EVENT

ART OF ARS: อยากมีศิลปินไทยในดวงใจให้ไปงาน “ศิลปาธร” สักหน รู้จัก 7 ศิลปินศิลปาธรปี 2562

By: anonymK September 6, 2019

คนเสพงานศิลปะหลายคนหลงเข้ามาในวงการ เดินอยู่ในแกลอรี่โดยไม่ทันได้จำชื่อของศิลปินด้วยซำ้ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร เพราะธรรมชาติเราใช้ใจสัมผัสผลงานก่อนชื่อเสียงเรียงนาม เราจดจำ ลายเส้น สีสัน เสียงดนตรี และความชอบได้ไวกว่าตัวคน แต่ด้วยเหตุผลที่จำไม่ได้ กว่าจะหากันเจอและติดตามผลงานต่อเนื่องก็กลายเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา ทั้งที่งานศิลป์เหล่านั้นบางทีก็จัดอยู่ข้างบ้านหรือบนชั้นหนังสือที่เราเดินผ่าน

คงจะดี ถ้ามีใครสักคนให้ตามไว้กันเหนียว หรือเปิดโลกทางศิลปะไทย? ใครคนที่ไม่ใช่ Van Gogh หรือ Leonado Davinci หรือศิลปินแห่งชาติเสียบ้างเพื่อเสพศิลป์แนวอื่น

Ars of Art ครั้งนี้เราตั้งใจพาคุณไปจำชื่อศิลปินมือเก๋าสักคนที่ชื่นชอบจากสาขาที่สนใจในงาน “ศิลปาธร” ประจำปีพุทธศักราช 2562 งานรางวัลอันทรงเกียรติของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยจากสาขาต่าง ๆ ที่เพิ่งสิ้นสุดการจัดแสดงที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา แม้งานจะจบลงแต่เราไม่พลาดเก็บบรรยากาศและผลงานที่น่าสนใจกลับมาฝากกัน

ก่อนอื่นเราต้องบอกก่อนว่าเหตุผลที่เราสนใจศิลปินทั้ง 7 จากงานศิลปาธรเพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่แค่คนที่มีพรสวรรค์เข้าตากรรมการในปีนี้ แต่ยังเป็นศิลปินที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปี

การสร้างผลงานที่ดีโดดเด่นไม่ยากเย็น
หากความหนาวของเส้นทางที่วิ่งต่อเนื่องต่างหากคือเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จ

 

นที อุตฤทธิ์ (สาขาทัศนศิลป์)

นที อุตฤทธิ์ เกิด 9 เมษายน 2513 จบการศึกษาศิลปบัณฑิต สาขาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาคือศิลปินที่วาดภาพอย่างเข้าใจว่าผลงานศิลปะด้านจิตรกรรมต้องมีการปรับเปลี่ยนไปให้เข้ากับยุคสมัย ไร้สูตรตายตัว จนทำให้ความคิดในการทำงานปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ

หากใครชื่นชอบกลิ่นอายเรื่องราวร่วมสมัยบนผืนผ้าใบ การเล่นแสงในภาพที่คอนทราสต์จัดอย่างคาราวัจโจ ทว่าซ่อนสัญลักษณ์และความหมายให้ตีความขบคิด เราเชื่อว่าผลงานของเขาคือหนึ่งในผลงานศิลปินไทยที่ถ่ายทอดได้อย่างโดดเด่น ผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปยุโรป ดังนั้น การจดจำชื่อของเขาไว้และไปเยี่ยมเยือนดูผลงานที่กำลังจัดแสดงในไทย ไม่ว่าจะที่ใดก็ตามถือเป็นกำไรในการเสพศิลป์ เพราะคนจากอีกฟากโลกเขาก็กำลังดูผลงานจากศิลปินคนเดียวกับคุณ

ผลงานโดดเด่น

2560: นิทรรศการ การมองโลกในแง่ดีคือเรื่องน่าขัน : จิตรกรรมบนฉากประดับแท่นบูชา (The Altarpieces) เป็นนิทรรศการที่ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และสถาบันศิลปะหลายแห่ง

2561: “Natee Utarit:Optimism is ridiculous” หนังสือรวบรวมบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านศิลปะและการสำรวจผลงานจากภาพเขียนชุด Optimism is Ridiculous “ผ่านมุมมองและฝีมือการเขียนของนักวิจารณ์ศิลปะ ภัณฑารักษ์และนักเขียนชื่อดังชาวอิตาลี ดีมีทริโอ ปาปาโรนี่ (Demetrio Paparoni)

 

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ (สาขาวรรณศิลป์)

ใครที่อ่านหนังสือมามากหนึ่งวรพจน์ พันธุ์พงศ์น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นเคยคุ้นหูหรือเคยเห็นบนชั้นวาง ส่วนใครที่ยังไม่รู้จัก หนังสือสักเล่มของเขาหรือบทความในออนไลน์สักชิ้นคุ้มค่าเวลาให้เปิดอ่านเสมอ เขาเกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2514 จบการศึกษา อักษรศาสตรบัณฑิต (ภาษาฝรั่งเศส) คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผลงานของเขาโดดเด่นเรื่องการสัมภาษณ์และถ่ายทอดเรื่องราวเป็นตัวอักษรที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เป็นทั้งนักเขียนสารคดี บรรณาธิการหนังสือ ฯลฯ ที่สำคัญไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน เขามักพูดถึงการทำงานไว้อย่างน่าสนใจ

ทำงานกับมนุษย์ เราทิ้งความเป็นมนุษย์ไม่ได้

วรพจน์คือคนที่วางหลักการการทำงานเน้นใช้แรงมากกว่าความเร็ว และเชื่อว่าสมบัติของเรื่องราวกับความเชื่อใจและการให้เกียรติฝ่ายตรงข้ามมาพร้อมกับกาลเวลาที่ผ่านไป คนที่สัมภาษณ์ 15 นาทีต่อให้ดีแค่ไหนอาจมีโอกาสได้ข้อมูลที่น้อยกว่าคนสัมภาษณ์ 1 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น เราคิดว่านั่นคือความน่าสนใจและน่าหลงใหลในคราวเดียวกัน และนี่คือหนึ่งในเหตุผลว่าเวลาคุณอ่านงานของเขา คุณจะได้เห็นมากกว่าบทสนทนาโต้ตอบเสมอ อากัปกิริยาต่าง ของคู่สนทนาทั้งหลายที่บรรยายไว้จะทำให้คุณเห็นภาพได้มากขึ้น สนุกและได้ขบคิดมากขึ้น 

ผลงานโดดเด่น

เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง ที่เกิดเหตุ เสียงพูดสุดท้ายรงค์ วงษ์สวรรค์ความมืดกลางแสงแดด

 

อานันท์ นาคคง (สาขาดนตรี

นอกจากในห้องเรียนที่เราเรียนเรื่องของดนตรีไทยแบบฉบับ มันก็มีงานที่เป็นงานดนตรีร่วมสมัยอยู่ด้วย ก็คิดว่าเราเจออะไรที่เป็นทางเดินบางอย่างของชีวิต…”

ดนตรีกล่อมเกลาจิตใจมนุษย์ และไม่เคยยึดรูปแบบเดิมในการส่งสำเนียง ดนตรีคือเสน่ห์ของภาษาที่ไม่ต้องการคำแปลแต่ทุกคนเข้าใจร่วมกันได้ ใครชื่นชอบการฟังเพลงไม่ติดขนบ ฟังอย่างเข้าใจไร้ขอบเขต การรับฟังผลงานดนตรีของศิลปินศิลปาธร อานันท์ นาคคง ที่มีแนวดนตรีเฉพาะที่รับใช้สังคมอย่างสร้างสรรค์เป็นงานที่ควรทดลองเปิดฟังสักครั้งในชีวิต

อานันท์ นาคคง เกิดวันที่ 31 ธันวาคม 2508 จบการศึกษา ปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาดนตรี (Ethonomusicology), สถาบันเอเชียและ แอฟริกันศึกษา School of Oriental and African Studies (SOAS), University of London ผลงานดนตรีแนวข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายมิติทั้งแนวอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ต่อเนื่องยาวนานมากกว่าสามทศวรรษ ทำงานดนตรีรับใช้สังคมหลากหลายรูปแบบทั้งดนตรีไทยประเพณี ดนตรีทดลอง งานบันทึกเสียงสตูดิโอ งานเพลงประกอบภาพยนตร์ งานเพลงประกอบละครเวที งานศิลปะออกแบบจัดวางเสียง งานเขียน งานพูดงานกิจกรรมดนตรีที่ท้าทายวิธีคิด เขาคือผู้จุดประกายให้ผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายชาติพันธุ์ได้สัมผัสสิ่งที่ลึกซึ้งแตกต่างไปจากนิยามความหมายดนตรีโดยทั่วไป

ผลงานโดดเด่น

  1. วงกอไผ่
  2. วงดุริยางค์เยาวชนซีอาเซียนคอนโซแนนท์ (C ASEAN Consonant)
  3. บทเพลงสำหรับละครเวทีจำนวนมาก ร่วมกับภัทราวดีเธียเตอร์ EmptySpace มะขามป้อม พระจันทร์เสี้ยว เป็นต้น

 

ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ (สาขาศิลปะการแสดง)

ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ เกิดวันที่ 19 กันยายน 2510 จบการศึกษา Master of Fine Arts in Theatre Directing, Middlesex University, London, England.

เขาคือศิลปินที่ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่องในวงการละครร่วมสมัยมากว่า 30 ปี สร้างผลงานมาแล้วกว่า 50 เรื่อง เป็นทั้งนักเขียนบทที่ใช้ภาษาดี เป็นผู้กำกับที่มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ และยังก่อตั้งคณะละคร New Theatre Society ถือเป็นปรากฏการณ์ด้านการละครไทยร่วมสมัยที่สำคัญ ใครที่สนใจศิลปะการแสดงไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างโรงละครขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ การทำ Acting Coach ฯลฯ ที่ครบครัน ใครที่ชื่นชอบวงการละครเวทีและได้รับชมผลงานด้านล่างแล้วโดนใจ การจดชื่อเขาไว้ในลิสต์และติดตามจะเป็นทั้งกำลังใจและแรงบันดาลใจที่ดีสำหรับคุณ

ผลงานโดดเด่น:

ละครพูดที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมบทละครชั้นเอกจากต่างประเทศ กว่า ๕๐ เรื่อง เช่น เมตามอร์โฟซีส (The Metamorphosis), แก่นเซี้ยวเปรี้ยวซ่าพวกเรากล้าหาญ (Love! Valour! Compassion!), เฟ้าสต์ (Faust), ราโฌมอนคอนโดมิเนียม (Rashomon Condominium), ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ (Push Up), ผ่าผิวน้ำ (Breaking the Surface), คอย .. (Waiting for G.D.), มหาบุรุษอยุธยา (Arms and the Man), แฮมเล็ต , นางนาก เดอะ มิวเซียม , รักทรยศ (The Betrayal), เงามัจจุราช (The Shadow Box), บุรุษริษยา (Othello), สิทธารถะ (Siddhartha), ทัณฑฆาต (The Trial), นางนวล , เป้า (A Glass Menagerie on a Hot Tin Roof Named Desire), บุพกาลี (God of Carnage), สายน้ำมรกต, อยู่กับเธอทั้งชีวิต (A Life in the Theatre) เป็นต้น ละครเพลง เช่น ซั่งไห่ ลิขิตฟ้าชะตาเลือด (Zhanghai the Musical), รักเธอเสมอ เดอะ มิวสิคัล, Clown the Musical, Ghost Opera the Musical ละครร่วมสมัยที่ผสมผสานการแสดงจากรากวัฒนธรรมไทย เช่น คนทรงเจ้า, มณโฑภิญโญยศ, ครอบครู, บุษบาชาตรี

 

สยมภู มุกดีพร้อม (สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว)

สยมภู มุกดีพร้อม จบการศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ มุ่งทำงานมาด้านภาพยนตร์มาตลอด เขาคือผู้กำกับชาวไทยที่กล่าวขวัญกันในวงการว่าอยู่ใกล้รางวัลออสการ์มากที่สุดและรับงานกำกับภาพหลากหลายแนว โดยหนึ่งในเรื่องล่าสุดที่คุณอาจจะดูจบไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเขาเป็นหนึ่งในทีมกำกับคือเรื่อง “Call Me by Your Name”

ห้องปิดม่านผ้าสำหรับเปิดเข้าไปดู ด้านในมีที่นั่งพร้อมหนังของสยมภู มุกดีพร้อม

นอกจากงานภาพที่น่าสนใจ เงื่อนไขการทำงานของเขายังเป็นซิกเนเจอร์เฉพาะตัวด้วยเพราะเราทำงานภาพยนตร์ที่ถ่ายด้วยกล้องฟิล์มเท่านั้น ดังนั้น ถ้าใครชื่นชอบภาพฟิล์มไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหว การติดตามผลงานที่โดดเด่นจากคนที่มีแพสชั่นการทำงานแบบนี้จะสร้างทั้งแรงบันดาลใจและความบันเทิงให้คุณได้พร้อม กัน

ผมจะเลือกตั้งแต่ต้นแล้วว่าเรื่องที่ผมทำผมมีความสุขที่จะทำ
เพราะการทำภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและพลังงานในการทำสูงมาก

ผลงานโดดเด่น

สุดเสน่หา ลุงบุญมีระลึกชาติ สตรีเหล็ก สยิว Call Me by your name เป็นต้น

 

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา (สาขาสถาปัตยกรรม)

เสพด้วยตา ด้วยหูแล้ว ใครที่ชอบสัมผัสสิ่งใกล้ตัวกว่านั้น ลองมาดูการสร้างพื้นที่ศิลปะให้คนเข้าไปอยู่หรือใช้งานอย่างสถาปัตยกรรมกันบ้าง

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา เกิดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2509 จบการศึกษา สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นทั้งอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาปนิกแห่ง Bangkok Project Studio เขาคือหนึ่งในตัวเต็ง Finalist ของรางวัล Royal Academy Dorfman Award รางวัลที่มอบให้กับสถาปนิกหรือกลุ่มคนที่สร้างภาพใหม่แห่งอนาคตทางสถาปัตยกรรม และมีผลงานการออกแบบที่คำนึงถึงบริบทท้องถิ่น รวมถึงมีความเป็นสากล

ใครที่ชื่นชอบการออกแบบโครงสร้างจากจุดตั้งต้นที่อ่อนไหวประณีต นำบริบทชุมชนมาประสานสร้างงานที่ร่วมสมัย จับต้องได้ คราฟต์ทุกมิติ ที่สำคัญคือเน้นการออกแบบเพื่อสังคมสไตล์ social design แต่ยังไม่มีบุคคลในดวงใจ จำชื่อเขาไว้แล้วลองติดตามผลงานชิ้นอื่น เชื่อว่าคุณจะได้ทึ่งในความเจ๋งของศิลปินไทยคนนี้อย่างแน่นอน

 

สิงห์ อินทรชูโต (สาขาศิลปะการออกแบบ)

การออกแบบวันนี้ต้องเน้นความยั่งยืน และเมื่อกล่าวถึงการออกแบบที่ยั่งยืน ชื่อของ รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต เป็นหนึ่งในนักออกแบบรักษ์โลกที่ไม่ควรพลาด เพราะเขาสร้าง Innovation คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และส่งต่อเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบุกเบิกการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุหรือ Upcycling เป็นการใช้ประโยชน์จากการพลิกฟื้นขยะอย่างสวยงามและน่าสนใจ

ผลงานแนว Upcycling เหล่านี้เป็นเพียงผลงานบางส่วนที่นำมาจัดแสดง แต่มีประโยชน์ทั้งกับวงการการออกแบบและเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ ให้สามารถฉุกคิดและนำมาใช้เป็นต้นแบบการต่อยอดเพื่อออกแบบผลงานได้

ผลงานโดดเด่น

  1. ก่อตั้งศูนย์ค้นคว้าและออกแบบจากวัสดุ (Scrap Lab) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  2. ก่อตั้งและออกแบบผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลภายใต้แบรนด์ Osisu และ ผลงานจาก Upcycling Hospital Waste Initiative หรือ การพลิกฟื้นขยะทางการแพทย์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการค้นคว้า ทดลอง ออกแบบอย่างสร้างสรรค์ สู่การช่วยเหลือชุมชนและสังคม

 

หวังว่าศิลปินไทยทั้ง 7 ท่านจากต่างแขนงจะได้เป็นหนึ่งในลิสต์ศิลปินที่พวกเราทุกคนคิดตามและเปิดโลกทัศน์งานศิลป์ที่ทำให้เห็นว่าคนไทยเราก็เจ๋งไม่แพ้ใคร ครั้งหน้า Art of Ars ของเราจะไปบุกแวะเวียนที่ไหน อย่าลืมติดตามกันได้ที่ UNLOCKMEN!

สำหรับใครที่คิดว่าเสียดายที่ไปไม่ทันงานนี้ ลองไปดูงานอื่น ๆ ที่ RCAC BKK หรือหอศิลป์ร่วมสมัย ย่านราชดำเนินก็ถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะที่นี่คนไม่เยอะมาก มีงานหมุนเวียนที่น่าสนใจเสมอ และที่สำคัญยังมีห้องสมุดให้เรานั่งพักระหว่างเดินชมหรือนั่งทำงานได้ คุณภาพไม่ต่างจาก BACC เลย

 

Photographer: Warynthorn Buratachwatanasiri

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line