

Business
ใหญ่ค้ำฟ้าก็จมได้! 3 CEOS อดีต HERO สู่ ZERO ของค่ายยนตรกรรมดังกับคดีฉาวประวัติศาสตร์
By: unlockmen January 9, 2020 172154
เก่งก็ดี แต่สิ่งที่รักษาไว้ยากกว่าคือชื่อเสียงกับตำแหน่งหลังจากนั้น เพราะยิ่งคุณเป็นคนเก่ง คนยิ่งจับตาเรื่องความคลีนที่คุณมี
หลังจากเจอข่าวดราม่าเรื่อง CEO Nissan เจอรวบตัวจนเป็นคดีให้ติดตามหลายสื่อ บางคนอาจจะตามทันบ้างไม่ทันบ้าง UNLOCKMEN จึงอยากย้อนอดีตและมัดรวมคดีของท็อป CEO จากค่ายยนตรกรรมผู้โด่งดังมาแบ่งกันอ่านให้เห็นอีกมุมกันบ้าง เพราะความสำเร็จที่สั่งสม…ไม่ว่าจะเป็นอะไร มันพร้อมจะสูญทันทีถ้าก้าวพลาด
Photo by Norsk Elbilforening / Flickr
คนล่าสุด ไม่พูดถึงไม่ได้ต้องยกให้ Carlos Ghosn เจ้าพ่อผู้กู้หน้าในธุรกิจ Nissan อดีต CEO ผู้มีคดีพ่วงหลังเรื่องยักยอกทรัพย์จากญี่ปุ่นตามตัวไปอีก
ความเก่งของ Carlos นี่ถือว่าอยู่ในระดับพระกาฬ เขากอบกู้วิกฤตของ Renault-Nissan จนกลับมายืนอย่างภาคภูมิในวงการยานยนต์อีกครั้ง
ช่วงที่เขาเข้ามาดูแล Renault ตอนนั้น เขาทำงานหนัก บริหารจนจากตัวเลขแดง ๆ ของ Renault กลับมาเป็นสีเขียวอีกครั้งจากการปิดโรงงานในเบลเยียมและปลดพนักงานกว่า 3,000 คน จนได้รับฉายาว่า “นักฆ่าต้นทุน” (Le Cost Killer) จากนั้นนำกำไรจาก Renault ซึ่งอยู่ในกลุ่มพันธมิตรเดียวกับ Nissan ไปอุ้ม Nissan ต่อผ่านการซื้อหุ้น 40%
แต่ซื้ออย่างเดียวมันไม่ยั่งยืน บารมีของอดีต CEO คนนี้ยังมาจากการปรับโครงสร้างบริษัท Nissan และทำให้ Nissan กลับมาฟื้นได้กำไร เขาไม่เพียงเป็นผู้นำคนแรกของ Nissan ที่เป็นคนต่างชาติ (ปกติ CEO Nissan จะเป็นคนญี่ปุ่น) ที่ทำให้หลายคนสนใจเท่านั้น แต่ทะยานขึ้นมาโดดเด่นได้จากความแตกต่างเรื่องวิธีการด้วย เพราะเขาลงทุนจ้างดีไซเนอร์ตัวท็อปจากบริษัทคู่แข่งอย่าง Isuzu มานำเสนอดีไซน์ใหม่ ๆ และนำเสนอนวัตกรรมรถพลังงานไฟฟ้าตัวเฉียบจากการเปิดตัว Nissan Leaf จนขายดิบขายดีไปทั่วโลก ที่สำคัญในยุคของเขายังทำได้ถึงขนาดซื้อกิจการของ Mitzubishi อีกค่ายยานยนต์เข้ามาครองได้ด้วย
แม้เขาจะทำงานได้ดีจนมีผลงานให้เห็นยาวเป็นหางว่าว แข็งแกร่งจนทั่วโลกต้องซูฮกขนาดไหน แต่ล่าสุดกลับเจอคดีแจ้งรายได้น้อยกว่าความจริงต่อเนื่องมา 5 ปี โดยรายได้ที่หายไปคิดเป็น 44.4 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งเอาทรัพย์สินบริษัทไปใช้เอง และสืบเนื่องจากคดีนี้ ศาลญี่ปุ่นก็ตัดสินว่าเขามีความผิดจากคดีทางการเงินหลายคดีและเจอรวบตัวถึงบ้านพัก ระหว่างรอพิจารณาคดี เขาใช้หลักทรัพย์ประกันตัวออกมาก่อนวางแผนหลบหนีออกจากญี่ปุ่นไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคดีติดตัว แต่ที่รู้ ๆ คือตอนนี้ Carlos Ghosn ตัวแสบค่าย Nissan ก็หาทางเดินทางกลับบ้านที่เลบานอนได้แล้ว แถมทางการที่นั่นยังต้อนรับอย่างภาคภูมิ บทสรุปจากนี้เราไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร แต่แนวโน้มที่ว่าเขาจะลอยตัวอยู่ในบ้านก็มีเยอะมากจริง ๆ เพราะตอนนี้ระหว่างญี่ปุ่นกับเลบานอนไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
มาที่ค่ายรถคลาสสิกขวัญใจชายที่ผลิตเต่ามาเป็นตำนานอย่าง VW กันบ้าง งานนี้ก็มี CEO เลื่องชื่อที่สร้างประวัติศาสตร์ความฉาวระดับโลกที่ทำให้ VW ต้องจ่ายค่าปรับมูลค่าล้านล้านบาทเหมือนกัน! จากเหตุการณ์การโกงที่ไม่ใช่เพื่อยักยอกเข้าตัวเองแบบ Nissan แต่เป็นการปกปิดข้อมูลเพื่อสร้างรายได้เข้าบริษัทหลังจากที่อยากเปิดตลาดขายรถในอเมริกา
ต้องบอกก่อนว่าช่วงนั้นเป็นยุคที่อเมริกากำลังเข้มงวดเรื่องการคุมค่ามลพิษมาก พวกนักพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลที่อยากเจาะตลาดเลยต้องทำตามกฎ สร้างนวัตกรรมให้ได้ตัวเลขที่คาย NOx หรือไนโตรเจนออกไซด์ปริมาณตามที่เขากำหนด สุดท้ายปี 2012 ค่าย VW ก็เลยจัดเครื่องยนต์ดีเซลพลังงานสะอาดขึ้นมา เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนฮือฮา ค่าย Volkswaken ได้รางวัลแถมได้ส่วนลดทางภาษี เบิกบานกันทั้งบาง
แต่จู่ ๆ 2 ปีต่อมา เกิดมีนักวิจัยเอ๊ะขึ้นมาว่า เฮ้ย ทำไมตัวเลขนี้กับตัวเลขจริงมันไม่เห็นตรงกันเลย ลามไปถึงปี 2015 ที่มีคนไปวิจัยต่อจนเจอว่าบริษัทลูกอย่าง Audi ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ผลิตระหว่างปี 2009-2015 นี่ก็เกิดเหมือนกัน เลยกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ Diesel Gate
กลวิธีการโกงของทั้ง VW ใน Audi เรื่องการโกงตัวเลขมลพิษ คือเขาก็ทำเครื่องยนต์ออกมาเหมือนเดิม แต่สอดไส้ใส่ซอฟต์แวร์โกงค่าตัวเลขให้รถเข้าไปเพื่อตบตา เพราะโปรแกรมนี้ฉลาดสามารถจับสัญญาณจากการบังคับพวงมาลัยได้ว่านี่เป็นการทดสอบ ไม่ใช่การขับขี่จริง ทำให้มันปรับค่าลดแรงม้าและการประหยัดน้ำมัน เพื่อให้คาย NOx ออกมาน้อย ๆ ส่วนจำนวนที่ติดไปก็ไม่ใช่น้อย ๆ รวมทั้งหมดก็ประมาณ 11 ล้านคันทั่วโลก!
สุดท้ายคดีนี้จบลงด้วยค่าปรับมูลค่าหมื่นแปดพันล้านเหรียญ และตัว Martin ก็รับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งพร้อมประโยคหล่อ ๆ ทิ้งท้ายเพื่อชาว VW ทุกคนว่า เขาอยากให้ทุกอย่างเริ่มใหม่อีกครั้งและทำให้ VW มีอนาคตที่สดใส
“Volkswagen needs a fresh start – also in terms of personnel. I am clearing the way for this fresh start with my resignation,”
จากฝั่งเยอรมัน กลับมารถเอเชียตัวถึกอย่าง Subaru กับบ้าง แม้ยี่ห้อนี้อาจจะไม่โดดเด่นในวงการรถยนต์บ้านเรา แต่สำหรับเยอรมันและอเมริกา นี่คือ Top Brand ที่หลายคนให้ความสนใจ
Yasuyuki Yoshinaga คือ CEO ชาวญี่ปุ่นอีกคนที่สร้างผลงานไว้ในสมัยที่บริหาร โดยระหว่างช่วงที่เขาดูแลก่อนจะลงจากตำแหน่ง Subaru สามารถกวาดรางวัลทรงเกียรติสายยานยนต์แดนปลาดิบอย่าง Japan car of the Year ปี 2016-2017 จากรุ่น “Subaru Impreza” แต่หลังจากนั้นเพียงปีเดียว เขากลับต้องโดนคดีบิดเบือนตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองกับค่ามลพิษในโรงงานจนต้องโค้งขอโทษต่อหน้าสื่อมากมาย
ถึงแม้เรื่องนี้จะมีผลกับรถจำนวนแค่หลักร้อย แถมความบกพร่องก็ไม่มีผลกับคุณภาพรถยนต์ ทว่าสุดท้าย CEO ค่ายยานยนต์ลูกไก่ก็ต้องยอมรับว่าเขาบกพร่อง และยื่นลาออกไปในที่สุดเพื่อรับผิดชอบ
ต่อให้เก่งแค่ไหน แต่การเป็นผู้นำมันไม่ง่ายเลย เพราะไม่ใช่แค่ต้องนำองค์กรไปให้ได้กำไร แต่ยังต้องชนะใจตัวเอง ไม่ให้ความโลภที่หอมหวานมากลืนกินวิถีการทำงานตัวเองด้วย ไม่งั้นอาจจะโดนเช็กบิลตามหลังจนอ่วมแบบนี้