Business

รู้จัก “สุริยาหีบศพ” ธุรกิจความตายเพื่อหัวใจคนเป็น กิจการใจรักที่คนส่วนใหญ่ขยาดกลัว

By: anonymK February 13, 2018

เดือนกุมภาพันธ์ ภาพความรักหวานสดใสอบอวลไปทั่วพื้นที่ บรรยากาศเทศกาลชวนให้หัวใจสูบฉีด ภาพของคนที่เรารักพร้อมเลือดฝาดแต้มพวงแก้ม รอยยิ้ม ลมหายใจ และอุณหภูมิร่างกายอุ่น ๆ ที่สัมผัสแล้วชวนให้รู้สึกดี แต่มักไม่ค่อยมีใครคิดถึงสิ่งตรงข้าม วันที่หัวใจหยุดเคลื่อนไหว ร่างเย็นเฉียบ ไร้การตอบสนอง และรอวันเน่าเปื่อย กลิ่นหอมคุ้นเคยที่จางผันกลายเป็นความคลุ้งคลื่นเหียนชวนสะอิดสะเอียน ถึงเวลานั้นเราจะยังมั่นคงอยู่เคียงข้างหรืออยากเบือนหน้าหนีกันแน่?

กับประเด็นคำถามทิ้งท้ายนั้น เราได้มีโอกาสฟังบทสัมภาษณ์ของพี่วิโรจน์ สุริยเสนีย์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของสุริยาหีบศพในรายการ podcast ของ The Secret Sauce มีหลายมุมที่เราไม่เคยรู้และไม่เคยได้ยินจึงอยากเก็บมาแบ่งปันให้ชาว UNLOCKMEN ได้เพิ่มมิติรักให้ครบรส เปลี่ยนมุมมองที่เราอาจจะมีทั้งรักทั้งชังเมื่อได้ยินว่าเขากำลังทำ “ธุรกิจหีบศพ” งานที่แลกลมหายใจคนอื่นเป็นเม็ดเงิน

 

งานอัปมงคล เติบโตจากความรัก

ถึงความตายจะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่มักไม่ค่อยมีใครอยากทำงานกับความตาย เพราะมีความเชื่อว่า “ศพ” หรือร่างไร้ลมหายใจที่เกี่ยวพันกับดวงวิญญาณและความเชื่อนั้นผูกกับความซวยล้วน ๆ ทำไปก็ไม่เจริญ จึงเป็นเหตุผลผู้บุกเบิกกิจการหีบศพอันดับหนึ่งของประเทศไทยอย่าง คุณสมชาย สุริยเสนีย์ เจ้าของกิจการสุริยาหีบศพ ต้องฝ่าฟันกระแสคำต่อต้านของครอบครัวมากมาย แต่สุดท้ายด้วยทัศนคติที่ดีในการทำงานที่ต้องการส่งความรักสุดท้ายของคนเป็นถึงคนตาย และเป็นเพื่อนที่เคียงข้างความเสียใจทุกมิติ จึงทำให้ธุรกิจนี้เติบโตและเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญและเป็นหลักพิงให้กับทุกชีวิตในบ้าน และยืนยงมายาวนานถึง 4 ทศวรรษโดยไม่มีใครแทนที่ได้ และมีโอกาสได้รับเกียรติรับใช้ราชสำนัก ขณะเดียวกันก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นจากการเสริมของลูกไม้ไกลต้นอย่างพี่วิโรจน์ สุริยเสนีย์ที่เข้ามารับช่วงต่อจนโด่งดังในระดับสากล

 

ขายหีบศพ แต่ห้ามหากินกับคนตาย

ทั้งที่เห็นชัดว่าเป็นงานที่ได้เม็ดเงินจากคนตาย แต่สิ่งที่เจ้าของธุรกิจนี้ปลูกฝังเป็นปรัชญา หรือกฎเหล็กทางธุรกิจที่พนักงานทุกระดับที่มีกว่า 300 ชีวิตจากทุกสาขาต้องจดจำกลับเป็นข้อห้ามว่า “ห้ามหากินกับคนตายเด็ดขาด” เพราะเขารู้ว่าความสูญเสียนั้นเจ็บปวด หัวใจของการทำงานจึงต้องคิดจุดเริ่มต้นว่าเราต้องการทำอะไรให้กับบุคลที่สูญเสียคนที่รักได้บ้าง ไม่ใช่การฉวยโอกาสกับจังหวะอ่อนแอของคน ความซื่อสัตย์ที่สั่งสมเหล่านี้ได้สะท้อนกลับมาเป็นเสียงของคำชื่นชม และความยั่งยืนทางธุรกิจ

“สิ่งที่ยากที่สุดของสุริยาอีกอย่างคือตอนจุดธูปขอพรไหว้พระ บอกว่าขอให้ผมขายดีๆ หรือเวลาผมไปทำบุญหลวงพ่อก็จะบอกว่า โยม ขอให้ขายดีๆ นะ ถ้าผมขายดีนี่แสดงว่าคนตายเยอะนะ หลวงพ่อก็บอก เอ้ย ก็เอาคนที่ถึงเวลาสิ” – วิโรจน์ สุริยเสนีย์

 

“เราจะไม่ปฏิเสธลูกค้า” คำกล่าวสั้น ๆ ของพี่รุ่งโรจน์อธิบายลักษณะธุรกิจหีบศพของสุริยาหีบศพที่เป็นมากกว่านักค้า แต่เป็นผู้จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นมาให้กับผู้เข้ามาติดต่อแบบครบวงจรนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้เรามองว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจและเจตนา ถ้าคุณมองโลกแบบบริโภคนิยม คุณจะมองว่าเขากำลังหากินกับคนตาย แต่สำหรับคนที่เข้าใจและเคยพบการสูญเสีย หรือตกอยู่ในสถานการณ์นั้นมาก่อน ย่อมเข้าใจดีว่า ความเป็นชายมันไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันความรู้สึกส่วนนี้มาให้ เราอ่อนแอและแพนิกเกินกว่าจะคัดเลือกหรือตระเตรียมอะไรในภาวะที่หัวใจไม่แข็งแรง แค่ฝืนฟังคำแสดงความเสียใจจากทุกช่องทางและตอบ “ขอบคุณ” กลับไปก็ยากเกินทนแล้ว

 

นวัตกรรมฉบับ หีบ หีบ

อินไซด์ลึก สิ่งที่เราไม่เคยสงสัย แต่เมื่อรู้แล้วต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก เพราะเขาคือต้นฉบับของหีบศพที่เราเห็นกันทั่วไป 2 สิ่งนี้

  • หีบสีขาว เด็กสมัยนี้อาจจะคิดว่าโลงศพเป็นสีขาวมาแต่ไหนแต่ไร แต่ที่จริงแล้วสมัยก่อนหีบศพทำจากไม้และเป็นสีเหลืองจนกระทั่งสุริยาหีบศพคิดค้นและปรับสีมาเรื่อย ๆ จากเหลืองเป็นสีไข่ไก่นวล แล้วค่อยเป็นสีขาวในที่สุด
  • หีบติดแอร์ หีบแช่แข็งที่ใช้มาแพร่หลายได้ไม่จดลิขสิทธิ์ เริ่มต้นมาจากสุริยาหีบศพ ที่มีแนวคิดว่า “เมื่อเนื้อหมูแช่ตู้เย็นแล้วไม่เสีย ศพก็เหมือนกัน” ซึ่งไม่เพียงจะช่วยปัญหาศพเน่าเสียแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการฉีดยาให้ศพ เรื่องสยองที่ทุกคนส่ายหน้าอีกด้วย
ความตายคือสากล ไร้ชาติ ศาสนา เส้นแบ่ง

สัจธรรมที่ว่าพอคนเราตายแล้วก็เท่ากันหมด ทั้งรูปร่างหน้าตาที่เคยหล่อเหลา เงินทองในกระเป๋า หรือชาติตระกูล เพราะสุดท้ายต้องพำนักในบ้านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ขนาดไม่กว้างใหญ่กว่าลำตัวมากมาย ปิดและตอกประทับด้วยฝาโลงเหมือนกัน แต่ในความเท่าเทียมเราก็พบว่าไม่ใช่ร้านขายหีบศพทุกในไทยที่เป็นแบบนั้น การรับดีลดูแลผู้เสียชีวิตต่างชาติมาจัดพิธีกลับเป็นเรื่องยาก แต่คุณวิโรจน์ได้เข้ามาต่อยอดด้วยการสร้างบริษัท Siam Funeral ก้าวไกลชนิดเป็นสมาชิก NFDA ของอเมริกา ไปงาน Asia Funeral Expo หรืองานสัปเปร่อโลก ซึ่งเป็นงาน conference การจัดการพิธีศพ แชร์องค์ความรู้ถึงกันไปทั่วโลก ทั้งการบุภายใน เสื้อผ้า หีบ ฯลฯ ซึ่งจัดวนสลับกันไปในหมู่ประเทศสมาชิก

 

Change Funeral Home วิถีอันล็อกในอนาคตที่ใฝ่ฝัน

Funeral Home ศัพท์นี้หลายคนอาจไม่คุ้น แต่มันคือ service ที่เป็นลักษณะของบริษัทรับจัดงานศพ ซึ่งเมื่อนำมาเทียบแล้วต่างประเทศจะแตกต่างกับประเทศไทย ในต่างประเทศ Funeral Home คือเอกชน แต่บ้านเราคือวัด ซึ่งดูเป็นการผูกขาดบริการนั้น ในอนาคตแบรนด์สุริยาหีบศพจึงตั้งความหวังว่าอยากจะสร้างที่สวดศพของเอกชน ที่ไม่ใช่วัด เหมือนกับกลุ่มประเทศอื่นในเอเชียที่ทำสำเร็จแล้วทั้ง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ทั้งหมดนี้เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่มาใช้บริการ เพราะหลายคนไม่ได้อยากไปจบการจัดพิธีที่วัด แต่ต้องการจัดพิธีที่บ้าน และเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ยากจะเข้าใจ เนื่องจากคนในต่างจังหวัดทุกวันนี้เขาก็ยังทำกัน

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องเล่าความสำเร็จและความสุขที่เกิดจากความรักและความตั้งใจชนิดไม่เกี่ยงอาชีพ หรือเป็นอาชีพที่อาจไม่เข้าตาในมาตรฐานสังคมปกติ ซึ่งเราเชื่อว่าจะกลายเป็นที่มาของแรงบันดาลใจมหาศาลสำหรับคนทำงานชาว UNLOCKMEN ทุกคน เพราะหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการพัฒนาศักยภาพงานด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ และให้ความรัก เช่นเดียวกับประโยคทิ้งท้ายของพี่วิโรจน์เมื่อพูดถึงความสุขจากการทำงานว่า

 

“ความสุขของผมจริงๆ คือลูกค้านั่งจับมือผม แล้วบอกว่าขอบคุณมากนะ นั่นแหละคือความสุขของผม ประสบความสำเร็จครับ เราไม่ใช่เทวดา แต่ในมุมของลูกค้าที่สูญเสีย เราคือเทวดาของเขา” – วิโรจน์ สุริยเสนีย์

 

เรื่องเล่าจบแล้ว อย่าลืมใช้ชีวิตให้คุ้มค่า พัฒนาตัวเองก่อนจะเจอกับวันหน้าในบ้านหลังสุดท้ายนะ

 

SOURCE

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line