

TECH
GAME OF ‘DRONE’ 2020: เราไม่มีใคร แล้วใครบ้างที่มี อัปเดตเจ้าของกองทัพโดรนรอบโลกใบนี้
By: unlockmen January 14, 2020 172523
เอาหมัดไปแลกปืน เอาคนเป็นกองทัพไปแลกโดรน ใครจะเอาไปแลก ?
ตอนนี้ข่าวเปิดวอร์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ทำให้ต้องเชื่อว่า กี่ชีวิตก็คงไม่พอแลก หรือต่อให้เก่งแค่ไหนบารมีหนาอย่างไร ถึงคราวคนมันจะล่อจากระยะไกล เราก็ตายได้ง่าย ๆ อยู่ดี เพราะทุกวันนี้อาวุธลอบสังหารมันล้ำขึ้นทุกวัน
แล้วคุณเคยรู้จริง ๆ ไหมว่า นอกจากสหรัฐฯ ที่มีกองกำลังติดอาวุธเหนือน่านฟ้าที่ยากจะต่อรอง ยังมีประเทศไหนอีกบ้างที่มีโดรนเก็บไว้ในบ้าน เพื่อคลายข้อสงสัย UNLOCKMEN จะพาทุกคนไปรู้จักประเทศที่มี UAV (Unmanned aerial vehicle) หรือ UCAV (Unmanned Combat Air Vehicle) เก็บไว้เป็นไพ่ไม้ตาย
แผนที่ประเทศที่มีกองทัพโดรน
ประเทศที่เคยใช้งานโดรนที่ซื้อไปแล้ว ถ้าลองเทียบกับด้านบนยังเห็นการใช้งานอยู่จนถึงปีที่ผ่านมา
รู้หรือไม่ว่าตอนนี้ทั่วโลกมีกองทัพทางการทหารที่มีโดรนสังหารในครอบครองมากถึง 39 ประเทศ! แต่ประเทศไหนมาก่อน-หลัง เราเรียงลำดับไว้ตามตัวเลขด้านล่างแล้ว
เริ่มที่ประเทศแรก อย่างที่เรารู้ ๆ กันดีว่า สหรัฐฯ เป็นตัวจี๊ดของสงครามโดรน เพราะเป็นประเทศแรกเลยที่คิดค้นกลยุทธ์และอาวุธทางการทหารแบบนี้ แถมยังเป็นพ่อค้าอาวุธโดรนเจ้าหลักในตลาดด้วย
การคิดค้นและประดิษฐ์โดรนครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2001 สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ 9/11 ที่สหรัฐฯ สูญเสียกองกำลังและพลเรือนจากเหตุการณ์ก่อการร้าย ดังนั้นอเมริกาจึงหันมาผลิตอาวุธอากาศยานไร้คนขับ จะเรียกว่า UAV หรือโดรนไร้คนขับก็ได้เพราะมันคืออันเดียวกัน เพื่อลดการสูญเสียลง แบ่งเป็นรุ่น Predator ที่มีวัตถุประสงค์ใช้สำหรับสอดแนม และรุ่น Reaper ที่พัฒนาให้สามารถติดอาวุธทำลายล้างเข้าไปบอมบ์ในแดนศัตรูได้ โดยตัวล่าสุดที่ปฏิบัติการสำเร็จโด่งดังในข่าวคือ MQ-9-Reaper
ประเทศนี้เป็นอีกมหาอำนาจด้านอาวุธแนว UAV ด้วยเหมือนกันเพราะคิดค้นไว้ใช้งานมาตั้งแต่ 1980 แล้ว ใช้ระบบ MALE UAV แบบ Heron บินครั้งแรกปี 1994 สำหรับภารกิจลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ ที่สำคัญแม้จะไม่ได้ออกมาประโคมข่าวเหมือนประเทศเทพีเสรีภาพว่าตัวเองผลิตอะไรบ้าง แต่ตามรายงานการใช้ของโดรนอิสราเอลก็พบว่ามีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว
เรื่องอาวุธไม่ได้มีแต่คนขายแต่ต้องมีคนซื้อด้วย อังกฤษเลยทำหน้าที่เป็นลูกค้าชั้นดีที่ซื้อโดรน Reaper จากอเมริกามาในปี 2007 แล้วเอาเข้ามาประจำกองทัพตัวเองในปี 2008 หลังจากนั้นด้วยแสนยานุภาพของเจ้า Reaper ที่มีคุณภาพ ปี 2016 อังกฤษเลยสั่งซื้อ Reaper มาอีก 10 ตัว และเปลี่ยนชื่อเครื่องใหม่เป็น Protector
การเปลี่ยนจากชื่อรุ่นนักฆ่ามาเป็นผู้พิทักษ์ครั้งนี้ถึงความหมายจะดูเป็นเชิงบวก แต่ขีปนาวุธ Brimstrone ที่ตั้งใจเอาไปติดแทนมิสไซล์อเมริกันดันโหดกว่าเก่า เพราะเป็นแนวมิสไซล์ Fire and Forgot หรือยิงแบบไม่ต้องหยุดแช่เพื่อล็อกเป้าหมาย ยิงได้ระหว่างเคลื่อนที่เพราะใช้ระบบเรดาร์ และระยะการยิงก็ไกลกว่า Hellfire ไปอีก ตอนนั้น Hellfire ใช้ระยะ 8 กม. แต่ Brimstone ใช้ได้ในระยะมากกว่า 20 กม. รวมทั้งยังร่วมกันกับ Israel’s Elbit Systems เพื่อออกแบบระบบ Watchkeeper เกี่ยวกับยุทธวิธียานพาหนะทางอากาศ (TUAV) ให้เจ๋งขึ้นด้วย
ฟ้ากว้างใหญ่ ยังมีที่ว่างให้จับจองอีก อิหร่านได้ออกแบบและพัฒนาอากาศยานไร้นักบินขึ้นในปี 2009 ใช้ชื่อรุ่นว่า Karrar และหลังจากนั้นก็พัฒนาเรื่อยมา แต่รุ่นเจ๋ง ๆ ที่หลายคนรู้จักคือ UAV ที่ชื่อ The Shahed 129 อากาศยานไร้นักบินที่ออกแบบและผลิตโดยแผนกการบินและอวกาศของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guards Corps: IRGC) เพื่อใช้ในภารกิจลาดตระเวนและโจมตีประเทศซีเรีย
เรียกว่าเป็นนักซื้อแล้วกันสำหรับเอมิเรต์ เพราะเขาเปย์เรื่องการทหารเต็มที่ ล่าสุดปี 2017 จ่ายเงินซื้อ Wing Loong II จากจีนเพราะตัวนี้ว่ากันว่างัดกับ MQ-9 Reaper ได้ แต่ก่อนหน้านั้นก็เคยจ่ายซื้อ Wing Loong ตัวแรกให้จีนมาตั้งแต่ปี 2011 กับ Predator ของสหรัฐฯ ในปี 2013 มาก่อนแล้ว
โสมแดง เอเชียปิดประเทศที่พร้อมฟัดกับมหาอำนาจอย่างบ้าดีเดือด เผยข้อมูลรายงานออกมาว่ากองทัพของเกาหลีเหนือเตรียม “Devil Killer” หรือโดรนพลีชีพที่พัฒนาจาก Raytheon Streaker ในปี 2012 ไว้ในกองทัพโดยไม่ระบุจำนวนครอบครอง
ปี 2013 หลังจากทดลองพัฒนามา ในที่สุดพญามังกรก็สามารถส่งนกเหล็กเพชฌฆาตขึ้นบนน่านฟ้าและมีกองทัพ UAV เป็นของตัวเองได้สำเร็จ จนปัจจุบันจีนเป็นทั้งผู้ใช้และผู้จำหน่าย มีโดรนหลายรุ่นในครอบครอง ได้แก่ CH-3, CH-4 รวมทั้ง Wing Loong และ Wing Loong II ฯลฯ ที่ขายให้เอมิเรตส์ไปด้วย
แอฟริกาใต้มีบริษัท Denel Dynamics ทดสอบ Seeker 400 อากาศยานใช้เองที่พัฒนาเพื่อการจัดตั้งกองทัพในปี 2013 โดย Seeker 400 สามารถลิงก์ข้อมูลทุกภาคส่วนปฏิบัติการทั้งพื้นดิน เครื่องบินรบเรือรบและสร้างแบบจำลองการรบที่เรียกว่า Mission Simulation ได้
อิตาลีซื้อกองกำลังโดรนเป็นประเทศที่ 2 หลังจากอเมริกาขายให้สหราชอาณาจักรในปี 2012 โดยซื้อ MQ-9 Reaper 6 ลำ ติดตั้งขีปนาวุธ Hellfire เพื่อจุดประสงค์ด้านการทหาร ปกป้องกองกำลังทหาร 3,800 นายในอัฟกานิสถานหลังจากเสียกองกำลังไปกว่า 50 นาย
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าไนจีเรียจะเป็นอีกประเทศที่มีกองทัพโดรนกับเขาด้วย แต่หลังจากเจอภาพของ CH-3 หนึ่งในโดรนที่ผลิตในจีนชนตกที่ประเทศไนจีเรียในปี 2015 เราจึงรู้ว่าไนจีเรียซึ่งมีสัมพันธ์การค้าอันดีกับจีนซื้อ CH-3 เข้ามาเสริมกำลังการรบ
สเปนซื้อโดรนติดอาวุธ MQ-9 Block 5 4 ลำ จากสหรัฐในปี 2015 เพื่อจับมือพันธมิตรเข้าร่วมกับ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลีและสหรัฐอเมริกา เพื่อความมั่นคงและต่อต้านปฏิบัติการก่อการร้าย โดยโดรนที่ซื้อมาทั้งหมดตั้งใจทำมาใช้ในภารกิจ ISR (Intelligence Surveillance and Reconnaissance) สำหรับเฝ้าระวัง ลาดตระเวน เพื่อเก็บข้อมูลนำมาประมวลผลเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการรบ และเป็นตัวช่วยการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา
ปากีสถานพัฒนาเทคโนโลยีโดรนไร้คนขับเป็นของตนเองที่ใช้ชื่อว่า Burraq ทำงานโดยระบบนำวิถีเลเซอร์ชื่อ Barq ในปี 2015 เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย ผลของการทดสอบการใช้งานทุกสภาพอากาศในคราวนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ปากีสถานก็ยังไม่หยุดเสริมแกร่งกองทัพโดรน เพราะต่อมาในปี 2016 เขาซื้อ Wing Loong I มาก่อนและหลังจากนั้นในปี 2018 พวกเขาก็ซื้อ Wing Loong II เพิ่มอีกในปี 2018
เหนือสนามรบตะวันออกกลางแทบทุกประเทศต้องมีโดรน ส่วนอิรักเองได้เปิดเผยการใช้งานโดรนที่นำเข้าจากจีนรุ่น CH-4 ผ่านฟุตเทจตอนช่วงปี 2015 เพื่อพลิกเกมในสนามรบต่อต้านไอซิล (ISIL- Islamic State of Iraq and the Levant) หรือกลุ่มจัดตั้งรัฐอิสลามแห่งอิรักและ Levant ซึ่งหมายถึงพื้นที่รอบซีเรียรวมถึงเลบานอน อิสราเอล ปาเลสไตน์ และจอร์แดน
รายงานจาก Assessment of the Proliferation of Certain Remotely Piloted Aircraft Systems Response to Section 1276 of the National Defense Authorization Act for Fiscal Year 2017 เผยว่าอียิปต์ซื้อ Wing Loong I, Wing Loong II และ CH-4 UCAVS จากประเทศจีน ไม่ทราบจำนวน
“the Georgian state R&D center Delta” ศูนย์วิจัยและพัฒนาจอร์เจียเปิดตัวเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธไร้คนขับขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2015 แต่ไม่ระบุว่าสร้างโดรนชนิดไหน
คาซัคสถานซื้อ Wing Loong 2 ลำในปี 2016 จากประเทศจีน และในเดือนพฤษภาคมเดือน 2018 คาซัคสถานก็จับมือคู่กับตุรกี ลงนามเพื่อร่วมมือการผลิต TAI Anka ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลโดรนไร้คนขับขึ้นเพื่อเฝ้าระวังทางยุทธวิธีและลาดตระเวน คลาส 3 สามารถบินปานกลางระยะทำการนาน (MALE UAV: Medium-Altitude Long-Endurance)
ปี 2015 อินเดียเคยสั่ง Heron โดรนจากอิสราเอลมาแล้วกว่า 10 ลำ (เครื่องประเภท Heron เป็นเครื่องขนาดกลางและรัศมีการบินระยะกลาง ใช้สำหรับสอดแนม หาข่าว และติดตามเป้าหมาย) ต่อมาในปี 2016
ข่าวเรื่องทดสอบ Rustom II โดรนขับไล่ครั้งแรกสำเร็จก็กระจายให้รู้ว่ากองทัพไม่ได้มีแค่ของ แต่ยังฝึกกำลังเพื่อพร้อมใช้งานแล้ว และในปี 2019 อินเดียยังสั่ง Heron เพิ่มขึ้นอีกกว่า 50 ลำจากอิสราเอล แถมยังพิจารณาการสั่งซื้อ MQ-9 Reapers เพชฌฆาตตัวดังจากสหรัฐฯ เพิ่ม แต่ยังอยู่ระหว่างตกลงกันว่าจะติดอาวุธหรือไม่ติดอาวุธ
The nEUROn stealth UCAV ได้รับการพัฒนาร่วมมือระหว่างประเทศฝั่งยุโรป ทั้ง ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ กรีซ อิตาลี สเปนและสวีเดน บินสู่สาธารณะครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปี 2016 โดยมีเป้าหมายของการพัฒนาเพื่อสร้างเทคโนโลยีระดับสูงเข้าสู่ตลาดโลก สำหรับเป้าหมายของตัวนี้ค่อนข้างต่างจากตัวอื่นหน่อยเพราะเน้นเรื่องภาคธุรกิจ
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2016 ยูเครนประสบความสำเร็จในการทดสอบ Yatagan-2 ที่พัฒนาขึ้นใช้เอง
ตุรกีเป็นประเทศที่ต้องเปิดโดรนดำเนินในเดือนธันวาคม 2016 ในขณะที่ตุรกีนำเข้าโดรนเฝ้าระวังจากอเมริกาและอิสราเอล เพื่อพัฒนากองกำลังโดรนท้องถิ่น
ปี 2016 อาร์เซอร์ไบจานอาจมีข่าวการใช้โดรนพลีชีพที่ผลิตจากอิสราเอล มาทำสงคราม Nagorno-Karabakh กับอาร์เมเนีย โดยโดรนชนิดนั้นมีทั้ง Harop drone เครื่องบินบรรจุระเบิดกามิกาเซ่ไร้คนขับ
ฝรั่งเศสทดสอบ The nEUROn (UCAV ที่พัฒนาร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป) และมีกองทัพ MQ-9 Reaper ที่นำเข้าจากอเมริกา
เติร์กเมนิสถานโชว์กองกำลังโดรนที่มีมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2016 โดยได้จัดแสดง UCAV (Unmanned Combat Air Vehicle) หรืออากาศยานรบไร้คนขับ WJ-600A/D ที่นำเข้าจากประเทศจีน 2 ลำในขบวนพาเหรด และยังได้โดรน CH-3 ของจีนมาไว้ในครอบครองด้วย
ซาอุดีอาระเบียประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่จากตะวันออกกลางสุดร่ำรวยเป็นอีกประเทศที่แบ่งงบมาใช้สำหรับการทหารเยอะ ถึงขนาดมีการจัดอันดับว่าประเทศตะวันออกกลางแห่งนี้มีรายจ่ายทางการทหารสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ดังนั้น แสนยานุภาพของกองกำลังโดรนที่มีในครอบครองก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน ตามข้อมูลระบุว่ามีทั้ง Wing Loong II และ Wing Loong I จากจีน Seeker 2 จากแอฟริกาใต้ Camcopter S-100 จากออสเตรีย และ RQ-1E Predator XP จากสหรัฐอเมริกา
ปี 2017 กระทรวงกลาโหมของโปแลนด์เปลี่ยนรูปแบบการรบทางอากาศด้วยการจัดตั้งกองกำลังอากาศยานรบไร้คนขับขนาดกลาง บินระยะปานกลางขึ้น โดยเปิดให้บริษัทจำนวนกว่า 15 แห่งนำโดรนมาเข้าประมูลในปี 2017 เพื่อจัดตั้งกองกำลังอากาศยานไร้คนขับขึ้นแทนที่การใช้เครื่องบินรบ Sukhoi Su-22
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจงซัน (NCSIST) ของไต้หวัน หนึ่งในสถาบันที่ล้ำด้านเทคโนโลยีมีข่าวเรื่องจับมือพัฒนายานไร้คนขับสำรวจดวงจันทร์กับ NASA เปิดตัวโดนไร้คนขับระยะกลาง (MALE UAV) ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017
ประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณยุโรปตะวันออกเปิดตัวกองทัพโดรนใหม่ที่พัฒนาขึ้นเองโดย Academy of Sciences เป็นครั้งแรก ได้แก่ Yastreb และ Burevestnik-MB
เบลเยียมเจรจาซื้อจาก General Atomics Aeronautical Systems Inc (GA-ASI) ผู้พัฒนาอากาศยานไร้คนขับของสหรัฐอเมริกา ผลของการเจรจาครั้งนี้ทำให้ได้ MQ-9B SkyGuardians ระบบอากาศยานไร้คนขับติดอาวุธที่มีเพดานบินปานกลางที่มีระยะเวลาปฏิบัติการนาน มา 4 ลำในเดือนมีนาคม 2019
อีกหนึ่งประเทศที่อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปประกาศหาซื้ออากาศยานไร้คนขับกับเขาบ้าง หลังจากส่องบรรดา UAV ที่วางจำหน่ายหลายท่ัวโลก สุดท้ายลำที่ชนะการคัดเลือก เข้าตารัฐบาลเซอร์เบียจนนำมาเข้ากองทัพคือ Wing Loong I จากจีน
ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในสหภาพยุโรป แต่งบประมาณด้านการทหารอาจจะไม่จัดจ้านแห่งนี้ จัดสรรงบประมาณจากคณะกรรมการงบประมาณของเยอรมนี “เช่า” โดรนติดอาวุธจากอิสราเอล
ประเทศใกล้บ้านเราอย่างอินโดปิดปลายปีที่แล้ว (2019) ด้วยข่าวที่ชวนตกใจ เพราะจู่ ๆ ก็เปิดตัวอากาศยานไร้คนขับ Elang Hitam MALE UAV ที่พัฒนาในประเทศ โดยตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อให้ทำภารกิจตรวจการณ์เพื่อต่อต้านปัญหาทั้งเรื่องก่อการร้าย ลักลอบเข้าเมือง ลำเลียงสิ่งผิดกฎหมาย โจรสลัด ไฟป่า ลักลอบตัดไม้ ฯลฯ และในอนาคตอันใกล้นี้อินโดยังจับมือถ่ายทอดวิทยาการ UAV ร่วมกับตุรกีเพื่อพัฒนาและผลิตร่วมกันในอินโดด้วย
แดนลอดช่องรักสงบใกล้บ้านเราก็ใช่ย่อย หลังจากมีภาพเผยแพร่ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ออกมา ก็ติดภาพหลุดโดรน Heron ที่พัฒนาโดยอิสราเอล 1 ลำโผล่เข้ามา ก่อนภาพนั้นจะถูกกำจัดออกไปจากสื่อเงียบ ๆ งานนี้เลยไม่รู้วัตถุประสงค์แต่ที่รู้แน่ ๆ คือเห็นเงียบ ๆ ก็มีโดรนซุกไว้กับเขาเหมือนกัน
แม้จะเพิ่งเปิดตัวในปีที่แล้ว (2019) ว่ามีวิหคนักล่าไร้คนขับ Okhotnik-B ช่วงต้นปีอย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์การบินของรัสเซีย แต่วิดีโอการทดสอบหลุดมาให้เห็นตั้งแต่ปลายปี 2018 แล้ว เจ้า Okhotnik-B เป็นเวอร์ชันที่พัฒนาขึ้นเป็นรุ่นที่หกแล้ว เลยจัดว่าค่อนข้างเก๋าเพราะรวบวิทยาการบางอย่างของรุ่นพี่มาพัฒนา สิ่งที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากโดรนหลาย ๆ ลำที่ประเทศอื่นพัฒนามาคือมันมีขนาดใหญ่จึงพกพามิสไซล์ติดไปได้มาก แถมยังซ่อนไว้ภายในเครื่องได้ไม่ได้ติดไว้ที่ปีกแบบเดียวกับหลาย ๆ เจ้า ดังนั้น โอกาสที่จะโดนตรวจจับจากศัตรูจึงน้อยกว่า
แอลจีเรียทดสอบโดรน UCAV จากจีนรุ่น CH-4 มาตั้งแต่ปี 2014 และเพิ่งจะเปิดตัว CH-3 กับ CH-4 ที่ไม่ติดขีปนาวุธอย่างเป็นทางการไป แต่นอกจากจีน แอลจีเรียยังอุดหนุน UAVs หลายลำจาก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วย ได้แก่ Adcom Yabhon United 40 ที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นภาษาถิ่นว่า Algeria 54 และ Yabhon Flash-20 ที่ใช้ชื่อใหม่ว่า Algeria 55
กาตาร์เองก็ไม่น้อยหน้าเพราะจับมือกับผู้ผลิตอากาศยานตุรกี ลงนามสัญญาจัดหาอากาศยานไร้คนขับ Bayraktar TB2 UAV 6 เครื่องจากบริษัท Baykar Makina ตุรกี ซึ่งนับเป็นอากาศยานไร้คนขับทางยุทธวิธี (tactical UAV) แบบแรกของประเทศพร้อมอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ทางด้านเทคนิคและโลจิกติกส์
ปลายปี 2019 รัฐบาลแคนาดาเร่งอนุมัติคำขอเรื่องการสร้างกองกำลังติดอาวุธไร้คนขับเข้ากองทัพ โดยแว่วว่าซื้อทั้ง Heron จากอิสราเอลและ MQ-9 จากอเมริกา ว่ากันว่าการตัดสินใจอนุมัติปุปปับนี้มาจากแรงกระตุ้นจากเหตุการณ์ NATO แทรกแซงในลิเบีย
เดือนมีนาคม 2019 มีข่าวแถลงจากกระทรวงกลางโหมสหรัฐอเมริกาว่าเนเธอร์แลนด์จ่ายเงินซื้อ MQ-9 Reaper 4 ลำ และการดำเนินการนี้จะแล้วเสร็จในปีนี้
ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่าประเภทของโดรน มีทั้งแบบที่ใช้ลาดตระเวนเพื่อเช็กความปลอดภัยเฉย ๆ ส่วนบางประเภทก็ใช้สอดแนม ใช้รบโดยเฉพาะ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน การเป็นเจ้าของกองทัพอานุภาพปลิดชีวิตคุณภาพสูงที่เป็นเครื่องแสดงอำนาจให้ประเทศรอบข้างรู้สึกหวาดกลัว
เกมการเมืองหลังจากนี้คนที่มีเทคโนโลยีดีคงเจ็บน้อยหน่อย แต่รวยค้ำฟ้า เพราะถ้าดูจากข้อมูลหลายกลุ่มประเทศผลิตเพื่อให้มีและไม่ได้ใช้เพื่อการรบ แต่เน้นสร้างสนามการค้าอาวุธที่อยากจะเจาะตลาดไปให้ถึง ลองดูภาพเล่น ๆ เทียบกับตารางด้านบนจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2001 ที่อเมริกาเริ่มมาจนถึงปีนี้ เกือบ 2 ทศวรรษก็ล่อไป 29 ประเทศแล้วที่กำลังพัฒนาโดรนเป็นของตัวเอง สัดส่วนถือว่าครึ่งต่อครึ่งเลย ดังนั้นภาพรวมจากนี้มั่นใจได้เลยว่าโดรนจะกลายเป็น Assset หลักที่หลายประเทศต้องการ และการลงทุนจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนที่หลายคนยังคิดว่าสงครามที่อเมริกาเปิดก่อนครั้งนี้จะมีอะไรรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกไหม งานนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะบอกว่า เกมล่าค่าหัวระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ คงไม่จบลงด้วยการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะต่างฝ่ายต่างขาดพันธมิตรที่จะมาลุยจริงจัง ประเทศส่วนใหญ่ที่มาเข้าพวกด้วยจะพาไปสู่หนทางไกล่เกลี่ย หรือบีบบังคับด้วยทางอื่น (เศรษฐกิจ) มากกว่าล้างเกมด้วยเลือด
อย่างไรก็ตามเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจทางการทหารมันยังเป็นเรื่องสำคัญที่คน “รักสงบ” อาจจะปกป้องใครไม่ได้ หากวันหนึ่งคนที่กำอาวุธรุนแรงไว้ในมือ ลุกขึ้นมาหาเหตุชอบธรรมเพื่อจะฆ่าใครสักคน