Life

Blackout Drunk : เกิดอะไรขึ้นกับสมองบ้างในขณะที่คุณ “เมาจนภาพตัด” รับรองไม่มันส์อย่างที่คิด

By: HYENA August 15, 2016

สำหรับนักดื่มทั้งหลายคงรู้ดีว่าอาการมึนเมานั้นมีหลายแบบหลายสไตล์ แตกต่างรูปแบบกันไป บางคนเมาอาละวาด บางคนเมาแล้วหลับ บางคนเมาแล้วอารมณ์ดี แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งอาการที่เรามั่นใจว่าหลายๆ คนต้องเคยเจออย่างแน่นอน นั่นคือ “เมาแล้วภาพตัด” หรือ “Black-Outs Drunk” จริงอยู่ที่อาการนี้อาจเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แต่คุณก็ยังตื่นนอนมาแล้วพบว่าปลอดภัยอยู่ภายในบ้านอันแสนสุขทุกครั้ง แถมยังเอามาคุยกันเป็นเรื่องตลกได้กับกลุ่มเพื่อนในวันรุ่งขึ้นอย่างสนุกสนาน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการภาพตัดนี้ มีอันตรายมากกว่าที่คุณคิด วันนี้เราจึงได้นำเกร็ดความรู้ดีๆ และข้อควรระวังที่คุณควรรู้เกี่ยวกับอาการนี้มาให้ชาว UNLOCKMEN ได้อ่านกัน เพราะว่าถ้าคุณรู้แล้ว คุณอาจจะไม่สนุกกับอาการเมาจนภาพตัดอีกต่อไปก็ได้

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำอะไรกับสมองของคุณ?

หลายคนที่เคยผ่านการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาอย่างหนักหน่วง ส่วนใหญ่มักจะเคยเจออาการจอดับ ภาพตัดกันมาบ้างอย่างแน่นอน ในกรณีของอาการภาพตัดนั้นแบ่งได้ออกเป็น 2 แบบ คือ 1.ไม่สามารถจำเรื่องราวอะไรได้เลย กับ 2.จำได้เป็นช่วงๆ แต่ไม่ปะติดปะต่อกัน  อาการจอดับ หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า Black outs นี้ ฝรั่งบางคนอาจจะเรียกมันว่า Brown outs ด้วยเช่นกัน มันเป็นอาการที่เกิดจากการที่ระบบประสาททางการรับรู้ (Neurophysiological) เกิดอาการหยุดการหลั่งสารเคมีภายในสมองส่วน Hippocampus  ซึ่งเป็นส่วนนึงของระบบลิมบิก (Limbic System) ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำในระยะยาว 

หรือมันหมายความว่า เราไม่ได้ลืมสิ่งที่ทำตอนเมา เพียงแต่สมองของเราไม่ได้จดจำสิ่งที่เกิดขึ้นต่างหาก

เช่นเดียวกับคนที่เป็นโรคความจำเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ ซึ่งก็มีสาเหตุจากสมองส่วน Hippocampus นี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่คุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากนั้น มันจะไปรบกวนสมองส่วน Hippocampus นี้โดยตรง สมอง และร่างกายจึงส่งสัญญาณผ่านเซลล์ประสาท ให้ทำการชัตดาวน์ตัวเองเพื่อปกป้องไม่ให้แอลกอฮอล์เข้าไปทำลายสมองในส่วนที่จัดเก็บความทรงจำระยะยาว การป้องกันนี้จึงส่งผลให้คุณไม่สามารถจำอะไรในขณะนั้นไปด้วยนั่นเอง

สามารถหลีกเลี่ยงอาการภาพตัดได้หรือไม่? 

ในกรณีที่คุณรู้ตัวว่ามีการดื่มที่บ้าคลั่งรอคุณอยู่ การทานอาหารให้อิ่มท้องเต็มที่จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดได้ช้ากว่า ในกรณีที่ท้องกำลังว่าง การดื่มในปริมาณที่น้อยลง หรือช้ากว่าปกติก็สามารถช่วยให้อาการภาพตัดลดลงได้เช่นกัน นอกจากนี้เรื่องของเพศก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเพศหญิงนั้น จะเสี่ยงอาการภาพตัดได้ง่ายกว่าในเพศชาย เนี่องจากร่างกายของผู้หญิงนั้นสามารถดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่า เนื่องจากมีน้ำหนักตัวที่น้อยกว่า ซึ่งนั่นทำให้มีน้ำในร่างกายน้อยกว่าเพศชาย เพราะฉะนั้นทางที่จะหลีกเลี่ยงอาการภาพตัดได้ดีที่สุดนั่นก็คือ ดื่มให้น้อยลง ดื่มอย่างช้าๆ และควรจะมีบทสนทนาในการดื่ม เพื่อลดช่วงเวลาการหยิบแก้วกระดกไม่ให้ถี่เกินไป

อาการภาพตัด หมายถึงว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะเสพติดแอลกอฮอล์หรือไม่?

ผู้เชี่ยวชาญการเสพติดแอลกอฮอล์ E.M.Jellinek และเป็นผู้ที่เริ่มทำการวิจัยอาการเมาอย่างจริงจังได้เผยว่า อาการภาพตัดนั้นไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่า ผู้ที่มีอาการนี้จะมีแนวโน้มเป็นผู้เสพติดแอลกอฮอล์เสมอไป เพราะอาการนี้เป็นเอฟเฟ็คต์ที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ดื่มเหล้าเข้าไปในปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นคนที่ดื่มเพื่อเข้าสังคม เฮฮาสังสรรค์กันก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหากเป็นคนที่ดื่มทุกวัน แถมยังมีอาการภาพตัดเกือบทุกครั้งที่ดื่ม นั่นก็มีความเป็นไปได้สูงที่บุคคลเหล่านั้นจะมีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์ และสุดท้ายอาการภาพตัดยังสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บุคคลนั้นมีความบกพร่องทางพันธุกรรมที่มีประวัติการแพ้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการเมาเร็วกว่าคนปกติทั่วก็ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับอาการภาพตัด หลายๆ คนอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติสำหรับการดื่มแบบเต็มที่ แต่จริงๆ แล้ว อาการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่อันตรายมากเช่นเดียวกัน เพราะยิ่งคุณภาพตัดบ่อยมากเท่าไหร่ มันก็จะทำให้คุณยิ่งเสี่ยงต่อภาวะอาการสมองเสื่อมในอนาคตมากยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อายุยังน้อย อาการเหล่านั้นจะมีอันตรายมากกว่าคนที่มีอายุมาก และเสี่ยงเจอกับโรคความจำเสื่อมที่จะมาเยือนก่อนกำหนด แถมยังทำให้กลายเป็นคนสมาธิสั้นลง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานอย่างแน่นอน

หากใครที่รู้ตัวว่าใส่หนักทุกครั้งที่สังสรรค์ ก็ขอให้เบาๆ ลงกันบ้างก็ได้ จริงอยู่ว่าการดื่มนั้นมันสนุกสนาน  และอาจจะควบคุมความมันส์ได้ยากสักหน่อย แต่เราแนะนำให้ประคองตัง หลีกเลี่ยงอาการภาพตัด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกาย แถมไม่สนุกแน่นอนถ้าคุณต้องกลายเป็นคนความจำเสื่อมไปตลอดชีวิต

 


SOURCE

HYENA
WRITER: HYENA
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line