Life

‘อาร์เธอร์ แบรนด์’ ยอดนักสืบแห่งวงการศิลปะและการตามหาผลงานปิกัสโซที่สูญหายไปกว่า 20 ปี

By: SPLESS May 17, 2020

โลกใบนี้เต็มไปด้วยผลงานศิลปะจำนวนมาก หลากหลายชิ้นล้วนมีคุณค่าต่อผู้ซึ่งหลงใหลในศิลปะ รวมไปถึงคนที่มองเห็นในคุณค่าของผลงานเหล่านี้ และด้วยคุณค่าทางจิตใจและมูลค่ามหาศาลในตัวนี้เอง ที่ทำให้ผลงานศิลปะบางชิ้นถูกขโมยและหายเข้าสู่ตลาดมืดแบบไม่สามารถจับมือใครดมได้

แม้จะมีงานศิลปะหลายชิ้นถูกตามกลับคืนมาได้ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังคงสาบสูญ แต่ในโลกของศิลปะถือว่ายังโชคดีที่มีชายอย่าง ‘อาเธอร์ แบรนด์’ ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้พยายามตามหาและกู้คืนผลงานศิลปะจำนวนมากให้กลับไปอยู่ในที่ที่ควรจะอยู่อีกครั้ง แต่ด้วยการกู้คืนผลงานศิลปะมากกว่า 200 ชิ้นหากจะพูดถึงผลงานทุกชิ้นคงเป็นเรื่องที่ยาวเกินไป วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักเขา ผ่านผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซ 3 ชิ้นที่เขามีส่วนนำกลับมาให้โลกได้ชื่นชมความสวยงามอีกครั้ง แต่จะมีผลอะไรของศิลปินคนไหน มาติดตามไปพร้อมกัน

The New York Times

แหวนของ ออสการ์ ไวลด์

ผลงานการสืบตามหางานศิลปะชิ้นแรก ๆ ที่ทำให้อาเธอร์ แบรนด์ ถูกรู้จักในฐานะยอดนักสืบคือแหวนของออสการ์ ไวลด์ ยอดกวีชาวไอริชที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1854-1900 เป็นแหวนทอง 18 กะรัตที่นักประพันธ์มอบเป็นของขวัญให้กับเพื่อนนักเรียนของเขาในปี 1876 ซึ่งต่อมาถูกเก็บเอาไว้โดยมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด

เรื่องราวย้อนกลับในปี 2002 ในตอนที่มันถูกขโมยไปโดยพนักงานทำความสะอาด ซึ่งต่อมาถูกจับและอ้างว่าได้ขายไปให้คนรับซื้อเศษเหล็กในราคา 150 ปอนด์ ซึ่งมูลค่าของแหวนในตอนนั้นอยู่ที่ 35,000 ปอนด์ แน่นอนว่าไม่มีใครเชื่อพนักงานคนนั้น เขาถูกส่งตัวเข้าตาราง แต่แหวนของออสการ์ ไวล์ก็ได้สูญหายไปนับตั้งแต่นั้น

จนกระทั่งในปี 2015 เกิดการโจรกรรมเครื่องประดับใน Hatton Gargen Jewelry ซึ่งถือเป็นการขโมยครั้งใหญ่ของเกาะอังกฤษ เพราะสมบัติทั้งหมดมีมูลค่ามากกว่า 200 ล้านปอนด์ โชคดีที่ตำรวจสามารถจับกุมกลุ่มหัวขโมยได้ โดยพวกเขาคือกลุ่มหัวขโมยสูงอายุ ที่วางแผนปล้นครั้งสุดท้ายก่อนวางมือ แต่ดันมาพลาดโดนจับเสียก่อนเพราะใช้บัตรส่วนลดผ่านเข้าไปในที่เกิดเหตุ

ไม่กี่สัปดาห์หลังการปล้น อาเธอร์ แบรนด์ที่ติดตามข่าวของแหวนมานาน ได้รับข่าวจากสายที่อยู่ในตลาดใต้ดินที่ได้ยินมาว่า มีแหวนยุคสมัยวิคตอเรียโผล่เข้าไปในตลาดมืดหลังการปล้น แต่ตัวเขาต้องการแน่ใจว่านั้นคือแหวนของออสการ์ ไวลด์ที่หายไป โดยได้รับการช่วยเหลือจาก George Crump ให้ช่วยพิสูจน์อัตลักษณ์ของแหวนที่แกะสลักคำว่า “Gift of love, to one who wished love” และได้รับการยืนยันในที่สุด

ก่อนอาเธอร์จะมีโอกาสได้พบเจ้าของคนใหม่ของแหวนซึ่งเป็นชนชั้นสูงที่รับซื้อมาอีกต่อหนึ่ง พวกเขาตกใจมากที่รู้ว่าตัวเองกำลังครอบครองแหวนที่ถูกขโมยมาจึงส่งแหวนคืนให้อาเธอร์ ณ Hatton Garden สถานที่ ที่มันถูกขโมยมาและส่งมอบกลับคืนให้ทางมหาวิทยาลัยได้ดูแลอีกครั้ง

 

 

หนังสือกวีเปอร์เซียจากศตวรรษที่ 14

อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจของอาเธอร์ แบรนด์ การสืบตามหาหนังสือที่ถูกเรียกว่า Diwan of Hafez เป็นหนังสือของกวีนิพนธ์ชาวเปอร์เซียที่ถูกยกให้เป็นเหมือนกับวิลเลียม เชกสเปียร์ของวงการวรรณกรรมเปอร์เซียน มันถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 14 ด้วยการเขียนด้วยมือและตกแต่งเพิ่มเติมโดยใช้ทองคำเปลว ซึ่งถูกเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างที่ดีมาหลายร้อยปี

ก่อนที่หนังสือจะถูกขโมยไป มันเคยเป็นของนักสะสมชาวอิหร่านที่ชื่อ Djafar Ghazy ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนี เขาเสียชีวิตโดยทิ้งสมบัติและของสะสมเอาไว้จำนวนมาก แต่ญาติของเขามารู้ภายหลังว่าหนังสือที่รวบรวมบทกวีของ Hafez กลับถูกขโมยไป

สมุดเล่มนี้เป็นที่ต้องการของรัฐบาลอิหร่านถึงขนาดส่งหน่วยพิเศษออกตามหา ขณะที่เยอรมนีเองก็ต้องการเก็บหนังสือเล่มนี้เอาไว้เช่นกัน พวกเขาได้ติดต่ออาเธอร์ให้ช่วยตามหาแข่งกับหน่วยพิเศษของอิหร่าน อาร์เธอร์เริ่มสืบลึกลงไปในตลาดมืดผ่านคนรู้จัก จนในที่สุดพ่อค้าวัตถุโบราณชาวอังกฤษก็เชิญเขาไปพบกับคนที่ยอมรับว่ากำลังครอบครองหนังสือเล่มนี้อยู่ พร้อมบอกให้เขาพิสูจน์ว่าหนังสือเล่มนี้ถูกขโมยมา

หลังยกหลักฐานให้ผู้ครอบครองคนล่าสุดดู ในที่สุดเจ้าตัวยอมรับและรู้สึกโง่มากที่ไม่รู้ว่าตัวเองได้ซื้อของที่ถูกขโมยมา ในที่สุดทั้ง 2 ก็เจรจาขอคืนสมบัติชิ้นนี้กลับสู่เยอรมนี โดยเมื่อปลายปี 2019 ที่ผ่านมา นักสะสมรายดังกล่าวได้เดินทางไปที่มิวนิคเพื่อหารือกับญาติของ Djafar Ghazy ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมก่อนที่จะถูกขโมยมา เพื่อตกลงหาทางออกร่วมกันแล้ว

 

 

Buste de Femme (Dora Maar)

มาถึงหนึ่งในผลงานที่อาเธอร์ แบรนด์ภูมิใจที่สุด ทั้งในฐานะคนรักศิลปะและนักสืบ กับผลงานตามสืบภาพวาด Buste de Femme (Dora Maar) ของศิลปินปาโบล ปิกัสโซ่ ผลงานที่ลงชื่อวาดเสร็จไว้เมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี 1938 แต่ไม่มีลายเซ็นของเจ้าตัวอยู่ที่มุมล่างซ้าย และเขาไม่เคยขายผลงานชิ้นนี้ออกไป โดยมันถูกแขวนไว้ที่บ้านจนกระทั่งจิตรกรเอกผู้นี้เสียชีวิต

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ Buste de Femme (Dora Maar) ซึ่งเดิมทีถูกซื้อต่อและถูกแขวนอยู่บนเรือยอร์ชของชีคแห่งซาอุดิอาระเบีย แต่กลับถูกขโมยไปจากเรือในขณะจอดเทียบท่าที่เมือง Antibes ประเทศฝรั่งเศส แต่การสืบสวนก็ต้องยุติไปเพราะไม่สามารถเชื่อมโยงหลักฐานได้เลย พร้อมสมมุติฐานว่าภาพวาดอาจถูกทำลายแล้วก็เกิดขึ้นตามมา

แต่อาเธอร์ แบรนด์ไม่คิดแบบนั้นและเสริมว่าไม่มีใครกล้าทำร้ายรูปภาพที่มูลค่าขนาดนั้นแน่นอน และเขาก็คิดถูกอีกครั้ง หลังจากตามหาและรอฟังข่าวจากโลกใต้ดินมานาน ในที่สุดก็มีข่าวลือว่ามีภาพที่คล้าย Buste de Femme (Dora Maar) ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของดีลใหญ่ในตลาดมืด เมื่อได้ยินแบบนั้นอาเธอร์จึงหาทางติดต่อเจ้าของคนใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่เขายอมรับว่ายากและบอบบางที่สุด เพราะไม่มีใครต้องการเปิดเผยชื่อ รวมไปถึงรายละเอียดต่าง ๆ ว่าเกี่ยวข้องกับของที่ขโมยมา

แต่จนแล้วจนรอดในที่สุดก็สร้างดีลที่ตกลงกันได้ ภาพวาด Buste de Femme (Dora Maar) ของปาโบล ปิกัสโซ่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญและเตรียมถูกนำกลับมาอวดให้ชาวโลกและคนรักศิลปะได้เห็นอีกครั้ง ในขณะที่แบรนด์เคยเล่าติดตลกว่า ตัวเขาเคยทำให้อพาร์ตเมนต์ของตัวเองในอัมสตอร์ดัมมีมูลค่าสูงที่สุดในเมืองมาแล้ว ด้วยการนำภาพวาดที่มีมูลค่าถึง 28 ล้านดอลลาร์ภาพนี้ มาแขวนเอาไว้บนฝาผนังห้อง 1 คืน ก่อนจะส่งมอบให้กับบริษัทที่มีหน้าที่เก็บรักษาในเวลาต่อมา

ทั้งหมดคือผลงานศิลปะ 3 ชิ้นจากจำนวนกว่า 200 ชิ้นที่ตัวเขาติดตามและสามารถนำสืบกลับคืนมาสู่เจ้าของได้ซึ่งล้วนเป็นผลงานและชิ้นงานศิลปะที่เหนือกาลเวลาและมีคุณค่าต่อโลกใบนี้ทุกชิ้น

อย่างไรก็ตามแม้สามารถสืบเสาะและค้นหาผลงานศิลปะหลายชิ้นกลับคืนมาได้ แต่ตัวเขาก็ยังไม่หยุดความต้องการที่จะติดตามงานศิลปะจำนวนมากที่ยังคงหายไปให้กลับคืนมาอีกครั้ง มารอดูกันว่าในอนาคต ชายคนนี้จะสามารถนำผลงานมาสเตอร์พีซของโลกศิลปะชิ้นไหนกลับมาได้อีก สำหรับเจ้าของฉายาอินเดียน่า โจนส์แห่งโลกศิลปะที่ชื่ออาเธอร์ แบรนด์คนนี้

SOURCE: 1/2/3/4/5/6

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line