Life

สายเบียร์ต้องเฮ! แพทย์เวียดนามชี้เบียร์ช่วยทำให้ภาวะสุราเป็นพิษดีขึ้นได้

By: unlockmen April 2, 2019

เหล่านักดื่มทั้งหลายคงเคยผ่านการดื่มสุรากันมาแล้วหลายสมรภูมิ บางครั้งก็ดื่มกันหนักหน่วงหรือบางคนถึงขั้นเสพติดการดื่มแอลกอฮอล์ไปเลย ถ้าชาว UNLOCKMEN คนไหนรักในการดื่มถึงขนาดที่ขาดมันไม่ได้ ก็ขอให้ระวังภาวะสุราเป็นพิษ (Alcohol Poisoning) เอาไว้ให้ดี

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คืออาการที่เกิดจากการดื่มสุราปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งอาจทำให้ภาวะที่ว่านี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

เมื่อปลายปีที่แล้ว Nguyen Van Nhat หนุ่มเวียดนามวัย 48 ปีดื่มสุรา “เถื่อน” ในงานปาร์ตี้เข้าไปปริมาณมาก ถูกหามส่งเข้าห้อง ICU จากการตรวจของแพทย์พบว่าระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดมากถึง 1,000 เท่า!

แพทย์เวียดนามเลือกวิธีรักษาโดยให้ชายคนนี้ดื่มเบียร์เข้าไปครั้งละ 1 กระป๋องต่อเวลา 1 ชั่วโมง เป็นระยะเวลารวม 15 ชั่วโมง (เท่ากับว่าเขาดื่มทั้งหมด 15 กระป๋อง)  สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือการรักษาครั้งนี้ได้ผล! หลังจากการรักษาพบว่าอาการดีขึ้นมาก ถึงแม้จะยังมีอาการเมาค้างอยู่บ้าง

นักดื่มตัวยงหลายท่านที่กำลังอ่านอยู่คงแปลกใจ และเกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมการรักษาโดยการให้ดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเข้าไปอีกถึงช่วยได้? เหตุผลคือแอลกอฮอล์นั้นแบ่งออกเป็นสองประเภทได้แก่ เมทานอล (Methanol) และ เอทานอล (Ethanol) ที่พบได้ในเบียร์

ในส่วนของเมทานอลนั้นส่วนใหญ่แล้วจะพบได้จากสุราคุณภาพต่ำ ถ้าได้รับเข้าไปในปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อระบบประสาท สิ่งที่ตามมาอาจทำให้ตาบอดหรือเสียชีวิตได้

ในทางตรงกันข้ามสารเอทานอลที่สามารถพบได้ในสุราคุณภาพสูงจะไม่ส่งผลเสียเท่าเจ้าเมทานอล เนื่องจากร่างกายของคนเราสามารถกำจัดเอทานอลได้เร็วกว่าเมทานอลถึง 10 เท่า ซึ่งตับของคนเราจะเลือกย่อยสลายเอทานอลก่อนเสมอ การที่แพทย์ให้ผู้ป่วยรายนี้ดื่มเบียร์เข้าไปก็เพื่อที่จะชะลอการย่อย โดยจะนำเมทานอลออกจากร่างกายผู้ป่วยด้วยกระบวนการฟอกเลือดและการถ่ายปัสสาวะ

เช่นนี้แล้วการเลือกดื่มแอลกอฮอล์ ก็ควรที่จะเลือกดื่มของที่มีคุณภาพผ่านขั้นตอนการผลิตอย่างถูกต้องตามหลัก แต่ไม่ว่าจะแอลกอฮอล์คุณภาพสูงขนาดไหน UNLOCKMEN ก็ขอเตือนหนุ่มนักดื่มว่าควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ และขอให้นึกถึงประโยคที่ว่า สุราเป็นเหตุให้พิการและเสียชีวิตได้ !

  

SOURCE1SOURCE2

WRITTEN BY: Vitita jairak

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line