Life

“ฝุ่นหนาขนาดนี้แล้วจะให้ผมทำยังไง ?” ชวนดูนโยบายแก้ปัญหามลพิษของรัฐบาลต่างประเทศ

By: TOIISAN January 13, 2020

หลายคนลืมตาตื่นบนที่นอนแล้วเปิดโทรศัพท์ดูในตอนเช้าจะพบว่ามีข้อความต่าง ๆ จากเพื่อนฝูง คนในครอบครัวว่า ‘อย่าลืมใส่แมสก่อนออกจากบ้าน’ หรือจะเป็น ‘พรุ่งนี้ไปดูเครื่องฟอกอากาศกันไหม’ ทั้งหมดคือความห่วงใยของผู้คนที่พยายามปกป้องตัวเองและคนที่รักจากฝุ่นควันเป็นพิษ เรารักตัวเอง เรารักคนรอบข้าง แล้วรัฐบาลที่ห่วงใยประชาชนกำลังทำอะไรอยู่ ? 

เมื่อลุกจากเตียงแล้วเปิดหน้าต่างดูก็จะเห็นด้วยตาตัวเองว่าฝุ่นหนาฟุ้งกระจายอยู่ทั่ว เพราะปัญหาฝุ่นควันที่เรียกกันจนติดปากว่า PM 2.5 เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิดแถมในตอนนี้มันก็ยังคงอยู่ UNLOCKMEN จึงอยากพาทุกท่านไปพบกับประเทศต่าง ๆ ที่พบปัญหาเดียวกันกับประเทศไทย และดูสิว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศมีนโยบายหรือวิธีแก้ปัญหาอากาศไม่สะอาดอย่างไรกันบ้าง

 

อินเดีย

เริ่มจากประเทศที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องร้อง ‘อี๋’ กันเป็นแถบกับสาธารณรัฐอินเดีย เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องฝุ่น เมืองที่มีประชากรอยู่มากที่สุดในโลก ผู้คนกว่า 1.339 พันล้านคน เมืองที่แสนเป็นตัวของตัวเอง มีชนชั้นวรรณะ มีไลฟ์สไตล์แสนเฉพาะตัว 

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีคนเยอะที่สุดในโลก การผลิตในระบบอุตสาหกรรมก็ต้องมากตามจำนวนประชากร อินเดียเองก็เจอปัญหามลพิษทางอากาศไม่ต่างจากไทย แถมมีทีท่าจะหนักกว่าบ้านเราด้วยซ้ำ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกประจำปี 2561 ระบุว่าแต่ละปีมีประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยมลพิษกว่า 6,500,000 คน และอินเดียก็เคยขึ้นเป็นอันดับหนึ่งเมืองที่มีมลพิษเยอะที่สุดในโลก 

นโยบายของรัฐบาลอินเดียที่เร่งจัดการกับปัญหานี้มีหลายทางด้วยกัน ทั้งสั่งลดการก่อสร้างและการรื้อถอนที่ทำให้เกิดฝุ่นทันที มีมาตรการฉีดพ่นน้ำไม่ต่างจากไทย แต่น้ำที่อินเดียใช้อัดแน่นด้วยคุณสมบัติไฟฟ้าสถิต ผลที่ออกมาคือน้ำคุณสมบัติพิเศษนี้สามารถดักจับฝุ่นได้ดีกว่าน้ำประปาธรรมดา

เมื่อพบว่าค่าฝุ่นขึ้นสูงเกินกำหนด มีคำสั่งให้ปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินชั่วคราว ดึงมาตรการการจำกัดจำนวนรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน เช่น รถยนต์เอสยูวีเครื่องยนต์ 2,000 ซีซี ของทุกท่านจะต้องจอดอยู่ในโรงจอดรถไปก่อน พร้อมกับประกาศขึ้นราคาอัตราค่าจอดรถเพื่อผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น สั่งเพิ่มจำนวนรถประจำทางเพื่อรองรับผู้คนที่จะมาใช้รถยนต์สาธารณะ 

ฝุ่นควันไม่ได้เกิดจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ชาวเกษตรกรของอินเดียมักเผาหน้าดินเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการลงเมล็ดพันธุ์ใหม่ มักเผาซากพืชและหน้าดินกันช่วงฤดูใบไม้ร่วง แถมบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลีมักเกิดไฟใหม่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ศาลสูงสุดอินเดียสั่งห้ามจุดไฟเผาซากพืชรอบนิวเดลี แนะนำให้ประชาชน สวมหน้ากาก อยู่แต่ในบ้าน ซึ่งมันทำได้ยากถ้าคุณเป็นคนจนที่ไม่มีเงินซื้อหน้ากากสำหรับทุกวันและต้องออกไปทำงานกลางแจ้ง

อินเดียในเวลานี้ก็ยังคงพบเจอกับปัญหาฝุ่นเข้าขั้นวิกฤต ประชาชนส่วนใหญ่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องให้เพิ่มมาตรการป้องกันมลพิษในระยะยาวเพื่อความยั่งยืน แต่ทางรัฐบาลก็ได้ออกมากล่าวว่าพวกเขาไม่ได้นิ่งนอนใจ (ดูจากนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาควบคุมการสร้างมลพิษ) พร้อมทิ้งท้ายว่า 

‘ผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าอุตสาหกรรมหนักและรถยนต์คือต้นกำเนิดของฝุ่น แต่การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตรมักถูกมองข้าม’ 

อย่างไรก็ตามศาลฎีกาของอินเดียมีคำตัดสินในเดือนพฤศจิกายน 2019 ว่าหากรัฐบาลท้องถิ่นของกรุงนิวเดลี รัฐอุตตรประเทศ หรยาณา และปัญจาบไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องมลพิษได้ รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน หากล้มเหลวต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ เพราะอากาศของเมืองเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับ ‘ห้องรมแก๊ส’ ของเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

 

ญี่ปุ่น

เมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่น ใครหลายคนอาจจะท้อใจทันทีเพราะคิดไปก่อนแล้วว่าเราไม่สามารถเป็นอย่างเขาได้ ทั้งตัวของประชากรที่เต็มไปด้วยระเบียบวินัย หรือรัฐบาลเองที่ทำงานหนักรับผิดชอบชีวิตของประชาชนชาวญี่ปุ่นผู้จ่ายภาษีให้ชาวโลกเห็นอยู่ตลอดเวลา 

มลพิษทางอากาศที่ประเทศญี่ปุ่นต้องพบเจออยู่บ่อย ๆ อาจไม่ใช่ PM 2.5 เหมือนอย่างเรา แต่พวกเขามักเจอกับปัญหา ‘ละอองเกสรดอกไม้’ มากกว่า 60 ชนิด ถัดจากเกสรเจ้าปัญหาคือ ‘ฝุ่นทรายเหลือง’ จากจีนแผ่นดินใหญ่ รองลงมาคือฝุ่น PM 2.5 ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะต้องเจอปัญหาฝุ่นจำนวนมาก แต่นโยบายจัดการฝุ่นของพวกเขานั้นได้ผลและน่าสนใจไม่น้อย 

การจดบันทึกถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของรัฐบาลญี่ปุ่น พวกเขามีสถานีบันทึกปริมาณฝุ่น ทั้ง pm 2.5 และ pm10 ต่อเนื่องนานกว่า 30 ปี หมั่นสำรวจ ศึกษา ทำวิจัยเพื่อหาทางแก้ไขอยู่ตลอดเวลา นอกจากทีมวิจัยทางรัฐก็ไม่นิ่งเฉยออกนโยบายคุมเข้มการปล่อยก๊าซพิษจากเครื่องยนต์ ทั้งกำหนดปีของรถยนต์ที่จะวิ่งบนท้องถนน (ลาก่อนรถบุโรทั่ง) จำกัดพื้นที่สำหรับรถบรรทุก ออกค่าปรับมหาโหดสำหรับรถแต่งปล่อยควันดำ รวมถึงเคร่งครัดว่าประชาชนทุกคนที่มีรถจะต้องหมั่นตรวจสภาพรถของตัวเองเป็นประจำทุกปี 

ขณะที่ออกมาตรการควบคุมการใช้รถของประชาชน ในเวลาเดียวกันญี่ปุ่นก็อนุรักษ์ธรรมชาติที่มีอยู่ เร่งพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ คิดค้นพัฒนาเพื่อให้ระบบเครื่องยนต์สามารถเผาไหม้ได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น พัฒนาอุปกรณ์กรองฝุ่น กรองก๊าซพิษจากท่อไอเสีย แถมยังพัฒนาเครื่องป้องกันจำพวกหน้ากากกันฝุ่นจำพวก N95, DS2 และ F95 เครื่องฟอกอากาศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซ้ำยังออกแบบแว่นป้องกันฝุ่นและละอองเกสรได้อีก เพราะดวงตาก็ได้รับผลกระทบจากอากาศที่สกปรกเช่นเดียวกัน การตื่นตัวต่อปัญหาของรัฐบาลรวมถึงประชาชน ทั้งหมดทำให้เมืองที่อัดแน่นไปด้วยผู้คนอย่างญี่ปุ่นสามารถควบคุมมลพิษทางอากาศได้ 

 

จีน 

ประเทศที่มีประชากรเยอะอันดับสองของโลกอย่างจีนก็ต้องพบเจอกับปัญหาฝุ่นไม่ต่างจากอินเดียหรือประเทศไหน ๆ แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นมาแล้วรัฐบาลก็พยายามเต็มที่เพื่อเร่งแก้เรื่องฝุ่นละอองด้วยการยกให้ปัญหาฝุ่นกลายเป็น ‘นโยบายระดับชาติ’ ผลักดันให้อุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น และลดการใช้ถ่านหินกว่า 700 หมู่บ้าน 

จีนออกนโยบายเชิงรุก Air Pollution Plan แผนยาว 5 ปี โดยเริ่มเมื่อปี 2013 ในเมืองหลักที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างปักกิ่ง เหอเป่ย และ เทียนจิน จัดตั้งหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Enviromental Protection Agency) นอกจากนี้เมืองกว่า 26 แห่งตกลงทำสัญญาร่วมกันว่าจะเปลี่ยนระบบทำความร้อนจากถ่านหินมาเป็นไฟฟ้ากับก๊าซแทน และจะพยายามทำให้ได้มากกว่า 4 ล้านครัวเรือน 

รัฐบาลจีนตัดสินใจจัดการกับรถเก่ากว่า 300,000 คัน ที่ปล่อยควันดำบนท้องถนน รณรงค์ให้ประชาชนใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยรัฐบาลจะสร้างจุดชาร์จแบตให้เพียงพอกับการใช้งานจริง เปลี่ยนรถแท็กซี่ตกรุ่นราว 70,000 คันให้เป็นรถแท็กซี่พลังงานไฟฟ้าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปพร้อมกัน 

ในภาคเกษตรกรรมของจีนก็เจอปัญหาการเผาหน้าดินไม่ต่างจากอินเดีย ทำให้รัฐบาลออกมาตรการขั้นเด็ดขาดห้ามประชาชนเผาซากพืชล้มลุก ห้ามเผาหน้าดินโดยเด็ดขาด และเชื่อเถอะครับว่าคนจีนยอมทำตามคำประกาศของรัฐบาลมากกว่าคนอินเดีย แถมภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงบริษัทเอกชนต่างให้ความร่วมมือระหว่างกันเพื่อทำให้มลพิษพุ่งสูงของจีนลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ปักกิ่งที่ว่าอากาศสกปรกสุด ๆ ก็มีค่าฝุ่นลดลงถึงร้อยละ 20.5 ส่วนค่าฝุ่นตระกูล PM โดยเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

อากาศสะอาดที่กลับคืนมาของจีนต้องทุ่มงบมากถึง 1.82 หมื่นล้านหยวน หรือราว 9.1 หมื่นล้านบาท และรัฐสามารถเพิ่มรายได้ค่าปรับจากคดีมลพิษทางอากาศได้มากหลายล้านบาท เรียกได้ว่าการปรับจริงจับจริงของจีนมีส่วนช่วยให้ประชาชนยอมทำตามกฎที่วางไว้ 

นักวิชาการทั่วโลกหลายคนมองเห็นตรงกันเกี่ยวกับความสำเร็จเรื่องการแก้ปัญหามลพิษของจีน ว่ามีสาเหตุมาจากนโยบายเชิงรุก หลายประเทศรอให้เกิดเหตุแล้วค่อยหาทางแก้ไข แต่จีนกลับหาต้นตอของปัญหาและยับยั้งเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรกได้ดีกว่า ผลที่ออกมาจึงมักประสบความสำเร็จ 

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าแต่ละปีมีประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยมลพิษกว่า 6,500,000 คน ประเทศในแถบเอเชียต่างก็เจอปัญหาเรื่องอากาศที่ไม่สะอาดเหมือน ๆ กัน อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสิ่งที่ทำให้เกิดควันพิษได้มากน้อยแค่ไหน บางประเทศอาจวางแผนระแวดระวังปัญหานี้มานานแล้ว เมื่อเกิดเหตุขึ้นจึงสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที รัฐบาลบางประเทศก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้อากาศสะอาดขึ้น 

ส่วนประเทศไทยก็ต้องดูแลตัวเองกันไปก่อนครับ เพราะ ‘ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ฝุ่นหมดไป’ 

 

SOURCE: 1 / 2 / 3

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line