TECH

“ขโมยงานก็ได้ ให้งานก็ดี” สลายข้อสงสัย จะดีไหมถ้าอนาคต RESUME ของเราถูกคัดโดย AI ?

By: anonymK November 19, 2018

แว่วมาสักระยะแล้วเรื่องการนำ AI มาทำตำแหน่ง Hr คัดคนเข้าทำงาน เราเชื่อว่าหลายคนที่ได้ยินอาจรู้สึกกลัวเพราะนับวันเจ้าปัญญาประดิษฐ์เริ่มจะมีอำนาจควบคุมเรามากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เพื่อไม่ให้เป็นการปรักปรำและเท่าทันระบบการหางานในโลกวันนี้ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป UNLOCKMEN จึงได้ติดตามและไขภาพมัว ๆ ที่คนอาจจะคิดไม่ออกว่าทำไมถึงต้องมีการใช้ AI เข้ามาทำหน้าที่นี้ และมันยุติธรรมกับมนุษย์อย่างเราไหม

JUST EXTENSION

ก่อนจะพารานอยด์กับอาชีพ ว่า Hr จะโดนขโมยงานไปอีกอาชีพหนึ่งแล้วเหรอ ขอให้งดแตกตื่นเพราะการนำ AI มาช่วยคัดกรองคนเข้าทำงาน เขาใช้มันเป็นแค่ส่วนขยายที่เพิ่มเข้ามาเท่านั้น เนื่องจากสุดท้ายแล้วความกดดันระหว่างคนสัมภาษณ์กับคนสมัคร หรือการใช้จิตวิทยาเข้าประกอบการทดสอบเพื่อคัดเลือกคนมันก็ยังจำเป็นอยู่ วิชาชีพของการเป็น Hr ก็ยังคงสำคัญกับองค์กรเสมอ

แต่นั่นจะเป็นขั้นตอนในสเตปที่ 2-3 ไม่ใช่ขั้นตอนแรกถ้าหากบริษัทที่เราจะเข้าไปทำงานเขาใช้ปัญญาประดิษฐ์มาร่วมในการกรองคน…

 

MATCH ME WITHOUT BIAS

ในเมื่อ Hr เดิมก็ไม่ได้หายไปแล้วทำไมเราถึงต้องมี AI ซึ่งไร้หัวใจมาเป็นผู้ร่วมตัดสิน Resume ที่เรามุ่งมั่นทำแทบเป็นแทบตายด้วย ถ้าคุณกำลังตั้งคำถามนั้นตอนที่กำลังอ่านอยู่ นั่นแหละ คำตอบมันอยู่ตรงนั้น “ความไร้หัวใจมันจำเป็นกับการคัดกรอง”

มนุษย์ละเอียดอ่อนเรื่องอารมณ์กับการให้คะแนนมากเกินไป เราให้แต้มกับบางอย่างที่ถูกใจ และตัดแต้มเมื่อเหม็นขี้หน้าหรือไม่ถูกชะตา และไม่ว่าคุณจะทำเช่นไรคุณจะไม่มีวันเอาตัวเองออกจากความ Bias โดยสัญชาตญาณของตัวเองได้

“คุณจะวัด Attitude ของผู้สมัครงานจาก Attitude ของคุณเองหรือว่าจะมองมันตามเนื้อผ้า”

สิ่งที่น่าสนใจคือมีบันทึกงานวิจัยในวารสาร Management Science ที่ว่าด้วยความอคติของมนุษย์สรุปไว้ว่าไม่ว่าคุณจะพยายามอยู่ตรงกลางสักแค่ไหนมันก็ไม่มีวันเกิดขึ้น เพราะว่าเราทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า “Confirmation bias” หรือการสรรหาเหตุผลมาเพื่อสนับสนุนความรู้สึกอคติของตัวเองอยู่ โดยจากการวิจัยด้วยการสำรวจในคนจำนวน 661 คนที่เข้าร่วมการวิจัย มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ตอบโดยยอมรับความจริงว่าตัวเองมีอคติมากกว่าคนอื่น แต่ที่เหลือเป็นการตัดสินโดยใช้วิจารณญาณของตัวเองว่าพวกเขาคิดถูกแล้ว

 

BEFORE AND AFTER VIA AI

แน่นอนว่าการเป็น HR มันก็ไม่ได้จบแค่ความคิดที่ไร้กำแพงอคติเท่านั้น แต่มันยังมีฟังก์ชันสนับสนุนเรื่องอื่น ๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับพวกเราทั้งในฐานะผู้สมัครและพนักงานในอนาคตด้วย ซึ่งเราได้จำแนกให้เห็นหน้าที่เป็น Before กับ After คุณจะได้รู้ว่ามันทำงานได้เฉียบแค่ไหน

Before

เรากำลังร่อนใบสมัคร ทั้งทางตรงและฝากผ่านเว็บหางานทั้งหลาย และนี่คือสิ่ง AI จะทำให้คุณได้

  1. หาเราเจอจากกองอีเมลมหาศาล – เรื่องนี้ถือว่าเป็นประโยชน์กับเรามาก เพราะทุกวันนี้เราต้องส่งใบสมัครผ่านอีเมล ดังนั้น โอกาสที่มันจะเข้าไปอยู่ในถังขยะ (Junk Mail) โดยที่ไม่ได้เปิดอ่านมีมหาศาล หากบริษัทนั้นเป็นบริษัทใหญ่หรือเป็นตำแหน่งงานที่มีคนต้องการมากขณะเดียวกับมันก็เป็นประโยชน์กับบริษัทเรื่องความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารและการวิเคราะห์คุณสมบัติตำแหน่งเช่นกัน เช่น ตำแหน่งนี้ต้องการคนบ้านใกล้ ตำแหน่งนี้ต้องการใบประกาศฯ ต้องการความสามารถทางภาษาฯลฯ เพราะมันใช้เวลาไม่กี่นาทีเพื่อประมวลผล คัดเข้า และคัดทิ้งภายในไม่กี่นาทีเท่านั้น
  2. ไม่พลาดโอกาสครั้งที่ 2 – เวลาที่บริษัทหาคนที่ใช่เข้าไป แต่บังเอิญเข้าไปทำจริงแล้วมันไม่ผ่านงานหรือดันไม่ใช่ การมีระบบ AI มันช่วยสร้างโอกาสรอบที่ 2 ให้เราได้ เพราะมันจะเก็บข้อมูลที่เราเคยสมัครไว้ เพื่อให้ Hr เขาหวนกลับมาเลือกเราอีกครั้ง และยังสามารถประมวลผลในกรณีที่ตำแหน่งที่เราสมัครไว้ไม่มี แต่ว่าคุณสมบัติเราเหมาะสมกับอีกตำแหน่งที่กำลังเปิดรับ เพื่อส่งอีเมลกลับมาเชื้อเชิญเราเข้าทำงาน อันนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ส้มหล่นไป เราไม่จำเป็นต้องส่งใบสมัครเข้าไปในบริษัทเดียวกันหลาย ๆ ใบ ในกรณีที่อยากได้งานตำแหน่งอื่นในบริษัทนั้น
  3. เพิ่มทางเลือกเรื่องวันเวลานัดหมาย – เวลานัดแนะเพื่อสัมภาษณ์ บางคนคงรู้ดีว่าการสับรางมันยากขนาดไหน เพราะส่วนมากเราก็ยังไม่ได้ลาออกจากบริษัทเก่าก่อนจะได้งานใหม่ ดังนั้น Hr ที่ใช้ระบบ AI จะช่วยสับรางให้เราได้ตามความเหมาะสมซึ่งจัดว่าน่าสนใจไม่น้อย ที่สำคัญบอกได้เลยว่าเขาจะไม่ลืมเราในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัมภาษณ์ ทดสอบ หรือเซ็นสัญญา ซึ่งเรื่องเหล่านี้บางทีเราก็มักจะเกรงใจที่จะถาม Hr บริษัทที่สมัครซ้ำ ๆ บ่อย ๆ

After

สำหรับฟังก์ชันอื่นที่ AI สามารถเข้ามาเติมเต็มหลังจากเข้าทำงานเองก็น่าสนใจไม่แพ้กันและเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มันก็เหมาะกับองค์กรทุกบริษัท

  1. Chatbot ตอบทุกเรื่องที่อยากรู้ 24 ชั่วโมง – รั้วออฟฟิศคือสังคมใหม่ที่เราต้องเข้าไปอยู่ เป็นธรรมดาที่จะต้องเจอกฎที่ต้องระวังจะเดินไปล้ำเส้นโดยไม่รู้ตัวจนทำให้ถูกเพ่งเล็งหรือถูกไล่ออกได้ ดังนั้น การมี AI ที่ทำหน้าที่เสมือน call center พร้อมตอบคำถามที่เราสงสัยก่อนที่เราจะพลาดไปทำมันก็ดี ซึ่งบริการแบบนี้เราก็เริ่มเห็นได้จากบางบริษัทแล้ว (ดีกว่าเปิดข้อมูลใน Guide Book หนา ๆ ที่แน่นอนว่าเราจะไม่มีวันอ่านมันทุกบรรทัด) นอกจากนี้ยังควบคุมเรื่องระบบใบลาให้เราได้ด้วย เพราะหลายบริษัทในวันนี้ลาผ่านออนไลน์ได้แล้ว นั่นแหละคือการทำงานของ AI
  2. ร้องเรียนได้ไม่โดนลบก่อน – ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เราเจอเวลาทำงานคือความชอบธรรมในการร้องเรียน นิสัยของผู้ชายเราแม้ไม่ใช่พวกขี้ฟ้อง แต่ถ้าเจออะไรไม่เป็นธรรมเราก็อยากบอกโดยไม่มีผลกระทบกับเก้าอี้ที่ตัวเองนั่งอยู่เช่นกัน ดังน้ัน ถ้า AI เข้ามาทำหน้าที่นี้ก็มั่นใจได้ว่าข้อมูลจะไม่รั่วไหล ไม่มีการตัดสินอย่างอคติเลือกฝ่าย
  3. ขยับตำแหน่งให้เราก็ได้ – ถ้าคุณมั่นใจว่าเป็นคนเก่ง แต่เลียไม่เก่ง AI มันจะเข้ามารายงานนายของคุณเองว่าผลงานคุณมันไม่ได้กระจอกอย่างที่คิดจากการเก็บข้อมูลการทำงานจริงของคุณ ซึ่งเรื่องนี้เราพบว่าส่วนใหญ่ในบางตำแหน่งที่ไม่ใกล้ชิดบอส บอสไม่เคยรู้หรอกว่าเราทำงานอะไรอยู่และทำได้ดีแค่ไหน
  4. ลาออกก็จะรั้ง – อีกเหตุผลที่ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาเป็น Hr ได้ดีคือการทำนายล่วงหน้าได้ว่าใครจะลาออก ลาออกเพราะอะไร ถ้ามันมีข้อมูลติดตัวมากพอ แม้ข้อเสียคือ มันจะเสือกมารั้งคุณเวลาคุณอยากจะออกเพราะกูอยากได้บริษัทใหม่เฉย ๆ แต่ข้อดีคือ กรณีที่คุณก็ไม่ได้อยากออกทว่ามีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ทนอยู่ต่อไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบูลลี่ในเพื่อนร่วมงาน เจ้านายกดเงินเดือนให้ทำงานเกินหน้าที่ ฯลฯ มันจะหาทางเข้ามาคุยกับเราเพื่อแก้ปัญหานั้นก่อนหากประเมินแล้วว่าเราเป็นบุคลากรคุณภาพสำหรับองค์กรจริง ๆ

เมื่อความคลุมเครือ ความกลัว ความสงสัยที่เรามีมันหายไปแล้ว เราเชื่อว่าหลายคนคงมอง AI ในตำแหน่ง Hr กันใหม่ เพราะมันมีมุมดี ๆ มากกว่าที่เราคิด และอาจจะอยากให้บ้านเรามีบริษัทที่ Hr ใช้ระบบ AI กันอีกเยอะ ๆ ก็ได้

ไม่ผิดอะไรที่เรากลัวในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่คุ้นเคย แต่ความกลัวมันสลายลงได้ด้วยความจริงเสมอแหละ และเราก็สนับสนุนให้ชาว UNLOCKMEN ปลดแอกความกลัวที่มีในตัวเอง เพราะไม่แน่ว่าบางอย่างที่คุณเจอและกลัวอาจจะเปลี่ยนชีวิตคุณไปในทางที่ดีก็ได้

SOURCE: 1 / 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line