Life

ERASE MEMORIES: เมื่อศาสตร์แห่งวิทย์ช่วยลบความทรงจำและพาก้าวข้ามวันขมขื่น

By: unlockmen May 29, 2019

ความทรงจำเป็นหน่วยความจุที่ซ่อนอยู่ในสมองสิ่งมีชีวิตอย่างเรา เป็นเหมือนเทปที่ถูกบันทึกและฉายภาพออกมาเมื่อมีสิ่งเร้าให้นึกถึง แม้จะรู้ว่าสมองแบ่งเป็น 4 ส่วนและส่วนฮิปโปแคมปัสคือศูนย์รวมของความจำ แต่เราก็ไม่สามารถกลับไปลบ แก้ไข หรือเพิ่มความทรงจำใหม่ได้ตามใจชอบ

ยิ่งไปกว่านั้นคือการใช้ชีวิตที่ถูกพันธนาการด้วยความทรงจำเชิงลบ มีเรื่องแย่ ๆ หลายเรื่องล่อลวงให้เราหวนกลับไประลึก ก่อนจะตลบหลังแล้วเอาหอกแหลม ๆ ทิ่มแทงจนมิดด้าม นอกจากความทุกข์ ความเศร้า และความปวดร้าว ยังมีภาพความจำเลวร้ายตามหลอกหลอนเราอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

มีงานวิจัยยืนยันว่าความทรงจำแง่ลบที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดนั้นมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามค้นหาวิธีการลบความทรงจำบางส่วนเพื่อลดผลกระทบที่กระเทือนต่อจิตใจมนุษย์

สมองไม่ได้ฉลาดเสมอไป

เชื่อว่าหนุ่ม ๆ ทุกคนคงมีทั้งความทรงจำหอมหวานและขมขื่นผสมปนเปกันอยู่ภายใต้รอยหยักลูกกลม ๆ ถึงหลายงานวิจัยจะสรรเสริญความชาญฉลาดของสมองมนุษย์ แต่ต้องยอมรับบางครั้งมันก็ไม่ได้ฉลาดอย่างที่คิด

เรื่องที่เราอยากยัดลงไปในส่วนของความจำ สมองกลับลืมมันไปอย่างง่าย แต่กับบางเรื่องที่ยิ่งตั้งใจจะลืมมากแค่ไหน ดูเหมือนจะสมองจะขับเน้นให้เราจดจำมันได้ละเอียดและถาวร

แม้ความมุ่งมั่นที่จะลืมเดินทางไปถึงประตูทางออก แต่ร่างกายกลับไม่ตอบสนองจะเดินไปเฉกเช่นความคิด คงไม่แปลกมั้งถ้าจะพูดว่า “สมองมันไม่ได้ฉลาด” เพราะบางความทรงจำที่อยากลืม เรายังทำให้เลือนรางหรือจางหายไปไม่ได้เสียด้วยซ้ำ

ยากล่อมประสาทมีผลต่อหน่วยความจำ 

งานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เผยว่าโปรโพฟอล (Propofol) หรือยาชา ช่วยลบความทรงจำเชิงลบออกไปจากหน่วยความจำของเราได้ มันจะทำให้ระบบประสาทและสมองทำงานช้าลง ผ่อนคลาย ไร้พันธะทางความรู้สึก และสามารถหลับไปได้อย่างรวดเร็ว

แถมยาชายังเชื่อมโยงกับความทรงจำในระยะสั้นซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของบรรดานักวิทยาศาสตร์ เพราะพวกเขาเชื่อว่ากลไกการทำงานของยากล่อมประสาทชนิดนี้จะช่วยลบความทรงจำเลวร้ายออกไปได้ คล้ายกับการขโมยไฟล์ออกจากตู้เก็บเอกสาร นำมาตรวจสอบและใส่มันกลับไปยังที่เดิม

ทีมนักวิจัยจึงทดลองเปิดสไลด์โชว์ที่มีเนื้อหาเชิงลบให้อาสาสมัคร 50 คนดู เพื่อให้หน่วยความจำของพวกเขาแฝงไปด้วยภาพจำด้านลบ สัปดาห์ต่อมาเหล่าอาสาสมัครก็กลับไปหานักวิจัยอีกครั้ง ก่อนจะฉีดยาชาและทำให้พวกเขาสลบไป

อาสาสมัครกลุ่มแรกถูกถามถึงความทรงจำในสไลด์โชว์ที่เคยดูทันทีที่ตื่น ส่วนอีกกลุ่มถูกถามคำถามเดียวกันหลังจากตื่นจากยาสลบ 24 ชั่วโมงถัดไป สิ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มแรกสามารถจดจำเนื้อหาในสไลด์ได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่อีกกลุ่มจดจำเนื้อหาในสไลด์ผิดเพี้ยนไปและมีความทรงจำที่แตกต่างกัน

นั่นแสดงให้เห็นว่าความทรงจำเชิงลบบางส่วนแก้ไขและเปลี่ยนแปลงได้ในระหว่างที่รวมหน่วยความจำใหม่ และยาชาก็ช่วยให้ประสิทธิภาพในการจำถดถอย ถึงจะไม่ได้ทำให้ความจำถูกลบแต่บิดเบือนมันไปจากจุดเดิม แม้กระนั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าความจำเลวร้ายที่บกพร่องไปจะคงอยู่ได้นานกว่า 24 ชั่วโมงหรือไม่ และควรใช้ยาในปริมาณเท่าใดจึงจะลบความจำเชิงลบออกไปได้จนหมด

กระตุ้นสมองส่วนฮิปโปแคมปัส

Steve Ramirez และ Briana Chen สองนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยบอสตันและมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เผยว่าการเปลี่ยนแปลงของเซลล์สมองส่วนฮิปโปแคมปัสมีผลต่อความทรงจำเชิงบวกและความทรงจำเชิงลบ

จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal Current Biology ระบุว่าฮิปโปแคมปัสส่วนบนและส่วนล่างส่งผลกระทบทางอารมณ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากเซลล์ความจำของฮิปโปแคมปัสส่วนล่างถูกกระตุ้น ความทรงจำเชิงลบจะถูกขยาย

ในทางตรงกันข้ามเมื่อกระตุ้นเซลล์ส่วนบนของฮิปโปแคมปัส เราจะเรียกคืนความทรงจำที่ปราศจากการเชื่อมโยงของอารมณ์ด้านลบ แม้นักวิจัยจะยอมรับว่าสมองของมนุษย์และสมองของหนูที่ทดลองนั้นต่างกัน แต่งานวิจัยครั้งนี้จะนำไปสู่การตรวจสอบจุดกำเนิดของความทรงจำด้านลบ เพื่อจะหาทางยับยั้งและแก้ไขมันต่อไป

งานวิจัยสองชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าการระงับหรือลบความทรงจำที่ไม่ต้องการนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว แล้วคงจะเป็นข่าวดีสำหรับหนุ่ม ๆ ผู้ที่มีความทรงจำเลวร้ายและรุนแรงจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน

UNLOCKMEN เชื่อว่าในอนาคตคงมีงานวิจัยเจ๋ง ๆ และนวัตกรรมอีกมากที่จะช่วยลบความทรงจำที่ไม่น่าจำนี้ไปได้ แต่อีกด้านของความทรงจำร้าย ๆ ก็คือบทเรียนชั้นดีที่ช่วยให้เราตัดสินใจอะไร ๆ ในชีวิตได้ง่ายขึ้น หากมันไม่ได้หนักหนาสาหัสมากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบลบลืมมันไปในเร็ววันหรอก

 

SOURCE

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line