DESIGN

AR[T] YOU READY? UNLOCK มุมมองและชีวิต 4 ศิลปินไทยชื่อดังกับก้าวต่อไปในโลก METAVERSE

By: anonymK December 29, 2021

ชวนทุกคนมานับถอยหลังสู่ปี 2022 ทบทวนการใช้ชีวิตในปีนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับเหล่าศิลปินดังทั้ง 4 คนที่เราคุ้นเคยผลงานอย่าง P7, Benzilla, Rukkit และ Lolay พร้อมพูดคุยถึงมุมมองก้าวต่อไปของศิลปะที่กำลังสร้างความท้าทายใหม่อย่างวงการ NFT และโลก Metaverse ในสายตาของพวกเขาที่อยู่ในวงการศิลปะมายาวนาน อะไรบ้างที่ต้องรู้ ต้องปรับตัว และต้องยืนหยัด…เพราะศิลปะไม่ได้มีแค่เทคนิคแต่เชื่อมโยงไปถึงจิตใจ


P7

P7 ศิลปินสตรีทอาร์ตที่มีผลงานมากมายได้รับการยอมรับทั้งในไทยและต่างประเทศ เขาเคยฝากผลงานน่าสนใจเข้าร่วมเทศกาลศิลปะดังอย่าง BAB 2020 และได้ร่วมโปรเจกต์กับหลายแบรนด์ดังนับไม่ถ้วน ด้วยเอกลักษณ์ผลงานที่ผลิตไม่เคยซ้ำและมุมมองการสร้างสรรค์งานสุดคอนทราสต์

“จริง ๆ ช่วงโควิดไม่ได้เจออุปสรรคอะไรเลยนะ มีแค่อย่างเดียวคือการทำโครงการข้างนอกที่เขาจะจ้างเราไปทำอาร์ตดีไซน์หรืออาร์ตตกแต่ง มันอาจจะทำไม่ได้เพราะว่าเป็นช่วงโควิดเราก็เลยขอเลื่อนไปก่อน แต่ระหว่างที่เลื่อนเรามีงานส่วนตัวอยู่แล้วคือเพ้นท์ติ้งเพราะมีนักสะสมจองคิวภาพ พี่ก็วาดเพ้นท์ติ้งที่สตูดิโอตอนช่วงโควิดทุกวัน วาดแบบสไตล์พี่คือวาดไม่ซ้ำเลย แล้วก็ทำคิดแบบการทำประติมากรรมไปด้วยเพราะช่วงโควิดเราไม่ได้เข้าโรงปั้น ก็แทบจะไม่กระทบอะไรเลย”

NFT คือความมันและการร่วมโปรเจกต์กับคนรู้ใจ

“พี่เป็นคนชอบงานแฮนด์เมด ไม่เก่งคอมฯ และพี่ไม่คิดจะเรียนรู้คอมฯ ด้วยเพราะพี่สนุกกับการทำงานด้วยมือ พอ NFT มา มันก็เป็นอีกมีเดียนึง เรื่อง NFT แม้มันสามารถจะผลิตชิ้นเดียวที่ทำออกมาแล้วไม่ซ้ำในรูปแบบดิจิทัล แต่ว่า สำหรับพี่มันก็คืองานดิจิทัล มันก็เป็นอีกแขนงนึง เด็กก็มีโอกาสที่จะทำงานคอมพิวเตอร์ทางอาร์ตได้ มันก็เปิดกว้างดี แต่ส่วนตัวพี่ยังไม่ได้อินขนาดนั้น ถ้าทำคือทำเพราะร่วมงานกับคนที่เราสนิท เราอยากทำ แต่ถ้าให้พี่ลุกขึ้นมาทำเอง พี่คงไม่ทำ อยากเอาเวลาไปทำแฮนด์เมด เพ้นท์ติ้งหรือประติมากรรมดีกว่าเพราะพี่อยู่ในส่วนของความรู้สึกนั้น”

“ถ้าทำ NFT จะทำเพราะความมัน ไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินเพราะเคยทำงานดิจิทัล แต่ใช้วิธีวาดมือลงกระดาษ วาดมาร์กเกอร์แบบไม่ร่างแล้วใช้วิธีหยอดสีในคอมฯ หยอดเหมือนเด็กเล่นเส้นจะแตกยังไงก็ปล่อยมันไปอย่างนั้น อันนั้นเคยทำออกมาแล้วไปจัดแสดงที่ต่างประเทศ ต่างประเทศก็เลยมองว่างานดิจิทัลของพี่เป็นงาน lo fi art ปล่อยมันให้ดิบ ๆ มันมีความเป็นตัวเราอยู่ พอเป็น lo fi art มันก็ไม่ได้เป็นดิจิทัลจ๋าขนาดนั้น”

ในแง่ของ METAVERSE หากวิถีการเสพศิลปะเปลี่ยนไป P7 ก็ยืนหยัดกับการทำงานศิลปะด้วยจิตวิญญาณและความสนุกที่ไม่ได้หมุนไปตามเทรนด์โลก เลือกเดินหน้าผลิตผลงานแฮนด์เมดควบคู่กัน

“สำหรับพี่นะพี่คิดว่าพี่อยู่มาค่อนชีวิตแล้ว พี่คงไม่ได้ไปหมุนตาม พี่ถือว่าพี่ทำงานศิลปะ เราต้องอยู่ในจิตวิญญาณของเรา ในไดเรกชั่นอาร์ตของเรา ในเทคนิคของเรา ให้เราสนุกกับมัน ต่อให้ไม่มีการแสดงงานที่เอางานจริงไปแสดง พี่ก็ผลิตงานจริงขึ้นมา อย่างน้อยผลิตงานจริงกูเก็บไว้ดูเองก็ได้วะ กูจะไม่โละทุกอย่างที่กูเคยทำมือมาไปทำลงบันทึกลงในคอมแล้วก็ส่งต่อทางออนไลน์ จะไม่ทำ เพราะว่าวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ถ้าจะตายก็จะตายไปพร้อมกับผลงานที่เป็นจับต้องได้ไปกับเราด้วย

งานศิลปะห้ามจับก็จริง แต่ชิ้นงานจริงคุณสามารถจับด้วยสายตาดีเทลในแต่ละมุมทั้งหมด 360 องศา พี่ไม่ได้แอนตี้งานดิจิทัล มันควรมีจะได้มีความหลากหลาย แล้วคนรุ่นใหม่ที่อาจจะมีเทคนิคหรือทักษะอาจจะไปทางนั้นก็ได้ มันเป็นอีกแขนง เป็นความเปิดกว้างทางเทคนิคใหม่”


BENZILLLA

Benzilla ศิลปินสตรีทอาร์ตที่หลายคนคุ้นเคยกับผลงานของเขาผ่านคาแรกเตอร์ประจำตัว LOOOK มนุษย์ต่างดาวสามตา สีสันสดใสที่โด่งดัง เขาผลิตงานหลายรูปแบบทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สเก็ตบอร์ด ฯลฯ และล่าสุดเหล่านักเสพศิลปะหลายคนเพิ่งได้คลายความคิดถึงจากการจัดแสดง Solo Exhibition ‘Midnight Call’ ที่กำลังจัดแสดง

“ตั้งแต่มีโควิด วิธีทำงานเปลี่ยนครับ ปกติผมทำพวกงานสตรีต มันก็ลดลงไปด้วยเพราะว่ามันไม่ค่อยจะสะดวกออกไปครับ แล้วประจวบว่าผมมี Solo Exhibition ที่ต้องเป็นงานเพ้นท์ติ้งที่ต้องนั่งจดจ่อทำอยู่แล้ว ก็ได้มีเวลาทำงานประเภทนั้นมากขึ้น มันก็มีทั้งผลดีผลเสีย สำหรับผมก็ได้ใช้เวลากับตัวเองเยอะขึ้นแต่ผลเสียคือมันไปไหนไม่ได้ เบื่อ”

NFT คือช่องทาง แต่กระแสหลักคือตัวตนและผลงาน

“NFT ก็เป็นช่องทางใหม่ครับ เป็นเหมือนทางเลือกเพิ่มสำหรับคนสร้างงานและคนสะสมงาน ผมไม่ได้คิดว่ามันจะมาเปลี่ยนอะไรเท่าไหร่ ผมคิดว่ามันจะมาเป็นอีก way นึงมากกว่า ข้อดีของมันคือสามารถทำภาพเคลื่อนไหวได้ สามารถทำสิ่งที่เพ้นท์ติ้งมันทำไม่ได้ แต่ความรู้สึกมันก็จะต่างกัน มันจะมีความถูกกั้นโดยกระจกหน้าจอบางอย่าง แต่ผมคิดว่าอีกสัก 20 ปี คนอาจจะไม่มีกำแพงนี้แล้ว คนอาจจะเฉยๆ กับความรู้สึกนี้

“เราควรรู้ว่าตัวเองอยากทำงานแบบไหนก่อน แล้วแชนแนลไหนมันเหมาะ สมมติว่าเป็น NFT ใช่ไหมครับ ผมคิดว่าการสื่อสารกับคนก็สำคัญ ทำยังไงให้คนเขาเข้าใจว่างานเรามันสื่อถึงอะไร มีความหมายอย่างไร มันจะทำให้ตัวผลงานมันน่าติดตามมากขึ้น”

ด้านการก้าวสู่ METAVERSE ในสายตาของเขามองว่าอาจไม่ได้มีผลกระทบมากนักเพราะส่วนตัวเป็นคนศึกษาด้านเทคโนโลยีและคริปโต อย่างไรก็ตามเบนซ์ก็เชื่อว่าพฤติกรรมบริโภคของคนและการเสพศิลปะจากชิ้นงานที่จับต้องได้ยังคงเป็นเสน่ห์ที่ขาดไม่ได้

“คนก็ไม่ได้อยากกินอาหารแคปซูลใช่ไหมครับ คนก็อยากกินอาหารที่มีพื้นผิว (รสสัมผัส) มีกลิ่นอยู่ดี คืออนาคตมันอาจจะมีเทคโนโลยีผ่านหน้าจอที่ทำได้นะครับ แต่ว่าก็พวกงานจริงที่จับต้องได้ก็ยังอยู่เหมือนเดิมได้ ส่วนตัวผมเองผมแค่คิดว่ามันมีทางเพิ่มให้เรานำเสนอไอเดียเพิ่ม”


RUKKIT

RUKKIT ศิลปินสตรีทอาร์ตที่มีซิกเนเจอร์ผลงานสไตล์ Block Stencil เราเพิ่งได้พูดคุยกับเขาไปเมื่อเขาเลือกผลิตผลงาน Limited ชิ้นล่าสุด ‘HUNTER’ ประติมากรรมชิ้นแรกนอกกำแพงของเขา วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ได้มาแชร์แง่มุมด้านศิลปะกันอีกครั้งส่งท้ายปี

“ก็มีลูกค้าเบรกงานพอสมควร จากปีก่อนโควิดทำอะไรมันก็จะราบรื่น ดิวงานอะไรมันก็จะไม่ค่อยหายเท่าไหร่ แต่ปีนี้มีผลกระทบต่อลูกค้าซะส่วนใหญ่ ส่วนตัวเราก็ยังดีอยู่ งานเข้าน้อยลงแต่ว่ามันทำให้เรามีเวลาให้กับงาน ทำให้เราโฟกัสกับแต่ละงานมากขึ้น ผลงานล่าสุดได้ทำกำแพงที่ภูเก็ตก็มีกำแพงกับเซิร์ฟสเก็ตครับ”

NFT เป็นช่องทาง จังหวะเวลาและเทคนิค ไม่ใช่ตัววัดคุณค่าผลงาน

“สำหรับเรามันแค่เป็นอีกช่องทางนึงในการนำเสนอผลงานและสามารถจำหน่ายผลงานได้ในระดับสากลคนที่เข้ามาดูงานซื้องานเรามีทั้งนักสะสมและนักลงทุนทั้งโลก แต่ว่ารายได้หลักของเราตอนนี้ก็มาจากลูกค้าและสิ่งที่จับต้องได้อยู่ ยังเป็นงานกำแพง ยังเป็นงานเพ้นท์ติ้ง งานพ่น งานอะไรที่ผลิตออกมา

ตอนที่เราเข้ามาทำยังไม่ได้ศึกษามาก ใช้ฐานที่คนรู้จักเราบ้างพอสมควร อย่างเรามีรุ่นพี่จับมือทำให้เขามาบอกให้ลองทำ เราก็ลองทำดูแล้วก็ปล่อยงานแรก ตอนขายได้ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก เข้าใจความรู้สึกของน้อง ๆ ที่ขาย NFT ได้ แต่พอทำไปมันจะมีความรู้สึกคาดหวังต่อเนื่อง พองานขายไม่ได้ก็จะกระทบใจอยู่พอสมควร”

“ใครที่ทำก็จะต้องเผื่อใจไว้ด้วยถ้าเราขายไม่ได้ อย่าไปจมอยู่กับมัน บางคนเศร้า รู้สึกว่าทำไมงานเราไม่มีค่า ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น บางครั้งตลาดมันอาจจะไม่ใช่ตอนนั้น อย่างมีงานอยู่ชิ้นนึงดองไว้นานพอสมควร อยู่ดี ๆ วันนึงก็มีคนประมูล (bid) มันขึ้นมา ดังนั้นแสดงว่ามันไม่ใช่ว่างานของเราไม่ดี”

แง่การปรับตัวหาก METAVERSE กระโดดเข้ามาสู่วงการศิลปะเต็มตัว RUKKIT ให้ความเห็นไว้อย่างสบาย ๆ ว่า “เราน่าจะต้องรู้ไว้ รู้ไว้ยังไงก็ไม่เสียหลาย ไม่ว่าเขาจะก้าวหน้าไปทางไหน แล้วก็อยู่ที่ว่าเราอยากจะลงไปเล่นในจุดนั้นรึเปล่าแค่นั้นเอง”


LOLAY

Lolay ศิลปินและนักวาดภาพประกอบชื่อดังที่หลายคนชื่นชอบ ผลงานของเขามีทั้งรูปแบบไฟน์อาร์ตและเชิงพาณิชย์ มีสไตล์งานประติมากรรมแบบฟรีฟอร์มสีขาวเป็นเอกลักษณ์ที่ทุกคนจดจำขึ้นใจ ปัจจุบันนอกจากบทบาทศิลปิน เขายังรับหน้าที่ควบคู่กันทั้งคุณพ่อและกับการทำร้านกาแฟ RONIN CAPSULE ในหัวหิน

“จริง ๆ ช่วงโควิดเราก็เป็นเหมือนทุก ๆ คนครับ แต่เรื่องการทำงานของผมนี่เรียกว่าอาจจะไม่เหมือนคนอื่นเขาเพราะว่าเรามีเด็ก ๆ การที่มีโควิดก็ทำให้เราไปไหนไม่ได้ ลูก ๆ อยู่บ้าน ร้านกาแฟก็ต้องปิดก่อนเพื่อความปลอดภัย ก็ทำให้ผมมีเวลามากขึ้นในการทำงาน ก็เลยเป็นข้อดี เพราะปกติโอกาสที่ผมจะทำงานน้อย จะทำงานเฉพาะตอนที่เสร็จงานอื่น ๆ แล้ว ซึ่งวันนึงมันมีไม่เยอะ”

NFT ต้องใช้เวลาและวางแผน แม้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อขายแต่ไม่ควรปรับจนละลายตัวตน

“NFT มีน้อง ๆ ที่ทำตรงนี้อยู่เขาชวนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ว่าผมยังช้า ถ้าเราใช้เวลากับตรงนี้แค่อัปโหลด ครีเอตและมินต์งานตามขั้นตอน คงจะง่าย แต่ว่าเราต้องใช้เวลาเยอะเหมือนกัน อย่างใน Opensea ต้องคิดต้องวางแผน ตอนเราลงงานสัก 4-5 งาน มีคนประมูล (bid) รูปแรกไปแต่หลังจากนั้นก็เงียบ คือการเงียบผิดที่เราด้วยแหละเพราะเท่าที่คุยกับน้อง ๆ ต้องมีคอมมูนิตี้ ต้องมีเวลามาทวีตงานตัวเอง ซึ่งผมยังไม่มีเวลามันเลยกลายเป็นว่าจะเข้าทวิตเตอร์ก็ 2 วันเข้าทีซึ่งมันก็น้อยไป

ผมว่าถ้าเราให้เวลากับอะไรอย่างจริงจัง มันจะเกิดผลขึ้นมา ถ้าให้เวลามันน้อยอาจจะมีคนโชคดีที่ทำได้สำเร็จ แต่คงมีน้อยที่คนทำได้แบบฟลุคๆ จริง ๆ แล้วผมคิดว่าควรให้เวลามัน”

อีกแนวคิดที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้ามคือความเข้าใจ เพราทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายหลักของ NFT คือการขายงาน ดังนั้น Lolay จึงให้ความสำคัญกับจุดยืนที่แข็งแรงซึ่งจะช่วยให้งานโดดเด่นอย่างยั่งยืน

“งานไฟน์อาร์ตเราทำแบบไม่สนใจใครอยู่แล้วแต่ถ้าเวลามีคนจ้างให้เราทำเพื่อที่จะตรงโจทย์คนที่จ้าง ถ้าเขามีความเชื่อในตัวเรามันก็อาจจะไม่ยากเท่าไหร่ เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสินค้านั้น ผมก็เข้าใจว่าในโลกของ NFT ก็เป็นเหมือนกัน เราทำงานเพื่อขายแต่เราก็ต้องทำงานโดยที่เรามีความเป็นตัวของเราเองด้วย เพราะถ้าเราไม่มีความเป็นตัวของเราเอง เราก็จะถูกละลายไป ถ้าเปลี่ยนแปลงตัวเองบ่อย ๆ เพื่อที่จะให้มันขายได้ ความเป็นตัวเรามันก็จะค่อย ๆ จางไปเรื่อย ๆ แล้วถึงตอนนั้นเถอะ ถึงเราจะเปลี่ยนเยอะ เต็มที่แล้วเราอาจจะขายได้ช่วงเริ่มต้น แต่หลังจากนั้นพอขายไม่ได้ เราจะผิดหวัง

“บางคนก็รู้ว่าทำยังไงให้มันขายได้ มันก็มีวิธีของมัน ซึ่งถ้าเราเก่งพอ ขยันพอที่จะทำแบบนั้นได้ เพื่อที่จะทำรายได้ ผมว่ามันก็ดีแต่อย่าลืมว่าในโลกที่ความถี่ของคนเยอะมาก การที่เราเป็นตัวของเราเอง ทำงานให้มันดี ผมว่ามันจะเด่นและมันจะดีกว่า”

Metaverse อาจส่งผลกระทบต่อวงการศิลปะในอนาคตหรือเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอไป สำหรับศิลปินอย่าง LoLay มองว่านี่คือหน้าต่างอีกบานที่ต้องเลือกวางตามความเหมาะสมของผลงานและยืนยันว่าการผลิตงานเดิมก็ยังต้องคงอยู่ “ผมว่ามันเหมือนเป็นหน้าต่างของเรา รู้สึกอย่างนั้นนะ ไม่ได้รู้สึกว่าเราพยายามที่จะเอาทุกอย่างให้มันได้ บางอย่างมันเหมาะ บางอย่างมันก็อาจจะไม่เหมาะ มันอยู่ที่ช่วงเวลาที่เราทำ”


ART COLLECTION IN REALITY

UNLOCKMEN เชื่อว่าทิศทางของวงการศิลปะในอนาคตจะทำให้คนรู้สึกหวนกลับมานึกถึงคุณค่าของชิ้นงานที่จับต้องได้มากขึ้น เพราะความรู้สึกอิ่มเอมในเนื้องาน เทคนิค รายละเอียดจากความพยายามของศิลปินมีเสน่ห์เกินกว่าจะมองผ่านหน้าจอ

ใครที่ชื่นชอบผลงานของ P7, Benzilla, Rukkit และ Lolay อยากเก็บสะสมครอบครองผลงานแนวประติมากรรมจากไฟเบอร์กลาสที่พวกเขาไม่เคยผลิตที่ไหนมาก่อนและเป็นผลงานที่มีส่วนร่วมทุกชิ้นในทุกขั้นตอนไว้ใกล้ ๆ เพื่อสัมผัสได้ 360 องศา ตอนนี้เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งเพราะ Boo X Artist โปรเจกต์ล่าสุดของ Patima Design ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมร่วมกับศิลปินทั้ง 4 ท่าน ที่สำคัญทั้ง 4 ศิลปินยังฝากเรามาบอกด้วยว่าผลงานเหล่านี้เขาตั้งใจกับมันแค่ไหนและคุณจะได้อะไรกลับไป


BOO X P7

“งานของพี่ไม่ได้อิงตลาดไม่ได้อิงกระแสอะไร คาแรกเตอร์ต่าง ๆ ดีไซน์ขึ้นมาใหม่ ไม่มีเปิด reference ดูงานคนอื่นแล้วมาดัดแปลง จะคิดอยู่กับตัวเองแล้วดีไซน์ขึ้นมา อย่างชุดนี้ใช้เป็นลิงหรือกระต่าย เสื้อที่มีตัวหนังสือเขียนอยู่นี่ก็ไม่มีเหตุผล แค่เป็นความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้นมาตอนนั้นว่าอยากมีคำนี้ในเสื้อ งานทุกชิ้นจะไม่ทำสเก็ตช์ ใช้วิธีเขียนขึ้นมาเลย และปรับเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นสไตล์ของเรา”


BOO X BENZILLA

“ความที่มันเป็นงานสามมิติเหมือนกับว่ามันมีมวลอะไรบางอย่างเพิ่มเข้ามาในพื้นที่ สไตล์งานผมมันจะค่อนข้างมีสีสันมีอะไรฉูดฉาด มันคล้าย ๆ กับเหมือนว่ามีพลังเพิ่มขึ้นเวลาที่เราได้เห็นได้รู้สึก ปกติงานผมมันก็จะเป็นภาพแบนๆ พอเป็นสามมิติ จะดูได้ทั้งจากด้านหลัง ด้านใต้ได้ ก็น่าจะให้ความเพลิดเพลินได้อีกแบบนึง

สำหรับบางคนก็เป็น Toy Collector อยู่แล้ว ผมตั้งใจดีไซน์ให้ขนาดแบบนี้เท่ากับขนาดมาตรฐานของ Bearbrick ขนาดของมันจะเท่ากันเพราะว่าผมก็เป็นคนสะสมของเล่น ค่อนข้างสนใจอินเนอร์เรื่องนี้ว่าเขาจะซื้อมันในขนาดเท่าไหร่ หรือว่ามันจะเหมาะกับเขาไหมถ้ามันเล็กมันใหญ่ ก็เลยเลือกไซส์ 70 ซม. ซึ่งมันพอเหมาะ”


BOOXRUKKIT

“ที่ผ่านมาเราทำงานเป็น 2D เพราะมั่นใจว่าเป็นตัวเรา 100% แต่ยังไม่มั่นใจในการทำ 3D งานชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกที่เราทำขึ้นมา พอลองหันมองมุมซ้ายมุมขวา จะถ่ายมุมไหนก็สามารถขึ้นงานบนกำแพงได้เลย เราเห็นงานสามมิติแบบนี้จริง ๆ งานสามมิติต้องเป็นแบบนี้ หมุนมุมไหนก็เป็นเรา”


BOO X LOLAY

“กระบวนงานชิ้นนี้แตกต่างจากชิ้นอื่นเรื่องของรายละเอียด ซึ่งพอเล็กแล้วก็มีรายละเอียดเยอะขึ้นไม่เหมือนชิ้นใหญ่ ๆ ส่วนมากที่ชิ้นโต ๆ มันจะเป็นฟอร์ม อาจจะมีดอทที่เป็นลูกตา เป็นจมูก น้อย ๆ ไม่ค่อยเยอะ แล้วงานส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว ทีนี้พอมาทำชิ้นเล็กก็ต้องคิดว่าพอออกมาจะเป็นยังไง มันก็มีการเปลี่ยน เริ่มมาคิดถึงเรื่องดีเทลมากขึ้น ซึ่งตัวนี้เป็นตัวแรกที่ทำกับทาง Boo”


ใครที่อยากติดตามผลงานของศิลปินทั้ง 4 ท่านสามารถติดต่อสอบถามเพื่อสั่งจองได้ทุกช่องทางตามข้อมูลด้านล่าง
https://www.booxproject.com/edition
Line : @booxproject
IG : @boo_x_Project


PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line