Entertainment

25 ปี Trainspotting จิตวิญญาณเสรี ขี้ยาอินดี้ และวัฒนธรรม Britpop

By: unlockmen July 27, 2021

“เลือกชีวิต. เลือกงาน. เลือกอาชีพ. เลือกครอบครัว. เลือกทีวีจอใหญ่สัส ๆ. เลือกเครื่องซักผ้า, รถยนต์ เครื่องเล่นซีดี และ ที่เปิดกระป๋องไฟฟ้า. เลือกสุขภาพสุดเริ่ด โลว์คอเลสเตอรอล และประกันการทำฟัน. เลือกผ่อนชำระดอกเบี้ยคงที่. เลือกบ้าน. เลือกเพื่อนของคุณ. เลือกชุดลำลองและกระเป๋าเดินทางที่เข้าชุดกัน. เลือกชุดสูทสามชิ้นแบบเช่าซื้อจากผ้าหลากประเภท. เลือก DIY และสงสัยว่าคุณเป็นใครในเช้าวันอาทิตย์. เลือกนั่งโง่ ๆ บนโซฟา ดูเกมโชว์ที่ทำให้มึน ๆ ยัดอาหารขยะเข้าปากของคุณ. เลือกที่จะเน่าเปื่อยในวาระสุดท้ายของชีวิต นอนจมกองฉี่ในบ้านอย่างน่าสังเวช ไม่มีอะไรมากไปกว่าความอับอายต่อเด็กเหลือขอที่เห็นแก่ตัวและขี้ระแวงที่เกิดมาเพื่อแทนที่คุณ. เลือกอนาคตของคุณ”

ประโยคเริ่มต้นที่ Mark Renton พระเอกของเรื่องพูดกับคนดูในหนัง Trainspotting กลับกลายเป็นวรรคทองอมตะ ที่สะท้อนทั้งตัวหนัง / ยุคสมัย และบ่งบอกถึงความเป็นวัยรุ่น ที่กาลเวลาได้พัดพาหนังเรื่องนี้เข้าสู่วัยเบญจเพส หรือ 25 ปีมาแล้ว UNLOCKMEN ขอย้อนเวลาพาคุณกลับไปสู่ห้วงเวลาแห่งอิสระเสรี กับหนังอังกฤษ ที่เกี่ยวกับคนติดยาแต่สะท้อนวัฒนธรรม Pop Culture ได้ถึงแก่นและยอดเยี่ยมจวบจนปัจจุบัน


เลือกที่จะใช้ชีวิต ก่อนหมดเวลาจะใช้มัน

จังหวะกลองอันเร้าใจเริ่มต้นขึ้น ฉายภาพหนุ่มวัยรุ่น 2 คน ที่หนีหัวซุกหัวซุนในเพลง Lust for Life เพลงพังค์คลาสสิคของ Iggy Pop พร้อม ๆ กับวลี “Choose Life…” ที่ Mark Renton พระเอกของหนังเรื่องนี้ได้เอื้อนเอ่ยระหว่างหนีตายกลางถนน ก่อนที่หนังจะพาย้อนไปพบกับชีวิตอันแหลกเหลวของกลุ่มวัยรุ่น ที่วัน ๆ หมดไปกับการไฮยา ไร้ซึ่งแก่นสาร ความฝัน และความหวังใด ๆ จนชีวิตได้พัฒนาจากผู้เสพย์สู่ผู้ขาย แต่มิวาย ชีวิตก็ได้พาไปสู่ความชิบหายวายป่วงในแบบที่คาดไม่ถึง Trainspotting แทนความหมายของการใช้ชีวิตที่ไร้จุดหมายที่วัน ๆ หมดไปกับการนั่งเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ ริมทางรถไฟ เพื่อมองรถไฟวิ่งผ่านไปจนลับหายในสายตา

แม้เรื่องย่อจะไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารเหมือนดั่งชีวิตของ Renton / Spud / Sick Boy และ จอมโฉด Begbie แต่ท่ามกลางความไร้แก่นสารนั้นเอง กลับซุกซ่อนชีวิตภาพรวมของสังคมแห่งทศวรรษ 90s อย่างยอดเยี่ยม เพียงเพื่อบอกว่าโลกใบนี้มีอิสระเสรีพอที่คุณจะเลือกใช้ จงเลือกใช้มันซะก่อนที่เวลาอายุขัยของคุณจะหมดลง


 

จากนิยายสุดปัง สู่หนังวายป่วง

Trainspotting คือนิยายสุดคัลท์ที่เขียนโดย Irvine Welsh ที่นำมาจากไดอะรี่ที่บันทึกช่วงเวลาวัยรุ่นสมัยที่เขายังเป็นศิลปินพังค์ และนำมาเรียบเรียงใหม่ โดยใช้บ้านเกิดของตนคือ เอดินบาระ เมืองหลวงแห่งสก๊อตแลนด์เป็นฉากหลัง โดยนิยายเรื่อง Trainspotting นั้นเล่าแบบไม่ต่อเนื่องกันแบบในหนัง แต่บรรยายความโสมมของชีวิตวัยรุ่นได้อย่างถึงแก่น เขาคาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนชีวิตของเขา แต่เมื่อ Irvine ส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์เขากลับถูกเมินจากหลายแห่งด้วยเหตุผลว่า “มันเละเทะมาก ไม่คิดว่ามันจะมีคนอ่านนิยายขยะ ๆ แบบนี้หรอกนะ” และสุดท้ายนิยายเรื่องนี้ก็ขายให้กับสำนักพิมพ์จนได้ตีพิมพ์ในปี 1993 ด้วยราคาลิขสิทธิ์เพียง 1,000 ปอนด์ เท่านั้น

แต่แล้วเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อนิยายเรื่องนี้กลับฮิตเปรี้ยงปร้างในหมู่วัยรุ่น เนื่องจากวัฒนธรรมการเล่นผงสูดโคเคนนั้นเป็นที่ฮิตมากในยุคนั้น เพราะเป็นของคู่กันในวัฒนธรรมเมามายในคลับใต้ดิน แต่ความฮิตนั้นก็ไม่ได้นำพาให้นิยายนี้ห่างไกลจากความเป็น “นิยายขยะ” ไปได้ ขนาดการประกวดรางวัล Booker Prize รางวัลสำหรับนักเขียนแห่งสหราชอาณาจักรยังถูกคณะกรรมการเมินไม่ให้นิยายสุดฮิตเรื่องนี้เข้ารอบชิงรางวัลกับเขาเลย ทั้ง ๆ ที่หนังสือขายดีระดับ Best Seller ในหลาย ๆ แห่ง

แต่ Irvine ก็หาได้แคร์ไม่ เมื่อสุดท้ายนิยายเรื่องนี้ก็ถูกใจนักอ่าน จนถูกซื้อลิขสิทธิ์เพื่อทำละครเวที (ผู้รับบทบาท Renton เวอร์ชั่นละครเวทีนั่นก็คือ Ewen Bremner ที่มารับบท Spud ในหนังนั่นเอง) ยิ่งทำให้นิยายเรื่องนี้โด่งดังและกล่าวขวัญถึงมาก ๆ และแน่นอนว่านิยายสุดปัง ผู้สร้างหนังหลายคนต่างก็ต้องการยื้อแย่งมาสร้างเป็นหนัง สุดท้ายนิยายขี้ยาก็ได้อยู่ในมือผู้กำกับรุ่นใหม่ในยุคนั้น ที่เพิ่งทำหนังเพียงเรื่องเดียวนั่นก็คือ Shallow Grave ที่เป็น Big Surprise ในยุคนั้น นั่นก็คือ Danny Boyle นั่นเอง


 

หนังสุดเฮี้ยน ที่คนเสี้ยนยาต้องกรีดร้อง

สุดท้าย นิยาย Trainspotting อยู่ในมือของ Andrew Macdonald ที่อ่านนิยายเรื่องนี้ระหว่างอยู่บนเครื่องบินจนวางแทบไม่ลง เขาลงมือติดต่อซื้อลิขสิทธิ์นิยายเล่มนี้ และให้ John Hodge นักเขียนบทชาวสก๊อตแลนด์ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ และชวน Danny Boyle มาทำหนังเพราะเชื่อมั่นในศักยภาพว่าเขาต้องมีวิช่วลสุดล้ำให้กับหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน

0โดย Danny ก็ได้ชวนพระเอกหนังเรื่องก่อนของเขามาร่วมแสดงอีกครั้งเพราะชอบในฝีมือ นั่นก็คือ Ewan McGregor มารับบท Renton พระเอกของเรื่องที่กำลังสับสนกับชีวิตของเขา โดย Ewan ที่ตัวจริงนั้นไม่เคยแตะต้องโคเคนหรือเฮโรอีนเลย ต้องไปศึกษาเรียนรู้จากคลีนิคบำบัดผู้ติดยาจริง ๆ เขาเกือบเข้าขั้นลองฉีดเข้าเส้นเองแล้วเพื่อเข้าถึงตัวละคร แต่สุดท้ายก็ไม่กล้าเพราะกลัวจะติด


 

งบน้อยจนน่าใจหาย จึงต้องถ่ายทำแบบสุดเรียล

ซึ่งการถ่ายทำเต็มไปด้วยความ “ดิบ” และ “เรียล” มาก ๆ Danny ได้งบที่แสนจำกัดจำเขี่ยเพียง 1.5 ล้านปอนด์ เพราะนายทุนหลายรายไม่รู้ว่าหนังเกี่ยวกับคนติดยามันจะดังได้อย่างไร แต่ Danny ก็ไม่ท้อ มีเท่าไหร่ก็ถ่ายทำเท่านั้น หลายซีนในหนังจึงถ่ายแบบ “เทคเดียวจบ” และเลือกโลเคชั่นไม่เยอะ เช่นห้องเสพยาของ Renton นั้นก็เลือกโรงงานบุหรี่ที่ถูกทิ้งร้างในเมืองกลาสโกว์เป็นจุดหลักในการถ่ายทำ และความสกปรกโสมมนั้นไม่ได้มาจากการพยายามทำให้ดูอาร์ต แต่ Danny นั้นบอก “มันเสียเวลาในการถ่าย” เพราะงบและเวลานั้นมีจำกัดมาก ๆ ดังนั้นที่เราเห็น Renton ฉีดยาเข้าเส้นจนเมามายและกลิ้งเกลือกในพื้นที่สกปรกโสมมแบบสุดเรียลนั้น มันคือฝุ่นจริง สกปรกจริง ไม่ได้ตกแต่งเพื่อความเซอร์แต่อย่างใด


 

ฉากมุดโถส้วมในตำนาน

ในหนัง Trainspotting อาจจะมีหลายฉากที่เป็นภาพจำที่เต็มไปด้วยความรุนแรง และรวบรวมไว้ซึ่งความเสื่อมโทรม ไม่ว่าจะเป้นฉากหลอนยาที่แสดงถึงวิช่วลที่ถึงใจ แต่ฉากที่ชวนคลื่นเหียนในขณะเดียวกันก็เป็นฉากคลาสสิคของหนังเลยก็คือ ฉากมุดโถส้วมในตำนานนั่นเอง ซึ่งฉากนี้เล่าถึงตัว Renton ที่เผลอทำยาตกในชักโครกที่ “ห่วยที่สุดในสกอตแลนด์” จนต้องมุดโถสุดขยะแขยงที่เจิ่งไปด้วยขี้ ซึ่งฉากนี้แม้จะชวนผะอืดผะอม แต่เบื้องหลังการถ่ายฉากนั้นเต็มไปด้วยความหวานหอม เพราะขี้ที่เห็นในหนังนั้นล้วนมาจากช็อคโกแลตทั้งสิ้น


 

โปสเตอร์สุดแหวก ที่กลายเป็น Art Icon แห่งยุคสมัย

อีกองค์ประกอบที่ทำให้หนัง Trainspotting กลายเป็น Icon แห่งยุคสมัย นั่นก็คือโปสเตอร์หนัง ที่วัยรุ่นยุค 90s ล้วนแต่เอาไปติดฝาบ้าน ซึ่งโดยปกติโปสเตอร์หนังนั้นมักจะทำหน้าที่เพื่อบอกเล่าและขายหน้าหนังเพื่อให้คนเข้ามาดู แต่ Trainspotting กลับไม่เป็นอย่างนั้น อย่างแรกพวกเขาไม่ใช้บริษัทออกแบบหนังทั่วไป แต่เลือกใช้บริษัทที่ออกแบบปกอัลบั้มศิลปินเจ๋ง ๆ อย่าง Stylorouge ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบปกเจ๋ง ๆ มากมาย ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ Blur นั่นเอง

โดยพวกเขาได้เอา Concept คำเตือนในการใช้ยามาพาดผ่านตัวละครที่เสนอเป็นภาพขาว-ดำ บน Font Helvetica สีส้มสด ซึ่งทำให้อาร์ตไดเรคชั่นนี้โดดเด่นกว่าโปสเตอร์หนังเรื่องใด ๆ จนแยกไม่ออกว่ามันเป็นโปสเตอร์หนัง / ปกอัลบั้ม หรือหน้าปกแมกกาซีนแฟชั่นล้ำ ๆ กันแน่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือโปสเตอร์ที่ได้รับการกล่าวถึงในแง่ความฉูดฉาดของอาร์ตสมัยที่เท่จวบจนปัจจุบัน


 

Soundtrack โดนใจชาว Britpop

หนังมาถูกที่ถูกเวลา เนื่องจากการฉายในช่วงนั้นเป็นช่วงรุ่งเรืองของวัฒนธรรม Britpop ที่กำลังพีคถึงขีดสุดอย่างมาก ซึ่งนอกจากอัลบั้มซาวด์แทรคจะอัดแน่นไปด้วยศิลปินเบอร์ต้น ๆ ในยุคนั้นอย่าง Blur / Elastica / Sleeper / Pulp / Primal Scream แล้ว ยังอัดแน่นไปด้วยบทเพลงคลาสสิคจาก Iggy Pop และ Lou Reed ด้วย โดยศิลปินทั้ง 2 ได้รับการติดต่อโดย David Bowie ที่ช่วยประสานงานติดต่อศิลปินในตำนานที่เป็นเพื่อนซี้ให้ช่วยลดราคาค่าลิขสิทธิ์เพลงเพื่อนำเพลง Lust for Life และ Perfect Day ที่ส่งผลมากในหนังให้หน่อย ทำให้อัลบั้มนี้สมบูรณ์แบบ แต่ที่ขาดไม่ได้คือเพลง Born Slippy .NUXX เพลง Electronica ของ Underworld ที่เป็นเพลงปิดท้ายที่ยิ่งใหญ่ และเป็นเพลงธีมของหนังเรื่องนี้อย่างเป็นทางการนั่นเอง และอัลบั้มซาวด์แทรคก็ดังจนมีอัลบั้มชุดที่ 2 ที่เป็นปกสีเขียวสะท้อนแสงวางขายตอบรับความสำเร็จด้วยเพลง Choose Life ที่เอาวลีในตอนต้นมารีมิกซ์กับซาวด์ Electronica ได้อย่างเจ๋งเป้งนั่นเอง

หลายคนอาจจะงงว่า วงทั่วทั้งเกาะอังกฤษแทบถวายเพลงให้กับหนังเรื่องนี้ แต่ทำไมไม่มีเพลงของ Oasis เหตุผลก็คือ Noel Gallagher ได้เผยในตอนหลังอย่างน่าเสียดายว่า “มีคนติดต่อของเพลงป๋าไปใส่ในหนังชื่อ Trainspotting ป๋าก็งงสัสเลยว่า หนังเกี่ยวกับรถไฟมันพิเศษและเหมาะกับเพลงขั้นเทพของป๋าตรงไหนวะ ป๋าก็เลยเซย์โนไป…ใครจะไปรู้วะ ว่ามันคือหนังเรื่องดังเกี่ยวกับไอ้พวกขี้ยา” เสียดายล่ะสิ


 

หนังสุดฮิต ที่รัฐบาลอังกฤษจ้องจะแบน

แน่นอนว่าหนังเกี่ยวกับยาเสพติด ย่อมเป็นเป้าที่จะถูกจู่โจมอย่างง่าย ๆ และยิ่งหนังที่ไม่ได้บอกโทษของยาแถมยังทำให้การเสพยาเป็นความคูลที่ใคร ๆ ก็อยากทำตามแบบ Trainspotting ย่อมเป็นที่ชิงชังของนักการเมืองที่ต้องการจะแบนหนังเรื่องนี้โดยไม่รู้สี่รู้แปดเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้โดยไม่ได้ดูมันด้วยซ้ำ แต่หนังกลับได้รับการการันตีจากคนมีชื่อเสียงมากมายซึ่งก็คือศิลปินที่เอาเพลงมาใส่ประกอบหนังนั่นแหละ โดยเฉพาะ Jarvis Cocker แห่งวง Pulp ที่ในตอนนั้นดังมากจากอัลบั้ม Different Class ก็ช่วยการันตีว่า “หนังเรื่องนี้มันโคตรเจ๋ง ถ้าใครแบนหนังเรื่องนี้แม่งโคตรโง่เลย”

และด้วยการผลักดันของศิลปินมากมาย ก็ทำให้หนังเรื่องนี้ทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 72 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 48 ล้านปอนด์ ซึ่งแน่นอนว่ามันทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากทุนสร้างเพียง 1.5 ล้านปอนด์เท่านั้น


 

ตำนานที่มีภาคต่อ และอาจจะมีภาค 3

ภายหลังจากความดังของ Trainspotting ตัว Irvine Welsh ก็เขียนนิยายเรื่องนี้ต่อในชื่อ Porno ในปี 2006 แต่ Danny Boyle กลับเลือกที่จะดัดแปลงมันเพียงหลวม ๆ เนื่องจากตัวละครในหนังนั้นค่อย ๆ ห่างจากตัวนิยายไปเยอะ เขาอยากจะสำรวจตัวละครในอีก 20 ปีต่อมามากกว่า จึงเป็นที่มาของ T2 Trainspotting ที่เล่าถึงการออกจากคุกเพื่อกลับมาแก้แค้นของ Begbie พร้อมทั้งมองเมืองและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนผ่านในรอบ 20 ปี โดยตั้งใจวางโปรแกรมฉายในปี 2016 เพื่อให้ครบ 20 ปีจากภาคแรกพอดิบพอดี แม้จะไมได้ว้าวเหมือนดังเช่นภาคแรก เพราะแต่ละคนก็ไม่ใช่อายุน้อย ๆ แล้ว แต่ก็เป็นหนังที่แฟน Trainspotting ไม่ควรพลาด เพราะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของตัวละครว่าเป็นอย่างไร (ซึ่งสุดท้าย พวกแม่งก็เหมือนจะไม่โตขึ้นเลย)

จนเมื่อหนังถึงวาระฉลองครบรอบ 25 ปี จึงมีการถามไถ่ Irvine Welsh ว่าเขาอยากจะทำภาค 3 หรือไม่ เขาบอกว่า “ผมอยากปั้นชีวิตพวกมั้นให้เป็นไตรภาคเหมือน The Godfather III, Terminator III อยู่แล้ว โดยตั้งชื่อไว้คร่าว ๆ ว่า ‘Holy Trinity’ แต่ Danny จะมาอ้อยอิ่งทำเหมือนตอนภาค 2 ไม่ได้นะ จะมาทิ้งช่วง 20 ปีจากภาคแรก พวกนักแสดงได้ตายห่ากันพอดี”

ก็นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนรอภาค 3 ที่คงไม่ต้องรอนานเหมือนภาค 2…หวังว่าเราจะได้ดูบททสรุปไตรภาคของกลุ่มขี้ยากลุ่มนี้ในเร็ววันกันนะ เพราะข่าวนี้มีเพียงแค่ Irvine Welsh เท่านั้นที่มายืนยัน ยังไม่ได้รับการคอนเฟิร์มจากผู้กำกับหรือนักแสดงแต่อย่างใด…อย่างน้อยที่สุดก็ได้อ่านฉบับนิยายแหละนะ


แม้หนังจะฉาบเคลือบด้วยความรุนแรงของยา แต่ทว่าสิ่งที่ Trainspotting ได้สะท้อนมาตลอด 25 ปี คือช่วงวัยของชีวิตที่น่าอิจฉามาที่สุดนั่นก็คือช่วงวัยรุ่น เมื่อเราพบไปในช่วงยุค 90s ยิ่งพบว่าเรามีอิสระเสรีที่ไม่ถูกผูกมัดด้วยพันธนาการใด ๆ น่าเสียดายที่ 25 ปีต่อมา วัยรุ่นในยุคนี้ต้องอยู่ภายใต้โรคระบาดและการบริหารแย่ ๆ ของผู้นำในหลาย ๆ ประเทศ ก็หวังว่าเมื่อเมฆหมอกแห่งความเลวร้ายได้จางหายไป ชีวิตวัยรุ่นได้กลับไป Choose Life กันอย่างเสรี เพื่อที่จะ Choose Your Future ต่อไปกันในอนาคต

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line