 3 ในเอเชียนคัพ 1972 และเข้าร่วมการแข่งขันในโอลิมปิกฤดูร้อน 2 ครั้ง และในเอเชียนเกมส์ 4 ครั้ง โดยอันดับโลกฟีฟ่าที่ทีมชาติไทยทำอันดับได้ดีที่สุด คือ อันดับที่ 42 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ปัจจุบันทีมชาติไทยอยู่อันดับที่ 129 ของโลก จากการจัดอันดับโดยฟีฟ่า (มิถุนายน พ.ศ. 2558)
ชุดแชมป์ ซีเกมส์ สมัยที่ 15 ในปี 2015
ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจอย่างมากสำหรับวงการฟุตบอลทีมชาติที่เปรียบเสมือนนกฟินิกซ์ที่ตายแล้วเกิดใหม่ เพราะมีช่วงหนึ่งที่แฟนบอลชาวไทยหมดศรัทธาในทีมชาติไทยถึงขั้นสนามกีฬาแห่งชาติล้างในแมตซ์การแข่งขัน แต่กับปัจจุบันที่กระแสฟุตบอลกลับมาฟีเวอร์อีกครั้ง และทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง
ทีมชาติไทยในชุดปัจจุบัน
ดังนั้นในวันพรุ่งนี้เราอยากจะขอให้แฟนฟุตบอลหรือชาวไทยทุกคน ร่วมออกไปส่งกำลังให้กับนักฟุตบอลทีมชาติไทย ส่งเแรงเชียร์ และพร้อมร่วมฉลองวาระที่ทีมชาติจะมีอายุครบรอบ 100 ปี เพราะทุกๆกำลังใจของคนไทยจะเป็นแรงผลักดันให้ทีมชาติไทยของเราจะได้ไปบอลโลกในชาตินี้สะที เพราะบอลนอกแค่สะใจ แต่บอลไทยอยู่ในสายเลือด Thailand Fighting Fighting
ตราช้างศึกสัญลักษณ์ล่าสุดของทีมชาติไทย
ที่มา พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม , Wikipedia
Coverpage : Hattrick Magazine