Life

สร้าง Passion ในการใช้ชีวิตด้วยทฤษฎี Self-determination

By: unlockmen December 15, 2021

คนส่วนมากอยากเป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง อยากมีอิสระในการตัดสินใจ หรือ ควบคุมทุกเหตุการณ์ที่ตัวเองเผชิญ แต่ก็มีหลายคนเหมือนกันที่รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองไม่มีอิสระเอาเสียเลย เพราะเจอกับเจ้านายที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและไม่ยอมรับฟังสิ่งที่พวกเขาพูด หรือ พวกเขากำลังอยู่ในความสัมพันธ์แบบ Toxic Relationship ที่ต้องยอมทนกับอีกฝ่ายทุกอย่าง และสะสมความอึดอัดใจไว้ที่ตัวเองเดียว

หากเราไม่มีอิสระในการตัดสินใจหรือในการจัดการกับชีวิตตัวเอง เราจะมีปัญหาทั้งเรื่องการใช้ชีวิตและการทำงาน เพราะเราจะรู้สึกแย่และหมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต UNLOCKMEN เลยอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับทฤษฎีที่เรียกว่า Self-determination หรือ การกำหนดตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างมีแพสชันไปยาวนาน

 

เกี่ยวกับทฤษฎี Self-determination

Edward Deci

ย้อนกลับไปเมื่อ 1971 นักจิตวิทยาชื่อว่า Edward Deci ได้ทำงานวิจัยชื้นหนึ่ง โดยเขามอบหมายให้นักเรียนจิตวิทยา 2 กลุ่มทำการแก้ไขปริศนาลูกบาศก์โซมา (Soma cube) เป็นเวลา 3 ช่วง โดยในช่วงที่สอง นักเรียนกลุ่มหนึ่งจะได้รับเงินตอบแทนทุกครั้งที่แก้ไขปริศนาได้สำเร็จและอีกกลุ่มจะไม่ได้อะไรเลย ส่วนในช่วงที่หนึ่งและสาม ไม่มีนักเรียนกลุ่มใดที่ได้รับเงินตอบแทนจากการแก้ปริศนาสำเร็จ

หลังจากที่ Deci ประกาศว่าหมดเวลาในการแก้ไขปริศนา และนักเรียนถูกทิ้งไว้ในห้องทดลองสักพัก กลุ่มนักเรียนที่เคยได้รับเงินจากการแก้ไขปริศนา ก็หันเหความสนใจจากภารกิจไปทำอย่างอื่น เช่น อ่านนิตยสาร ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เคยได้รับเงินเลยจะพยายามแก้ไขปริศนาต่อไป นำไปสู่ข้อสรุปของการทดลองที่ว่า “คนที่ได้รับเงินไม่รู้สึกถึงแรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) อีกต่อไป”

Richard Ryan

การทดลองนี้ได้พัฒนามาเป็น ทฤษฎีกำหนดตัวเอง (Self-determination theory หรือ SDT) ในปี 1985 หลังจากที่ Deci ได้ร่วมงานกับ Richard Ryan ออกหนังสือชื่อว่า “Self-Determination and Intrinsic Motivation in Human Behavior”ซึ่งอธิบายทฤษฎีแรงจูงใจที่เสนอว่า คนมักถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกอยากเติบโตและสมหวัง โดยทฤษฎีนี้จะประกอบไปด้วย 2 สมมติฐานได้แก่

  • ความต้องการเจริญเติบโตส่งผลให้เกิดพฤติกรรม – ทฤษฎีนี้บอกว่า คนสนใจเรื่องความก้าวหน้า ต้องการเอาเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ต้องการเอาชนะความท้าทาย และต้องการเจอกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาตัวตนของตัวเอง (sense of self) และความสำเร็จ
  • แรงจูงใจอิสระ (Autonomous motivation) มีความสำคัญ -ในขณะที่คนมักมีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ เพราะได้รับตัวกระตุ้นภายนอก หรือ ของรางวัลนอกกาย เช่น เงิน ถ้วยรางวัล หรือ คำชื่นชม ทฤษฎีนี้จะสนใจที่แรงกระตุ้นภายใน เช่น ความต้องการเรียนรู้ หรือ ความต้องการมีอิสระ พูดง่าย ๆ คือ หากคนรู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุมการกระทำของตัวเองได้ พวกเขาจะมี Self-determination มากขึ้น

นอกจากนี้ ทฤษฎียังบอกด้วยว่า คนต้องการการเชื่อมต่อกับคนอื่น กล่าวคือ คนรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่ง หรือ มีความผูกพันกับคนอื่น และไม่มีใครที่ชอบก่ารอยู่คนเดียว

SDT แสดงให้ว่าการสร้างแรงจูงใจให้คนทำอะไรบางอย่างด้วยปัจจัยภายนอก เช่น เงิน หรือ รางวัล อาจไม่ใช่วิธีที่เวิร์กเสมอไป เพราะมันจะทำให้คนรู้สึกไร้อิสรภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ตอนทำงาน ถ้าเรารู้สึกว่าเราทำงานเพราะเงิน เราจะทำงานไปวัน ๆ เพื่อเงินเท่านั้นโดยไม่สนใจเรื่องอื่น และไม่มีแรงจูงในการพัฒนาการทำงานของตัวเองให้ดีขึ้น พอทำงานไปถึงจุดหนึ่ง เราอาจเสี่ยงต่ออาการ burn out ได้ง่าย

เพราะฉะนั้น การสร้างแรงบันดาลใจหรือแพสชันในสิ่งที่ตัวเองทำ อาจจะเป็นวิธีการสร้างแรงจูงใจที่เวิร์กมากกว่าการโฟกัสที่เงิน


วิธีการนำทฤษฎี Self-determination ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

เราสามารถนำทฤษฎีนี้ไปใช้ได้กับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับตัวเองหรือลูกน้อง การสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับคนอื่น ไปจนถึง การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนในสังคม

นอกจากนี้การนำทฤษฎี Self-determination ไปใช้ ยังช่วยให้เรามีความสุขกับการทำเริ่องต่าง ๆ อย่างแท้จริง เพราะแต่ละสิ่งที่เราทำ เราจะทำมันเพราะเราสนใจ เรามองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำ และรู้สึกอิ่มเอมใจในการทำมันโดยไม่จำเป็นต้องได้รับผลตอบแทน เราเลยอยามาแนะนำวิธีการเพิ่ม Self-determination ให้ทุกคนนำไปใช้กัน

เชื่อว่าเราสามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้ – เวลาเจอกับปัญหาหรืออุปสรรค์ คนที่มี Self-determination จะไม่โทษอย่างอื่นว่าเป็นต้นเหตุ แต่จะพยายามคิดหาวิธีแก้ไขที่ดีที่สุด เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนั้นไปได้ เพราะพวกเขาเชื่อว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ และ การกระทำของพวกเขาจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปได้ พวกเขาจึงมีความอดทนต่อความยากลำบากสูง และไม่ย่อท้อง่าย

สร้างแรงจูงใจภายใน – มองหาคุณค่าที่เราจะได้รับจากการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าสังคม หรือ การทำงาน เพราะถ้าเราเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำ เราจะมีแรงจูงใจในการทำเองโดยไม่ต้องถูกกระตุ้นด้วยเงินหรือรางวัล และแรงจูงใจนี้จะอยู่กับเราไปนานด้วย

ตั้งเป้าหมายในการทำสิ่งต่าง ๆ – เราควรฝึกตั้งเป้าหมายให้เป็นนิสัย เพราะเป้าหมายจะช่วยให้การกระทำของเรามีความหมาย และเกิดแรงจูงใจในการทำไปยาวนาน ในทางกลับกัน ถ้าเราทำอะไรโดยไร้เป้าหมาย เราอาจรู้สึกสับสนเหมือนไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม และเกิดอาการ Burn Out ได้

รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ – เราควรรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ว่าการกระทำของเราจะส่งผลดี หรือ ผลร้ายก็ตาม เพราะการยอมรับในผลดีช่วยจะช่วยให้เรามีแรงจูงใจในการทำมันต่อไป ในขณะที่การยอมรับในผลร้าย จะช่วยให้เรามองเห็นข้อผิดพลาด และอยากปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น

สร้างความชำนาญให้กับตัวเอง – เราควรรู้ว่าทักษะใดที่จำเป็นต่อชีวิตเราบ้าง และพัฒนาทักษะเหล่านั้นจนเชี่ยวชาญ เช่น ถ้าเราสนใจเรื่องการทำอาหาร เราก็ควรศึกษามันอย่างจริงจัง เช่น หาหนังสือมาอ่าน เข้าคอร์สเรียน หรือ ฝึกทำอาหารบ่อย ๆ เป็นต้น การทุ่มเทให้กับทักษะใดทักษะหนึ่ง จะช่วยให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ และมี Self-determination มากขึ้น

มองหาคนรู้ใจ – คนรอบตัวสามารถทำให้เรากลายเป็นคนที่มี Self-determination สูง หรือ ต่ำได้ เราจึงต้องเลือกคบคนที่อยู่ด้วยแล้วสบาย และพวกเขาสามารถสร้างแรงจูงใจในการสิ่งต่าง ๆ ให้กับเราได้

อย่างไรก็ตาม ในโลกความเป็นจริง เราไม่ได้รับอิทธิพลแค่จากแรงจูงใจภายในเท่านั้น แต่แรงจูงใจภายนอกก็มีผลต่อเราเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น บางคนไม่ได้อยากเป็นหมอ เพราะอยากช่วยชีวิตคนเท่านั้น แต่รายได้ที่สูงก็เป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาเข้าสู่สายอาชีพนี้เหมือนกัน ดังนั้น เวลาตัดสินใจทำอะไรก็ตาม เราควรตัดสินใจจากทั้งแรงจูงใจภายในและแรงจูงใจภายนอก เพื่อให้เราทำในสิ่งที่มีคุณค่าต่อตัวเรามากที่สุด


Appendix: 1 / 2

Image: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line